พิเศษ(formula)
มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
คำถามที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่ยากมากที่จะหาคำตอบ ที่เชื่อมั่นได้จริงๆ ก็คือ เรายังมีน้ำมันดิบจากธรรมชาติให้เหลือใช้ได้อีกกี่ปี ? เคยยิงคำถามนี้กับเพื่อนฝูงที่อยู่ในวงการน้ำมัน คำตอบที่ได้รับก็คือ เมื่อนำปริมาณน้ำมันดิบที่เชื่อว่ามีอยู่ในธรรมชาติ มาคำนวณเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ๆ กันมาในอดีต ก็น่าจะเชื่อได้ว่า มนุษย์ยังคงมีน้ำมันดิบจากธรรมชาติให้ใช้ได้อีกหลาย 10 ปี หรืออาจจะถึง 100 ปี ปัญหาอยู่ที่ราคา น้ำมันเชื้อเพลิงราคาถูกๆ คงไม่มีอีกแล้ว เพราะมีปัจจัยอยู่มากมายที่จะไม่ยอมให้น้ำมันมีราคาย่อมเยาเหมือนในอดีต ปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งก็คือ ถึงแม้ยังมีน้ำมันดิบเหลืออยู่มาก แต่วิธีการที่จะนำน้ำมันดิบเหล่านี้มาใช้ นับวันก็จะยิ่งยากลำบากขึ้น และมีต้นทุนสูงขึ้น น้ำมันดิบราคาถูกๆ อย่างในอดีต จึงมีได้ก็แต่ในความเพ้อฝันเท่านั้น
คำตอบที่ว่า ยังมีน้ำมันดิบจากธรรมชาติให้เหลือใช้อีกหลาย 10 ปี หรืออาจจะถึง 100 ปี ได้ยินแล้วก็อยากจะเชื่อ แต่ก็เชื่อได้ไม่สนิทใจ คนส่วนใหญ่ในโลกก็คงรู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา จึงมีความพยายามมากมายและหลายวิธี ที่จะนำเชื้อเพลิงอื่นๆ มาใช้ในรถยนต์ ทดแทนน้ำมันดิบจากธรรมชาติ หรือถ้ายังจำเป็นต้องใช้ ก็พยายามใช้ให้น้อยลง
ความพยายามที่จะใช้น้ำมันธรรมชาติให้น้อยลงนี้ เห็นได้ชัดในรถยนต์ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า HYBRID VEHICLE หรือ "รถพันทาง" ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาเสริมการทำงานของเครื่องยนต์เบนซินหรือเครื่องยนต์ดีเซล และผู้นำในเรื่องนี้ ก็ต้องยกให้ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น คือ โตโยตา (TOYOTA) กับ ฮอนดา (HONDA) ซึ่งผลิตรถพันทางออกขายหลายปีแล้ว
ในเรื่องรถพันทางนี้ ต้องยอมรับว่าค่ายยุโรปขยับตัวช้ากว่าค่ายญี่ปุ่น และค่ายอเมริกัน แต่มาช้าก็ยังดีกว่าไม่มาเลย ในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดนี้ เราจึงมีโอกาสได้เห็นผลงานรถพันทางของค่ายยุโรปหลายชิ้น แต่เกือบทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา คงต้องรออีก 2 หรือ 3 ปี จึงจะมีขายกันอย่างเป็นงานเป็นการ และจุดที่น่าสังเกตก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยุโรปไม่ใช้วิธีทำงานตามลำพัง แต่เลือกวิธีร่วมมือกันทำ ความเคลื่อนไหวที่พอจะบอกกล่าวกันได้คือ โพร์เช (PORSCHE) จับมือกับ โฟล์คสวาเกน (VOLKSWAGEN) และ เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) กำลังจับมือกับ บีเอมดับเบิลยู (BMW)ตามสัญญา เดือนนี้เจาะลึกเฉพาะ CONCEPT CAR หรือ "รถแนวคิด" เลือกมารวม 14 คัน มีทั้งรถยุโรป รถอเมริกัน รถญี่ปุ่น และรถเกาหลี ขอเชิญพลิกไปอ่าน
ฟอร์ด ไอโอซิส
FORD IOSIS เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานสี่ประตูสี่ที่นั่ง ที่ออกแบบส่วนท้ายให้มีรูปทรงเหมือนรถคูเป มีจุดโดดเด่นสะดุดตาคือประตูข้างทั้งสี่บาน เป็นประตูน้ำหนักเบา ทำจากไฟเบอร์กลาสส์ ออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีนำสมัยที่ใช้ในการสร้างรถแข่ง ฟอร์มูลา-1 ติดตั้งบานพับแบบพิเศษ สามารถรับน้ำหนักและยึดตรึงบานประตูแต่ละบาน โดยไม่จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนค้ำยันอื่นๆ เวลากดปุ่มเปิดประตู ประตูแต่ละบานจะไม่เปิดออกข้างๆ เหมือนประตูบานสวิงทั่วๆ ไป แต่จะยกตัวขึ้นข้างบน แล้วเปิดแยกออกจากกันในลักษณะของปีกนก โดยไม่มีเสาค้ำยันกลางให้เกะกะการขึ้นลง
