รีบบอกเอาไว้ล่วงหน้า เพราะบรรดาผู้ประกอบการ ทั้งรถเมล์ และรถร่วม ขสมก. ต่างพากันยื่นข้อเรียกร้องให้พิจารณาปรับค่าโดยสารโดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ดังนี้ รถธรรมดา จากเดิม 9.00 บาท เป็น 12.00 บาท, รถปรับอากาศ จากเดิม 13.00-25.00 บาท เป็น 15.00-27.00 บาท และรถปรับอากาศรุ่นใหม่ ขอให้กำหนดเป็น 4 กม. แรก ค่าโดยสาร 20 บาท ส่วนที่เกิน 4 กม. ค่าโดยสาร 25 บาทฟากทาง กรมการขนส่งทางบก ก็ตอบไปว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอน ผลการศึกษาโครงการศึกษาการพัฒนาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการรถโดยสาร โดยพิจารณาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการ และแนวทางการอุดหนุน (Subsidy) โดยว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษา ทั้งต้นทุนปัจจุบัน และต้นทุนมาตรฐานต่อที่ประชุม และจะสรุปผลการศึกษา พร้อมทั้งวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม อยู่ระหว่างการนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคม ก็ออกมา บอกว่า ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถร่วมเอกชน แต่การเสนอปรับอัตราค่าโดยสารมีลำดับขั้นตอนตามกฎหมาย จึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก นำข้อเรียกร้องขอปรับอัตราค่าโดยสารทั้ง 3 ข้อ เสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาว่าสมควรปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ ควรปรับเท่าไร และให้ใช้ได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ นอกจากนี้ ภาครัฐก็มีมาตรการส่วนลดค่าพลังงานโดย ปตท. ออกบัตรส่วนลดราคาขายปลีกแกสธรรมชาติ (NGV) ให้แก่รถโดยสารสาธารณะ (ยกเว้นรถ ขสมก. และรถ บขส.) ในราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่าราคาขายปลีกทั่วไป ปัจจุบันจำหน่ายที่ กก. ละ 10.62 บาท สำหรับรถโดยสารสาธารณะ (จากราคาขายปลีกทั่วไปที่ กก. ละ 15.73 บาท) ในวงเงินเดือนละ 40,000 บาท สำหรับรถสาธารณะขนาดใหญ่ และ 10,000 บาท สำหรับรถสาธารณะขนาดเล็ก และจะอุดหนุนไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ก็ต้องพักยกเอาไว้ก่อน คอยการพิจารณาที่แน่นอนอีกครั้ง ว่าควรปรับหรือไม่ ปรับเท่าใด และใช้เมื่อใด หันมาดูตรงนี้ดีกว่า กลุ่ม ปตท. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมฯ สัมมนาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน โดยคาดว่า ในปี 2562 ราคาน้ำมันดิบดูไบ จะอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ สงครามการค้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก นโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค นโยบายพลังงานสีเขียว และการเติบโตของนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเติบโตอยู่ที่ 3.7 % ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 1.1-1.3 ล้านบาร์เรล/วัน
บทความแนะนำ