ทีแรกตั้งใจจะพูดถึงภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฮบริด พลัก-อิน ไฮบริด และรถพลังไฟฟ้า แต่พอรู้ว่าลุงตู่ ชอบแต่งกลอน เลยเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนเรื่องกลอน เพราะตามตำราเขาบอกให้เขียนเรื่องที่ตนถนัด ซึ่งบังเอิญผมถนัดกลอน มากกว่า (จ่าย) ภาษีกราบขออนุญาตท่านประยอม ซองทอง แห่ง "ชีวิตคือความรื่นรมย์" ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ กลอน (มีทั้งกลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า ตามจำนวนคำใน 1 วรรค ที่นิยมมากสุด คือ กลอนแปด หรือกลอนสุภาพ) เป็นคำประพันธ์ร้อยกรองที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะเด็กรุ่นผมที่ถูกบังคับให้ท่องอาขยานกันอย่างจริงจัง แต่มีน้อยคน (ไม่ว่ารุ่นไหน) ที่จะแต่งกลอนเป็น แถมบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า กลอน คืออะไร และเหมาเรียกร้อยกรองประเภทอื่นๆ เช่น กาพย์ โคลง ฉันท์ ว่ากลอนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถ้าแต่งไม่เป็น แล้วไม่แต่งเสียเลย ก็ดีไป หรือจะพยายามแต่ง ก็ไม่ผิดอะไร ถ้าได้ศึกษาวิธีการแต่งกลอนที่ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาอยู่ที่ พวกไม่เป็น และไม่ศึกษา แต่ชอบเขียนโชว์เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะเห็นว่ามันเท่ดี ซึ่งพบได้มากมายในเฟศบุค และสื่อออนไลน์ ที่ไม่มีบรรณาธิการตรวจสอบ กฎพื้นฐานที่เป็นตัวชี้ขาดว่า กลอนบทนั้น เป็นกลอนที่ถูกฉันทลักษณ์หรือไม่ (ไม่เกี่ยวกับความไพเราะ และเนื้อหา) ก็คือ สัมผัสนอก หรือสัมผัสแต่ละวรรค สัมผัสระหว่างบท และเสียงวรรณยุกต์ของคำสุดท้ายแต่ละวรรค ซึ่งสองอย่างหลังนี่แหละ ที่นักกลอนสมัครเล่นมักจะไม่รู้ กลอน 1 บท มี 4 วรรค 1 วรรค มี 8 คำ (ไม่เคร่งครัด) กฎการสัมผัส คือ คำสุดท้ายวรรคแรกต้องสัมผัสกับคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรค 2 คำสุดท้ายของวรรค 2 ต้องสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรค 3 และคำที่ 3 หรือ 5 ของวรรค 4 กฎของเสียงวรรณยุกต์ คือ คำสุดท้ายของวรรค 2 ห้ามใช้เสียงสามัญ กับเสียงตรี คำสุดท้ายของวรรค 3 ห้ามใช้เสียงเอก และโท คำสุดท้ายวรรค 4 ห้ามไม่ใช้เสียงโท และจัตวา ที่สำคัญสุดๆ คือ ถ้ามีบทต่อไป คำสุดท้ายในวรรค 2 ของบทหลังต้องสัมผัสกับคำสุดท้ายในวรรค 4 ของบทแรก ต่อเนื่องกันไปแบบนี้ทุกบทจนจบ ขอยกกลอน "นิราศภูเขาทอง" ของสุนทรภู่ ที่น่าจะคุ้นหูกันมาเป็นตัวอย่างดังนี้ "ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง/มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา/โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา/ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ/สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย/ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย/ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก/สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน/ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป/แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน" เข้าใจตรงกันนะครับ ถ้าอยากเขียนกลอนเผยแพร่ผ่านสื่อ ต้องศึกษากฎให้แม่น เพราะต่อให้เนื้อหาดียังไง ถ้าสัมผัสผิด เสียงผิด ก็เป็นได้แค่กลอนประตูครับ