พิเศษ
สิ้นยุค เบนซิน 95
เมื่อสิ้นเสียง "ไชโย" ต้อนรับปีใหม่ 2550 ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้ใช้น้ำมันอาจจำเป็น ต้องอำลา "เบนซิน 95" เปลี่ยนไปใช้ "แกสโซฮอล" อย่างไร้ "ทางเลี่ยง"เพราะหมด "ทางเลือก"
ภาครัฐผลักดันประชาชนใช้ แกสโซฮอล ถ้วนทั่ว หลายคนมั่นใจ หลายคนยังกล้าๆ กลัวๆแต่ส่วนหนึ่งบอกเต็มปากว่า "ไม่เอา" พร้อมสำทับด้วยว่า "รถฉันพังแน่"
21 ตุลาคม 2547 กระทรวงพลังงานสั่งยกเลิกตรึงราคาเบนซิน 91/95 ด้วยเหตุผล "อั้นไม่อยู่"จากนั้นมา ราคาจึงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ผลักดันแกสโซฮอล ให้มีปริมาณการใช้ถึง 4 ล้านลิตร/ปี และง้างส่วนต่างของเบนซิน 95 กับแกสโซฮอล 95 ให้ห่างกัน 1.50 บาท โดยระยะแรกมีเป้าหมายว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 จะยกเลิกขาย เบนซิน 95 ปรับให้ใช้แกสโซฮอลทั้งหมด
แต่สิ่งที่หวั่นใจ กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่เรื่องเอธานอล ที่มีกำลังการผลิตรวมเพียง 550,000 ลิตร/วัน เนื่องจากโรงงาน 24 รายที่ได้รับอนุญาต ขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ผลิต จึงสามารถดำเนินการได้เพียง 5 รายเท่านั้น ภาครัฐจึงแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าเอธานอลจากต่างประเทศซึ่งแพงกว่า สันนิษฐานว่าเป็นที่มาของการเลื่อนการยกเลิกขาย เบนซิน 95 ออกไปอย่างไม่รู้กำหนด
ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องยังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาวัตถุดิบดังกล่าว แต่กลับพลั้งปากบอกตั้งเป้าเลิกขาย เบนซิน 95 อย่างมั่นเหมาะ ผู้บริโภคตกใจ ที่สำคัญเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ แกสโซฮอลแม้จะยังไม่รู้ว่าดีจริงหรือไม่
4 WHEELS สะท้อนภาพความจริง ณ วันนี้ พร้อมหนทางใหม่ที่น่าสนใจ ก่อนจะถึงวันที่ไร้เบนซิน 95
จากสถิติการใช้น้ำมันเบนซินโดยรวมในปี 2548 ที่ผ่านมา มีปริมาณการใช้ทั้งหมด 7,250 ล้านลิตรหรือ 126 พันบาร์เรล/วัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.3 สาเหตุจากราคาขายปลีกสูงขึ้นในปีนี้ และมาตรการประหยัดพลังงานของภาครัฐ จึงส่งผลให้ประชาชนหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำมันอย่างชัดเจน โดยหันมาใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอื่นแทนน้ำมันมากขึ้น อาทิแกสโซฮอล LPG และ CNG เป็นต้น
แกสโซฮอล เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ที่ใช้ทดแทนน้ำมันเบนซิน มีส่วนผสมระหว่างเอธานอลหรือเอธิลแอลกอฮอล์ ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5 % เป็นอย่างต่ำ ผสมน้ำมันเบนซินในอัตราส่วน น้ำมัน 9 ส่วน เอธานอล 1 ส่วน (E10) ได้เป็นน้ำมันแกสโซฮอล ที่มีค่าออคเทนเท่ากับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ใช้สาร MTBE (METHYL TERTIARY BUTYL ETHER) เป็นสารเพิ่มค่าออคเทน
(สาร MTBE มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดปัญหาปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน และน้ำดื่ม หลายประเทศมีนโยบายเลิกใช้สาร MTBE แล้ว)
