เล่นท้ายเล่ม
รวดเร็วปานกามนิต
เลิฟ สตอรีระหว่างกามนิตและวาสิษฐีที่ผมอ่านมาตั้งแต่ยังเล็กและอยากโตเร็วๆ ผมจำได้แม่นยำว่ากามนิตเป็นผู้ชายที่ทำอะไรด้วยความรวดเร็ว จนติดปากคนเมืองนั้นว่า รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม
ตำนานรักเรื่องนี้มีอิทธิพลกับผู้ชายอย่างผมมาก เพราะผมก็จะเริ่มทำอะไรด้วยความรวดเร็วไปทั้งหมดเพื่อให้เป็นกามนิตของวาสิษฐี
หรือไม่ก็พยายามทำตัวให้เหมือนๆ เพื่อนร่วมเพศของผมทั้งหลาย ผู้รักความเร็ว หรืออีกนัยหนึ่งผู้ที่อ่านนิตยสารเล่มนี้ "ฟอร์มูลา" อันเป็นหนังสือว่าด้วยความเร็วทั้งเล่ม
เมื่อยังเล็ก แม่เคยถามผมว่า "โตขึ้นอยากจะเป็นอะไร ?" ผมก็บอกแม่ว่า ขอให้โตเร็วๆ ก็แล้วกัน
เมื่อผมโตถึงระดับรู้จักการทำร้ายตัวเองดีแล้ว ผมก็เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ฯเมืองที่สร้างกันอย่างรวดเร็ว แค่ร้อยกว่าปีเท่านั้น กรุงเทพ ฯ พลิกความวิกฤติจากที่ลุ่มเมืองทะเลกลับมีสถานที่อันสวยงามหลากหลายจนได้ชื่อเป็นเมืองสวรรค์มหาปราสาทพระราชวังเรืองรองด้วยความวิจิตรแห่งสถาปัตยกรรมไทย หางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกานั้นเรียงรายทอดตัวรับกันไปด้วยความลงตัวจนผมนึกไม่ออกว่าได้ใช้ความเร็วในการก่อสร้างเท่าใดกันแน่
ตอนที่ผมเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ฯ ในปี 2491 นั้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ตำบลสนามเป้าได้สร้างเสร็จเรียบร้อยไปแล้วหกปีอันเป็นสถาปัตยกรรมสำคัญอีกชิ้นหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง
ปีนั้นเป็นปี 2485 อันเป็นปีที่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ ฯ และเป็นปีเดียวกันกับ สถาปนิกพระพรหมพิจิตร ออกแบบสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุเสร็จเรียบร้อยไปอีกแห่งที่บริเวณหลักสี่
ทั้งสนามเป้าและหลักสี่ในยามนั้น ผมรู้สึกว่าเป็นสถานที่ไกลและโดดเดี่ยวมากไกลจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เชิงสะพานพุทธ และไกลจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ อันเป็นสถาบันที่ผมเล่าเรียนและศึกษาความรู้สึกที่ว่ามันไกลมากนั้นเกิดจากเพราะในแต่ละครั้งเมื่อมีโอกาสไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน
สมัยเรียนสวนกุหลาบ ผมและเพื่อนต้องอาศัยรถรางวิ่งจากหน้าศาลาเฉลิมกรุงเพื่อไปเที่ยวบ้านของเพื่อนที่อยู่ถึงถนนตก รู้สึกไกลแทบจะลิบฟ้า นั่งรถรางกันจนเมื่อยก้นผ่านตลาดเก่า ผ่านสามแยก ผ่านสี่พระยา ผ่านยานนาวา ตรงไปถนนตก
มาถึงปัจจุบันนี้เกินกว่าครึ่งศตวรรษ ความไกลของสถานที่เหล่านี้ก็ดูเหมือนไม่ได้ลดหายไปไหนเลยแม้วันนี้ไม่มีรถรางมีแต่รถยนต์หลายลูกสูบความเร็วเพิ่มขึ้นหลายเท่าของรถรางก็ไม่ได้ช่วยให้การเดินทางรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนนี้เท่าไรนัก
