พิเศษ(cso)
13 ปัญหายอดฮิท
ฉบับที่แล้วทีมงานได้กล่าวถึงอุปกรณ์เสริม สำหรับใช้งานในระบบเสียงติดรถยนต์ ซึ่งมีด้วยกันหลายประเภท ตั้งแต่สายสัญญาณ การเลือกวัสดุ สายลำโพง คาพาซิเตอร์ กระบอกฟิวส์ แบทเตอรี ฯลฯ เพื่อใช้งานได้ถูกต้อง และอีกครั้งกับปัญหายอดฮิทที่ถามกันเข้ามาบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอี-เมล์ หรือโทรศัพท์ อย่างเช่น
1. เสียงหวีด เสียงกวน ขณะเหยียบคันเร่ง ?
การเดินสายสัญญาณที่ถูกต้องควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากสายไฟในรถยนต์ ในกรณีที่ต้องเดินสายสัญญาณจากวิทยุ หรือพรีแอมพ์ไปเพาเวอร์แอมพ์ที่ท้ายรถ ถ้าจะให้ถูกต้องให้เดินสายสัญญาณให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือติดตั้งเพาเวอร์แอมพ์ไว้ใต้เบาะนั่งก็เป็นกลเม็ดอย่างหนึ่งที่ร้านค้า/ช่างนิยมใช้กัน โดยเฉพาะการติดตั้งในรถที่มีเนื้อที่จำกัด
อาการของเสียงหวีดเป็นอีกกรณีหนึ่งของเสียงรบกวนที่เกิดจากไดชาร์จ (ALTERNATOR)
เพราะการเดินสายสัญญาณที่ใกล้กับไดชาร์จ หรือสายแบทเตอรี ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นได้ ข้อควรปฏิบัติคือ หลีกเลี่ยงการเดินสายไฟใกล้กับไดชาร์จ หรือเดินให้ห่างที่สุด แต่ถ้าเดินสายสัญญาณห่างจากไดชาร์จ หรือสายแบทเตอรีแล้ว แต่ยังมีปัญหาเสียงหวีด เสียงกวนออกทางลำโพง โดยเฉพาะในขณะเหยียบคันเร่ง ปัญหานี้น่าจะเกิดจากอีกสาเหตุหนึ่งคือ การต่อสายกราวน์ดลงตัวถังไม่ถูกต้อง วิธีที่ถูกต้องในกรณีที่มีเพาเวอร์แอมพ์มากกว่า 1 ตัว ให้ต่อสายกราวน์ดของเพาเวอร์แอมพ์ลงตัวถังรถที่จุดเดียวกัน และให้สายกราวน์ดมีความสั้นที่สุด
2. อยู่ดีๆ ชุดเสียงดับทั้งระบบ ?
ในกรณีที่เป็นกระบอกฟิวส์หลวม เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ถ้าชุดเครื่องเสียงเปิดไม่ได้ทั้งระบบให้สันนิษฐานเบื้องต้นไว้ก่อนคือ ตรวจกระบอกฟิวส์หลักมีสภาพที่ผิดปกติหรือไม่ อย่างเช่น สายต่อหลุดหลวม หรือขั้วต่อของฟิวส์ไม่แน่นหนา เมื่อทราบสาเหตุแล้วให้จัดการทำให้ดีเหมือนเดิม
หรือเปลี่ยนกระบอกฟิวส์ขนาดเท่าเดิมอีกชุดก็ได้
อีกกรณีหนึ่งคือ ให้ตรวจที่ฟิวส์ของเพาเวอร์แอมพ์ ปกติขั้วเสียบของฟิวส์จะอยู่ ณ ข้างใดข้างหนึ่งของตัวเครื่อง ปัญหาในลักษณะดังกล่าวนี้ สามารถเกิดขึ้นจาก การขับเล่นเกินกำลังของตัวแอมพ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนเบื้องต้นของระบบป้องกันความเสียหายของแอมพ์ ข้อแนะนำคือ ไม่ควรขับเล่นเกินประสิทธิภาพที่เพาเวอร์แอมพ์ระบุไว้
นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งคือ สายลำโพงลัดวงจร ถ้าหากตัวฟรอนท์เปิด/ปิดการทำงานได้ตามปกติ แต่ไม่มีเสียงออกที่ลำโพง ข้อแนะนำเบื้องต้นคือ ตรวจเชคที่ฟิวส์ของเพาเวอร์แอมพ์ว่าขาดหรือไม่ ถ้าฟิวส์ขาดให้ปิดสวิทช์ (OFF) ที่ฟรอนท์ก่อน จากนั้นให้ตรวจเชคสายลำโพงให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย
3. จัดชุดเสียงเพิ่มเติม กับฟรอนท์เอนด์เดิมทำอย่างไร ?
