ประกันภัย
ระวังประกันภัยขี้โกง (3)
เราได้พูดคุยกันถึงเรื่องกลโกงของบริษัทประกันภัยมา 2 ฉบับแล้วรวม 8 หัวข้อปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ได้รับสนใจจากหลายฝ่าย เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครนำมาพูด มาเปิดเผยความจริงนอกจากจะได้พบประสบด้วยตนเองหรือมิฉะนั้นก็กับญาติมิตรเพื่อนฝูงเท่านั้น และพอถึงเวลานั้นๆก็ได้แต่เจ็บปวดกระดองใจ ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพิงใครที่ไหนได้แต่โมโหโกธราต่อว่าตนเองหรือผู้เกี่ยวข้องที่ไปหลงกลเสียรู้หลงเชื่อไอ้พวกประกันภัยว่ามันจะดีอย่างที่โฆษณา มันจะซื่อตรงในสัญญา มีนโนบายจ่ายอย่างมีคุณธรรม มีความโปร่งใส่เป็นธรรม ฯลฯอย่างที่เขียนไว้ในสโลแกนของแต่ละบริษัท แต่ที่ไหนได้มันขี้โกงทั้งเพ
ฉบับนี้เรามาพูดคุยกันต่อในหัวข้อที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมบริษัทประกันภัยขี้โกงมักจะปฏิบัติ
9. โกงประวัติดีลูกค้ากรณีที่ลูกค้าไม่เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุแต่เป็นฝ่ายถูก
โดยปกติถ้ารถไม่เกิดเหตุหรือเกิดเหตุแต่เป็นฝ่ายถูกเมื่อต่ออายุกรมธรรม์จะต้องได้รับส่วนลดประวัติดีตามอัตราที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ เช่น ปีที่ 1 ไม่เกิดเหตุ ปีที่ 2 เมื่อต่ออายุจะต้องได้รับส่วนเบี้ยประกันลดประวัติดี 20 % แต่มีบริษัทประกันภัยขี้โกงลักไก่ไม่ยอมลดเบี้ยประกันประวัติดีให้พอถูกทวงถามก็บอกว่าปีที่ผ่านมามีเคลมเลยไม่ได้รับส่วนลดทั้งที่เคลมนั้นรถประกันเป็นฝ่ายถูกแต่ก็ยังถูกบริษัทประกันโกงเอาซึ่งๆ หน้า ยิ่งไปกว่านั้นบางรายไม่เคยเกิดเหตุเลยสักครั้งเดียว แต่ถูกเอารายการเสียหายของรถคันอื่นมาใส่ให้พอตรวจสอบเข้าเจอความจริงก็อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของคอมพิวเตอร์บ้างเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคพนักงานคีย์ข้อมูลผิดพลาดบ้าง แล้วแต่จะอ้างไม่รู้ว่าปีๆ หนึ่งโกงลูกค้าไปกี่ราย
10. ประเมินความเสียหายล่วงหน้าสูงเกินไป
เรื่องนี้เป็นเทคนิคของหลายสิบบริษัทประกันภัยชอบกระทำคือเมื่อลูกค้าแจ้งการเกิดเหตุไม่ว่าทางโทรศัพท์ หรือเมื่อเจ้าหน้าที่เคลมออกไปทำเคลมยังที่เกิดเหตุก็ตามก็จะกำหนดค่าเสียหายโดยวิธีการประเมินเป็นการเบื้องต้นสูงว่าความเป็นจริง 4-6 เท่า เช่นความเสียหายจริง 2,000 บาท ก็จะประเมินไว้ 10,000 -12,000บาท ถ้าเสียหาย 5,000 บาท ก็จะประเมินไว้สูงถึง 20,000-25,000 บาท ถ้ามีเคลมแผลอื่นเพิ่มก็จะถูกประเมินเพิ่มเช่นเดียวกันเมื่อมีการแจ้งเบี้ยปีต่ออายุก็จะถูกปรับลดประวัติดีมากกว่า 1 ชั้นหรือถูกเพิ่มเป็นประวัติไม่ดีเพิ่มเบี้ยอีก 20 % ทำให้เบี้ยประกันภัยสูงกว่าที่ควรจะเป็นมากทั้งที่ความจริงแผลของรถที่เสียหายจากอุบัติเหตุนั้นยังไม่ได้มีการซ่อมจริงเลยลูกค้าบางคนไม่เข้าใจเห็นว่าเบี้ยประกันภัยปีต่ออายุที่แจ้งมาแพงมากก็เลยไม่ต่อประกันภัยบริษัทเดิมและไม่ได้เอารถไปเข้าซ่อมด้วยโดยคิดว่าบริษัทประกันเดิมคงจะไม่ซ่อมรถให้เพราะไม่ได้ต่อประกันเดิมแล้วซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดความจริงเมื่อมีการแจ้งเคลมอุบัติเหตุภายในเงื่อนเวลาของสัญญาแล้วและบริษัทได้ออกหลักฐานความเสียหายไว้แล้ว บริษัทจะต้องรับผิดชอบซ่อมรถให้แม้เราจะไม่ได้ทำประกันภัยต่อกับบริษัทเดิมก็ตาม
