หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกคำสั่งห้ามรถพยาบาล ใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. และห้ามฝ่าไฟแดง เนื่องจากอุบัติเหตุของรถพยาบาลส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็ว ฝ่าสัญญาณไฟจราจร และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย “ชาวเนท” ก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะเชื่อว่า ยิ่งส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์เร็วเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากเท่านั้น แถมกฎหมายจราจรก็ยกเว้นให้รถพยาบาลสามารถใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดได้อยู่แล้วพอมีเสียงทักท้วง กระทรวงสาธารณสุขก็รีบออกมาชี้แจงว่า มาตรการนี้ใช้เฉพาะกับรถพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่รวมถึงรถกู้ภัย กู้ชีพ หรือสังกัดอื่นๆ และบังคับเฉพาะกรณีส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้จะประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ ไม่อยู่ในภาวะวิกฤต และคาดว่าจะไม่ทรุดลงอย่างรุนแรงในขณะเดินทาง (จึงไม่ต้อง “ซิ่ง” ก็ได้) นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยอื่นๆ อีก ได้แก่ โรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2,000,000 บาท พนักงานขับรถพยาบาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS ควบคุมความเร็ว และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ ห้ามทำหัตถการขณะรถเคลื่อนที่ หากพยาบาลร้องขอ เพราะจำเป็น เร่งด่วน ต้องรีบหาที่จอดที่เหมาะสม และปลอดภัยทันที บังเอิญผมไม่ใช่ “ชาวเนท” จึงอยากจะบอกในฐานะคนใช้รถใช้ถนน และคนที่เคยนั่งอยู่ในรถพยาบาลมาแล้วว่า ผมเห็นด้วยทุกประการกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องรถพยาบาลห้ามฝ่าไฟแดง และควรบังคับใช้ทุกกรณี ไม่เฉพาะการส่งต่อเท่านั้น รวมทั้งครอบคลุมถึงบรรดารถกู้ภัยทั้งหลายด้วย เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นจากการขับเร็ว และฝ่าไฟแดง บางทีความเสียหายอาจมากกว่าเหตุที่ทำให้ต้องรีบไปกู้ภัยก็เป็นได้ !