สำหรับรถที่มีฟรอนท์ติดรถเดิมอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่มเพาเวอร์แอมพ์เข้าไปในระบบเสียงสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่เลือกเพาเวอร์แอมพ์ที่มีจุดต่ออินพุทแบบ HIGH LEVEL เพราะสามารถใช้สายต่อลำโพงจากฟรอนท์เดิมต่อเข้าจุดนี้ได้ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญพอสมควร โดยเฉพาะการดัดแปลงซอคเกทต่อสายของเพาเวอร์แอมพ์ให้สามารถต่อกับสายลำโพงของฟรอนท์เดิมได้ หรือในกรณีที่เพาเวอร์แอมพ์ดังกล่าวไม่มีจุดต่อ HIGH LEVEL สามารถใช้อุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า RCA ADAPTER ซึ่งสามารถดัดแปลง เพื่อต่อกับสายลำโพงของวิทยุเดิมได้ แต่ควรเลือก RCA ADAPTER ที่มีคุณภาพ เพราะอาจเกิดเสียงรบกวนเข้าไปในระบบเสียงรถยนต์ได้ โดยต่อเข้ากับ RCA อินพุทของเพาเวอร์แอมพ์ตามปกติ
งบประมาณจำกัด เป็นคำถามยอดฮิทโดยเฉพาะท่านเจ้าของรถที่มีวิทยุเดิมกับลำโพงหน้า/หลังเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเหมาะสำหรับนักเล่นที่มีงบประมาณ 10,000-15,000 บาท แต่สามารถเพิ่มเติมระบบเสียงให้ดีขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการเพิ่มเพาเวอร์แอมพ์ ราคาไม่เกิน 10,000 บาท ขนาด 50 วัตต์x2 แชนแนล โดยมีข้อแนะนำในวิธีการเล่นคือ ใช้เพาเวอร์แอมพ์ดังกล่าวต่อกับลำโพงเดิมที่ประตูหน้า และใช้ภาคขยายในตัววิทยุขับลำโพงชุดหลัง เพียงเท่านี้ ชุดเครื่องเสียงของท่าน ก็สามารถเลื่อนชั้นขึ้นมาอีกระดับหนึ่งแล้ว
อยากดูหนังเพิ่มเติมจากชุดเครื่องเสียงเดิม ในกรณีที่มีชุดเครื่องเสียงหลักอยู่แล้ว แต่ต้องการเพิ่ม AV ชุดประหยัด สามารถทำได้โดยเพิ่มฟรอนท์ที่เล่นแผ่น VCD ราคาประมาณ 6,000-7,000 บาท ในปัจจุบันมีด้วยกันหลายยี่ห้อ สามารถเล่นแผ่น VCD/CD/MP3 ได้ แต่มีข้อแนะนำคือ เลือกฟรอนท์ที่มีชื่อยี่ห้อไว้ก่อน เพราะมีปัญหาในลักษณะนี้ถามเข้ามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะนักเล่นที่ซื้อฟรอนท์ไม่มีชื่อ (NO NAME) ราคาถูกมาติดตั้งด้วยตัวเอง แล้วเกิดเสียงรบกวนในระบบ
4. วิทยุ/ซีดี มีทั้งแบบ 1/20/24 บิท เลือกแบบไหนดี ?
