รอบรู้เรื่องรถ
วันสงกรานต์ ต้องไม่ใช่วันที่มีสิทธิ์ระรานผู้อื่น
ที่จริงแล้วผมตั้งใจจะนำเสนอเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว แต่จังหวะที่จะถูกพิมพ์ในคอลัมน์นี้เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์นั้น มันไม่เหมาะสมครับ คือ กว่าหนังสือจะถึงมือผู้อ่าน เทศกาลที่ดี แต่มีจำนวนผู้ที่เกลียด และรังเกียจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ก็ผ่านเลยไปนานแล้วทุกครั้ง ที่จริงแล้ว วันสงกรานต์ ที่กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการนั้น คือ วันที่ 13 วันเดียวนะครับไม่ใช่ 13 ถึง 15 เมษายน แม้ว่าอีกสองสามวันต่อจากนั้น จะยังเป็นวันที่มีความหมายตามประเพณีอยู่ และใครที่ยังต้องการหยุดต่อ ก็จะต้องลากิจเอาเอง วันที่ 14 และ 15 นั้นเป็น ”ของแถม” จากนักการเมืองแนวประชานิยมยุคหนึ่ง เพื่อเอาใจชนชั้นแรงงาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีจำนวนระดับส่งผลในการเลือกตั้งได้ โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วย เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเหล่านี้ มีเวลาเพียงพอ ที่จะกลับไปเยี่ยมญาติที่บ้านเกิด แต่ในเมื่อเอ่ยถึงเรื่องนี้แล้ว ผมอยากขอโอกาสนี้ฝากไว้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจด้วยว่า การเพิ่มวันหยุดขึ้นมาอีกแต่ละวันนั้น มันกระทบต่อต้นทุน และผลประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย เมื่อใดที่เพิ่มวันขึ้นมาให้เป็น วันหยุดราชการ ก็ควรพิจารณาหาวันที่มีความสำคัญน้อยกว่า และยกเลิกไปเพื่อเป็นการชดเชย มิฉะนั้น วันหนึ่งข้างหน้า ประเทศไทยอาจจะเป็นผู้ทำสถิติโลก (ในด้านลบ) รายใหม่ก็ได้ ที่มีวันหยุดราชการมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกคำว่า สงกรานต์ เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่าการเคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของจักรราศี ซึ่งในที่นี้ คือ การเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ ตามความเชื่อของประชากรในหลายประเทศด้วยกัน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และในบางส่วนของประเทศเวียดนาม กับมณฑลยูนนานของประเทศจีน สันนิษฐานกันว่าประเพณีนี้ได้อิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี ในประเทศอินเดีย แต่ของเขาจะใช้การสาดสีแทนการรดน้ำอย่างของเรา ผมขอเล่าพอสังเขปเท่านี้นะครับ ให้มีภาพความเป็นมา ไม่ขอยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเรื่องราว ที่บอกเล่าสืบต่อกันมายาวนาน มักมีความคลาดเคลื่อนเสมอ กิจกรรมที่นิยมทำกันในวันสงกรานต์มีอยู่มากพอสมควร และล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีงาม เช่น การบังสกุลอัฐิญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระพุทธรูป การดำหัว (ในภาคเหนือ) การขนทรายเข้าวัด การปล่อยนก ปล่อยปลา การรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ซึ่งจะใช้น้ำผสมน้ำอบ หรือน้ำหอม รดไปที่มือแต่พอประมาณ แล้วผู้ใหญ่ก็จะให้พรกลับมาเป็นการตอบแทน ผมไม่แน่ใจว่าตามประเพณีดั้งเดิมที่แท้จริงนั้น มีการรดน้ำแก่ผู้ที่เราไม่รู้จักมาก่อนด้วยหรือไม่ หากจะมีก็น่าจะมีรูปแบบดังในภาพที่มีอายุมากต่างๆ ที่เคยผ่านสายตาผมมา คือ ประพรมด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำผสมของหอม เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว ว่าคนไทยส่วนใหญ่นั้นชอบดู หรือพอใจในการเห็นผู้อื่นเดือดร้อน ผสานกับการชอบทำอะไรที่มันเกินเลย หรือสุดกู่ ที่เรียกกันว่าแบบตกขอบ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่การรดน้ำในประเพณีสงกรานต์ของเรา จึงเป็นโอกาสเหมาะในการทำร้าย หรือกลั่นแกล้งผู้อื่นโดยไม่ผิดกฎหมาย ผมจะลองยกตัวอย่างให้เห็น โดยไม่ครบถ้วน และไม่เรียงตามลำดับความเลวให้ดูนะครับ แล้วถามตัว พวกเราเองว่าจะทนดู และยอมรับสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ไปเพื่ออะไร และอีกนานแค่ไหน 1. กลั่นแกล้งเพื่อให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรืออับอาย เพียงเพื่อความสะใจที่ได้เห็น เช่น เอาน้ำราดไปบนร่างของผู้ที่แต่งกายมาอย่างดี เพื่อไปงาน พิธีสำคัญ หรือจะไปทำธุระส่วนตัวตามปกติ ลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกกระทำ เราจะทนไปปรากฏตัวในสภาพเปียกปอนเช่นนั้นได้อย่างไร 2. กลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายโดยตรง ไม่ใช่แค่เพียงเสื้อผ้า หรือเครื่องแต่งกาย เช่น นำน้ำโสโครกจากลำคลอง หรือท่อระบายน้ำ มาสาดให้เกิดการแสบ คัน หรืออาจถึงขั้นเป็นโรคผิวหนัง 3. ลวนลามสตรีทางกายโดยตรง เช่น กอด จูบ ลูบ คลำ โดยอ้างว่าทำไปเพราะความมึนเมา แต่ด้วยเจตนาดี ไอ้เดนมนุษย์พวกนี้มันสมควรถูกถีบเข้าคุกด้วยเจตนาดีเช่นเดียวกัน ผมขอเรียกร้องอย่างจริงจัง ว่าเพื่อให้มันยำเกรงกฎหมาย โทษของการล่วงละเมิดทางเพศ ต้องจำคุกเพียงสถานเดียวครับ จะนานกี่วัน เดือน หรือปี ก็แล้วแต่ ผมขอบอกเลยว่า ทุกวันนี้พลเมืองดีทั้งหลาย สะอิดสะเอียนคำว่า ”รอลงอาญา” ที่สุดแล้ว กลายเป็นคำที่เอาไว้เรียกเสียงหัวเราะของพวกคนถ่อยสถุลไปแล้ว กับเป็นคำที่พลเมืองดีเอาไว้ใช้ยามที่ต้องการประชดความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมของไทย ข้ออื่นๆ ต่อจากนี้ เป็นส่วนที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้ใช้รถในเทศกาลวิบากสำหรับพลเมืองดีครับ

ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2562
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