ก่อนจะมา “เข้าเวร” ที่งาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 35” ของเรา ผมได้มีโอกาสไปชมงาน “มหกรรมยานยนต์ปารีส” ซึ่งมีทั้งเรื่องตื่นเต้น เรื่องเงียบๆ และเรื่องเหงาๆ มาเล่าสู่กันฟังเริ่มจากเรื่องเหงาๆ ก่อนนะครับ อันที่จริง ความรู้สึกเหงาๆ นี่ดูเหมือนจะเป็นบรรยากาศหรืออารมณ์ร่วมของงานแสดงยานยนต์ระดับโลกทุกงานในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ เนื่องจากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายรายเริ่มปฏิเสธที่จะไปออกบูธตามงานต่างๆ หรือเลือกไปเพียงบางงานเท่านั้น ด้วยเหตุผลแปลกๆ เช่น ไม่มีรถใหม่เปิดตัว หรือผู้ชมงานไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ฯลฯ งานที่ปารีส ก็หนีไม่พ้นกระแส “เบื่อๆ อยากๆ” ของบรรดาผู้ผลิตรถเหมือนกัน อย่างค่ายญี่ปุ่น คราวนี้มาเพียง 5 เจ้าคือ โตโยตา เลกซัส ฮอนดา ซูซูกิ และอีซูซุ เท่านั้น ขณะที่ค่ายยุโรป ดาวเด่นอย่าง โฟล์คสวาเกน เฟียต ฟอร์ด (ยุโรป) เบนท์ลีย์ โรลล์ส-รอยศ์ ล้วนหายหน้าหายตาไปหมด แม้แต่เรอโนลต์ หนึ่งในรถสัญชาติฝรั่งเศส “เจ้าของบ้าน” แท้ๆ ยังลดขนาดบูธตัวเองลง ตั้งครึ่งค่อน ส่วนค่ายอเมริกัน มีเพียงเทสลา ผู้จุดประกายรถไฟฟ้า มาอย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางข่าวฉาวโฉ่ของซีอีโอหนุ่มคนนั้น พอผู้ออกงานลดจำนวน และบางรายลดขนาดบูธลง แต่พื้นที่จัดงานยังเท่าเดิม ก็กลายเป็นภาระของผู้จัดที่ต้องพยายามหาอะไรมาชดเชย วิธีหนึ่ง ที่ผู้จัดใช้แก้ปัญหาคือการปล่อยพื้นที่ให้บริษัทธุรกิจ หน่วยงาน และสถาบันการศึกษา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องยานยนต์นำสินค้า และ/หรือ ผลงานที่เกี่ยวข้องมาแสดง ซึ่งดูแล้วก็ได้ความหลากหลาย น่าสนใจดี อีกวิธีหนึ่งคือ การจัดพื้นที่ “LIMITED” นำรถรุ่นพิเศษของยี่ห้อที่ไม่ออกบูธมาจอดแสดง ทำให้ผู้ชมที่ดูไม่ละเอียดคิดว่ารถยี่ห้อนั้นมาร่วมงานด้วย แต่วิธีที่ดูเหมือนจะ “แยบยล” ที่สุด ที่ผู้จัดใช้แก้ปัญหาพื้นที่ว่างคือ การจัดแสดงยานยนต์โบราณ ยานยนต์คลาสสิค และยานยนต์ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจากการแข่งขัน หรือจากภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ...ส่วนหนึ่งเป็นรถจากพิพิธภัณฑ์ยานยนต์เมืองมูลูส (MULHOUSE) ที่เหลือเป็นรถจากนักสะสมเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ นี่คือเรื่องเหงา (และเศร้า) ที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่เกิดกับงาน “มหกรรมยานยนต์” เพราะงานเขาเป็นแบบ B TO B (BUSINESS TO BUSINESS) โชว์อย่างเดียวไม่มีซื้อขาย แต่ของเราเป็น B TO C (BUSINESS TO CONSUMER) มีการซื้อขาย (แถมได้ชิงรางวัล) และผู้บริโภคโดยทั่วไป เวลาจะซื้อสินค้า โดยเฉพาะรถยนต์ก็อยากจับต้อง และทดลองขับก่อนตัดสินใจซื้อด้วยกันทั้งนั้น สำหรับเรื่องเงียบๆ ต้องยกให้รถ “ชัทเทิล บัส-ไร้คนขับ” (AUTONOM SHUTTLE) ของ NAVYA BE FLUID ที่ใช้ รับ-ส่งผู้สื่อข่าว ไป-มาตามฮอลล์แสดงสินค้าต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้าน “ยานยนต์ไฟฟ้า” ของฝรั่งเศส และกลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นของงานอย่างเงียบๆ ปิดท้ายด้วยเรื่องตื่นเต้นระดับ “ล้วงคองูเห่า” นั่นคือหนึ่งในคณะของเราที่นับว่า “โชกโชน” กับปารีสที่สุด พลาดท่าโดนโจรสาวเจ้าถิ่นซิวเงินจากกระเป๋าไปร่วม 400 ยูโร เหตุเกิดในรถไฟใต้ดินกลางกรุงปารีส ตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง ฉะนั้น ถ้าอรรถรสของคอลัมน์ “มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ” ฉบับนี้จะ “กร่อย” ไปบ้าง ก็โปรดเห็นใจ “งูเห่า” ด้วยครับ