ก่อนอื่นต้องดูงบประมาณของตัวเองว่ามีอยู่เท่าไหร่ ถ้ามีน้อยก็คงต้องเล่นแบบ 1 บิท ไปก่อน เพราะมีราคาไม่แพงมาก แต่ถ้าเป็นนักเล่น/นักฟังที่มีประสบการณ์มาแล้ว และมีงบประมาณเพียงพอ การเลือกวิทยุ/ซีดีที่มีจำนวนบิทสูงกว่า เป็นข้อที่ได้เปรียบ เนื่องจากจำนวนบิทที่สูงขึ้นทำให้ความชัดเจนของเสียงที่ได้มีความกระจ่างใส มีความสะอาดมากกว่า และการตอบสนองทางไดนามิคสูงกว่า ที่สำคัญคือ ราคาแพง
อีกประการคือ ฟรอนท์เอนด์ประเภท 20/24 บิท จะเป็นฟรอนท์ใบ้คือไม่มีกำลังขับในตัว จะต้องเพิ่มเติมเพาเวอร์แอมพ์โดยปริยายครับ ถ้าฟรอนท์เอนด์ดี เพาเวอร์แอมพ์กับลำโพงไม่ดี ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะการจัดชุดที่ถูกต้องควรเลือกสินค้าที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกัน และอยู่ในระดับเดียวกัน ลำดับความสำคัญให้พิจารณาจากต้นสัญญาณลงไป คือ ฟรอนท์เอนด์ต้องดีก่อน ต่อไปก็เพาเวอร์แอมพ์ และลำโพง แต่ถ้าไม่มีเพาเวอร์แอมพ์ ก็ไปมองที่ลำโพงเลย เพราะหากเอาลำโพงไฮเอนด์มาขับด้วยสัญญาณที่ไม่มีคุณภาพ กว่าจะเปลี่ยนต้นสัญญาณลำโพงก็เสียหายไปแล้ว
5. พรีแอมพ์ กับอีควอไลเซอร์ มีความจำเป็นหรือเปล่า ?
พรีแอมพ์ช่วยให้ปรับแต่งเสียงได้ง่ายรวดเร็ว เนื่องจากมีนักเล่นเป็นจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามกันเข้ามาว่า จำเป็นต้องมีพรีแอมพ์ในระบบหรือไม่ สำหรับคำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ จำเป็นบางกรณีโดยเฉพาะ เทป หรือแผ่นซีดีที่บันทึกมาไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เสียงแหลมไม่ชัดใส หรือเสียงกลางหุบจม สามารถใช้พรีแอมพ์ปรับแต่งเสียงให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้มีนักเล่นหลายท่านนิยมปรับเสียงให้เข้ากับการฟังของตัวเอง ซึ่งข้อนี้ถือว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใด ถ้าต้องการพรีแอมพ์สักตัวไว้ใช้งานดังกล่าว
อีควอไลเซอร์ ช่วยแก้ปัญหาอคูสติคได้เป็นอย่างดี ในกรณีที่สภาพห้องโดยสารภายในรถมีอาการของเสียงเบสส์หาย หรือเสียงกลางจม สามารถปรับแต่งเสียงเบสส์ หรือเสียงกลางให้ชัดเจนขึ้นได้ ที่สำคัญคือ ต้องเป็นนักเล่นที่มีประสบการณ์ในการฟัง และใช้งานเป็นจะได้เปรียบมาก เพราะอีควอไลเซอร์ที่มีจำนวนช่องปรับเสียงมากขึ้นเท่าไหร่ อย่างเช่น 7, 9, 12, 30 แบนด์ หรือมากกว่านี้ การปรับแต่งเสียง นอกจากจะต้องใช้เครื่องมือวัดเสียงแล้ว ยังต้อง
ปรับแต่งกันด้วยการฟังอีกครั้งถึงจะได้มาตรฐานที่ถูกต้อง ปกติจะอิงกันที่แฟลทคือ ความถี่ตลอดย่านราบเรียบสมานเสมอกันโดยวิเคราะห์ผ่านเครื่องวัด RTA (เครื่องวิเคราะห์ความถี่เสียง) จากนั้นจะปรับแต่งเสียงตามที่ชอบก็ไม่ว่ากัน
สำหรับวิทยุที่มีพรีเอาท์ชุดเดียว เนื่องจากมีนักเล่นเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเพิ่มเครื่องเสียงเข้าไปในระบบ และต้องการขยายคุณภาพเสียงให้ดีขึ้น การใช้พรีแอมพ์กับวิทยุที่มีพรีเอาท์ชุดเดียว เป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสม โดยมีข้อแนะนำคือ พรีแอมพ์ชุดนั้นควรมีพรีเอาท์อย่างน้อย 2 ชุด
6. สายสัญญาณ สายลำโพงดีๆ ช่วยให้เสียงดีขึ้นมากแค่ไหน ?
