รอบรู้เรื่องรถ
รถคลาสสิค อย่ามี ถ้ายังไม่พร้อม
ผลพวงของการแก้ปัญหาแบบ “กำปั้นทุบดิน” ของรัฐบาลชุดนี้ ด้วยการห้ามนำเข้ารถยนต์นั่งใช้แล้วทุกแบบ ทุกรุ่น ซึ่งน่าจะพอเดากันได้นะครับว่าคนกลุ่มไหนที่ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลออกมาตรการแบบเหวี่ยงแหเช่นนี้
แน่นอนว่า ต้องมีผู้ที่รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คือ กลุ่มผู้นิยมรถอายุมาก ที่เรียกกันว่า รถคลาสสิค (ซึ่งผมขอผัดให้คำจำกัดความ ไว้ในโอกาสหน้านะครับ) เพราะด้วยทั้งอายุ และสมรรถนะของรถประเภทนี้ ไม่มีทางที่จะมาช่วงชิงลูกค้าของกลุ่มผู้ค้ารถใหม่ได้เลย จำนวนรถคลาส สิคในประเทศไทยของเรา จึงถูกจำกัดไว้เพียงเท่านี้ และเป็นเรื่องปกติของการตลาด เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทาน หรือความต้องการของผู้บริโภค มากกว่าสินค้าที่มีไว้รองรับ ราคาก็ย่อมเพิ่มขึ้น ส่วนจะมากน้อยเพียงใดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนต่างนี้แต่เพียงอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นมาร่วมด้วยอีกครับ เช่น ความอยากได้อยากมีไว้โอ้อวด ที่เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทยยุคนี้ไปแล้ว
จึงไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าได้เห็นราคารถคลาสสิค ที่ประกาศขายตามสื่อต่างๆ มีบางคันซึ่งผมเห็นแล้ว อยากถามกลับไปว่า พิมพ์ตัวเลขผิด หรือว่าบอกขายรถรุ่นเดียวกัน 2 คันพร้อมกันหรือเปล่า ใครที่รอซื้อรถประเภทนี้อยู่ และมีความพร้อมทุกอย่างแล้ว ผมขอแนะนำให้ทนรอไว้ก่อนครับ ให้การปั่นราคาโดยบรรดานักฉวยโอกาส มันซาลงไปก่อน เพราะถ้าไม่มีคนบ้าที่พร้อมจะซื้อ การโก่งราคาแบบบ้าคลั่ง ก็จะต้องหมดไปในที่สุด
รถคลาสสิคเป็นรถ “ส่วนเกิน” จากความจำเป็น จึงไม่ใช่รถที่ทุกคนสมควรมี และก็ไม่ใช่รถที่คนชอบรถทุกคนควรมีด้วยนะครับ เงินที่จะใช้ในการซื้อรถคลาสสิค จึงควรเป็น “เงินว่าง” จากภาระทั้งหลายทั้งปวงแล้วเท่านั้น เพราะถึงจะได้รถมาแล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นตามมา แม้จะมิใช่คันที่เราใช้เป็นประ จำ ก่อนอื่นเลย ถ้าเจ้าของรถเป็นคนละเอียด มีความรู้เรื่องรถรุ่นที่ซื้อมาอยู่พอสมควร ก็จะต้องเห็นจุดบกพร่อง และไม่สามารถฝืนใจปล่อยทิ้งไว้ได้ ซึ่งถ้าแบ่งอย่างหยาบเป็นแค่ 2 พวก คือ ส่วนที่เสื่อมเพราะอายุขัย หรือกาลเวลา กับส่วนที่เสื่อมเพราะถูกใช้งาน จะมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพของรถที่ซื้อมา
