รอบรู้เรื่องรถ
สารพันความรู้ เรื่องรถคลาสสิค (ตอนจบ)
ในฉบับที่แล้วผมได้ให้ความเห็น ในเรื่องการบูรณะรถคลาสสิค ว่าไม่จำเป็นจะต้องให้กลับไปอยู่ในสภาพดั้งเดิมล้วน เพราะฐานะ ความพร้อม และความชอบส่วนตัวของแต่ละคน ย่อมไม่เหมือนกัน แต่ถึงจะมีเงินพร้อม ในการบูรณะรถให้อยู่ในสภาพเดิมทั้งคัน ถ้ารถที่เราชอบรูปทรงของมันมาก และอยากใช้งานมันแบบประจำวัน หรือบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบังเอิญเป็นรถที่อายุค่อนข้างมาก ชิ้นส่วนที่สำคัญต่อการขับ มันล้าสมัยหรือเปราะบาง จนไม่เหมาะต่อสภาพการจราจรในยุคนี้แล้ว เช่น หน้ายางแคบเกินไป เครื่องยนต์มีกำลังน้อยเกินไป ระบบเบรคมีประสิทธิภาพไม่พอ หรือไม่ทนทานพอ ก็สามารถดัดแปลงได้เลยนะครับ
ไม่มีใครมีสิทธิมาดูหมิ่นว่ารสนิยมของเราไม่ดีพอ หรือความรู้เรื่องรถคลาสสิคของเราน้อยเกินไป หรือถึงแม้จะไม่ได้ต้องการใช้งานประจำวัน บางคนอาจจะรู้สึกว่า ถ้าใส่ชิ้นส่วนที่ทันสมัยกว่าเข้าไปแล้ว มันทำให้รถสวยขึ้น เช่น ชอบล้ออัลลอย มากกว่าล้อเหล็กของแท้ หรืออยากติดระบบปรับอากาศ ก็ทำได้เลยนะครับ เพียงแต่จะต้องหาช่างที่มีความรู้และมีฝีมือดีพอ มาดัดแปลงให้ ไม่อย่างนั้นอาจจะ “เละ” จนใช้งานแทบไม่ได้ กลายเป็นรถที่มีจุดอ่อน ด้อยคุณค่าไปเลย
ในวงการของชาวไทย ผู้นิยมการดัดแปลงรถแนวที่ไม่ยึดติดกับความ “ดั้งเดิม” นิยมเรียกกันว่า ดัดแปลงให้เป็นแบบ “ฮอทรอด” (HOT ROD) ส่วนจะตรงความหมายหรือไม่นั้น ต้องมาดูที่มาที่ไปของคำนี้กันก่อน ซึ่งได้สร้างความงุนงงสงสัย ให้คนไทยในวงการรถคลาสสิคยุคนี้ และไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบที่ไหน เพราะคำแปลของแต่ละคำ ก็ไม่ยาก แต่พอนำมารวมกัน และใช้บอกลักษณะหรือประเภทของรถ กลับทำให้มึน
คำว่า HOT ROD (อ่านว่า ฮอท-รอด) ถูกเริ่มใช้กันมาราวๆ 100 ปีแล้ว ต้นกำเนิดจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกเสียจากสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่รถยนต์นั่งเริ่มเฟื่องฟู เบ่งบานก่อนชาติอื่นๆ แต่ที่เริ่มรู้จักคำนี้กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกจริงๆ ก็ประมาณช่วง คศ. 1950 คำว่า HOT หมายถึง การทำให้รถมีกำลังเพิ่มขึ้น (บางตำนานก็บอกว่า หมายถึง รถ “ร้อน” เพราะเป็นรถที่ถูกขโมย แล้วเอามาดัดแปลง แต่ผมว่า ไม่น่าจะใช่) การทำให้รถมีกำลังเพิ่มขึ้นสมัยนั้น นิยมใช้วิธีที่ง่ายเป็นหลัก คือ เอาเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่าของเดิมมาใส่ ส่วนที่ดัดแปลงก็มักเป็นแค่ท่อไอดี ช่วงล่างไม่เน้น เพราะขับกันบนถนนผิวเรียบ และไม่นิยมเข้าโค้งรุนแรง เน้นการเร่งในทางตรงเป็นหลัก
