เมื่อนิตยสาร “สกุลไทย” ประกาศปิดตัวลง เนื้อที่ที่บรรณาธิการกรุณาเปิดให้ข้าพเจ้าเขียนคอลัมน์ “มองภาษา” เกี่ยวกับการใช้ภาษาก็ถูกปิดไปด้วย หน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะ “สุดสงวน” ที่มีสัมปทานตรงนั้นก็สะดุดหยุดลงไปด้วย แต่ไม่นึกเลยว่ายังมีแฟนของ “สุดสงวน”ยังตามมาถามเรื่องการใช้ภาษาอีกเรื่องที่ว่านั้นจะว่าสำคัญก็น่าจะได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับราชาศัพท์ ซึ่งขืนใช้ผิดๆ ถูกๆ ย่อมไม่เหมาะไม่ควรแน่ คนที่ถามนั้นเป็นสื่อมวลชนที่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์นี้ด้วย คือ เขา(ความจริง คือ “เธอ”) ถามว่า คำเริ่มต้นคำกราบบังคมทูลที่ว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท” หรือ “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท”กันแน่ เพราะได้ยินมีคนมาทักให้ไขว้เขว ข้าพเจ้าก็ระลึกความทรงจำให้ฟังดังนี้ ในชีวิตผู้เขียนเคยได้ยินอดีตประธานรัฐสภาสองท่านเคยอ่านคำกราบบังคมทูลในวาระสำคัญว่า "ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม" ซึ่งผู้รู้หลายท่านเห็นด้วยกับผู้เขียนว่าไม่น่าจะใช่ เพราะเมื่อเราเริ่มต้นคำกราบบังคมทูลนั้น เราขอ “อำนาจหรือพระบารมี (เดชะ) จากฝ่าละอองธุลีพระบาท” (คือ ฝ่าเท้า) ของพระองค์ท่าน ให้ปกเกล้าปกกระหม่อมของเรา เราจึงใช้ว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” แต่คำว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" นั้น เป็นคำสรรพนามบุรุษที่สอง แทนองค์พระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชินีนาถ ในเวลาที่ผู้ที่ต่ำกว่าใช้กราบบังคมทูล (พูดกับ) พระองค์ท่าน มีความหมายเช่นเดียวกับ “ใต้ฝ่าละอองพระบาท” ซึ่งเป็นคำสรรพนามบุรุษที่สองแทนพระองค์(สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) ในเวลาที่เรากราบบังคมทูลต่อพระองค์ท่าน หรือ "ใต้ฝ่าพระบาท" สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า หรือ "ฝ่าพระบาท" สำหรับพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า (ซึ่งเวลาพูดจริงๆ เหลือแต่คำว่า "ฝ่าบาท") หรือคำว่า "ใต้เท้า" สำหรับขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยก่อน ซึ่งเราหมายถึงตัวท่าน (บุคคล) ไม่ใช่หมายถึง “เท้าจริงๆ” ของท่าน ในเมื่อคำว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" นั้น เป็นคำสรรพนามบุรุษที่สอง เราจะนำมาเป็นคำขึ้นต้นกราบบังคมทูลจึงไม่นาใช่ สรุปว่าที่ถูก คือ “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ยังมีคำที่ “ยามภาษา” ฝากมาให้กล่าวย้ำอีก 2 คำ คือ “ทูลกระหม่อม” และ “ขอบพระทัย” ซึ่ง “สุดสงวน” เขียนมาหลายครั้งแล้ว แต่ขอทบทวนอีกครั้ง (ตามคำบ่นของ “ยามภาษา” “ทูลกระหม่อม” เป็นคำลำลอง (“คำลำลอง” คือ ถ้อยคำที่ใช้สื่อสารกันในวงการภายใน อย่างไม่เป็นทางการ แต่รู้และใช้สื่อสารกันทั่วไป) ที่ใช้เรียก “พระบรมวงศ์” (หรือที่เรียกเป็นลำลองว่า “เจ้านาย”) ระดับพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ประสูติแต่พระมเหสี ดังเช่น ทูลกระหม่อมทั้ง 4 พระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่เราพบว่ามีคนนำไปใช้เรียกบุคคลที่เคารพสูงสุด เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ซึ่งฐานันดรศักดิ์ดั้งเดิมของพระองค์ท่าน คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า) แต่ในฐานะเคารพอย่างยิ่ง ประชาชนจึงใช้เรียกในบทกลอนว่า “พระทูลกระหม่อมแก้ว” ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ “ขอบพระทัย” เป็นคำที่ปรากฏบ่อยมากๆ ในคำที่ใช้เป็นราชาศัพท์แทนคำว่า “ขอบใจ-ขอบคุณ ขอบพระคุณ” ที่ไทยเราใช้บ่อยมากในบทพากย์ภาพยนตร์ บทละครที่มาจากภาษาอื่น โดยเข้าใจว่าแทนกันได้ทันที แต่ความจริงนั้น ท่านผู้รู้และเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ท่านไม่ได้ใช้กันพร่ำเพรื่อง่ายๆ ดังนั้น แต่ท่านใช้แทนเมื่อพระบรมวงศ์ที่มีฐานันดรสูงกว่า ใช้กับพระราชวงศ์ที่มีฐานันดรอาวุโสน้อยกว่า เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทรงขอบพระทัย” พระบรมวงศานุวงศ์ที่มาร่วมถวายพระพรในวันเฉลิมพระขนม์พรรษา และ “ทรงขอบใจ” ปวงประชาชนที่มาในงานเช่นกัน ในขณะที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้แทนพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงกราบบังคมคมทูลว่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งประชาชนที่มาเฝ้าต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อพสกนิกรตลอดมา จะสังเกตได้ว่า ผู้ด้อยอาวุโสกว่า จะไม่กล่าวคำว่า “ขอบพระทัย” ต่อท่านผู้อาวุโสสูงกว่า ในบทภาพยนตร์หรือบทละครที่ทำบทถูกต้อง เขาจะใช้ว่า “เป็นพระ (มหา) กรุณาธิคุณ...” แทนที่จะใช้ว่า “ขอบพระทัย” อย่างในละครหรือบทพากย์ภาพยนตร์ที่ใช้ผิดๆ อย่างในปัจจุบัน
บทความแนะนำ