สายสัญญาณทั่วไปทำด้วยวัสดุตัวนำที่เป็นทองแดง ซึ่งสายสัญญาณประเภทนี้เมื่อทำปฏิกริยากับออกซิเจนจะทำให้เกิดสนิมในสายได้ ปัจุจบันไม่นิยมนำมาใช้กับชุดเครื่องเสียงที่มีราคาแพงและเป็นต้นเหตุทำให้การนำไฟฟ้านั้นลดลง แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบันได้ใช้เทคนิคหลายขั้นตอน เพื่อให้ทองแดงมีความบริสุทธิ์สูงสุด เช่น สายสัญญาณแบบ OFC หรือสาย LCOFC และประเภท PCOCC เป็นสายที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มนักเล่น/นักฟังระดับออดิโอไฟล์ที่เล่นเครื่องเสียงกันแบบเอาจริงเอาจัง
สายสัญญาณแบบเงินบริสุทธิ์ยังไม่เป็นที่นิยมกัน เนื่องจากมีราคาที่แพงมาก และคิดกันว่าไม่คุ้มค่า ถ้านำมาใช้งานจริง แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายใช้วิธีนำสายทองแดงที่มีความบริสุทธิ์ (OFC) มาชุบด้วยเงินอีกครั้ง และมีนักเล่น/นักฟังบางรายที่นิยมหาซื้อมาใช้ในโฮมยูส หรือโฮมออดิโอ
สายลำโพงเมตรละ 10 บาท กับ 1,000 บาท นั้นแตกต่างกันอย่างไร เป็นคำถามยอดนิยมที่ผู้บริโภคทั่วไปคิดไม่ถึงว่า มีความแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสังเกตได้ที่วัสดุตัวนำ และขั้นตอนการผลิต ซึ่งสายลำโพงในปัจจุบันใช้เทคนิค OFC เช่นกัน เพราะฉะนั้นการนำไฟฟ้าจึงสูงกว่าสายธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคหลายขั้นตอนในการผลิต เพื่อให้คลื่นความถี่สูงกับความถี่ต่ำเดินทางถึงจุดหมายพร้อมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นอยู่กับส่วนประกอบในชุดเครื่องเสียงต้องมีคุณภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเล่น ซอฟท์แวร์ เพาเวอร์แอมพ์ ลำโพง ฯลฯ
7. ในระบบเสียงแบบแยกความถี่ ปรับอีเลคทรอนิคส์ ครอสส์โอเวอร์ กันอย่างไร ?
ถ้าเป็นระบบเสียงแยก 2 ทาง โดยทั่วไปจะตัดความถี่ย่านกลาง/แหลมที่ 2,500-4,500 HZ กับระบบเสียงแยก 3 ทาง ตัดความถี่ไฮพาสส์สำหรับเสียงแหลมที่ 2,500-4,500 HZ ตัดความถี่แบนด์พาสส์สำหรับเสียงกลางที่ 250-4,500 HZ ส่วนย่านความถี่โลว์พาสส์สำหรับเสียงเบสส์ตัดที่ 50-250 HZ ที่สำคัญต้องให้ความถี่ที่ตัดมีตัวเลขตรงกัน คือ หากตัดไฮพาสส์ที่ 3,000 HZ แบนด์พาสส์ด้านบนต้องตัด 3,000 HZ ด้วย หากตัดแบนด์พาสส์ที่ 250-3,000 HZ ต้องตัดโลว์พาสส์สำหรับเสียงเบสส์ที่ 250 HZ ด้วย ความถี่จึงจะออกมาครบถ้วนไม่ขาดหาย
8. ระบบ SINGLE-AMP, BI-AMPS, TRI-AMPS ต่างกันอย่างไร จัดแบบไหนดี ?