11. ปฏิเสธการจ่ายค่าเสียหายซ่อมรถประกันอ้างว่าเป็นส่วนที่ไปตกแต่งอุปกรณ์เสริมหลังจากทำประกัน
เรื่องนี้หลากคนเจอเข้าแล้วรู้สึกคับแค้นใจและเสื่อมศรัทธาในตัวบริษัทประกันภัยขึ้นมาทันทีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ประจำรถปกติ เช่น กระจก ฟีล์ม ล้อแมก กันชน คิวข้างรถ ฯ แต่บังเอิญว่ามันมีราคาเพราะเป็นของมียี่ห้อ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา ยกตัวอย่างกระจกบังลมหน้ารถถูกหินกระเด็นใส่แตก บังเอิญว่าเป็นกระจกลามิเนท 2 ชั้น ราคา 7,000-8,000 บาท และติดฟีล์มราคา 5,000 บาท รวมแล้ว 12,000-13,000 บาท แต่บริษัทประกันจะจ่ายรวมกันให้เพียง 3,500 บาท เป็นค่ากระจกโดยบอกว่ารถรุ่นนี้กระจกเป็นแบบชั้นเดียวราคา 3,000 บาท ฟีล์มอีก 500 บาท ทั้งที่ลูกค้ามีใบรับรองการติดฟีล์มมาแสดง บริษัทก็แจ้งว่าลูกค้าต้องแจ้งเรื่องการตกแต่ง ติดตั้งอุปกรณ์ในขณะทำประกัน การมาแจ้งในขณะเสียหายบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบส่วนเพิ่มพูดมาได้อย่างไรโกงกันง่ายๆ อย่างนี้เลยนะเนี้ยที่เสียหายนี่มันเป็นอุปกรณ์ปกติประจำรถไม่ใช่การตกแต่งพิเศษอะไรเลย
12. เก็บค่าเสียหายส่วนแรกนอกเหนือจากเงื่อนไข อ้างเคลมมากแผลกว่าที่บริษัทกำหนดเป็นนโยบาย
เรื่องนี้จะเรียกเป็นวิชามารโดยแท้เพราะเป็นนโยบายที่ขัดต่อเงื่อนไขของกรมธรรม์และน่าจะขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยแ
ละศีลธรรมอันดีของประชาชนในการทำประกันภัยไม่ได้มีข้อห้ามใดๆในเงื่อนไขที่ระบุว่าผู้เอาประกันภัยจะเกิดเหตุความเสียหายได้ไม่เกินกี่ครั้ง ถ้าเกิดเกินจากเท่านั้นเท่านี้ครั้งแล้วบริษัทไม่ต้องรับผิดชอบดังนี้ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุกี่ครั้งตราบใดที่อยู่ในเงื่อนไขของสัญญาภายใต้กำหนดเวลาของสัญญาบริษัทจะต้องรับผิดชอบทุกครั้งจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลยการที่มีบางบริษัทกำหนดนโยบายว่าถ้าลูกค้าแจ้งเคลมเกินกว่า 6 แผลลูกค้าจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายส่วนแรกอย่างน้อย 30 % ของค่าซ่อมทั้งหมดนี่เป็นนโยบายประหลาดเป็นวิชามารที่มีหลายบริษัทประกันภัยนำมาใช้โกง
13. จับผู้ขับขี่ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจลงโทษให้ปรับและใช้ตำรวจข่มขู่
เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ถือเป็นวิธีที่ไม่ควรเกิดแม้จะไม่ได้เป็นการโกงแบบซึ่งหน้าแต่ต้องถือเป็นการโกงแบบบูรณาการโดยอาศัยอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเป็นเครื่องมือทำมาหากินเช่นกรณีรถเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันลูกค้ารับว่าเป็นฝ่ายผิดแต่เจ้าหน้าที่เคลมของบริษัทมาถึงที่เกิดเหตุเห็นว่าก้ำกึ่ง น่าจะเป็นประมาทร่วม หรือมิฉะนั้นก็คู่กรณีเป็นฝ่ายผิด ก็จะให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปสถานีตำรวจเพื่อทำบันทึกและเตรียมต่อสู้คดีแต่โดยที่บริษัทประกันภัยมีความคุ้นเคยกับตำรวจเพราะมีผลประโยชน์เกื้อหนุนกันอยู่แล้วมีการติดต่อกันกับตำรวจอยู่เป็นประจำวิธีการแรกคือการให้ตำรวจเจ้าของคดีซึ่งก็จะมักคุ้นหรือรู้ทางกันดีอยู่แล้วชี้ชัดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูกถ้าเส้นทางพอจะได้เปรียบบ้างหรือไม่เสียเปรียบตำรวจก็ชี้โป้งไปเลยที่เดียวกว่าคู่กรณีเป็นฝ่ายผิดซึ่งแสดงว่าบริษัทประกันเป็นฝ่ายเรียกร้องหรือไม่ต้องเป็นฝ่ายจ่ายทั้งที่ลูกค้าจะเป็นฝ่ายรับว่าเป็นฝ่ายผิดก็ตามแต่เมื่อตำรวจได้ชี้ว่าลูกค้าไม่ผิดก็ไม่ต้องจ่ายอันที่จริงใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูกคนขับรถทั้งฝ่ายที่เกิดเหตุชนกันย่อมต้องรู้ดีแก่ใจอยู่แล้วใครอื่นก็ไม่รู้ดีเท่า เว้นแต่ใครจะเอาชั้นเอาเชิงมามาพลิกลิ้นสู้กัน เพื่อให้เกิดแพ้ชนะ