เป็นผลงานรังสรรค์ของทีมออกแบบของ ฟอร์ด ยุโรป ที่มี มาร์ทิน สมิธ (MARTIN SMIEH) เป็นผู้อำนวยการ และประกาศยืนยันว่า เป็นรถแนวคิดแท้ๆ ไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาด แต่มีความสำคัญในฐานะเป็น DESIGN LANGUAGE FOR ALL FUTURE FORD CARS นั่นคือ แนวความคิดต่างๆ ที่ปรากฏในรถคันนี้ จะพบได้ในรถแบบต่างๆ ที่ ฟอร์ด ยุโรปจะผลิตจำหน่ายในอนาคต
โอเพล อันตารา จีทีซี
ค่าย "สายฟ้า" มีรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) แบบหนึ่ง ที่จำหน่ายมานมนาน และถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยนรุ่นได้แล้ว คือรถ โอเพล ฟรนเตรา (OPEL FRONTERA) เชื่อกันว่า รถแนวคิด OPEL ANTARA GTC ที่เห็นอยู่นี่แหละ คือต้นแบบของรถกิจกรรมกลางแจ้งรุ่นใหม่ที่ว่านี้
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER VEHICLE หรือ "รถผสานพันธุ์" ที่นำคุณลักษณะและสมรรถนะการขับขี่ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) มาซ่อนไว้ในรูปทรงองค์เอวของรถคูเป ตัวถังขนาด 4.530x1.970x1.640 ม. มี BELTLINE หรือ "เส้นสะเอว" ค่อนข้างสูงกว่าปกติ จึงเหลือช่องหน้าต่างกระจกแคบนิดเดียว ที่พิเศษกว่ารถติดประตูท้ายทั่วๆไปก็คือ ประตูบานท้ายที่เปิดเข้าสู่ห้องเก็บของ ติดตั้งบานพับแบบพิเศษ เรียกในภาษาอังกฤษว่า PANTOGRAPHIC HINGE เป็นบานพับที่ช่วยให้เปิดประตูได้สะดวก โดยผู้เปิดไม่จำเป็นต้องขยับตัวไปข้างหลังเพื่อหลบบานประตูเหมือนรถทั่วๆ ไป เพราะขณะที่เปิดประตู บานประตูจะยกตัวขึ้นพร้อมๆ กับขยับไปข้างหน้า ดังที่เห็นได้ในภาพ
มีนี คอนเซพท์ ฟรังค์ฟวร์ท
MINI CONCEPT FRANKFURT รถแนวคิดที่ทำขึ้น เพื่อลบล้างความเชื่อที่ว่า มีนี เป็นรถขนาดเล็กที่ขึ้นลงยาก จะบรรทุกของขนาดโตๆก็ทำไม่ได้ และโจทย์ในการออกแบบมีอยู่ข้อเดียวคือ "ทำยังไงก็ได้ เพื่อให้รถ มีนี กลายเป็นรถที่ขึ้นลงและบรรทุกของได้สะดวก"
ในอดีต คือในช่วงปี 1960-1982 และกับรถรุ่นดั้งเดิม มีนี เคยทำรถตัวถังยาวๆ อย่างนี้ออกขายมาก่อนแล้ว โดยใช้ชื่อว่า มอร์ริส มีนี ทราเวลเลอร์ (MORRIS MINI TRAVELLER) และ ออสติน คันทรีแมน (AUSTIN COUNTRYMAN) สำหรับรถแนวคิดคันนี้ มีนี นำเอารถรุ่นใหม่ที่จะออกจำหน่ายในปี 2006 มาเพิ่มช่วงฐานล้อให้ยาวขึ้น 80 มม. และเปลี่ยนรายละเอียดมากมายทั้งภายในและภายนอก เช่น ขยายประตูบานข้างให้กว้างถึง 1,600 มม. และติดตั้งบานพับแบบพิเศษ เรียกในภาษาอังกฤษว่า PARALLELOGRAM HINGE เวลาเปิดประตู บานประตูจะขยับออกข้างและเคลื่อนตัวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ส่วนประตูบานท้ายก็เปลี่ยนจากบานเดี่ยวเป็นประตูสองบานเปิดแยกจากกัน
ซีตรอง เซ-สปอร์ท เลาน์จ์
CITROEN C-SPORT LOUNGE รถแนวคิดตระกูล C คันล่าสุดของค่าย "จ่าโท" ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ ในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER VEHICLE หรือ "รถผสานพันธุ์" ที่นำคุณลักษณะของรถเก๋งคูเป และรถอเนกประสงค์ (MPV) มารวมไว้ในรถคันเดียวกัน
