ขณะที่หลายภาคส่วนพยายามผลักดันให้ไทยเข้าสู่ยุค “รถ ไฟฟ้า” อย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งเสริมให้มีการผลิตแบทเตอรีในประเทศ ก็มีข่าวว่า บ้านเรากำลังกลายเป็นแหล่งลักลอบนำเข้า “ขยะอีเลคทรอนิคส์” หรือ “ขยะพิษ” เพื่อมากำจัดอย่างผิดกฎหมาย เพราะหากกำจัดอย่างถูกต้องตามวิธีการ จะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล แถมการกำจัดขยะเหล่านี้ยังก่อให้เกิดสารพิษตกค้างอีกต่างหาก แม้แต่ประเทศจีนยังไม่อนุญาตให้ทำในบ้านเขา พวกวายร้ายจึงดาหน้ากันเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย แล้วส่งขยะพิษเข้ามา โดยทำทีเป็นขออนุญาตนำเข้าวัตถุดิบสำหรับใช้ผลิตเม็ดพลาสติค แต่ซุกซ่อนขยะอีเลคทรอนิคส์จำนวนมากทั้ง แผงวงจร แบทเตอรี เพาเวอร์ซัพพลาย ไดนาโม ฯลฯประเทศไทยกำลังกลายเป็นที่เก็บ หรือที่ฝังขยะพิษจากทั่วโลก ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมกลัวตั้งแต่แรกที่เราพูดถึงเรื่องรถไฟฟ้า เพราะ แบทเตอรี เมื่อหมดอายุ หรือมีของใหม่มาทดแทน ของเก่าก็จะกลายเป็นขยะทันที แล้วเรามีวิธีการกำจัดมันอย่างไร หรือจะเอาไปทิ้งที่ไหน ยังไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้แบบจริงๆ จังๆ เลย ทั้งที่เป็นขั้นตอนสำคัญของการก้าวสู่สังคมรถไฟฟ้า ที่ทุกฝ่ายมองข้ามกันไป นอกจากนั้น ยังน่าสงสัยว่า หน่วยงานใดจะมีหน้าที่ควบคุมดูแล เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย เริ่มจากกระทรวงอุตสาหกรรมต้องการส่งเสริม แต่การนำเข้ามาในราชอาณาจักรต้องผ่านกรมศุลกากร ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลัง แล้วก็อาจเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ด้วย เพราะผลผลิตที่เกิดขึ้นต้องส่งไปจำหน่าย แล้วใครจะเป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจัดการ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันถูกละเลย และเพิ่งจะตื่นตัวกันว่าบ้านเราเป็นที่เก็บขยะพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก ! ถ้าจะเปลี่ยนสังคมเราเป็นสังคมรถไฟฟ้า ต้องถามว่า เราดูแลกันได้ครบวงจรหรือยัง โดยเฉพาะองค์ประกอบใหญ่ คือ แบทเตอรี ที่กำลังจะถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากลิเธียม-ไอออน เป็น โซลิดสเตท ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น แบทเตอรีทุกรูปแบบที่มีอยู่ในประเทศ ทั้งลิเธียม-ไอออน และเจเนอเรชันก่อนหน้า ใครจะเป็นคนกำจัด ? สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากกว่าการที่จะทำแค่ ลดภาษีเยอะๆ จะได้เกิดสังคมใหม่ สังคมสะอาด มันอาจจะสะอาดบนถนน แต่สิ่งที่เหลือจากความสะอาดของมัน คือ “พิษ” ที่ร้ายแรง กว่าพิษเครื่องยนต์สันดาปภายในมากมายหลายเท่าตัว อย่าลืมว่า เหรียญมีสองด้าน ฉะนั้น โปรดดูหน้าดูหลังให้ถ้วนถี่ ก่อนจะสายเกินแก้ !?!