บริษัทผู้ผลิตยังให้ข้อมูลว่าแกสโซฮอล เผาไหม้สมบูรณ์กว่าน้ำมันเบนซิน เนื่องจากมีส่วนผสมของเอธานอล ซึ่งมีโมเลกุลของออกซิเจนในเนื้อน้ำมันมาก ส่งผลให้เกิดมลพิษน้อยกว่าน้ำมันเบนซิน และพบว่าทำให้สมรรถนะของเครื่องยนต์ดีขึ้น หรือเท่ากับการใช้น้ำมันเบนซินปกติ
นอกจากนี้ ทางบริษัท บางจากปิโตเลียม จำกัด (มหาชน) ยังได้ทดสอบคุณภาพการใช้น้ำมันแกสโซฮอล ระยะทางทั้งหมด 357.2 กม. เฉลี่ยคันละ 40.67 ลิตร ผลการทดสอบออกมาว่าน้ำมันแกสโซฮอล 1 ลิตร จะวิ่งได้ระยะทาง 8.78 กม. ด้วยความเร็วมากกว่า 110 กม./ชม.โดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ใดๆ
ปัจจุบันบริษัทผู้ค้าแกสโซฮอล รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อ ต่างออกมายืนยันว่าสามารถใชักับเครื่องยนต์เบนซินที่มีระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีดได้
แต่แกสโซฮอล พลังงานที่อาจถูกบังคับขายทั่วประเทศในปี 2550 ดูแล้วยังเป็นพลังงานที่ขาดการประชาสัมพันธ์และข้อมูลที่ชัดแจ้ง แม้บริษัทผู้ค้าน้ำมันหลายรายต่างออกมายืนยันและรับประกันการซ่อมหากมีความเสียหายที่เกิดจากการเติมน้ำมันแกสโซฮอล แต่ต้องเป็นรถในรุ่นที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันให้การรับรองเท่านั้น ส่วนรุ่นอื่นๆ คงต้องหาข้อมูลกับกระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน
หรือสอบถามกับทางบริษัทผู้ผลิตรถ และบริษัทผู้ค้าน้ำมันเอาเอง
และหากบังคับขายแกสโซฮอล ในปี 2550 แล้ว บรรดาผู้ใช้รถเก่าซึ่งยังเป็นเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์รวมทั้งบรรดาสิงห์มอเตอร์ไซค์ จะสามารถเติมน้ำมันแกสโซฮอลได้หรือไม่ สึกหรอแค่ไหน ไม่มีใครออกมายืนยันให้ชัดเจน
แม้ภาครัฐจะส่งสัญญาณให้เห็นแล้ว แต่เมื่อยังไม่ใกล้ตัว ปัญหาต่างๆ ยังไม่เกิด ผู้ใช้รถหลายรายพยายามเลือกเติมน้ำมันเบนซิน 95 และแกสโซฮอลสลับกันไป เพราะข้อมูลที่ออกมายังไม่ชัดเจน แม้เติมแกสโซฮอลได้ในราคาที่ถูกกว่าลิตรละ 1.50 บาท ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเมื่อเติมแกสโซฮอลในจำนวนลิตรเท่ากันกับเติมน้ำมันเบนซิน 95 จะวิ่งได้ระยะทางเท่ากันหรือไม่ถ้าเติมแกสโซฮอลแล้วได้ระยะทางที่สั้นกว่ามาก ก็คงจะไม่คุ้มค่าเท่าไร นอกจากนี้ ระยะยาวจะมีผลกับการสึกหรอหรือไม่ เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่ได้เตรียมผลิตรถยนต์ที่ใช้แกสโซฮอลมาโดยเฉพาะครบทุกยี่ห้อ
เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค กลุ่มบริษัทผู้ผลิตน้ำมันร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์ ได้ออกมาชี้แจงความข้องใจดังกล่าวว่า แกสโซออล คือน้ำมันเบนซินที่ผสมเอธานอล หรือ เอธิลแอลกอฮอล์โดยทั่วไปผลิตจากการนำพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯมาผ่านกระบวนการหมัก
