มุมมองนักออกแบบ 27 Jul 2021
TOYOTA BZ4X CONCEPT (ว่าที่) รถไฟฟ้ามหาชน
ผลงานความร่วมมือระหว่าง TOYOTA กับ SUBARU รถในกลุ่ม ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ตามที่เคยมีประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยอวดโฉมอย่างเป็นทางการต่อหน้าสาธารณชนในงานมหกรรมยานยนต์เซี่ยงไฮ้ 2021 ช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ส่วนเวอร์ชันจริงจะออกขายทั่วโลกช่วงกลางปี 2022 โดยเตรียมขึ้นสายการผลิตที่โรงงานในประเทศญี่ปุ่น และจีน
ภายนอก

ภัทรกิติ์ : BZ (บีเซด) ย่อมาจาก BEYOND ZERO แปลว่า มากไปกว่า, เป็นมากกว่านั้น หรือเป็นมากกว่าแค่รถไร้มลภาวะ ตามคอนเซพท์ของเขา โดยคันนี้เป็นคันแรกที่ใช้ชื่อ BZ เลข 4 หมายถึงรุ่นที่ 4 ซึ่งว่ากันว่าจะมี 7 รุ่น 7 คลาสส์ ส่วน X (เอกซ์) หมายถึง การเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ
TOYOTA BZ4X CONCEPT (โตโยตา บีเซด 4 เอกซ์ คอนเซพท์) คันนี้ เป็นรถที่มีฟอร์มใกล้เคียงกับ TOYOTA RAV4 (โตโยตา รัฟโฟร์) แต่งานดีไซจ์นพื้นผิวดูเบาด้วยแสงเงา ทั้งที่ขนาดเท่ากัน ซึ่งเป็นเพราะรูปทรงแบบนี้ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ในมุมมองผม ถ้าค่าย TOYOTA (โตโยตา) คิดจะทำรถไฟฟ้า เขาจะมีความคิดที่แตกต่างจากรถไฟฟ้ายี่ห้ออื่นอย่างชัดเจน โดย TOYOTA BZ4X CONCEPT ถ้าเทียบกับ FORD MUSTANG MACH-E (ฟอร์ด มัสแตง มัค-อี) หรือ TESLA (เทสลา) จะพบว่ามันยังไม่ได้จัดจ้านขนาดนั้น ที่เห็นได้ชัดเจน คือ มือจับประตู เป็นมือจับประตูจริงๆ ขณะที่รถไฟฟ้าสมัยใหม่เป็นมือจับแบบซ่อนไว้ หรือระบบสัมผัสกันเกือบทั้งนั้น แต่ TOYOTA มองว่า ของบางอย่าง ลูกเล่นบางชิ้น ตัดทิ้งไปบ้างก็ได้ เพื่อให้สมจริง เพื่อสร้างเสน่ห์ของความเป็น TOYOTA ขึ้นมา
ด้านหน้าของคันนี้ หล่อเลยทีเดียว ไฟหน้าเพรียวบาง ล้ำสมัย ด้านข้างดูเป็นรถปกติธรรมดา แต่ทำได้สวย ทั้งปราดเปรียว และบึกบึนในเวลาเดียวกัน ส่วนด้านหลังดูกำยำ ไฟท้ายเป็นเส้นบางๆ ให้ความรู้สึกเตะตา ทันสมัย โฉบเฉี่ยว โดยรวมทั้งคันมีเส้นสายคมชัด พื้นผิวทำออกมาได้ดีมาก รถคันนี้ออกแบบได้อย่างสมดุล และเป็นรถที่มีเสน่ห์ มองแล้วมองอีกได้อย่างไม่น่าเบื่อ
อภิชาติ : สิ่งที่ผมเห็นจากคันนี้ คือ บริบทมีความเปลี่ยนไป รูปลักษณ์ด้านหน้ามีการดีไซจ์นที่ให้ความเป็นอิสระ มีความเป็น POSITIVE ซึ่งผมมองว่าเป็นสิ่งใหม่ แม้ตอนแรกผมจะไม่ชอบบุคลิกของพื้นผิว แต่ด้วยการใช้คัลเลอร์แอนด์ทริมเพิ่มเติมเข้ามา การทำรูปลักษณ์ด้านหน้าแบบนี้ดูลงตัวแบบเรียบๆ ให้สอดรับกับความเป็นรถไฟฟ้าที่แท้จริง
หากเราดูเฉพาะเรื่องบุคลิก ด้านหน้าจะเป็นงานแบบทูโทน โดยมีการออกแบบที่ลงตัว ขณะที่ส่วนโอเวอร์เฟนเดอร์สอดรับไปกับไฟส่องสว่างหน้า ซึ่งถือเป็นดีไซจ์นที่ค่อนข้างแปลก และทำออกมาได้ดี สร้างความน่าสนใจ เส้นสายสอดรับกันดี มีจุดพีค ด้านหน้ามีความสดใหม่ แปลกตา แม้ด้านข้างกับด้านท้ายดูจะนิ่งๆ จืดๆ ไปสักหน่อย แต่โดยรวมมีบริบทการทำเส้นคาแรคเตอร์ชัดเจน คมชัด และมีเสน่ห์
ภายใน