ส่วนคำว่า ROD หรือ “แท่ง” ตามคำแปลอย่างตรงตัว ก็ต้องมีหลายตำนานเช่นเดียวกัน บ้างก็ว่า มาจากการเรียกตัวรถแบบเปิดหลังคา (ถ้าไม่มีหลังคา รูปทรงของรถ ก็จะกลายเป็น “แท่ง”) เพราะ HOT ROD ยุคแรกเริ่ม ก็เป็นรถเปิดหลังคากันอย่างที่ว่า อีกตำนานบอกว่า น่าจะมาจากรูปทรงของเพลาลูกเบี้ยว (CAMSHAFT) ที่เป็นแท่ง หรือ “ท่อน” เพราะการทำให้รถแรงขึ้น จนเรียกว่า HOT ROD ถ้าเอาเครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้น มาใส่แทนเครื่องเดิม แล้วเจ้าของรถยังไม่พอใจต่อกำลังของเครื่องยนต์ ก็ต้องหาวิธีอื่นมาเสริม วิธีที่ง่ายที่สุด และใช้เงินไม่มาก ก็คือการซื้อเพลาลูกเบี้ยวแค่แท่งหรือท่อนเดียว มาแลกกับของเดิมที่อยู่ในเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเดิม หรือเครื่องใหม่ที่แลกกับเครื่องดั้งเดิมของรถแล้วก็ตาม ถือว่าเป็นการเปลี่ยน ROD หรือเพลาลูกเบี้ยว ให้ได้กำลังเพิ่มขึ้น แค่เป็นเพลาที่มียอดลูกเบี้ยวสูงกว่าเดิม เพื่อให้วาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย เปิดกว้างกว่าเดิม และอาจจะอ้านานกว่าเดิมอีกนิดหน่อย ก็จะได้กำลังของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นมาอย่างง่ายดายครับ ในราคาที่ถูกมากด้วย
เราเอาแค่พอให้เห็นต้นกำเนิดที่แท้จริงของคำนี้ และรถประเภทนี้ในแหล่งกำเนิด ซึ่งก็คือประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ กลับมาเข้าเรื่องรถคลาสสิคของพวกเรากันต่อ การแต่งรถคลาสสิคแนว “ฮอทรอด” ที่พวกเราชาวไทย ใช้บรรยายการบูรณะรถคลาสสิค จึงแค่เฉียดความหมายที่แท้จริงไปห่างๆ เท่านั้นเอง ถ้าบรรยายแบบง่ายๆ ไม่ต้องเคร่งครัดอะไรนัก ก็คือ การบูรณะ หรือการ “แต่ง” รถคลาสสิค ในแบบที่เจ้าของรถพอใจนั่นเอง ส่วนใหญ่ที่นิยมทำกัน มีไม่กี่อย่างครับ เช่น ล้อ และยาง เก้าอี้ผู้ขับ และผู้โดยสารด้านหน้า พวงมาลัย เครื่องยนต์ กระจกมองหลังที่อยู่ภายนอกรถ ไม่มีอะไรผิดนะครับ แค่เราทำให้ถูกใจเราเมื่อขับ หรือเมื่อมองมันเท่านั้นเอง
ขอแค่อย่าไปฉวยโอกาส เข้าไปร่วมกลุ่มอย่างเป็นทางการ กับบรรดาเจ้าของรถแท้ดั้งเดิมเท่านั้นเอง เมื่อกล้าออก “นอกกรอบ” ก็ควรยอมอยู่นอกกรอบเช่นเดียวกันครับ และที่ผมเห็นว่าสำคัญกว่าก็คือ ผู้รับผิดชอบของกลุ่ม “รถแท้” ต้องไม่ยอมรับรถประเภทนี้นะครับ ห้ามนำมาร่วมแสดงในงานที่เจาะจงเฉพาะรถแท้ หรืองานประกวดอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าอยากมาร่วมสันทนาการ ขับท่องเที่ยวแบบรวมกลุ่ม แบบนี้ก็สมควรยินดีต้อนรับ คนไทยเรา มักกลัวโดนคนหน้าด้านโกรธครับ ผมขอแนะนำว่า เวลาจะค้านหรือต้านมนุษย์พวกนี้ อย่าทำโดยคนคนเดียวโดดๆ ต้องตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมา ถ้าไม่มีความกล้าพอที่จะเข้าไปค้าน แม้เหตุผลของเราจะถูกต้อง ก็อ้างไปเลยว่า “ผมเองก็พออนุโลมให้ได้ครับ แต่กรรมการคนอื่นเขาไม่ยอม”