และยังบอกอีกว่า ประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา บราซิล และประเทศในแถบยุโรปใช้แกสโซฮอล มานานแล้ว ปัจจุบันภาครัฐได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพแกสโซฮอล ไว้แล้ว 2 ชนิด คือ แกสโซฮอล 95 (E10) และแกสโซฮอล 91 (E10)
เวลานี้ แกสโซฮอล ยังเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันราว 1,000 แห่ง และมีเป้าหมายขยายเป็น 4,000 แห่ง แต่ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการใช้น้ำมันแกสโซฮอลกับเบนซิน ยังมีปริมาณน้อยมาก โดยมีปริมาณการใช้เพียง 17 ล้านลิตร/เดือนเนื่องจากผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในข้อมูลที่ยังไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจใช้นั่นเอง
ผลกระทบ ธุรกิจรถมือสอง
ผู้ประกอบการเทนท์รถยนต์มือสอง ให้ความคิดเห็นกับเรา หลังจากรัฐบาล เตรียมยกเลิก
น้ำมันเบนซิน 95
สิทธิพงษ์ ไพบูลย์พิชยะกูล เจ้าของเทนท์รถ วี.เอ็ม. ออโต้ อิมปอร์ต ย่านพระราม 9 ผู้จำหน่ายรถยนต์นำเข้า เมร์เซเดส-เบนซ์ และรถขับเคลื่อน 4 ล้อมือสอง มีความเห็นว่า "ถ้าไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่าย จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ก็ไม่ถึงกับมากมาย ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อรถ จะถามว่ารถคันนี้ใช้เบนซิน 95 หรือ แกสโซฮอล หรือรองรับแกสโซฮอลได้ไหม เติมแล้วมีปัญหาอะไรหรือเปล่าถ้าเกิดมีปัญหา ทางเทนท์จะรับผิดชอบอย่างไร
ผมจะบอกว่า ต้องดูที่ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อน ที่แน่ๆ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคิดกันว่า ถ้าตอนนี้ยังมีเบนซิน 95 ให้เติมอยู่ ก็เติมไปก่อน จนกว่าจะไม่มีจริงๆ ถึงจะหันไปเติมแกสโซฮอล ผู้บริโภคบางคนยังไม่อยากเติมแกสโซฮอล ก็ต้องหาปั๊มน้ำมันที่ยังมีเบนซิน 95 ขาย ให้ได้
แต่ในอนาคต ถ้าไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 ขายจริงๆ ก็คงจำเป็นต้องใช้แกสโซฮอลอยู่ดี"
ไชยวัฒน์ สันถวะนุภาพ เจ้าของเทนท์ ศูนย์รวมรถยนต์ AUTO CITY B 3-6 ถนนรัชดาภิเษกบอกเล่าความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า "ผมว่าไม่ค่อยกระทบเท่าไร เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะถามผมก่อนที่จะซื้อรถว่า รุ่นนี้เติมน้ำมันอะไร ผมจะบอกกับลูกค้าว่าต้องไปถามบริษัทรถยนต์หรือไม่ก็สอบถามไปทางบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ทางเราไม่กล้าการันตีหรอกว่า เติมแกสโซฮอลได้หรือไม่ เพราะถ้าเติมไปแล้ว รถเกิดมีปัญหา เราจะยุ่ง
เราเป็นผู้ค้ารถเฉยๆ ผมขายสินค้าที่ผลิตออกมาแล้ว อย่างไรก็ต้องเติมอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน 95 หรือแกสโซฮอล อยากบอกว่ารถยนต์มือหนึ่งออกห้าง อย่างไรผู้ผลิตรถยนต์ ต้องการันตีอยู่แล้วว่า เติมแกสโซฮอลได้ เพราะถ้าเกิดปัญหา บริษัทจะรับผิดชอบแต่ในกรณีของรถมือสองยังไม่มีใครมาการันตีว่า เติมแล้วจะไม่มีปัญหาอะไร อยากให้มีหน่วยงานที่เป็นกลางมาการันตีรถยนต์มือสองบ้างว่า เติมแกสโซฮอลแล้ว ไม่มีปัญหา"
