ฟอร์ด เอสเคพ สายพันธุ์แรกเริ่มผลิตออกจำหน่ายในปี 2000 เป็นการพัฒนารถร่วมกันระหว่างค่าย ฟอร์ด และมาซดา ญี่ปุ่น ซึ่งออกรุ่น ทรีบิวท์ ที่เปรียบเสมือนเป็นคู่แฝดกับ ฟอร์ด เอสเคพ โดยทาง มาซดา เป็นผู้ผลิตและพัฒนาเครื่องยนต์ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อใช้ร่วมกัน ส่วนโครงสร้างหลักของตัวรถ ทางค่าย ฟอร์ด จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เป็นรถยนต์ที่ขายดีมากในแถบอเมริกาเหนือ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จนมีสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 ตามออกมาอย่างต่อเนื่องรุ่นที่เราจะพูดถึงนี้เป็นสายพันธุ์ที่ 3 ของ เอสเคพ มาพร้อมรูปทรงภายนอกที่สวยงาม บึกบึน สไตล์อเมริกัน ภายในห้องโดยสารมีพื้นที่ 102 ลูกบาศก์ฟุต ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ไม่ถึงกับกว้างขวางเป็นพิเศษ เนื้อที่สำหรับผู้โดยสารเบาะหลังยังเป็นรองครอสส์โอเวอร์ระดับหัวแถวจากญี่ปุ่น แต่ เอสเคพ จะเหนือกว่า ในเรื่องของโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ให้ความปลอดภัยสูงในระดับ 5 ดาว จากมาตรฐานการทดสอบโดยหน่วยงาน NHTSA ส่วนห้องเก็บสัมภาระมีเนื้อที่ 34 ลูกบาศก์ฟุต เพียงพอต่อการใช้งานในสไตล์รถแบบครอสส์โอเวอร์ ระบบ SYNC3 จะเป็นตัวควบคุมการทำงานของหน้าจอแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว ที่สามารถสั่งการด้วยเสียงอันคุ้นเคย ฟอร์ด เอสเคพ มีพละกำลังให้เลือกถึง 3 ระดับด้วยกัน คือ 4 สูบ 2.5 ลิตร 168 แรงม้า, 4 สูบ 1.5 ลิตร เทอร์โบ อีโคบูสต์ 179 แรงม้า และตัวสุดท้าย 4 สูบ 2.0 ลิตร อีโคบูสต์ 245 แรงม้า ในทุกรุ่นจะมีระบบขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า ส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบออลล์วีลดไรฟ จะเป็นอุปกรณ์พิเศษให้เลือกติดตั้งเฉพาะในรุ่นเครื่องยนต์เทอร์โบเท่านั้น เราได้นำ เอสเคพ รุ่น 245 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อ มาทดลองขับ เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 2.0 ลิตร เทอร์โบแบบทวิน-สโกรลล์ อีโคบูสต์ 16 วาล์ว ดับเบิลโอเวอร์เฮดแคมชาฟท์ บลอคเครื่องและฝาสูบทำจากอลูมิเนียม จ่ายเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดแบบไดเรคท์อินเจคชัน ให้กำลังสูงสุดถึง 245 แรงม้า ที่ 5,500 รตน. แรงบิดสูงสุด 38.0 กก.-ม. ที่ 3,000 รตน. เกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อมโหมดแมนวลชิฟท์ ให้พละกำลังที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ขับสนุก แถมยังมีพละกำลังในการลากจูงถึง 3,500 ปอนด์ ช่วยเพิ่มความอเนกประสงค์ในการทำกิจกรรมกลางแจ้งรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เทียบกับในบรรดารถระดับเดียวกัน สมรรถนะความแรงของคอมแพคท์ครอสส์โอเวอร์ ฟอร์ด เอสเคพ ตัวนี้เป็นรองแค่ ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ เทอร์โบ เท่านั้น ที่มีม้ามากกว่าแค่ 5 ตัว แต่ ซูบารุ เป็นรองในเรื่องแรงบิดที่มีน้อยกว่า เอสเคพ อยู่ 2.4 กก.-ม. เป็นคู่ปรับที่เหมาะสมกันมากทั้งในเรื่องของพละกำลังที่มีเทอร์โบเป็นตัวช่วยอัดอากาศ และเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยกันทั้งคู่ เอสเคพ ทำอัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ใช้เวลาแค่ 7.1 วินาที ช่วง 0-160 กม./ชม. ใช้เวลา 22.7 วินาที ระยะควอร์เตอร์ไมล์ ทำได้ใน 15.6 วินาที ที่ความเร็วปลาย 138 กม./ชม. ความเร็วสูงสุดทำได้ 186 กม./ชม. การควบคุมบังคับทำได้อย่างแม่นยำ ผู้ขับพอจะคาดเดาอาการรถได้ไม่ยากเย็นนัก การให้ตัวของโครงสร้างตัวถังอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี ความรู้สึกที่พวงมาลัยให้การตอบสนองที่รวดเร็ว การควบคุมรถในย่านความเร็วสูงเป็นไปด้วยดี ให้ความมั่นใจในการขับขี่ ระยะเบรคจากความเร็ว 112 กม./ชม. จนถึงจุดหยุดนิ่ง ใช้ระยะทาง 184 ฟุตเท่านั้นเอง ให้ความปลอดภัยในการขับขี่สูง อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน EPA ในเมืองทำได้ 8.5 กม./ลิตร ส่วนไฮเวย์ทำได้ 11.5 กม./ลิตร เติมน้ำมันเต็มถังสามารถวิ่งไปได้ไกลถึง 640 กม. ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ไม่มีความโดดเด่นนักในเรื่องความประหยัดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ส่วนหนึ่งมาจากน้ำหนักตัวที่มากถึง 1.7 ตันเลยทีเดียว ฟอร์ด เอสเคพ ก็ยังเป็นคอมแพคท์ครอสส์โอเวอร์ที่มียอดขายสูงมากเช่นเดียวกับใน 2 สายพันธุ์แรก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ตอบสนองความอเนกประสงค์ในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ทั้งในวันทำงาน และวันหยุดพักผ่อน โดดเด่นในเรื่องอัตราเร่ง มีการทรงตัวที่มั่นคง ระบบเบรคที่ไว้ใจได้ แม้ว่าจะมีขนาดพื้นที่ในห้องโดยสารที่ยังคงเป็นรองบรรดารถคู่แข่งอยู่บ้าง แต่ก็เหนือชั้นในเรื่องความปลอดภัยที่เชื่อใจได้ในยามเกิดอุบัติเหตุ