ในต่างประเทศ ยังมีแบบอื่นที่ไม่ใช่รถแท้ดั้งเดิม และไม่ใช่แบบ HOT ROD อีก เช่น ประเภทที่เจ้าของรถดัดแปลง จนเกือบเกลี้ยงทั้งคัน เรียกกันแบบเกรงใจโรงงานที่ผลิต ว่าเป็นรถ “ในจินตนาการ” ที่อยากได้ ไม่ได้มาหาเรื่องตำหนิว่าวิศวกรและนักออกแบบของโรงงานไม่เก่งพอ เพราะนักดัดแปลงรถเหล่านี้ ที่จริงแล้วมีเป้าหมายไกลกว่าการทำเพื่อใช้เอง เมื่อเสร็จงานก็จะเชิญให้นักทดสอบของนิตยสารรถ รวมทั้งนักผลิตคลิพเกี่ยวกับรถยนต์ในสื่อสังคม มาเอาไปเผยแพร่ ช่วงแรกก็จะเป็นรูปแบบว่า “ไม่ได้อยากขายนะ แต่เมื่อมีคนที่มีรสนิยมแนวเดียวกัน มาขอร้องว่าอยากมีบ้าง ก็เลยสร้างให้เพราะเห็นใจ ที่อยากได้” ความจริงก็คือ อยากทำขายเป็นล่ำเป็นสันนั่นแหละครับ จึงไม่มีใครอยากทำให้โรงงานผู้ผลิตไม่พอใจ ถึงจะเป็นรถที่เลิกผลิตไปนานแล้วก็ตาม
การใช้คำว่า REIMAGINED หรือดัดแปลงตามจินตนาการ จึงไม่ไปทำให้ใครเสียความรู้สึก เช่น บริษัท SINGER VEHICLE DESIGN ที่นำรถ PORSCHE CARRERA 964 (โพร์เช คาร์เรรา 964) มาดัดแปลง จนแทบไม่เหลือชิ้นส่วนเดิม นอกจากโครงรถ หลักการคือ ดัดแปลงหรือเปลี่ยนแปลงทุกชิ้นส่วนที่เจ้าของบริษัทเชื่อว่า ทำให้รถ “ดีขึ้น” หรือสวยขึ้น โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนเลย ว่าจะสูงเพียงใด จากรถดั้งเดิมสภาพดี ที่ราคาขณะนี้ในตลาดโลก (ไม่ใช่ประเทศไทย) ประมาณ 3 ล้านกว่าบาท ดัดแปลงแล้ว ลูกค้าต้องจ่าย ประมาณ 20 กว่าล้านบาท ยังไม่รวมมูลค่าตัวรถดั้งเดิมที่ต้องหามาส่งให้ ของดีจริงย่อมมีคนเห็นคุณค่าเสมอ SINGER ได้โกยเงิน จากการดัดแปลงรถให้ลูกค้าไปเกิน 100 คันแล้วครับ
อีกแนวใช้กับรถคลาสสิคอายุค่อนข้างมาก ที่ตอนออกจากโรงงานผู้ผลิต เป็นรถระดับสูงมาก ราคาจึงย่อมสูงตาม ที่สำคัญคือ จำนวนที่ผลิตออกมาขายขณะนั้น ค่อนข้างน้อย หรือไม่ก็น้อยมาก บางรุ่นอาจมีจำนวนแค่หลักสิบเท่านั้น เช่น FERRARI 250 GTO (แฟร์รารี 250 จีทีโอ) จำนวนที่ผลิตอย่างเป็นทางการ เพียง 36 คันเท่านั้น เป็นรถที่มีความพิเศษในยุคนั้น คือเป็นรถแข่งตัวจริง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นรถใช้บนถนนได้ด้วย และเจ้าของรถก็สามารถใช้รถรุ่นนี้ได้จริงๆ ทั้งบนถนน และบนสนามแข่งขันความเร็ว ในแบบที่พูดกันว่า ขับออกจากบ้าน ไปลงสนามแข่งได้เลย โดยไม่ต้องดัดแปลง แล้วก็ขับกลับบ้าน ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้กับชื่อเสียงก้องโลกจากสนามแข่งของบแรนด์นี้ และด้วยจำนวนผลิตที่น้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้รถนี้เป็นที่ต้องการของมหาเศรษฐีทั่วโลกที่ชอบรถ
