เรื่องสำคัญที่โลกรถยนต์กำลังจับตาอยู่ในขณะนี้ คือ ท่าทีของนายกรัฐมนตรีอังเกลา เมร์เคล แห่เยอรมนีว่าจะเอาอย่างไรกับอนาคตของรถยนต์เบนซิน และดีเซล ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ หลังจากที่อังกฤษ และฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์เหมือนกัน) ออกมาประกาศชัดเจนว่า จะเริ่มแบนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ตั้งแต่ปี 2040 เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกขณะผมเองก็เห็นใจคุณปู เอ๊ย คุณ เมร์เคล อยู่ไม่น้อย เพราะต้องตัดสินใจท่ามกลางแรงกดดันหลายด้าน ทั้งจากประเทศพันธมิตร ผู้บริโภค และกลุ่มรณรงค์ต่อต้านมลพิษ รวมถึงบรรดาผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในระบบกว่า 8 แสนคน ซึ่งต่างมีจุดยืนบนผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่ เมร์เคล ทำได้ และพยายามทำในตอนนี้ คือ การประนีประนอมกับทุกฝ่ายเพื่อยืดระยะเวลาการตัดสินใจออกไปให้นานที่สุด สำหรับฝ่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอิทธิพลสูงกับระบบเศรษฐกิจของเยอรมนี เธอจัดการประชุมกับผู้บริหารของ โฟล์คสวาเกน ไดมเลร์ และ บีเอมดับเบิลยู ให้ทุกบริษัทไปหาทางอัพเกรดเทคโนโลยีเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อลดกระแสโจมตีว่าเป็นตัวการก่อปัญหามลพิษในอากาศ ขณะเดียวกัน เธอยังต้องถ่างขาอีกข้างไปยืนอยู่ฝั่งของผู้สนับสนุนการแบนรถเบนซิน และดีเซล ด้วยการเปิดเผยว่า เธอมีแผนจะห้ามใช้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในเช่นเดียวกับอังกฤษ และฝรั่งเศส แต่ไม่ต้องการกำหนดปีที่แน่นอน แม้สิ่งที่ เมร์เคล กำลังทำอยู่นี้จะเป็นพฤติกรรมปกติของนักการเมืองทั่วไป นั่นคือ “แทงกั๊ก” เพื่อรอดูทิศทางลม แต่ก็นับเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลในฐานะผู้บริหารสูงสุด ซึ่งต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศไปพร้อมๆ กัน แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ คุณโดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีป้ายแดงของสหรัฐอเมริกา ที่คิดและทำตามความพอใจของตัวเองเป็นหลัก เช่น การแสดงท่าทีไม่สนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ด้วยการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสที่ว่าด้วยการลดปัญหาภาวะเรือนกระจก ทั้งที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยแกสเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (อันดับ 1 คือจีน) ส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรยักษ์ใหญ่ระหว่างประเทศ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจของทรัมพ์ทยอยลาออก เริ่มจาก อีลอน มัสก์ ซีอีโอ ของ เทสลา ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องการใช้รถไฟฟ้า จนกระทั่ง ทรัมพ์ ต้องตัดสินใจยุบคณะที่ปรึกษานี้ใปในที่สุด นอกจากนี้ อานิสงส์ยังไปตกอยู่กับผู้ผลิตจักรยานยนต์ ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ที่ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ 100 ล้านบาท กรณีก่อมลพิษจากชุดแต่ง SCREAMING EAGLE SUPERTUNER ตั้งแต่ยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ฉะนั้น ถ้าต่อไปผู้นำอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ จะเกิดอาการ “น้ำในหูไม่เท่ากัน” ผมจะไม่แปลกใจเลยจริงๆ !