"ผู้ผลิตยังคงใช้ ลิเธียม โคบอลท์ และนิคเคิล ในการพัฒนาแบทเตอรี ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด"ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง แต่หนทางที่จะแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในตลาดรถยนต์ก็ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว ตราบใดที่เทคโนโลยีแบทเตอรียังพัฒนาไม่ถึงขีดสุด ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัญหาของแบทเตอรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ถูกโฟคัสเฉพาะที่ความสามารถในการชาร์จเร็ว และเก็บประจุไฟได้มาก เพื่อให้รถวิ่งไปได้ไกลที่สุดต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทว่า ล่าสุดได้มีการเปิดเผยถึงปัญหาใหม่ของการพัฒนาแบทเตอรี ซึ่งอาจกลายเป็นจุดสกัดดารุ่งที่กองเชียร์ทีมยานยนต์ไฟฟ้าคาดไม่ถึง นั่นคือ ข้อกล่าวหาที่ว่า แบทเตอรีอาจเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าน้ำมันฟอสซิล โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการผลิต และพัฒนาแบทเตอรี สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าไว้ 5 ประการดังนี้ 1. ผู้ผลิตยังคงใช้ลิเธียม โคบอลท์ และนิคเคิล ในการพัฒนาแบทเตอรี ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด 2. ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการพัฒนาแบทเตอรีแบบรีชาร์จแทนที่แบบใช้แล้วทิ้งหรือไม่ 3. ถ้ามีการพัฒนาแบทเตอรีแบบรีไซเคิลจริง ก็อาจจะใช้เวลานานถึง 10 ปีขึ้นไป ระหว่างนั้นโลกย่อมได้รับผลกระทบจากขยะแบทเตอรีแบบใช้แล้วทิ้งอย่างแน่นอน 4. อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของโลก โดยเฉพาะที่ออสเตรเลีย และจีน เตรียมตอบสนองความต้องการแร่ธาตุอันตรายเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ ปี 2020 เป็นต้นไป ขณะที่เหมืองแร่ขนาดเล็ก และเหมืองแร่รายใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวในการปรับโครงสร้างทางธุรกิจจะเริ่มขยายการผลิตวัตถุดิบของยานยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่านั้น 5. ผลที่ตามมา คือ ทำให้กิจการอื่นๆ ซึ่งต้องนำเอาวัตถุดิบจากกิจกรรมเหมืองแร่มาแปรรูปในกระบวนการผลิต ปรับตัวลำบากเนื่องจากส่วนใหญ่มีพันธะในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สรุปแล้ว ถ้าการพัฒนาแบทเตอรีไปได้ไม่เร็ว และไม่ไกลกว่านี้ยานยนต์ไฟฟ้าอาจกลายเป็นหนังหักมุม ที่พระเอกกลายเป็นผู้ร้ายในตอนจบ !