ตลาดโดยรวม | -12.7 % |
รถยนต์นั่ง | -7.8 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | -10.3 % |
กระบะ 1 ตัน | -17.3 % |
รถเพื่อการพาณิชย์ และรถประเภทอื่นๆ | -7.7 % |
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย และทำให้ยอดการขายรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ลดลง 17.1 % เหลือเพียง 68,271 คัน โดยที่ตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 15.4 % และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 12.8 % สืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ยังคงมีความพยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมส่งเสริมการขายให้แก่ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เหมือนดังที่เราเห็นการเปิดตัวรถรุ่นใหม่กันทางออนไลน์ไปแล้ว ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในเดือนมีนาคมยังคงเป็นที่น่าจับตามอง ว่าจะลดลงไปอีกมากน้อยสักเท่าใด
มาดูเรื่องของเราดีกว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีดีพีไทย ปี 2563 เหลือ 0.5 % จากเหตุไวรัส COVID-19 ย้ำ ! หากสถานการณ์คลี่คลายตามสมมติฐาน จีดีพีจะดีขึ้นในไตรมาส 4
ภายใต้เงื่อนไขที่มองว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ในจีน สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศอิตาลี และเกาหลีใต้ สามารถควบคุมได้ในไตรมาส 2 และสถานการณ์ในไทย ยังไม่ปรากฏเหตุการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ นั้น คาดว่าจะทำให้เห็นจีดีพีในปีนี้ขยายตัวเหลือ 0.5 % จากประมาณการเดิมที่ 2.7 % อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าตัวเลขนี้จะปรับลดค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นการประเมินตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนค่อนข้างเร็ว และหากการระบาดมีสัญญาณคลี่คลายลงภายในช่วงครึ่งปีแรกตามสมมติฐาน คงจะทำให้เห็นจีดีพีกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4
ทั้งนี้ ผลกระทบหนักสุดคงอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ารายได้ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 4.1 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.4 % ของ จีดีพี ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไป 8.3 ล้านคน หรือหดตัว 20.8 % จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยที่การส่งออกจะหดตัวลึกขึ้นเป็น 5.6 % จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 1.0 % เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทรุด และความต้องการต่อสินค้าส่งออกของไทยลดลง
ตลอดจนกระทบห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะของจีนที่กระทบต่อเนื่องมายังภาคการผลิตของไทย ขณะเดียวกัน การบริโภค และการลงทุนในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน เพราะผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้จ่าย และเดินทางออกนอกบ้าน อันทำให้ธุรกิจค้าปลีกไทยในปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องจับตาปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ และสถานการณ์การจ้างงาน ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้าไปดูแลเป็นลำดับแรกๆ อีกทั้งยังต้องติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะออกงบประมาณเพิ่มเติมด้วย
ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 จะหดตัวราว 0.8 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวออกไป หรือรุนแรงขึ้น ก็อาจจะทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกหดตัวถึง 2.2 % เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หรือคิดเป็นเม็ดเงินค้าปลีกทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย ที่สูญหายไปประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท
ส่วนนโยบายการเงินนั้น คาดว่าผลกระทบที่จะทยอยปรากฏชัดเจนขึ้นผ่านโอกาสการหดตัวชั่วคราวของจีดีพี ในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปี จะทำให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 0.25-0.50 % ในระยะที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็คงช่วยบรรเทาภาระต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ และครัว-เรือนลงได้บางส่วน
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก WHO ประกาศยกระดับ COVID-19 เป็น “การระบาดครั้งใหญ่ของโลก” ส่งผลต่อการส่งออกไทย โดยสถานการณ์ COVID-19 ในจีนมีสัญญาณว่าได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่การที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสกลายเป็นความเสี่ยงที่หนักยิ่งขึ้นของธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออก โดยผู้ประกอบการไทยคงต้องเตรียมรับมือการสั่งซื้อสินค้าที่จะลดลงอีกในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ตามการแพร่กระจายของไวรัสไปยังแต่ละประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีตลาดหลักทั้งจีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น คงต้องรับมือกับกำลังซื้อที่ลดลงยาวนานจนกว่า COVID-19 จะคลี่คลายลง