ในกรณีที่รถประกันไม่ได้เปรียบตำรวจก็จะชี้ให้เป็นประมาทร่วมแต่ถ้าอีกฝ่ายมีเส้นใหญ่กว่าผลจะออกมาเป็นรถประกันเป็นฝ่ายผิด ก็จะมาถึงคิวฆ่าคนขับรถประกันขั้นแรกก็ต้องถูกตำรวจสอบสวนแบบเข้มข้นเสียงแข็งโดยถูกลงโทษปรับก่อนข้อหาแรกคือขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ปรับ 400 บาท ข้อหาที่ 2 ถ้ารถขับไม่ได้ทำให้เกิดการกีดขวางการจราจรปรับอีก 400 บาท ถ้าต้องลากรถมายังสถานีตำรวจก็จะเป็นเจอค่ายกลากอย่างน้อย 2,000 บาท ถ้าที่สถานีตำรวจไม่มีที่จอดก็จะต้องเจอค่าเช่าที่จอดรถซึ่งสถานที่ของเอกชนที่ตกลงกับสถานีตำรวจค่าเช่าวันละ 300 - 400 บาท พร้อมต้องจ่ายค่าตรวจสภาพจากเจ้าหน้าที่จราจรกลางก่อนนำรถออกจากสถานีตำรวจเพื่อเข้าไปเข้าอู่ซ่อม ทั้งหมดเป็นส่วนที่คนขับขี่จะต้องจ่ายเองเพราะเป็นส่วนของกฏหมายอาญาถ้ามีคนเจ็บด้วยก็ต้องรอเจรจากันหลายนัดกว่าจะนำรถออกไปก็หลายวันค่าเช่าที่จอดก็จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งตำรวจกับบริษัทประกันก็จะรู้กันดีอยู่ว่าถ้าจอดนานก็แสดงว่าประกันภัยก็จะจ่ายค่าซ่อมช้าไปโดยอัตโนมัติและเวลาคุ้มครองตามสัญญาก็จะได้เหลือน้อยลงไปเป็กลยุทธ์ทำลายเวลาที่ดีที่สุด
ในกรณีต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นคนขับหรือเจ้าของรถประกันก็จะต้องสำรองจ่ายไปก่อนส่วนจะไปเบิกประกันได้เต็มหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องเพราะตำรวจที่รู้กับบริษัทประกันจะกันพนักงานเคลมของประกันออกไปก่อนไม่ให้เข้าห้องสอบสวนโดยจะอ้างว่าบริษัทประกันไม่เกี่ยว บริษัทประกันค่อยว่ากันเองภายหลังอะไรทำนองนี้จริงๆคือรู้กันอยู่ว่าจะเหมาให้คนขับแบกภาระทั้งหมดตอนจะไปเบิกคืนจากบริษัทประกันภัยก็จะถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธว่าไปรับผิดเองโดยพลการบริษัทไม่ได้เห็นชอบด้วย ถ้าจะเบิกเงินค่าสินไหมที่จ่ายไปบริษัทประกันภัยก็จะให้เพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 และเมื่อเจราจากันแบบหืดขึ้นคออาจจบกันได้ที่ 2 ใน 3 เรียกว่ายังไงๆคนขับขี่จะต้องร่วมรับผิดชอบในความเสียหายด้วยเสมอ
ยิ่งวันเราจะเห็นยิ่งเห็นการโกงแบบบูรณาการมีมากขึ้นทุกที่เพราะเป็นวิธีที่แยบยลคนโดยทั่วไปมองไม่เห็นว่าโกงแต่ที่จริงผู้เกี่ยวข้องต่างฝ่ายต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งบริษัทประกันภัยและผู้มีหน้าที่ ซึ่งผู้ที่ต้องรับภาระความเดือดร้อนก็จะหนีไม่พ้นคนขับขี่เจ้าของรถ และผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบ่นอุบถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเสียเวลากับขั้นตอนต่างๆที่ไม่ได้รับความสะดวก ซึ่งถ้าอยากได้ความสะดวกก็ง่ายนิดเดียวคือยอมจ่าย จ่าย และก็จ่าย
ยังมีกลโกงของประกันภัยที่ท่านอาจยังไม่รู้ จะนำมาพูดคุยกันในฉบับหน้าอีกโปรดติดตามตอนต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ก
กฤชกมล
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : ประกันภัย