ลักษณนามของล้อ คือ “วง” แต่อย่างง ถ้าคนขายถามว่าต้องการล้ออัลลอยกี่ “ชิ้น”
การหล่อขึ้นรูป (CASTING) “ชิ้นเดียว” ทั้งวง วิธีการผลิตง่าย เป็นที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบัน มีความแข็งแรงสูง เพราะไร้รอยต่อ ส่วนข้อเสียของล้อชิ้นเดียว คือ มีน้ำหนักมาก และมักมีลวดลายพื้นๆ ทั่วไป แต่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถหล่อให้มีลวดลายสวยงาม และมีเนื้อวัสดุที่ดูโดดเด่นมากขึ้น แถมน้ำหนักเบาลง แต่ยังคงความแข็งแรงไว้ แถมยังมีลูกเล่น ทำล้อ 1 ชิ้น ให้เหมือน 2 หรือ 3 ชิ้น ด้วยการใส่หมุดยึดหลอกไว้ ต้องสังเกตให้ดีก่อนซื้อ
ล้อ 2 ชิ้น มีโครงสร้างที่แตกต่างจากล้อชิ้นเดียวอย่างชัดเจน โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ “หน้าล้อ” (FACE) ผลิตแยกกับส่วน “ขอบล้อ” (RIM) ไม่ได้ผลิตมาเป็นชิ้นเดียวกัน การประกอบส่วนใหญ่จะยึดด้วยนอท บางรุ่นใช้หมุดย้ำ (RIVET) หรือบางรุ่นใช้การเชื่อมติด (WELDING) โดยสังเกตได้ที่บริเวณขอบล้อ (ด้านหน้ากว้าง) จะต้องเป็นการเชื่อมต่อกันทั้งหมด ข้อดี คือ น้ำหนักเบากว่าล้อประเภท 1 ชิ้น แต่ด้วยวิธีการผลิตที่ซับซ้อน ทำให้มีราคาสูง
ภาพโดยรวมของโครงสร้างเหมือนกับล้อ 2 ชิ้น แต่ขอบล้อจะผ่าเป็น “2 ซีก” หน้า และหลัง รวมเป็น 3 ชิ้น แล้วจึงนำมาเชื่อมขอบประกบกัน สังเกตได้ง่ายว่าจะมีรอยเชื่อมตรงด้านหน้ากว้างของขอบล้อ ข้อดีข้อเสียก็เหมือนกับ 2 ชิ้น แต่ต้นทุนในการทำล้อ 3 ชิ้น จะสูงขึ้นไปอีก
• ในอดีตรถรุ่นเก่าที่วิ่งบนถนนทั่วไปจะใช้ “ล้อกระทะ” ที่ผลิตจากเหล็กปั๊มขึ้นรูป ซึ่งมีความทนทานดี ราคาไม่สูง แต่ข้อเสีย คือ น้ำหนักมาก และไม่สวยงาม
• ส่วนรถแข่ง หรือระดับซูเพอร์คาร์ จะใช้ “ล้อแมก” ซึ่งผลิตจากแมกนีเซียมอัลลอย หล่อขึ้นรูป (CASTING) น้ำหนักเบา ลวดลายสวยงาม และสามารถทำให้ล้อมีหน้ากว้างมากขึ้น เพื่อใช้กับยางหน้ากว้าง แต่ล้อแมกนีเซียมมีราคาแพงมาก และไม่ค่อยทนทาน จึงไม่เหมาะสำหรับรถบ้านใช้งานทั่วไป
• ต่อมามีการพัฒนาวัสดุในการผลิตล้อเป็น “อลูมิเนียมอัลลอย” นำมาใช้แทนแมกนีเซียม ด้วยคุณสมบัติด้านความทนทานที่ดีกว่า ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ราคาจึงถูกลง จนได้รับความนิยมทั่วไป แต่ก็ยังเรียกกันว่า “ล้อแมก” ตามความเคยชิน แต่ที่ถูกต้องควรเรียกว่า “ล้ออัลลอย” (ALLOY WHEEL)