ตัวถังขนาด 4.510x1.870x1.520 ม. มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศแค่ 0.26 และมีรายละเอียดการออกแบบที่น่าสนใจมากมายทั้งภายในและภายนอก จุดสะดุดตาของตัวถังภายนอก ซึ่งเห็นแล้วชวนให้นึกถึงรถสปอร์ท มาซดา อาร์เอกซ์-8 (MAZDA RX-8) ของค่ายญี่ปุ่น คือประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง โดยที่บานหลังมีขนาดกว้างแค่ครึ่งเดียวของบานหน้า ส่วนภายในห้องโดยสารซึ่งออกแบบให้นั่งแค่สี่คน มีคอนโซลกลางที่ออกแบบเป็นชิ้นเดียวกับเก้าอี้ที่นั่งผู้ขับ และมีพวงมาลัยที่แปลกไปจากรถทั่วๆ ไป คืออุปกรณ์บังคับควบคุมต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่กับดุมกลาง จะติดตรึงอยู่กับที่ ไม่หมุนไปตามพวงมาลัย ซีตรอง บอกว่า เป็นการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากห้องขับของเรือบิน
เปอโฌต์ มูวี
ค่าย"สิงห์เผ่น"เมืองน้ำหอม จัดประกวดออกแบบรถยนต์ ซึ่งเรียกชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า CONCOURS DE DESIGN มาแล้วรวมสามครั้ง ครั้งล่าสุดซึ่งจัดเมื่อปลายปี 2004 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2005 มีนักออกแบบมือสมัครเล่นจาก 107 ประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวดประขันรวม 3,800 ชิ้น ปรากฏว่า รถที่ชนะใจกรรมการและคว้าตำแหน่งแชมพ์ไปครอง คือ PEUGEOT MOOVIE ผลงานของ อันดเร โกสตา (ANDRE COSTA) หนุ่มโปรตุเกสวัย 23 ปี ซึ่งกำลังร่ำเรียนวิชาออกแบบอุตสาหกรรมอยู่ในมหาวิทยาลัยลิสบอน
เป็นรถนาครสองที่นั่ง ขนาด 2.330x1.800x1.540 ม. ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบที่แปลกแหวกแนวและน่าทึ่งอยู่มากมาย ในส่วนของตัวถังภายนอก จุดที่ต้องยกหัวนิ้วโป้งให้ทั้งสองนิ้ว คือประตูข้างรูปวงกลมทั้งสองด้านที่ผนวกล้อคู่หลังไว้ด้วย ประตูที่ว่านี้ทำหน้าที่สองอย่าง คือเป็นช่องเปิดเข้าไปนั่งในห้องโดยสารที่เต็มไปด้วยพื้นที่กระจก กับเป็นล้อขับเคลื่อนที่ช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างดี เพราะมีขนาดโตมหึมา
เปอโฌต์ 20 คัพ
PEUGEOT 20 CUP รถแนวคิดอีกแบบหนึ่ง ที่ค่าย "สิงห์เผ่น" นำออกแสดงเป็นครั้งแรกในงานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทสามล้อ ออกแบบเพื่อการขับขี่ที่สนุกสนานและเร้าใจ โดยผสมผสานคุณลักษณะของรถสปอร์ทสี่ล้อและจักรยานยนต์สองล้อเข้าไว้ด้วยกัน
ตัวถังหน้ากว้างท้ายแคบขนาดโต 3.630x1.770x1.160 ม.และมีน้ำหนักตัวเบากว่าครึ่งตัน มีแชสซีส์แบบชิ้นเดียวทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ และมีห้องโดยสารปลอดประตูไร้หลังคาที่นั่งได้สองคน ห้องโดยสารด้านซ้ายและด้านขวา มีผนังกั้นแยกจากกันเป็นสัดเป็นส่วน
ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ที่ค่าย "สิงห์เผ่น" ร่วมมือกันพัฒนากับค่าย บีเอมดับเบิลยู ของเยอรมนี เป็นเครื่องยนต์เทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 16 วาล์ว 170 แรงม้าที่ออกแบบและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัย เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ แบบเปลี่ยนจังหวะตามลำดับเกียร์ มีคันบังคับติดตั้งอยู่หลังพวงมาลัยที่ออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่ใช่วงกลมเหมือนพวงมาลัยทั่วไป
เรอโนลต์ เอกีอุส