กรุงเทพ ฯ ระหว่างปี 2491 ถึงกึ่งพุทธกาลในปี 2500 เป็นห้วงเวลาที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง และเป็นห้วงเวลาเดียวกันที่งานสถาปัตยกรรมได้รับการฟื้นฟูงานสร้างที่สำคัญๆ ได้มีการก่อสร้างสะพานรถไฟพระราม 6 สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงที่แปดริ้วส่วนสะพานกรุงธนนั้นมาสร้างเสร็จในปี 2500 เชื่อมระหว่างกรุงเทพ ฯ กับ ธนบุรี
วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ฯ ที่ทุ่งมหาเมฆ สร้างเสร็จในปี 2495โดยเป็นผลพวงจากการช่วยเหลือและความร่วมมือจากองค์การบริหารวิเทศกิจแห่งสหรัฐอเมริกา(ยูซอม) ระหว่างห้าปีนี้เอง จอมพล ป.พิบูลสงครามได้สร้างอาคารราชการสองฝั่งขึ้นมาบนถนนสายสำคัญแห่งเมืองกรุงเทพ ฯ คือ ถนนราชดำเนินนอก ดำเนินงานโดยคุณหลวงบุรกรรมโกวิท ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมโยธาเทศบาล
กลุ่มอาคารราชการนี้มี 5 หลัง เป็นอาคารที่มีความสูง 3-4 ชั้น เรียงรายตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ หน่วยราชการทั้ง 5 คือ กระทรวงเกษตร กระทรวงสหกรณ์กระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรม และองค์การป่าไม้
ส่วนที่แถมออกมาของถนนสายเดียวกันนี้ และเป็นหน้าตาของกรุงเทพ ฯ อีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ การสร้างอาคารศาลาสันติธรรม (สำนักงานสหประชาชาติ) ใกล้กับวัดมกุฏกษัตริยาราม
สถาปัตยกรรมที่เล่านี้ เป็นสถาปัตยกรรมแนวไทยประยุกต์เริ่มใช้คอนกรีทเสริมเหล็กแทนที่งานเครื่องไม้และเครื่องปูนปั้นซึ่งเป็นอายุของสถาปัตยกรรมไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2490
ก่อนสิ้นอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในปี 2498 เมืองไทยใช้ความรวดเร็วเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของเมืองไทย คือ ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหมเป็นความบันเทิงที่ตื่นเต้นของคนกรุงเทพ ฯ แม้จะเป็นโทรทัศน์ขาวๆ ดำๆ ก็เถอะ
คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนขายหนังสือในราคาโอเลี้ยงห้าแก้วได้เริ่มเข้าทำงานที่ ช่อง 4บางขุนพรหม และด้วยวัยเพียง 27 ปีคุณอาจินต์ได้สร้างผลงานละครเรื่องแรกให้กับไทยทีวีคือละครเรื่อง "สุนทรภู่"
ในด้านความเคลื่อนไหวปานรถยนต์หกสูบของวงการเพลง ปรากฏว่าเพลง "ข้องจิต" ร้องโดยสุนทราภรณ์ และ คุณพูลศรี เจริญพงษ์ เป็นเพลงดังสนั่นเมือง ผู้ที่ประพันธ์เพลงนี้คือ พลโท มล. ขาบกุญชร ณ อยุธยา ขณะเวลานั้นมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนแรกใช้นามปากกาเขียนเพลงว่า อ.ป.ส. (อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์) ท่านได้ประพันธ์เพลงนี้เมื่อปี 2495
หลังจากนั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เข้ามามีอำนาจเริ่มแต่ปี 2500 นักร้องสาวอายุ 20ปีดังระเบิดได้แก่ คุณรวงทอง ทองลั่นทม ร้องเพลงแค่สองเพลงแต่ดังเป็นบ้า ทั้งเพลง "จำได้ไหม" ของ "ธาตรี" และเพลง "ขวัญใจเจ้าทุย" ของ สมศักดิ์ เทพานนท์