รัตนากร แซ่ก่ำ เจ้าของเทนท์รถ AC AUTO TRADE ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรากล่าวว่า "ที่เทนท์จะรับซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนรถยนต์ทุกชนิด แต่จะเน้นที่ จีพ มากกว่า ดิฉันว่าถ้าไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 ขาย ตลาดเทนท์รถมือสองไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้ จีพ เพราะส่วนใหญ่จะติดแกสกันอยู่แล้ว หรือถ้าไม่ติดแกส ส่วนใหญ่ก็จะเติมเบนซิน 95ผลกระทบอาจจะมีบ้าง แต่คงจะเล็กน้อย และถ้าไม่มีเบนซิน 95 ขายจริงๆ คนไทย อะไรก็ได้ส่วนใหญ่ร้านจะหาข้อมูลกันก่อนว่า แกสโซฮอล 95 สามารถเติมรถประเภทไหนได้บ้างเราถึงจะมาบอกลูกค้าได้ว่า รถรุ่นนี้สามารถเติมได้ ไม่มีปัญหา"
หลังจากสอบถาม บรรดาเทนท์รถมือสอง ถึงผลกระทบในเรื่องนี้ สรุปได้ว่า ส่วนใหญ่จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "มีผลกระทบ แต่ไม่มากถึงขั้นผู้บริโภคจะไม่ซื้อรถมือสองใช้"
ความเห็นของผู้ใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ
สมชาย สินชัยสิทธิพร
เจ้าของรถ โตโยตา แลนด์ ครูเซอร์ แอลเอกซ์ 470
อาชีพ นักธุรกิจ
"ถ้าในอนาคตไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่าย ส่วนตัวผม คงไม่มีผลกระทบอะไร เพราะเปลี่ยนมาเติมเบนซิน 91 หรือใช้แกสโซฮอล 95 ก็ได้ เพราะตอนนี้ผมก็ใช้แกสโซฮอล 95 อยู่เหมือนกันทุกอย่างเหมือนเดิมหมด เหมือนตอนที่ใช้เบนซิน 95 ผมว่าสถานการณ์คงยังไม่ถึงขั้นไม่มีเบนซิน 95 จำหน่าย เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ คงจะเดือดร้อนกันหมดแน่"
เอดดี ฟรัง
เจ้าของรถ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี วี 8 ไอ
อาชีพ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว
"ถ้าในอนาคต ไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่าย ผมจะทำอย่างไร ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ยังไม่ได้เตรียมตัวไว้เลย ตอนนี้รถผมใช้เบนซิน 95 อยู่ ก็จะเติมไปก่อน เพราะผมเคยลองเติมแกสโซฮอล 95 แล้ว ปรากฏว่ารถวิ่งอืดมาก แถมกินน้ำมันมากกว่าเดิมอีก เสียงเครื่องก็ดังจนต้องกลับมาเติมเบนซิน 95 เหมือนเดิม รับไม่ได้ ถ้าในอนาคตไม่มีเบนซิน 95 จำหน่ายจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนไปเติมแกสโซฮอล หรือเปลี่ยนรถยนต์ไปเลยก็ดีเหมือนกัน เพราะผมไม่อยากใช้แกสโซฮอล 95 จริงๆ นะ"
พิษณุ บุญประสิทธิ์
เจ้าของรถ จีพ เชอโรคี
อาชีพ พนักงานบริษัท
"ผมว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะถ้าเกิดไม่มีจำหน่ายจริงๆ เราเองก็ต้องปรับเครื่องยนต์ให้สามารถใช้น้ำมันที่มีจำหน่ายในท้องตลาดอยู่ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเบนซิน 91 หรือแกสโซฮอล 95"
ความคิดเห็น ของผู้บริโภคที่มีรถยนต์ ที่ใช้น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ในขณะนี้ ต่างมีความเห็นคล้ายๆกันว่า ถ้าไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 ใช้ อย่างไรก็ต้องเปลี่ยนมาใช้แกสโซฮอล 95 หรือเบนซิน 91 อยู่ดีสุดท้ายผู้บริโภคต่างต้องช่วยตัวเองรับสถานการณ์ในอนาคต ที่จะไม่มีน้ำมันเบนซิน 95 ใช้ให้ได้