ราคาขณะนี้ เท่าที่มีการซื้อขายกัน อยู่ที่ 50 ถึง 70 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา พิมพ์ไม่ผิดครับ เป็นเงินไทย 70,000,000 คูณด้วย 36 บาทก็พอครับ ถึงมีเงินพอจ่ายเท่านี้ ก็ไม่ได้จะเป็นเจ้าของได้เสมอไปนะครับ เพราะต้องรอให้มีเจ้าของที่อยากขายเสียก่อน จึงย่อมมีคนที่อยากได้แต่รอไม่ไหวพวกหนึ่ง กับอีกพวกที่อยากได้ และก็รวยด้วย แต่ยังไม่ถึงขั้นจะจ่ายในราคานี้ไหว ทางออกคือ เสาะหาคนมีฝีมือ ที่สามารถสร้างรถรุ่นนี้ขึ้นมาได้เหมือนของแท้ที่สุด ด้วยการรวบรวมอะไหล่แท้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางได้ครบ ส่วนที่ขาดไปจำเป็นต้องยอมใช้ของใช้แล้วที่ยังมีสภาพดี หรือไม่ก็ผลิตขึ้นมาใหม่ จะทำเองหรือจ้างคนที่เก่งด้านนี้ก็แล้วแต่
ยุคนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว ขอให้มีชิ้นส่วนเป็นตัวอย่างเท่านั้น รถที่สร้างขึ้นมาด้วยวิธีนี้ เรียกกันว่าแบบ RECREATION หรือ “รังสรรค์ขึ้นมา” ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญจริงๆ ให้ยืนข้างรถ และเดินวนดูได้ตามใจชอบ จะไม่สามารถรู้ได้เลยนะครับ ว่าเป็นของแท้ หรือถูกสร้างขึ้นใหม่ ราคาอาจจะสูงเพียง 10 ถึง 20 % ของรถแท้เท่านั้น ส่วนคุณภาพ และสมรรถนะ ถ้าเจ้าของรถยอมทิ้งจุดยืนเรื่องความเหมือนของดั้งเดิม ก็สามารถทำให้ดีกว่า แรงกว่า และทนทานกว่าก็ได้
อีกรุ่นที่เป็นตัวอย่างที่ดี คือ FERRARI 250 GT SWB (แฟร์รารี 250 จีที เอสดับเบิลยูบี) ราคารถแท้ คันละประมาณ 300 ล้านบาท เพราะถูกผลิตขึ้นมาเพียง 167 คัน คุณสมบัติเหมือน รุ่น 250 GTO คือ ขับออกจากบ้าน ไปลงสนามแข่งได้เลย แต่ถ้าจ้างผลิตแบบ RECREATION ก็จะใช้เงินแค่ไม่เกิน 15 % หรือราวๆ 40 ล้านบาทครับ
แบบสุดท้าย เป็นรถเลียนแบบแค่ให้คล้าย เรียกว่า REPLICA ไม่จำเป็นต้องเหมือน หรือเกือบเหมือนของแท้ ขอแค่มองดูแล้วคล้าย ระดับคนที่อยู่นอกวงการ เข้าใจว่าเป็นรถแท้ก็พอแล้ว แต่ผู้ผลิตบางรายก็อาจจะไว้ฝีมือ ทำจนมองแล้วแทบไม่มีความแตกต่างก็ได้ ที่กล่าวมานี่ หมายถึงรูปลักษณ์ที่มองเห็นนะครับ ส่วนคุณภาพและสมรรถนะนั้น มีทุกระดับ จากล่างสุด เช่น ใช้โครงรถราคาถูก เครื่องยนต์แรงน้อยกว่าของแท้ต้นตำรับ แล้วครอบด้วยตัวถัง ซึ่งมักทำจากไฟเบอร์กลาสส์ หรือใยแก้วผสมเรซิน เน้นราคาให้ต่ำไว้ สำหรับสนองความต้องการของลูกค้ารายได้ต่ำ หรือพวกชอบของประเภทฉาบฉวย ส่วนอีกปลายสุดของราคา เป็นรถที่สร้างโดยเน้นทั้งด้านคุณภาพและสมรรถนะ รถกลุ่มนี้มักมีทั้งโครงรถ ช่วงล่าง เครื่องยนต์ และตัวถัง ที่ดีกว่าของแท้ ส่วนภายนอก มีสว่างกว่า หรือใช้ล้อและยาง ที่หน้ากว้างกว่าเดิม เพื่อเพิ่มการเกาะถนนก็ได้
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
ภาพโดย : อินเตอร์เนทนิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ
คำค้นหา