ภัทรกิติ์ : พวงมาลัยผมคาดว่าอาจจะทำเป็น GIMMICK ก่อน เทคโนโลยีภายในห้องโดยสารมีความเรียบง่าย ใช้อุปกรณ์ที่จับต้องได้ ไม่จำเป็นต้องหวือหวาล้ำสมัยมากมาย แต่เป็นความธรรมดาที่ลงตัว ส่วนตัวแล้วผมชอบแบบนี้ ไม่จำเป็นที่ทุกอย่างจะต้องเป็นระบบสัมผัส
พื้นที่ว่างแถวพวงมาลัยมีความน่าสนใจ ซึ่งจะเป็นคำถามส่งต่อไปยังผู้ซื้อว่า จะทำอย่างไรกับพื้นที่ตรงนี้ อีกจุดที่น่าสนใจ และที่บุกเบิกมาจาก TOYOTA PRIUS (โตโยตา ปรีอุส) นั่นคือ คอนโซลกลางที่สูงมากๆ ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ของรถที่ไม่มีอุโมงค์เกียร์ โดยใช้คอนโซลแบบลอยตัว ส่วนด้านล่างมีพื้นที่เก็บของได้เต็มๆ ถือว่าทำออกมาได้ดี เกียร์เป็นปุ่มหมุน เทคโนโลยีโดยรวมมีความเรียบง่าย แต่ทันสมัย ใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ได้ดี

สำหรับเบาะดูธรรมดาพื้นๆ มาก แต่นี่คือ ความเป็นจริงของรถยนต์ แม้ว่ารถจะล้ำแค่ไหนแต่ TOYOTA ก็ยังยืนบนพื้นฐานความเป็นจริง อ้างอิงจากการใช้งานจริง เรียกได้ว่าเป็นรถแนวคิดที่พร้อมขึ้นสายการผลิตมาก
อภิชาติ : จุดที่วางของแถวพวงมาลัยถือเป็นจุดขายของรถคันนี้ แต่มันอาจมีคำถามว่า จะวางอะไรดี และพื้นที่ตรงนั้นต้องการสื่ออะไร ขณะที่หน้าจอยังดูขัดตาไปหน่อย สัดส่วนอาจจะดูแปลกตาผมไปสักนิด คาแรคเตอร์ข้างในไม่มีเส้นสายลักษณะที่เป็น CUBIC โดยเส้นคาแรคเตอร์ทุกอย่างจะมาในแนวทางโค้งมน มีบางจุดที่เส้นสายไม่สอดรับกัน ส่วนอื่นๆ ก็ดูเรียบๆ ทำให้ผมมองว่า ข้างนอกหวือหวา แต่ข้างในธรรมดาไปสักหน่อย
ภาพรวม
ภัทรกิติ์ : รถคันนี้นำเสนอ INNOVATIVE DESIGN ที่ได้รับการปรับให้อยู่ในโลกของความเป็นจริงอย่างเต็มที่ ตามมาตรฐานของ TOYOTA ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางในแบบที่ควรจะเป็น แม้จะดูธรรมดา แต่สามารถใช้งานได้จริง อย่างสะดวกสบาย สมเป็นรถมหาชนในอนาคต
อภิชาติ : เป็นรถที่ผสมผสานระหว่างความทันสมัยกับความธรรมดาได้อย่างลงตัว ภายนอกทำออกมาได้ดี มีความทันสมัย หวือหวาสะดุดตา ขณะที่ภายในเน้นแนวทางที่อยู่ในความเป็นจริง ทำให้ทุกคนเข้าถึง และใช้งานได้ง่าย
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการบทความและสารคดี formula
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน สิงหาคม ปี 2564
คอลัมน์ Online : มุมมองนักออกแบบ
ลิงค์สำหรับแชร์ : https://www.autoinfo.co.th/article/377501