ผมเรียนหนังสือด้วยความรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงสองปีก็สามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เนื่องจากสองปีที่เรียนสวนกุหลาบเป็น มัธยม 7 และ 8 ผมขืนใช้ความล่าช้าเรียนอยู่สามสี่ปีโรงเรียนก็ต้องจัดการไล่ผมออกไปเรียนที่อื่นแน่
เมื่อมาเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผมก็เริ่มเรียนรู้การกินเหล้าเมายาด้วยความรวดเร็วกินเบียร์ขวดแรกก็กินเข้าไปจนถึงระดับเมาหลับหมดสติ ทั้งหมดนี้ต้องโทษบรรดาเพื่อนๆที่มันพยายามเสี้ยมสอนให้ผมทำอะไรด้วยความรวดเร็ว
ผมอายุไม่ถึง 20 ปีก็รู้จักเที่ยวผู้หญิงแล้ว ซึ่งผมถือว่าเป็นความเร็วที่ผมคาดไม่ถึงเมื่อไปเที่ยวผู้หญิงผมก็ใช้ความเร็วในการปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการติดนิสัยมาตลอด ครั้นถึงเวลาที่กรุงเทพฯ มีอาบอบนวดเกิดขึ้น จนผมชำนาญกับคำว่า "ชวาลา" แล้วผมกลับไม่ชอบการอาบอบนวดเนื่องจากผมเห็นว่า เป็นการเริ่มต้นที่ช้าเกินไปสู้เที่ยวผู้หญิงตามตรอกตามซอยไม่ได้
ระหว่างที่ผมโตด้วยความรวดเร็วนี้ สถาปัตยกรรมของเมืองกรุงเทพ ฯ ก็ดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็วงานสร้างที่โดดเด่นของสถาปนิก พระพรหมพิจิตร อีกชิ้นหนึ่งก็คืออาคารหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยไปแต่ปี 2482 และในปี 2485ท่านได้สร้าง หอระฆังวัดพระศรีมหาธาตุ อันเป็นศิลปกรรมแบบโถง 2 ชั้นส่วนยอดทำเป็นเรือนยอดทรงมณฑป ฐานบัว ผนังสอบเข้าตามแบบแผนงานในแนวไทยประเพณีแต่ได้ผสมผสานลักษณะลายประกอบที่ทำจากคอนกรีทให้เรียบง่ายใช้เส้นตรงที่แสดงความหนักแน่นเป็นหลักในการประดิษฐ์ลาย เช่นฐานบัวได้ใช้วิธีลดเข้าเป็นมุมฉากแทนการลดบัว เป็นต้น
กรุงเทพ ฯ ระยะที่ผมเป็นหนุ่มกามนิตนั้น มีความรวดเร็วในหลายด้านมีทั้งความสงบในประเทศและความไม่สงบในบางเหตุการณ์ เช่น กบฏแมนฮัทตันตลอดไปจนถึงความไม่สงบของเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าต่อตาผมอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อนร่วมเมืองของผมที่เคยเป็นคนไทยด้วยกันกลับมีฝรั่งอเมริกันเข้ามามากมาย คำว่า จีไอ กลายเป็นคำพื้นๆ ที่คนไทยรู้จักกันทุกคน
ยิ่งไปกว่านี้ กรุงเทพ ฯ กลายเป็นศูนย์กลางของคนทั้งประเทศ เป็นเอกนครที่ไม่ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนอยู่ภาคเหนือหรือภาคใต้ อยู่อีสานหรือภาคกลาง ต่างก็มีเป้าหมายตรงกันทั้งสิ้น คือ ขอเข้ามาแน่นกันอยู่ในกรุงเทพ ฯ
ตึก 7 ชั้นที่เยาวราชได้ชื่อว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดในสมัยผมเป็นหนุ่มกามนิต ความแออัดของคนกรุงเทพ ฯ สมัยนั้นเปรียบเปรยได้ว่า หากผมขึ้นไปบนยอดตึก 7 ชั้นแล้วถ่มน้ำลายลงมาข้างล่าง
รับรองต้องหล่นไปรดหัวคนที่ผมรู้จักอย่างน้อยๆ ก็ คนหนึ่ง ครับ...!
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด
ภาพโดย : -นิตยสาร 399 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม