ในกลุ่มของคนที่เอาใจใส่กับปัญหาบ้านเมือง มีคำถามหนึ่งที่มักหยิบยกขึ้นมาถกเถียงหาคำตอบกันบ่อยๆ
ไม่ใช่ใคร คือ “ผู้มีบารมี” นะครับ
แต่เราถามกันว่า เพราะเหตุใดเมืองไทยจึงไปไหนได้ไม่ไกลในหลายๆ เรื่อง ทั้งที่เป็นประเทศเก่าแก่มีอายุอย่างต่ำเกือบพันปี
เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพิ่งมีคนวิจารณ์ว่าประชาธิปไตยเมืองไทยไม่ต่างอะไรกับประเทศในตะวันออกกลาง
ยิ่งเรื่องฟุตบอล ยิ่งเทียบกับเขาไม่ได้เลย
อันนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่อารมณ์ค้างจากเทศกาลบอลโลกที่เพิ่งจบไป
เอาเป็นว่า ยกเรื่องใดขึ้นมา ไทยเรายังพัฒนาไปไม่สุดสักเรื่อง ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคต่างๆ
ทำไม ? คำตอบมีหลากหลายครับ
ที่ชัดที่สุด คือ คนไทยมักไม่ “รู้จริง” ในเรื่องที่กำลังทำ แถมยังไม่ชอบศึกษาให้รอบรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งอีกด้วย
ลองสังเกตดูเถิดครับว่า เรามักจะชื่นชม คนที่เก่งด้วยวิธี “ครูพักลักจำ” และฝึกฝนด้วยตนเอง มากกว่าคนที่ทั้งเก่งและรู้จริง ด้วยการศึกษาตามระบบอย่างเป็นขั้นตอน
ในวงการรถยนต์มีให้เห็นเยอะแยะ อย่างบรรดา “เกจิ” ตามสื่อต่างๆ ถามว่ามีใครบ้างที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์
ขี้เกียจตอมแมลงวันด้วยกันครับ
หันไปห่วงแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ของเราดีกว่า เพราะกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่รู้แจ้งเห็นจริงจากการศึกษาในระบบ เช่นเดียวกับแวดวงอื่นๆ
การประกอบรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมชั้นสูง ขนาดขันนัทล้อก็ยังต้องมีวิชาการกำกับ
การขาดแคลนผู้ “รู้จริง” จึงเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าเราอยากก้าวถึงระดับดีทรอยท์แห่งเอเชียอย่างแท้จริง
คงเพราะเหตุนี้ละครับ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ สสท. จึงเตรียมจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท เพื่อผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในด้านวิศวกรรมยานยนต์ บริหารจัดการอุตสาหกรรม และไอที
บุคลากรที่จบจากสถาบันแห่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2554 จะมีความรอบรู้เรื่องการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งสามารถสื่อสารภาษาหลักในวงการยานยนต์โลก คือ อังกฤษ และญี่ปุ่นได้ดี
มหาวิทยาลัยแห่งนี้แจ้งเกิดเมื่อไหร่
ใครจะเป็น “ผู้มีบารมี” ก็ช่าง
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปไกลแน่นอน