ผมอยากแนะนำว่า อย่าเลือกซื้อโดยดูราคาขายเป็นหลักนะครับ เพราะถ้าได้รถที่สภาพย่ำแย่มา ถึงราคาจะถูกมาก ก็มักจะไม่คุ้ม เพราะค่าซ่อมให้สมบูรณ์ครบถ้วนทั้งคัน อาจจะสูงกว่าราคาที่ซื้อมาก็ได้ การเลือกซื้อรถคลาสสิค ให้เลือกคันที่ราคาสูงที่สุดที่เรา “สู้ไหว” ไว้ก่อนเสมอครับ ผมหมายถึงเมื่อเทียบกับรุ่นเดียวกันคันอื่น และราคาของแต่ละคันเหมาะสมกับสภาพนะครับ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจอรถรุ่นเดียวกัน 2 คัน คันแรกสภาพแย่มาก แต่ราคาแค่ 5 แสนบาท ถ้าจะเอามาซ่อมให้ดี จนถูกใจทุกจุด จะต้องใช้เงินอีก 4 แสนบาท ส่วนคันที่ 2 สภาพดีกว่ามาก ราคา 6 แสนกว่าบาท ประเมินค่าซ่อมแล้ว ไม่เกิน 1.5 แสนบาท คันที่ 2 นี่น่าซื้อกว่ามาก ตัวอย่างที่ผมยกมานี้ ไม่ได้สมมติขึ้นมาลอยๆ นะครับ ในความเป็นจริง ก็มักจะเป็นเช่นนี้เสมอ และยิ่งถ้าราคาต่ำผิดปกติ เราอาจจะได้รถที่แม้จะใช้เงินมากแค่ไหน ก็ไม่อาจจะฟื้นคืนสภาพได้เลย เช่น รถที่เคยถูกชนยับมาทั้งคัน ยกเว้นว่ายังไม่มีเงินพอจริงๆ ที่จะซื้อคันที่สภาพดีกว่าได้ และถ้าขืนรอจนกว่าจะหาเงินมาเพิ่มได้ รถทั้ง 2 คันก็คงจะไม่อยู่รอเราแล้ว แบบนี้พออนุโลมได้ครับ เอามาครอบครอง จอดตั้งหลัก แล้วค่อยรอให้มีเงินเพิ่มมาพอเป็นค่าซ่อม อย่าทุรนทุราย พล่านหาเงินจนคนใกล้ชิดพาลเครียดไปด้วย การมีรถคลาสสิค ต้องเป็นงานอดิเรกที่สนุก สบาย และผ่อนคลายเท่านั้น
จุดประสงค์หลักของคนที่มีรถคลาสสิคทั่วโลก มี 2 แบบด้วยกันครับ กลุ่มแรกเป็นพวกที่เคยชอบรถรุ่นนั้นๆ ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก แต่อายุยังไม่มากพอที่จะมีรถได้ และเงินก็ยังไม่มีด้วย เนื่องจากยังอยู่ในวัยเล่าเรียน คนพวกนี้จะเล่าอดีตทำนองเดียวกันหมด คือ เคยมีรูป “รถในฝัน” แปะไว้ที่ข้างฝาของห้องนอน (ตัวผมเองก็เป็นแบบนี้เหมือนกันครับ) อีกพวกเป็นคนที่เคยมีรถรุ่นนี้ ที่สมัยนั้นถือเป็นรุ่น “ปัจจุบัน” ร่วมสมัย ถึงจะพอใจมันอยู่ แต่รถนี้ก็เสื่อมสภาพไปตามอายุขัย จึงไม่ได้รู้สึกในขณะนั้นเลยว่า มันมีคุณค่าอะไรเป็นพิเศษ แถมค่าซ่อมแซมก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่รถรุ่นใหม่ก็มีอุปกรณ์ทั้งด้านความสะดวกสบาย และด้านความปลอดภัย เพิ่มขึ้นมาล่อใจลูกค้าให้อยากได้ไม่สิ้นสุด
เวลาผ่านไปหลาย 10 ปี คนกลุ่มนี้ก็เริ่มชินชากับอุปกรณ์ซับซ้อนที่อายุแสนสั้น เพราะหน้าที่ที่สองของพวกมัน คือ สร้างรายได้เสริมให้แก่ผู้ผลิต กับรูปทรงที่โอนอ่อนตามกระแสลมที่พัดผ่าน นัยว่าเพื่อทำความเร็วสูงสุดให้ประทับใจ และยังประหยัดค่าเชื้อเพลิงให้ด้วย แต่ยิ่งเห็นทุกวัน ยิ่งหาความสวยงามที่แท้จริงไม่เจอ พอย้อนมานึกถึง หรือได้เห็นตัวจริงของรถรุ่นที่เคยใช้ เมื่อหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกดีๆ ที่ขาดหายไปนาน และไม่สามารถอธิบายให้คนที่ไม่ได้ชอบรถคลาสสิค เข้าใจได้เลย มันเริ่มหวนคืนกลับมา และมากขึ้นทุกวันด้วย ประกอบกับภาระที่เคยมี ก็ลด และหมดไปตามวัย และกาลเวลาด้วย จึงบอกตัวเองว่า ได้เวลาซื้อรถที่เราอยากมอง และอยากขับยามว่าง มาเสริมรถที่ต้องมองและต้องขับเสียทีแล้ว (บังเอิญผมมีรถที่หามาเพราะเหตุนี้อยู่ด้วย จึงเข้าใจได้) เพราะเหตุนี้เจ้าของรถคลาสสิค ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศในยุโรป จึงล้วนสูงวัยด้วยกันทั้งสิ้น ถ้ายึดอายุของรถเป็นหลัก แน่นอนอยู่แล้วครับ ว่าเจ้าของรถกลุ่มแรก หรือกลุ่ม “รถในฝัน” จะสูงวัยกว่า หรือถ้ายึดวัยของเจ้าของรถเป็นหลัก รถของกลุ่มแรกก็จะมีอายุมากกว่า
