รอบรู้เรื่องรถ
น้ำมันเครื่อง เลือกของแท้ ก่อนเลือกบแรนด์
คำถามของผู้ใช้รถที่ผมได้รับมากที่สุด คือ น้ำมันเครื่องบแรนด์ไหนดีที่สุด หรือน่าใช้ที่สุด รองลงมา คือ ระดับความหนืดที่ควรเลือกใช้ เรื่องบแรนด์นี่ไม่มีคำตอบตายตัวครับ เพราะมีตัวแปรอยู่มาก ที่สำคัญที่สุด คือ ราคาต่อปริมาตร ว่าเราพอจะจ่ายในระดับไหน และที่สำคัญก็คือ ราคาไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพแต่อย่างใด ส่วนความหนืดนั้นผมน่าจะเคยแนะนำไปเมื่อปีที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้นไม่มาก แต่สิ่งที่ผมแนะนำไปในคำตอบ โดยที่ไม่ได้ถูกถามถึงก็คือ ขอให้หาทางตรวจให้แน่ใจครับ ว่าเราจะไม่พลาด โดยถูกหลอกลวงให้ซื้อน้ำมันเครื่องปลอมปัญหานี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่มีกันหรอกครับ เพราะผู้รักษากฎหมายของเขา ไม่มีวันยอมให้มันเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า ใครที่คิดจะทำ ก็จะมีโอกาสถูกจับกุมสูง และโทษที่ได้รับ ก็จะไม่คุ้มค่ากับการกระทำนี้ แต่ที่นี่ประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่าผู้รักษากฎหมายส่วนใหญ่ทำหน้าที่หลัก นั่นคือ การรักษากฎหมายติดตามจับกุมผู้กระทำผิด ให้กลายเป็นหน้าที่รอง แล้วถือเอาการเอาใจ ประจบ สร้างภาพ หาผลประโยชน์ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นหน้าที่หลักแทน พวกเราซึ่งเป็นผู้บริโภค ก็เลยต้องรับเคราะห์ ตกเป็นเหยื่อของบรรดานักปลอมสินค้าเหล่านี้ คำถามแรก คือ จะสังเกตได้อย่างไร ว่าน้ำมันเครื่องที่กำลังจะซื้อ เป็นน้ำมันเครื่องปลอมหรือไม่ ถ้าถอยเวลาไปสัก 20 ปี ก็พอจะตอบได้ว่า สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจนี้ หรือผู้มีประสบการณ์สูงพอ สามารถสังเกตจากภาชนะที่บรรจุ จากฉลาก ควบคู่ไปกับการดมกลิ่น ซึ่งมาจากสารเคมี ที่เป็นสารเพิ่มคุณภาพ (ADDITIVES) น้ำมันเครื่องระดับคุณภาพสูง จะใส่สารเพิ่มคุณภาพในอัตราที่สูง จึงมีกลิ่นค่อนข้างแรงจากความเข้มข้นของสารเหล่านี้ ผู้คุ้นเคยจะใช้กลิ่นนี้ช่วยตัดสินได้ แต่ปัจจุบันนี้นักปลอมน้ำมันเครื่อง จะใส่สารที่มีกลิ่นใกล้เคียงกัน จนแม้แต่ผู้ที่คุ้นเคย ก็หาความแตกต่างไม่ได้ ภาชนะที่บรรจุ และฉลาก ก็มีระดับคุณภาพและความละเอียดแทบไม่ต่างกัน หรือไม่ก็ไม่มีความแตกต่างใดๆ ทั้งนั้น เพราะนักปลอมแปลงพวกนี้ สามารถไปว่าจ้างโรงงานในระดับเดียวกันฉีดได้ หรือไม่ก็จ้างโรงงานเดียวกับที่ฉีดภาชนะบรรจุของแท้นั่นแหละครับ เมื่อไม่สามารถตรวจสอบด้วยการมองดูภาชนะและฉลาก หรือแม้แต่สีของน้ำมันเครื่อง รวมทั้งไม่สามารถตรวจสอบด้วยการดมกลิ่นได้ ผู้บริโภคที่อาภัพอย่างพวกเรา ก็เหลือทางเดียวเท่านั้น ที่จะไม่ให้ถูกหลอกขายน้ำมันเครื่องปลอม นั่นคือ การใช้ความน่าเชื่อถือไว้วางใจได้ของผู้ขาย ในการตัดสินใจ หรือไม่ก็ต้องมีการแสดงต้นทางของการจำหน่ายได้ ว่ามาจากผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าของแท้ แต่ในกรณีหลังนี้ก็ยังไม่ใช่หลักประกันครับ เพราะผู้รับของปลอมมาขาย ก็จะสั่งซื้อของแท้มาขายควบคู่ไปด้วย ไว้เป็นเครื่องป้องกัน เมื่อใดที่ถูกลูกค้า หรือเจ้าหน้าที่ขอดูหลักฐาน จะได้มีใบสั่งซื้อของแท้ให้ตรวจสอบได้ ปัญหานี้ต้องถูกแก้ไขให้ถูกจุดที่ต้นทางครับ ถ้าตำรวจมีความตั้งใจทำงาน ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง หรือเอาเวลาไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ผมรับรองได้ว่าขบวนการปลอมแปลงน้ำมันเครื่องอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มันไม่มีทางจะเติบโตจนเป็นภัยแก่ผู้บริโภคเช่นพวกเราได้เลยครับ

ถึงเวลารับประกันคุณภาพ
เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมอ่านพบบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นการแถลงข่าวของกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับคุณภาพของยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ที่ต้องนับว่าเป็นข่าวดีสำหรับพวกเราซึ่งเป็นผู้บริโภค นั่นคือ กระทรวงฯ เตรียมออกกฎบังคับให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ รับประกันคุณภาพของยางเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี นานๆ จะได้ข่าวดีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ การป้องกันผู้บริโภคเสียเปรียบครับ แต่ก็ยังดีใจไม่ได้ จนกว่าจะมีการบังคับใช้ให้เป็นรูปธรรม ผู้บริโภคชาวไทย มักมีพฤติกรรมที่แปลกบางอย่าง คือ ไม่ค่อยต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และที่หนักกว่าก็คือ ยินดีที่จะเชื่อฟังคำแนะนำของผู้ขาย โดยไม่ต้องการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ว่าถูกต้องหรือไม่ พวกเราก็เลยถูกยุให้ซื้อสินค้าใหม่มาก และบ่อยกว่าที่ควรอยู่ตลอดเวลา

ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน กันยายน ปี 2563
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