วิกฤตไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ที่ “กูรู” หลายสำนักต่างก็ฟันธงแล้วว่า “งานเข้า” แบบเต็มๆ หลังจากที่หลายค่ายต่างตั้งเป้ายอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาประมาณการ 9 แสนกว่าคัน นาทีนี้คงเป็นเรื่องยากแล้วละ เพราะตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ตัวเลขติดลบเกือบทุกตลาดเดือนมกราคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 ตลาดรวมติดลบไปเบาๆ 8.2 % ทุกยี่ห้อขายรวมกันได้ 71,688 คัน แยกเป็นตลาดรถเอสยูวี ติดลบ 18.3 % ตลาดรถอเนกประสงค์ เพิ่มขึ้น 18.3 % ตลาดรถกระบะ 4x2 ติดลบ 13.1 % และตลาดรถกระบะ 4x4 ติดลบ 14.9 % ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยอดจำหน่ายรถในประเทศไทย ยังทรุดตัวต่อเนื่อง มียอดจำหน่ายรถรวมกันทุกยี่ห้อ ประมาณ 68,271 คัน เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มียอดขายลดลง 17.1 % และเมื่อรวมยอดจำหน่าย 2 เดือนแรกของปีนี้ เท่ากับ 139,959 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ติดลบ 12.7 % ซึ่งสอดคล้องกับนักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ที่ประเมินสถานการณ์ปีนี้ว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบแบบ DOUBLE-DIGIT หรือติดลบด้วยตัวเลข 2 หลัก ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เราจะติดลบ 10 % ขึ้นไป นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจหดตัวแน่นอน ไตรมาสแรกที่ว่าแย่ ไตรมาส 2 จะแย่กว่า นักวิเคราะห์บอกไว้ว่า ตัวเลข GDP ของประเทศไทยปีที่แล้ว ประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท สมมติว่าถ้าปีนี้เศรษฐกิจติดลบ 10 % ขึ้นไป ก็จะติดลบประมาณ 1.69 ล้านล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐต้องตั้งงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติเลยทีเดียว คำถามต่อจากนี้ คือ การหดตัวของเศรษฐกิจไทยขนาดนี้ มันจะกระทบธุรกิจอะไรบ้าง ลำดับแรกที่เห็นชัดๆ และโดนไปเต็มๆ คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรม สายการบินต่างๆ หยุดบินชั่วคราว เพื่อมาตรการความปลอดภัยในการควบคุมเชื้อโรค ปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดน้อยลงแบบฮวบฮาบ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวในประเทศ ต่างก็ถูกคุมเข้มเรื่องมาตรการการกักตัว ห้ามเดินทางโยกย้ายข้ามถิ่น สิ่งที่เราไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ประกาศ LOCKDOWN เมืองต่างๆ ประเทศต่างๆ เป็นสิ่งที่เหนือการคาดการณ์ทั้งสิ้น ในปี 2562 เรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงถึง 39.8 ล้านคน แต่ในปีนี้เรายังไม่รู้ว่า นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะหวนกลับมาเที่ยวเมืองไทยได้อีกเมื่อไหร่ ? ธุรกิจลำดับต่อมา ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน คงหนีไม่พ้นเรื่องการบริโภคและอุปโภค จากเหตุการณ์ COVID-19 เราได้เห็นคำสั่งห้ามเปิดร้านอาหาร และห้ามการดำเนินธุรกิจต่างๆ มากมาย ทำให้การจับจ่ายใช้สอย การเดินทาง หยุดชะงักเกือบทั้งหมด ส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม ประชาชนต้องคิดเยอะ ต้องประหยัด ต้องบริหารจัดการสภาพคล่องของครัวเรือน แทบจะไม่ใช้เงินสด ถ้าไม่จำเป็น อันนี้รวมถึงธุรกิจทุกขนาด บางรายยอมขายต่ำกว่าทุน เพื่อเก็บเงินสด และรักษาสภาพคล่อง ธุรกิจรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน หลายค่ายปรับตัว เปิดการค้าออนไลน์ เพิ่มช่องทางการอำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อ อยู่บ้านก็สามารถเลือกซื้อ หรือจับจองรถยนต์รุ่นต่างๆ ได้ โดยเฉพาะบริการหลังการขาย หลายค่ายช่วยลูกค้า มีบริการเซอร์วิศถึงหน้าบ้าน มีบริการรับ/ส่งรถลูกค้าที่ถึงกำหนดเข้ารับการบริการ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการปรับตัวของธุรกิจที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สำหรับตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ไตรมาส 3 และ 4 ต้องรอลุ้นว่าจะกระเตื้องขึ้นมากน้อยแค่ไหน ? แต่ยังเชื่อว่า เรามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ รออยู่ช่วงปลายปีครับ