ส่วนพวกที่อายุยังไม่มาก ย่อมชอบรถร่วมสมัยเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และถ้ามีเงินพอ ก็จะเน้นรถสมรรถนะสูง ตามความชอบของคนวัยนี้ทั่วโลก ผมเพิ่งได้เห็นคนอายุน้อยใช้รถคลาสสิค ก็ที่เมืองไทยนี่แหละครับ ซึ่งล้วนมาจากนิสัยโอ้อวดของคนไทยยุคนี้ ที่ไม่ได้มีประโยชน์แก่ใคร แต่อย่างใดทั้งสิ้นเลย มันคือ ค่านิยมที่ถ่วงความเจริญ และบ่อนทำลายชาติ ผมไม่ได้ต่อต้านคนที่มีรถคลาสสิคด้วยเหตุผลนี้นะครับ เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ก็ไม่ชื่น ชมแน่นอน เพราะถ้าต้องพบกัน ผมจะสนทนาอะไรเกี่ยวกับรถของเรา กับคนที่ไม่ได้ชอบรถนั้นจริงได้ครับ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางคน ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากจริงๆ ที่ผมเคยรู้จัก และได้รับรู้ว่า เขาชอบรถคลาสสิคของเขา ที่มีอายุมากกว่าตัวเขาเองเสียอีก
ปกติผมจะไม่อ่านบทสนทนาในสื่อสังคมของคนไทย เพราะส่วนที่เป็นคำแนะนำเกือบทั้งหมด ล้วนเป็นเท็จ เพราะมาจากคนที่ไม่มีความรู้ แต่คงมีปม ด้อยฝังแน่นในใจมาตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าหากจะได้อ่านสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่เพื่อนส่งมาให้ เพราะรู้สึกว่ามันแปลก “ตลก” หรือไม่ก็ขัดแย้งกับความเป็นจริง ผมเคยพบว่ามีคำถามจริงจัง จากพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง บอกว่าเพิ่งจ่ายเงินค่าผ่อนรถงวดสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว จึงขอถามผู้มีความรู้ด้านนี้ว่า ควรจะผ่อนรถคลาสสิครุ่นไหนต่อดี เพราะเพื่อนบอกว่า ยุคนี้ควรมีรถคลาสสิค เป็นรถประจำบ้านคันที่ 2 สังคมไทยมันวิปริตกันถึงระดับนี้แล้วครับ
เมื่อนิตยสารฉบับนี้ถึงมือท่านผู้อ่าน งานแสดงรถยนต์ที่ประชาสัมพันธ์ไว้ขณะนี้ว่า จะมีรถไฟฟ้ามาให้เลือกซื้อกันอย่างหลากหลาย ก็ผ่านไปนานพอสมควรแล้ว สำหรับผู้อ่านบางท่านที่อยากซื้อรถไฟฟ้า แต่ยังไม่ได้ซื้อ ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดก็ตาม ผมอยากใช้โอกาสนี้เรียนให้ทราบว่า ท่านไม่ได้ผิดพลาด หรือเสียโอกาสแต่อย่างใดทั้งสิ้นนะครับ ถ้าเปรียบการเปลี่ยนจากรถที่ใช้เครื่องยนต์มาเป็นรถไฟฟ้า ของประชากรโลกผู้ใช้รถ กับการวิ่งมาราธอน 40 กว่า กม. เรายังเพิ่งวิ่งไปเป็นระยะทางไม่ถึง 100 ม. เลยนะครับ เพราะในช่วงเวลา 2-5 ปีต่อจากนี้ จะมีรถไฟฟ้าที่ดีกว่า ราคาถูกกว่า และประหยัดกว่า ออกมาให้เราเลือกกันอีกมากมายครับ



ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2565
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ
คำค้นหา