RENAULT EGEUS ผลงานรถแนวคิดเพียงคันเดียวที่ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอม นำออกอวดในงานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV)ระดับสุดหรู ที่นั่งยืดแข้งยืดขาสบายเพราะห้องโดยสารกว้างขวางเหมือนรถเก๋งซาลูนขนาดใหญ่ รูปทรงองค์เอว เห็นแล้วน่าเชื่อว่าอีกไม่นานก็คงเปลี่ยนเป็นรถตลาด
ตัวถังทรงสองกล่อง ขนาด 4.700x1.920x1.660 ม. มีจุดที่น่ากล่าวถึงอยู่สองจุด คือ ประตูข้างที่ออกแบบในลักษณะ "ร่วมสมัย" กับรถแนวคิดแทบทุกคันในยุคนี้ คือประตูบานสวิงที่เปิดแยกออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง อย่างที่เคยเรียกกันว่าSUICIDE DOOR หรือ "ประตูฆ่าตัวตาย" กับหน้ารถซึ่งไม่มีแผงกระจังไว้ดักลม แต่มอบหน้าที่นี้ให้แก่ช่องดักลมขนาดเล็กสองช่อง ที่วางตัวอยู่ใต้ดวงโคมไฟหน้าทั้งสองด้าน
เป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบถาวร ด้วยพลกำลังของเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง วี 6 สูบ 3.0 ลิตร 250 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ มีคันบังคับติดตั้งอยู่หลังพวงมาลัย
สโกดา เยตี
SKODA YETI เป็นชื่อของรถแนวคิด ในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้ง(SUV)ห้าประตูสี่ที่นั่ง ที่ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐเชคนำออกแสดงเป็นครั้งแรก ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 75 เมื่อเดือนมีนาคม 2005 ที่งานนี้ รถชื่อเดียวกันปรากฏตัวให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง หน้าตายังเหมือนเดิม แต่ลดจำนวนประตูเหลือแค่สอง และเปลี่ยนจากหลังคาแข็งเป็นหลังคาเปิดประทุน
เป็นผลงานจากความร่วมมือกับสำนัก คาร์มันน์ (KARMANN) ผู้ชำนัญการด้านหลังคาเปิดประทุนของเยอรมนี และเป็นหลังคาเปิดประทุนแบบ VARIABLE ROOF ซึ่งมีลักษณะผิดแผกแตกต่างจากหลังคาเปิดประทุนที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป คือออกแบบเป็นสองส่วน ส่วนหน้าเป็นประทุนแบบแข็ง สามารถถอดออกได้ และมีที่เก็บซ่อนอยู่ใต้พื้นของห้องเก็บของท้ายรถ แต่ส่วนหลังเป็นประทุนแบบอ่อน ทำจากผ้าใบสังเคราะห์ สามารถพับเก็บได้ หรือจะถอดออกทั้งหมดก็ได้ เมื่อเปิดหลังคาส่วนหลัง และพับเก้าอี้คู่หลังให้ราบลงกับพื้น รถแนวคิดคันนี้ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นรถพิคอัพไปโดยปริยาย
ดอดจ์ ไนทโร
ไดมเลร์ ไครสเลอร์ (DAIMLER CHRYSLER) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทวิสัญชาติ นำรถแนวคิดออกแสดงในงานนี้หลายคัน แต่มีอยู่เพียงคันเดียวเท่านั้นที่ติดยี่ห้อ ดอดจ์ (DODGE) คือ DODGE NITRO ที่เห็นอยู่นี้
ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนต้นปี แต่เพิ่งอวดโฉมให้คนรักรถในยุโรปได้อย่างสัมผัสอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดกลาง ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MID-SIZE SUV รูปทรงองค์เอวและรายละเอียดต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน เห็นแล้วไม่น่าเรียกว่ารถแนวคิด เพราะดูไม่มีอะไรผิดแผกจากรถที่พร้อมจะออกขาย
เป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบถาวร ด้วยพลังจากเครื่องยนต์ SOHC วี 6 สูบ 3.7 ลิตร 210 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ทำได้ใน 9.6 วินาที ควอร์เตอร์ไมล์ทำได้ใน 16.9 วินาที ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ระดับ 174 กม./ชม.