การจัดระบบเสียง ไม่ว่าจะเป็น SINGLE-AMP, BI-AMPS, TRI-AMPSขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละระบบ ถ้าต้องการแยกรายละเอียดเสียงให้กับลำโพงแยกชิ้น 2 ทาง สามารถเลือกเล่นระบบ BI-AMPS ได้ แต่ถ้าต้องการรายละเอียดเสียงที่มากขึ้น สำหรับลำโพงแยกชิ้น 2 ทาง และซับวูเฟอร์ด้วย ซึ่งเหมาะสมกับระบบ TRI-AMPS
ระบบไหนเหมาะกับรถแบบใดนั้น คงไม่สามารถชี้ชัดได้ 100 % เพราะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ตั้งแต่ความต้องการของลูกค้า งบประมาณที่มี หรือขนาดของรถ
ระบบไหน เหมาะกับนักฟังแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากเครื่องเสียงรถยนต์มีบุคลิกเฉพาะตัว และวิศวกรที่ออกแบบเป็นสำคัญ สามารถสังเกตได้จากเพาเวอร์แอมพ์ที่ผลิตในยุโรป มีบุคลิกของเสียงที่ออกสไตล์นุ่มนวล ไพเราะ และฟังสบายกว่า เมื่อเทียบกับเพาเวอร์แอมพ์บางยี่ห้อที่ผลิตในอเมริกา ซึ่งมีลักษณะเสียงทั่วไปที่ออกในแนวเจิดจ้าชัดเจน และหนักแน่น
ระบบที่เหมาะสมกับการชมภาพยนตร์ในรถขณะนี้ก็คือ ระบบเสียงรอบทิศทาง ซึ่งประกอบด้วย แหล่งสัญญาณ จอทีวี เครื่องถอดรหัสเสียงรอบทิศทาง เพาเวอร์แอมพ์แบบมัลทิแชนแนล หรือแอมพ์ประเภท AV ที่ออกแบบเป็นพิเศษ และลำโพงที่ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในระบบเซอร์ราวน์ด
9. กลาง/แหลมไม่สดชัด เวทีเสียงไม่ดี แก้ไขอย่างไร ?
สามารถแก้ไขด้วยระบบฟรอนท์สเตจ ซึ่งเป็นเทคนิคการติดตั้งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักเล่นเครื่องเสียงที่เน้นการฟังดนตรีทางด้านหน้า ด้วยเทคนิคการติดตั้งดังกล่าว เมื่อถูกต้องตามขั้นตอน สามารถสร้างเวทีเสียงด้านหน้าได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังให้เสียงดนตรีเปิดกว้างแผ่เต็มหน้าปัดรถ
ลำโพงเดิมติดรถ ส่วนใหญ่จะติดตั้งในช่องเดิมที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้กำหนด ทำให้ไม่สามารถรับฟังเวทีเสียงด้านหน้าได้อย่างชัดเจน และลอยเด่น เพราะทวีเตอร์ติดวางบนหน้าปัด และมิดเรนจ์ติดในช่องประตู ซึ่งเป็นเทคนิคเพื่อให้เวทีเสียงนั้นดีขึ้น ในด้านการติดตั้งจึงต้องย้ายทวีเตอร์ไปติดบนคอนโซล หรือ A-PILLAR หรือที่ KICK PANEL ส่วนตำแหน่งลำโพงวูเฟอร์ลงในช่องเดิมที่แผงประตู และปรับมุมเสียงที่ KICK PANEL กับมุมบนคอนโซลให้เหมาะสมโดยเลือกตัดความถี่ และปรับทูนเสียงให้กลมกลืนกันทั้งระบบ
10. เบสส์ไม่ออกทำอย่างไรดี ?
ปัญหานี้เกิดจาก การตัดสัญญาณโลว์พาสส์ไม่ถูกต้อง ปกติจะตัดย่านความถี่ประมาณ 100 HZ นอกจากนี้ควรดูที่ปุ่มปรับที่เรียกว่าซับโซนิค ฟิลเตอร์ด้วย โดยเลือกปรับประมาณ 30-40 HZ และไม่ควรตัดสูงกว่า 50 HZ เพราะทำให้เสียงเบสส์ช่วงต่ำๆ ไม่ออก แต่จะออกช่วงเบสส์ย่านกลาง/ต่ำเป็นส่วนใหญ่
ในกรณีที่ติดลำโพงซับวูเฟอร์แบบแขวนลอย โดยใช้ห้องเก็บสัมภาระท้ายรถ แต่ต้องดูที่สเปคของซับวูเฟอร์ด้วยว่ามีความเหมาะสมกับการติดตั้งใช้งานแบบใด เช่น แขวนลอยหรือต้องตีตู้และตัดความถี่ให้เหมาะสมกับระบบ
11. เบสส์ออกมาก แต่ไม่มีเนื้อหา ปรับแต่งอย่างไร ?
