ครม. “แกงส้มผลักรวม” อนุมัติมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 (EV 3.5) วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท ที่เสนอโดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เรียบร้อยแล้ว
มาตรการใหม่นี้จะมีผลใช้บังคับในช่วงปี 2567-2570 ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ผลิต และผู้นำเข้า ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของแบทเตอรี ดังนี้
1. รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ในปีที่ 1 75,000 บาท/คัน ในปีที่ 2 และ 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 3-4 ขนาดแบทเตอรีต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน ในปีที่ 1 35,000 บาท/คัน ในปีที่ 2 และ 25,000 บาท/คัน ในปีที่ 3-4
2. รถกระบะไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง เงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
3. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 150,000 บาท ขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้สิทธิลดอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าสำเร็จรูป (CBU) ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (พศ. 2567-2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก ร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท
จะเห็นว่า ตามมาตรการ 3.5 ผู้ผลิตจะได้รับเงินชดเชยน้อยลง เพราะฉะนั้น คาดว่าราคารถไฟฟ้าในปีนี้น่าจะมีการปรับขึ้น คนที่ซื้อทันงาน MOTOR EXPO 2023 ถือว่าโชคดี ซึ่งผมต้องขอขอบคุณ บีโอไอ ด้วย ที่ประกาศชัดเจนเลยว่า ให้รีบไปซื้อรถไฟฟ้าในงานเรา และจดทะเบียนให้สำเร็จภายใน 31 มกราคม 2567 เพื่อจะได้ราคาตามมาตรการเดิม
พูดถึงมาตรการใหม่นี้ ถือว่า
ตรงใจผมนะครับ ทั้งการลดจำนวนเงินอุดหนุน ที่กำหนดกรอบระยะเวลา 4 ปี และการลดภาษีนำเข้า ที่มีกรอบเวลาชัดเจนเช่นกัน
รวมถึงเรื่องการผลิตในประเทศชดเชยการนำเข้า โดยมาตรการเดิมกำหนดว่า ถ้านำเข้ารถ 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 1 คัน แต่มาตรการใหม่ ถ้านำรถเข้ามา 1 คัน จะต้องผลิตชดเชย 1.5 คัน แบบนี้จะทำให้อุตสาหกรรมของเราเติบโตเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่ผมรู้สึกแปลกๆ มาตั้งแต่มาตรการแรกแล้ว คือ การจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้า แทนที่จะให้เป็นส่วนลดกับผู้ซื้อรถโดยตรง แบบในต่างประเทศ เพราะเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้ผลิตจะเอาส่วนที่ได้รับอุดหนุนมาลดให้ผู้ซื้อเต็มๆ หรือใช้กลไกการตั้งราคา “เม้ม” ไปบางส่วน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ดูเหมือนบรรดาผู้ซื้อเขาจะ “โนสน โนแคร์” นะครับ เช่นเดียวกับเรื่องสถานีชาร์จไม่พอ หรือศูนย์บริการไม่พร้อม ไม่งั้นยอดขายรถไฟฟ้าบ้านเราคงไม่พุ่งกระฉูดขนาดนี้แน่
บทความแนะนำ