จีเอมซี กราไฟท์
ค่าย เจเนอรัล มอเตอร์ส (GENERAL MOTORS) ก็มีผลงานรถแนวคิดหลายคันเช่นกัน ที่เลือกมาให้ชมกัน คือ GMC GRAPHYTE ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ HYBRID SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพันทาง ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์เมื่อตอนต้นปี แต่เพิ่งอวดโฉมในยุโรปเป็นครั้งแรกที่งานนี้ ทั้งๆที่เป็นรถผลิตในยุโรป
เป็นผลงานรังสรรค์ของ GM ADVANCED STUDIO ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโคเวนทรีในประเทศอังกฤษ ตัวถังทรงสองกล่อง ยาว 4.768 ม. และกว้าง 2.004 ม. มีคุณลักษณ์และรายละเอียดหลายอย่าง ที่ไม่เคยพบกันมาก่อนในรถกิจกรรมกลางแจ้งทั่วๆ ไป รวมทั้งระบบขับเคลื่อนแบบพันทาง โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าสองชุด ที่รับกำลังไฟฟ้าจากแบทเตอรี นิกเคิล-เมทัลไฮดไรด์ (NICKEL-METAL HYDRIDE) ทำงานควบคู่กับเครื่องยนต์ วี 8 สูบ 5.3 ลิตร 300 แรงม้า ที่ใช้เทคโนโลยี DOD หรือ DISPLACEMENT ON DEMAND คือแปรผันขนาดความจุของเครื่องยนต์ตามลักษณะการใช้งาน
มาซดา เอมเอกซ์-ครอสสปอร์ท
MAZDA MX-CROSSPORT หนึ่งในบรรดารถแนวคิดจำนวนสองคัน ที่ค่าย มาซดา นำออกแสดงในงานนี้ และเป็นคันที่เคยปรากฏตัวมาครั้งหนึ่งแล้ว ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนต้นปี
เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CROSSOVER VEHICLE หรือ "รถผสานพันธุ์" ที่นำคุณลักษณะของรถสปอร์ทมารวมเข้ากับรถกิจกรรมกลางแจ้ง ตัวถังขนาด 4.630x1.930x1.630 ม. มีช่วงยื่นหน้ายื่นหลังสั้นกว่าปกติ จึงมีช่วงฐานล้อที่ยาวถึง 2.795 ม. รูปทรงองค์เอวของตัวถังภายนอก ซึ่งมี BELTLINE หรือ "เส้นสะเอว" ค่อนข้าสูง ดูดุดันและทรงพลัง แต่เฉพาะส่วนหน้า เห็นได้ชัดว่า ได้แบบมาจากรถสปอร์ท มาซดา อาร์เอกซ์-8 (MAZDA RX-8) ที่รู้จักกันดีทั่วโลก
ภายในห้องโดยสาร ออกแบบตกแต่งเพื่อสร้างความรู้สึกว่ากำลังนั่งอยู่ในรถสปอร์ท เก้าอี้ที่นั่งทุกตัวเป็นเก้าอี้แบบ BUCKET SEAT เหมือนเก้าอี้ของรถสปอร์ท แต่ที่ไม่เหมือนก็คือ ทุกตัวติดตั้งอยู่บนราง ทำให้ขยับเลื่อนตัวได้ทั้งเลื่อนหน้าและเลื่อนหลัง
มาซดา ซาสโซว
MAZDA SASSOU รถแนวคิดอีกคันหนึ่ง ที่ค่าย มาซดา นำออกแสดงในงานนี้ และเป็นการปรากฏตัวในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสามประตูแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัด ผลงานรังสรรค์ของ MAZDA EUROPEAN DESISN CENTER ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฟรังค์ฟวร์ท ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถานที่จัดงาน ออกแบบโดยมีผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวและผู้ซื้อรถคันแรก เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ตัวถังทรงสองกล่อง ขนาด 3.890x1.740x1.370 ม. มีแนวคิดการออกแบบที่แปลกและแหวกแนวอยู่หลายจุด ทั้งภายนอกและภายใน ตัวอย่างภายนอก คือแผงกระจังหน้าที่มีฝาปิดอยู่ด้วย ฝานี้จะปิดหรือเปิดมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ อุณหภูมิของระบบระบายความร้อน และอุณหภูมิของอากาศภายนอกตัวรถ ส่วนตัวอย่างภายใน คือเก้าอี้ที่นั่งคู่หน้าที่แขวนยึดกับอุโมงค์กลางแทนที่จะยึดกับพื้นรถ และเก้าอี้ที่นั่งคู่หลังซึ่งเป็นเก้าอี้แบบสูบลม บังคับควบคุมการทำงานด้วยการกดปุ่ม 1 หรือ 2 ที่ติดตั้งอยู่บนคอนโซลกลาง
