เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017/2016 |
|
---|---|
ตลาดโดยรวม | 19.9 % |
รถยนต์นั่ง | 46.6 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | -10.6 % |
รถอเนกประสงค์ (MPV) | - 9.5 % |
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ | 12.4 % |
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ | 35.7 % |
อื่นๆ | 14.1 % |
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2017/2016 |
|
ตลาดโดยรวม | 15.4 % |
รถยนต์นั่ง | 34.0 % |
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) | -9.9 % |
รถอเนกประสงค์ (MPV) | 21.8 % |
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ | 9.8 % |
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ | 30.6 % |
อื่นๆ | 8.2 % |
ก่อนจะไปว่าด้วยเรื่องของการส่งออกในปีนี้ อันนี้เป็นความเห็นของค่ายยักษ์ใหญ่ ขอบันทึกไว้หน่อยว่า ตลาดรถยนต์ในเดือนมีนาคม คาดว่ายังคงเติบโต แม้ว่าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงข้อเสนอพิเศษและเงื่อนไขการเช่าซื้อที่หลากหลายจากค่ายรถยนต์ต่างๆ ตลอดจนการจัดงานแสดงรถยนต์ในช่วงปลายเดือน จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์
ไม่ได้จั่วหัวเอาไว้เล่นๆ แต่เป็นความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ที่เพียงแค่ 2 เดือนผ่านมา ผู้ประกอบการต่างพากันยินดีปรีดา รวมทั้งให้ความมั่นใจว่า ยอดการส่งออกของปี 2560 จะมีการขยายตัวอย่างแน่นอน แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม จะปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สาเหตุจากการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อ หลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี 2559
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค ส่วนผู้ประกอบการ SMEs กังวลต่อปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ ภาวะการแข่งขันและต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออก เห็นว่าการส่งออกของไทยในปี 2560 มีทิศทางการขยายตัวดี จากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ไฟฟ้าและอีเลคทรอนิคส์ เครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ที่มีโครงการมากมายนำเสนอในช่วงระยะเวลาอีกหลายปีข้างหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐ คือ การรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความผันผวนของค่าเงินจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน โดยเปิดด่านเพิ่ม และปรับแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคทางการค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน รวมถึงสนับสนุนการขยายฐานส่งออกสินค้า SMEs และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ และเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี
กลับมาคุยกันเรื่องมูลค่าส่งออกสินค้าไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฏว่าติดลบ 2.8 % แต่หากไม่รวมสินค้าที่มูลค่าการส่งออกมีความผันผวนสูงในปีก่อน ซึ่งมีผลของฐานในการคำนวณ เช่น ทองคำและสินค้าหมวดอากาศยาน ที่ถือเป็นอาวุธและยุทธปัจจัย มูลค่าส่งออกสินค้าของไทยขยายตัว 8.5 % นอกจากนี้ การขยายตัวดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
แม้ภาพรวมมูลค่าส่งออกสินค้าจะหดตัว แต่การส่งออกไปจีนขยายตัวสูง โดยการส่งออกสินค้าไปยังหลายตลาดสำคัญมีการขยายตัวบนเลข 2 หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” ที่มียอดการส่งออกสินค้าจากไทยอยู่ที่ 2,279 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 31.1 %
อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนอาจจะสูงกว่าตัวเลขที่กล่าวมาในเบื้องต้น ด้วยส่วนหนึ่งมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนถูกแฝงไปในรูปแบบมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังเวียดนาม ผ่านช่องทาง “การค้าผ่านแดน” เพื่อส่งออกต่อไปยังจีนอีกหนึ่งทอด (RE-EXPORT) เนื่องด้วยเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษในการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VALUE ADDED TAX) จากจีน หากส่งออกสินค้าผ่านพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากที่จัดเก็บในอัตรา 13 % จึงทำให้การส่งออกสินค้าในหมวด “ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง” จากไทยไปเวียดนามขยายตัวสูงติดต่อกันนานหลายเดือน เพื่อรองรับความต้องการบริโภคผลไม้ของชาวจีน
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกในหมวดอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้าก็มีทิศทางการขยายตัวที่ต่อเนื่อง โดยสินค้าในหมวดอาหาร ทั้งในส่วนของสินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้งที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าไก่แช่เย็น-แช่แข็ง-แปรรูปที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่จากไทยของเกาหลีใต้ อีกทั้งได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน รวมถึงสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ก็มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องในตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีฐานการผลิตรถยนต์ ทั้งนี้ หากทิศทางการขยายตัวของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ยังคงรักษาโมเมนทัมการเติบโตได้ ก็น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2560 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้เบื้องต้นที่ 0.8 %
เมื่อมองภาพจากสถานการณ์ที่เป็นไป ณ เวลานี้ ก็น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้พอสมควร ว่าภาคการส่งออกของไทยในปีนี้ น่าจะไปได้ดีตามสมควร ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของระดับโลกด้วย ว่าจะไม่เลวร้ายไปกว่านี้