ปี 2020 เป็นอีกหนึ่งปีที่เราต้องจดจำ เป็นปีที่เจ็บปวด สาหัสสากรรจ์ เพราะเจ้าไวรัสร้าย COVID-19 ปั่นป่วนไปทั่วโลก สร้างความเสียหายในทุกระดับเศรษฐกิจ หลายๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลง ในขณะที่บางธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด มันหนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เราเคยเจอในอดีต !สถานการณ์ COVID-19 (ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2563) มีผู้ป่วยสะสมทั่วโลก 67,386,262 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,541,641 คน และยอดผู้ที่รักษาหาย 46,580,133 คน ประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ อินเดีย ส่วนประเทศไทย ติดอันดับ 150 กว่าๆ ลองนึกย้อนกลับไปดูช่วงปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันในหลายมุมมองหลายอาชีพ เช่น ธุรกิจสื่อสารมวลชน เจอผลกระ-ทบหนักสุด ลำพังแค่พายุดิจิทอล ที่ถาโถมเข้ามาเป็นระลอกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็สาหัสจนพี่น้องสื่อมวลชนบางเล่ม บางสำนักพิมพ์ต้องปิดตัวลง บ้างก็โยกย้ายตัวเองเข้าสู่พแลทฟอร์มออนไลน์ รวมถึงสื่อทีวีที่เคยทรงพลังในอดีต ปัจจุบันเรทิง ก็ไม่สวยหรูเหมือนที่เคยเป็น เม็ดเงินจากโฆษณายังอยู่เท่าเดิม แต่ต้องกระจายไปในสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ สื่อสิ่งพิมพ์อย่างเราก็พลอยได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม ที่เจ้า COVID-19 เป็นตัวกระตุ้นด้วยเช่นกัน ทุกธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นอย่างต่อเนื่อง ค่ายรถยนต์เองก็เปลี่ยนวิธีเปิดตัวรถจากออนกราวน์ดเป็นออนไลน์ ณ เวลานั้นทุกค่ายใช้วิธีแบบเดียวกันหมด พอเข้าช่วงปลายปี สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคุ้นชิน ถึงจะมีการเปิดตัวแบบออนกราวน์ดแบบดั้งเดิม แต่ก็ไม่ใช่ทุกค่าย วิธีเปิดตัวรถแบบออนไลน์ พิสูจน์แล้วว่าประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาการเดินทาง ลดความเสี่ยงจาก COVID-19 ได้รับกระแสตอบรับอย่างกว้างขวาง และเข้าถึงผู้บริโภคในจำนวนมหาศาล ธุรกิจการจัดแสดงสินค้า การแสดงคอน-เสิร์ท เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ปีก่อนๆ เคยเฟื่องฟู อบอุ่นด้วยจำนวนผู้ร่วมงาน และล้นหลามด้วยจำนวนผู้ชมงาน งานแสดงสินค้าต่างๆ เข้าสู่สภาวะถดถอย ทั้งงานใหญ่ในประเทศ และต่างประเทศ บางงานประกาศยกเลิก หรือเลื่อนการจัดงาน รวมถึงกิจกรรมกีฬาใหญ่ๆ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ตัวเลขยอดผลิต และจำหน่ายรถยนต์ในปีที่ผ่านมา ไม่สวยหรูเหมือนปีก่อนๆ โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2-3 กำลังซื้อหดหาย ทุกครัวเรือนใช้จ่ายอย่างประหยัด อุตสาหกรรมรถยนต์ก็พลอยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่นกัน ยังดีที่ไตรมาส 4 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานตัวเลขของเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตรถยนต์จำนวน 149,360 คัน ลดลงร้อยละ 2.24 ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์มียอดซื้อขายกันที่ 74,114 คัน ลดลงร้อยละ 1.4 ส่วนภาคส่งออก เราส่งรถยนต์สำเร็จรูปประมาณ 71,372 คัน ลดลงร้อยละ 16.57 เมื่อเทียบกับปี 2562 สรุป 10 เดือนแรกของปี 2562 ประเทศไทยผลิตรถยนต์ได้ 1,112,426 คัน ลดลงร้อยละ 35.53 ผลิตเพื่อส่งออก จำนวน 576,626 คัน ลดลงร้อยละ 35.83 ส่วนยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลิตได้ 82,157 คัน เท่ากับร้อยละ 55 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปี 2562 ร้อยละ 18.81 เราจะเห็นว่ากำลังซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ เริ่มกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น เหลือให้ลุ้นอีก 2 เดือนปิดท้ายปี 2563 ขอเดาว่าคงจะเฉียดๆ หลัก 8 แสนคัน สำหรับปี 2021 สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกยังไม่จบ แต่มีข่าวดีเรื่องวัคซีน เริ่มใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นทุกขณะ ส่วนการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจคงต้องลุ้นกันต่อไป ยังไม่มีใครประเมินแบบฟันธงว่า ปี 2021 นี้จะขาขึ้น หรือขาลง แต่ที่แน่ๆ ปี 2020 เป็นปีที่เจ็บ แต่ยังไม่จบจริงๆ !?!