โตโยตา เอนโด
TOYOTA ENDO ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ"ครั้งแรกในโลก"ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ CITY CAR หรือ "รถนาคร" สามประตูสามที่นั่ง ผลงานรังสรรค์ของ TOYOTA EUROPEAN DESIGN STUDIO ซึ่งตั้งอยู่ในภาคใต้ของเมืองน้ำหอม มีแนวทางการออกแบบกำกับด้วยอักษรย่อสี่ตัว คือ PASS ซึ่งย่อมาจาก PROPORTION ARCHITECTURE SURFACE และ SPECIAL TOUCH ในภาษาอังกฤษ
ตัวถังทรงสองกล่อง ขนาด 3.000x1.690x1.520 ม. มีแนวคิดการออกแบบอยู่สองจุด ที่คนของโตโยตาอวดโอ่อย่างภูมิอกภูมิใจเป็นนักเป็นหนา ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนในรถแนวคิดคันใด และเหมาะมากที่นำมาใช้ในรถที่ใช้งานในเมือง คือ ประตูข้างซึ่งติดบานพับแบบสองท่อน ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า 2-LINK HINGE ซึ่งทำให้สามารถเปิดปิดประตูได้ง่าย แม้เมื่อจอดรถในที่แคบๆ กับเก้าอี้ที่นั่งตัวที่สี่ ซึ่งเป็นเก้าอี้สำรอง ออกแบบเหมือนหิ้งวางของ พับเก็บได้เมื่อไม่มีคนนั่ง ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่
ฮันเด โปร์ติโก
ปิดท้ายด้วยผลงานของผู้ผลิตรถยนต์เมืองโสม ซึ่งปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ชิคาโกในสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนต้นปี และปรากฏตัวแบบ EUROPEAN PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในยุโรป" ที่งานนี้
HYUNDAI PORTICO ผลงานรังสรรค์ของ HYUNDAI ADVANCED DESIGN TEAM ในเกาหลีใต้ เป็นรถแนวคิดที่ผสมผสานคุณลักษณะของรถเก๋งซีดานกับรถตู้อเนกประสงค์เข้าไว้ด้วยกัน ตัวถังทรงกล่องเดียว ยาว 5.000 ม. และกว้าง 2.000 ม. ไม่มีอะไรให้พูดถึงมากนัก นอกจากประตูข้างบานโต ที่เปิดแยกออกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง อย่างที่เรียกกันว่า "ประตูฆ่าตัวตาย" หรือ "ประตูตู้กับข้าว"
ออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ใช้ได้กับระบบขับสองแบบ คือด้วยระบบธรรมดาๆ โดยติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 6 สูบ ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SHIFTRONIC หรือด้วยระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบพันทาง โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 136 แรงม้า ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 83 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา/ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : พิเศษ(formula)