สิ่งแรกที่ต้องแก้ไขคือ ปรับแต่งความถี่ย่านโลว์พาสส์ให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพอคูสติคในรถรวมถึงตู้ซับที่ตีเอาไว้ โดยเลือกปรับจากโลว์พาสส์ซับวูเฟอร์ที่ตัวเพาเวอร์แอมพ์ หรืออีเลคทรอนิคส์ ครอสส์โอเวอร์ แต่ถ้าเป็นพาสสีฟ ที่โมขึ้นเอง คงจะยุ่งยากหน่อย
อีกอย่างที่ต้องพิจารณาคือ การตีตู้สูตรประเภทต่างๆ ให้เหมาะสมกับสเปคที่กำหนดจากโรงงาน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การคำนวณปริมาตรตู้ซับเป็นเรื่องไม่ยาก และจะออกแบบตู้ให้เข้าได้กับพื้นที่ติดตั้งเป็นเรื่องยาก
สุดท้ายคือ การปรับซับโซนิค ฟิลเตอร์ และปรับทูนเสียงเบสส์ให้ถูกต้องกับระบบ ตั้งแต่ LEVEL MATCHING จากนั้นปรับแยกเสียงเบสส์ กับกลาง/แหลมให้กลมกลืนกัน บางกรณีอาจต้องกลับเฟสหรือปรับเฟสของซับให้ตกในจุดที่ต้องการ
12. อยากได้ชุดคาร์เธียเตอร์ในราคาประหยัด ในงบประมาณหมื่นกว่าบาท มีบ้างหรือเปล่า ?
ในกรณีนี้เหมาะสำหรับท่านที่มีวิทยุเดิมติดรถมาแล้ว แต่สามารถเพิ่มวิทยุที่เล่น VCD และ CD ได้ พร้อมจอทีวีในงบประมาณดังกล่าวตามต้องการ
สำหรับท่านที่มีงบระดับปานกลาง แต่ต้องการความประหยัด สามารถเพิ่มเติมเพาเวอร์แอมพ์ 4 แชนแนล (60 วัตต์x4) ขับลำโพงชุดเดิม (หน้า/หลัง) และเพิ่มวิทยุที่เล่น VCD และ CD ได้ พร้อมจอทีวีที่มีฐานสำหรับติดบนหน้าปัด
13. ชุดไฮเอนด์ของจริงเป็นอย่างไร และต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ?
สำหรับชุดไฮเอนด์ในงบ 39,000-50,000 บาท สามารถจัดชุดฟรอนท์สเตจระบบ BI-AMPS และใน งบประมาณ 50,000-100,000 บาท เหมาะสำหรับระบบ TRI-AMPS แบบฟรอนท์สเตจ ในกรณีที่มีงบ ตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป สามารถจัดเป็นระบบ TRI-AMPS ฟรอนท์สเตจได้เช่นกัน แต่คัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยแยกตามสัดส่วนของสินค้าแต่ละชิ้นให้ใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ฟรอนท์ 2 ชิ้น (วิทยุ/ซีดี, จอทีวี) ประมาณ 20,000 บาท พร้อมแอมพ์ (3 ตัว) 30,000 บาท และลำโพงหน้า 1 คู่ กับลำโพงหลัง 1 คู่ และซับวูเฟอร์ 1 คู่ (30,000 บาท) เงินที่เหลือไปลงที่อุปกรณ์เสริม เช่น สายไฟ สายสัญญาณ คาพาซิเตอร์ต่างๆ รวมค่าแรง งานซาวน์ด ฯลฯ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ร้านติดตั้งที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีฝีมือ และชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของนักเล่น เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการติดตั้งต้องคำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ออกมาสมจริง ชัดเจน ไม่มีเสียงรบกวนไม่ว่าจะเป็นการฟังระบบฟรอนท์สเตจ หรือระบบเซอร์ราวน์ดก็ตาม นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ความสวยงามของเนื้องาน ความกลมกลืนของอุปกรณ์ติดตั้งที่เข้ากับภายในรถ โดยไม่เสียเนื้อที่ใช้สอยมาก สามารถปรับแต่งเสียง และใช้งานได้อย่างสะดวกตามสรีรศาสตร์
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการ
นิตยสาร 409 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2547
คอลัมน์ Online : พิเศษ(cso)