ผมมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายเกี่ยวกับแบทเตอรีมาแจ้งแก่ผู้ที่ต้องการใช้รถพลังไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า แบทเตอรียังมีปัญหา ทั้งระยะทางใช้งาน และระยะเวลาในการชาร์จไฟเริ่มที่ข่าวดีกันก่อน ขณะนี้เราค้นพบแบทเตอรีที่มีคุณสมบัติตามต้องการแล้ว นั่นคือ แบทเตอรีแบบแข็ง หรือ โซลิด-สเตท (SOLID-STATE BATTERY) ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ด้วยคุณสมบัติโดดเด่น ทั้งระยะทางขับเคลื่อนที่ไกลกว่า 500 ไมล์ หรือ 800 กม. และระยะเวลาชาร์จไฟจนเต็มที่สั้นเพียง 1 นาทีเท่านั้น ! ทั้งนี้เพราะแบทเตอรี โซลิด-สเตท มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่าแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน แบบดั้งเดิมถึง 2.5 เท่า และมีขั้วไฟฟ้าแบบ 3 มิติที่มีพื้นผิวมากกว่าขั้วไฟฟ้าแบบฟีล์มบางถึง 25 เท่า จึงช่วยให้การชาร์จไฟรวดเร็วขึ้น ส่วนข่าวร้ายก็คือ ปัจจุบันแบทเตอรีโซลิด-สเตท ถูกใช้งานเฉพาะในอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กเท่านั้น การผลิตปริมาณมากสำหรับใช้งานในรถยนต์ยังเป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกันแบทเตอรีประเภทนี้ใช้งานท่ามกลางสภาพอากาศหนาวเย็นได้ไม่ดีนัก และแม้ทีมวิศวกรของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง โตโยตา ฮอนดา บีเอมดับเบิลยู รวมถึง ฟิสเกอร์ ผู้ผลิตรถพลังไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกาจะขะมักเขม้นพัฒนามันอย่างต่อเนื่อง แต่คงสำเร็จไม่ทันใช้งานภายในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่ารถไฟฟ้าจะแพร่หลายแน่นอน ดังนั้น รถไฟฟ้าทั่วโลกจึงต้องใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ต่อไปอีกหลายปี ซึ่งหมายความว่า รถพลังไฟฟ้าที่กำลังจะเปิดตัวในบ้านเราหลายต่อหลายรุ่นต่างยังคงใช้แบทเตอรีเทคโนโลยีเก่าที่ไม่สมบูรณ์แบบในหลายด้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการผลิต และการใช้รถไฟฟ้าเร็วขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเร่งให้เกิดการลงทุนที่สูญเปล่า และการสะสมขยะแบทเตอรีเร็วขึ้นเท่านั้น เพราะในเวลาไม่ช้า อุตสาหกรรมผลิตแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตแบทเตอรีโซลิด-สเตท ขณะที่แบทเทอรีลิเธียม-ไอออน ทุกก้อนจะถูกโยนทิ้งทันทีที่โซลิด-สเตทแพร่หลายในตลาด กลายเป็นขยะอีเลคทรอนิคส์ ที่กำจัดยากจำนวนมหาศาล ทั้งสองปัญหานี้ ผมยังไม่ได้ยินว่ารัฐเตรียมการแก้ไขไว้อย่างไร อาจเป็นเพราะวิสัยทัศน์ไม่ถึง หรือเพราะต้องการให้รถไฟฟ้าเกิดเร็วๆ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ของการก้าวทันเทคโนโลยี ตามคำขวัญวันเด็ก ส่วนเรื่องอื่นเอาไว้ค่อยคิดกันทีหลัง เหมือนอีกหลายโครงการเร่งด่วนที่ก่อปัญหาตามมามากมาย ในความเห็นของผม ผู้ผลิตรถไฟฟ้าและแบทเตอรีต้องการเวลาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ “นิ่ง” กว่านี้ เช่นเดียวกับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต้องการเวลาปรับตัว ขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องการเวลาเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้าอย่างจริงจัง ส่วนฝ่ายผู้บริโภคนั้น ผมมั่นใจว่าไม่รีบและไม่เดือดร้อนอะไรกับใครทั้งนั้น ในเมื่อเรามีรถเครื่องยนต์เบนซิน/ดีเซลแบบเดิม รวมทั้งรถไฮบริด และพลัก-อิน ไฮบริด ให้เลือกใช้อยู่แล้ว จึงขอยกสุภาษิตเก่ามาสรุปเรื่องรถไฟฟ้าตามประสาคนยุคสันดาปภายในว่า “ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม !”
บทความแนะนำ