“หนี COVID-19 ไปดวงจันทร์กันเถอะ !”ผมรู้สึกเหมือนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พยายามจะบอกกับคนไทยอย่างนี้ เพราะขณะที่พวกเรากำลังหวั่นวิตกกับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 จู่ๆ ท่านก็ทะลุกลางปล้องขึ้นมาว่า ไทยมีแผนจะสร้างยานอวกาศ ส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ โดยใช้เวลาสร้างเพียง 7 ปี ด้วยงบประมาณราว 3,000 ล้านบาท ทันทีที่คนไทยได้ทราบข่าวนี้ ก็เกิดคำถาม 2 ข้อ ทำได้จริงหรือ และทำไปทำไม ? ข้อแรกนั้น ถ้าฟังคำตอบจากปากท่านรัฐมนตรีฯ เอง อาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะท่านย่อมต้องพูดสนับสนุนโครงการตัวเองอยู่แล้ว ผมเลยไปคัดคำตอบของ รศ. ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง BY อาจารย์เจษฎ์” ซึ่งน่าเชื่อถือกว่ามาให้ อ. เจษฎา ยืนยันว่า “เป็นไปได้” เนื่องจากเป็นการสร้างยานอวกาศขนาดเล็ก ระดับ “ดาวเทียม” ภายใต้โครงการ THAI SPACE CONSORTIUM หรือ TSC โดยจะพัฒนาดาวเทียม TSC-1 ที่ออกแบบและสร้างโดยฝีมือคนไทยมาก่อนหน้านี้ ให้เป็น TSC-2 ที่มีศักยภาพสูงขึ้น จนสามารถไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ ส่วนประโยชน์ที่จะได้ อ. เจษฎา บอกว่า หากสำเร็จจะเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาวิจัย และพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้านอวกาศของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น สรุปว่า โครงการนี้มีประโยชน์แน่ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับประชาชนทั่วไป ก็ไม่แปลกที่เขาจะสงสัยว่า การโคจรรอบดวงจันทร์ มันสำคัญ หรือจำเป็นเร่งด่วนกว่าการผลิต หรือจองซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาฉีดให้ประชาชน ตรงไหน หรือมันจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้หรือไม่ ผมว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราจะไปโคจรรอบดวงจันทร์หรอกครับ แต่เรื่องนี้มันฟังไม่เข้าหู เพราะท่านรัฐมนตรีฯ เลือกพูดในช่วงเวลาที่แถวบ้านผมเรียก “จังหวะนรก” คือ คนเขากำลังอยากรู้ว่า รัฐบาลจะจัดการกับ COVID-19 อย่างไร ท่านดันไปฟุ้งเรื่องอวกาศจักรวาล มันก็สมควรโดนด่านั่นแหละ ถ้าซุ่มทำโครงการของท่านไปเรื่อยๆ จนสำเร็จ แล้วแอบไปโคจรรอบดวงจันทร์เงียบๆ คนเดียว รับรองไม่มีใครว่าอะไร เชื่อผมสิ !