ทางเลี่ยง ทางเลือก
เวลานี้กระแสการติดตั้งระบบแกสกำลังมาแรง โดยแกสที่นิยมนำมาใช้ในรถยนต์มีอยู่ 2 ชนิดได้แก่ แกสธรรมชาติ CNG (COMPRESSED NATURAL GAS) หรือที่ ปตท. ตั้งชื่อว่า NGV (NATURAL GAS FOR VEHICLES) ส่วนชนิดที่ 2 คือ แกสปิโตรเลียมเหลว LPG (LIQUEFIED PETROLEUM GAS) โดยทั้ง 2 ชนิด มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. แกสธรรมชาติ CNG เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มีองค์ประกอบของแกสมีเทน (METHANE)เป็นส่วนใหญ่ มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ การขนส่งไปยังผู้ใช้จะขนส่งผ่านทางท่อในรูปแกสภายใต้ความดันสูง หรือบรรจุใส่ถังในรูปแกสธรรมชาติอัด โดยใช้ความดันประมาณ 200-220 บาร์ปัจจุบันมีการส่งแกสธรรมชาติในรูปของเหลวโดยทำแกสให้เย็นลงถึง -160 องศาเซลเซียสจะได้ของเหลวที่เรียกว่า LNG (LIQUEFIED NATURAL GAS) ซึ่งสามารถขนส่งไปที่ไกลๆ ได้และเมื่อถึงปลายทางก่อนนำมาใช้ก็จะทำให้ของเหลวเปลี่ยนสถานะกลับเป็นแกสอย่างเดิมแกสธรรมชาติมีค่าออคเทนประมาณ 120 RON สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานยนต์ได้สบายๆ
แหล่งที่มาของแกสธรรมชาติ CNG ได้มาจากแหล่งอ่าวไทย ซึ่งรวมพื้นที่คาบเกี่ยว ไทย-มาเลเซียแหล่งที่ราบสูงโคราช และแหล่งที่ราบภาคกลาง รวมทั้งแกสจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่นประเทศพม่า เป็นต้น
2. แกสปิโตรเลียมเหลว LPG เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มีองค์ประกอบของแกสโพรเพน (PROPANE) เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นแกสที่หนักกว่าอากาศ โดยตัว LPG เองไม่มีสีไม่มีกลิ่น เช่นเดียวกับแกสธรรมชาติ แต่เนื่องจากเป็นแกสที่หนัก ทำให้มีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย ดังนั้น จึงมีข้อกำหนดให้เติมสารมีกลิ่น (เอธิลเมอร์แคพเทน) เพื่อเป็นการเตือนภัยหากเกิดการรั่วไหล LPG ส่วนใหญ่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนและกิจการอุตสาหกรรม โดยบรรจุเป็นของเหลวใส่ถังจะมีแรงดันอยู่ราวๆ 7-8 บาร์ เพื่อให้ขนถ่ายง่าย นอกจากนี้ ยังนิยมใช้แทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์ เนื่องจากราคาถูกกว่า และมีค่าออคเทนประมาณ 105 RON
แหล่งที่มาของแกสปิโตรเลียมเหลว มี 2 แหล่ง คือ 1. ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งจะได้แกสโพรเพน (PROPANE) 20 % และบิวเทน (BUTANE) 80 % 2. ได้จากกระบวนการแยกแกสธรรมชาติ ซึ่งจะมีแกสโพรเพน (PROPANE) 60 % และบิวเทน (BUTANE) 40 %
ระบบแกสในรถยนต์
รถยนต์ใช้แกสระบบเชื้อเพลิงทวิ (BI-FUEL SYSTEM) ซึ่งสามารถเลือกใช้น้ำมันเบนซิน หรือใช้แกสโดยเพียงแต่ปรับสวิทช์เลือกใช้เท่านั้น ระบบนี้มีทั้งเครื่องยนต์ที่ผลิตจากโรงงานโดยตรงหรือนำรถยนต์ที่ใช้เบนซินเดิมมาติดตั้งอุปกรณ์ซึ่งแบ่งได้ 2 ระบบ คือ
1. ระบบดูดแกส (FUMIGATION) ซึ่งจะมีอุปกรณ์ผสมแกสกับอากาศ (GAS MIXER) ทำหน้าที่ผสมอากาศที่เครื่องยนต์ดูดเข้าไปกับแกส ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ ก่อนที่จะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ หากจะให้เข้าใจง่ายขึ้นระบบนี้ก็เปรียบเสมือนระบบคาร์บูเรเตอร์ในเครื่องยนต์นั้นเอง ระบบนี้สามารถใช้กับเครื่องยนต์ที่จ่ายน้ำมันเบนซินได้ทั้งคาร์บูเรเตอร์และหัวฉีด สนนราคาค่าติดตั้งของระบบนี้โดยประมาณ CNG 30,000-40,000 บาท และ LPG 10,000-20,000 บาท
2. ระบบฉีดแกส (MULTI POINT INJECTION SYSTEM, MPI) ระบบนี้มีการจ่ายเชื้อเพลิงแกสด้วยหัวฉีดที่ท่อไอดีของแต่ละสูบโดยเฉพาะ และควบคุมส่วนผสมแบบใช้อากาศพอดีสำหรับการเผาไหม้ โดยชุดควบคุมอีเลคทรอนิคส์รับสัญญาณมาจากตัวตรวจวัดออกซิเจน (วัดปริมาณออกซิเจนที่เหลือจากการเผาไหม้ในท่อไอเสีย) ตัวตรวจวัดตำแหน่งของปีกผีเสื้อ และตัวตรวจวัดอื่นๆ ทำการประมวลผลควบคุมการเปิด/ปิดของหัวฉีดแกส ปล่อยแกสออกไปที่ท่อไอดีแต่ละสูบให้เหมาะสมกับปริมาณอากาศทุกสภาวะการทำงานของเครื่องยนต์ และเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์หากเปรียบให้เห็นภาพ ระบบนี้ก็เหมือนกับระบบหัวฉีดในรถยนต์ ระบบนี้ใช้ได้กับเครื่องยนต์ที่จ่ายน้ำมันเบนซินด้วยหัวฉีดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ราคาค่าติดตั้งของระบบนี้โดยประมาณ CNG 45,000-60,000 บาท และ LPG 25,000-40,000 บาท
[table]
ตารางเปรียบเทียบอัตราความสิ้นเปลือง,,,
รายการ,เบนซิน 95,CNG,LPG
ระยะทางวิ่ง/วัน (กม.),200,200,200
อัตราความสิ้นเปลืองโดยประมาณ (กม./ลิตร),10,8,7
ราคาขายปลีก ,28.84,8.5,9.5
อัตราความประหยัดค่าเชื้อเพลิง/วัน ,-,364,305
หมายเหตุ : ราคาน้ำมันและแกสถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2549,,,
[/table]
ข้อดีของ CNG คือ เบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลไม่ทำให้สะสม ส่วน LPG เป็นแกสที่
หนักกว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจึงอันตรายกว่า
หากจะเปรียบเทียบ CNG กับ LPG แน่นอนว่า LPG ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากราคา
ค่าติดตั้งที่ถูกกว่าเท่าตัว มีสถานีบริการในการเติมแกสมากกว่าทั้งกรุงเทพ ฯ ปริมณฑล
รวมทั้งต่างจังหวัด นอกจากนี้ในถังขนาดเดียวกัน LPG สามารถเติมได้มากกว่า และใช้งานได้
นานกว่า เนื่องจาก CNG มีแรงดันสูง โดยถังขนาด 70 ลิตร สามารถเติมจริงได้ประมาณ
15 ลิตรเท่านั้น ทำให้ต้องเติมบ่อยๆ แต่สถานีบริการกลับมีน้อย และยังไม่แพร่หลาย
วันนี้มีผลวิจัย เรื่องการใช้แกสโซฮอลจากแหล่งต่างๆ ออกมาแล้ว แต่ผู้ใช้รถยนต์ก็ยังรอคอย
การเปิดเผยผลทดสอบโดยละเอียดจากหน่วยงานที่เป็นกลางจริงๆ
ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ต้องเป็นตัวเลขที่ชัดเจนกว่าการกล่าวลอยๆ "ใช้ได้ ไม่มีผลกระทบ" ผู้ใช้รถ
ที่รักรถ ยังต้องการความมั่นใจจากหน่วยงานที่เขาเชื่อใจ ด้วยข้อมูลที่พิสูจน์ได้ และอธิบาย
สู่สาธารณะ
ผู้บริโภครอเผยผลทดสอบอยู่ เพื่อความมั่นใจในการใช้ แกสโซฮอล
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(4wheels)