พิเศษ
รวมสุดยอดเคล็ดวิชาเอาชนะธรรมชาติ
เมื่อเริ่มเข้าหน้าฝน หลายคนที่ใช้รถเก่า เคยเกิดอุบัติเหตุจากถนนลื่น หรือพบปัญหาระหว่างลุยน้ำท่วมขัง คงเริ่มหวั่นๆ ว่าจะต้องเตรียมรถอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนคนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์อาจยังไม่เกิดอาการ "เข็ด" เหมือนกลุ่มแรก แต่เชื่อว่าคงไม่อยาก "ร่ำไห้กลางสายฝน" อย่างแน่นอน
"ฟอร์มูลา" เคยแนะวิธี "เตรียมรถสู้ฝน" มาหลายคราว ประกอบกับบทความที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จากแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คงพอที่จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านความชื้นที่มากับสายฝนให้แก่ผู้ใช้รถได้ในระดับหนึ่ง
แต่สำหรับ "คัมภีร์สู้ฝน" ฉบับนี้เราได้รวบรวมวรยุทธ์ที่กล้าแกร่งขึ้น ให้คุณรู้รอบ รู้ลึก พร้อมกับการ "ลองของจริง" ใบปัดน้ำฝน ชิ้นส่วนหลักที่ขาดไม่ได้ หลายรูปแบบ หลายระดับราคา รวมถึงทดลองใช้แวกซ์เคลือบกระจกราคาแพง ว่าจะคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปมากน้อยเพียงใด
1. ยางรถยนต์
หลายคนเข้าใจว่าร่องของดอกยางมีไว้กันลื่น แต่ไม่ใช่ เพราะจริงๆ มันมีหน้าที่เดียว คือ ช่วย "รีดน้ำ" ให้ออกไปจากหน้ายาง การที่ล้อของรถเราสามารถส่งแรงขับเคลื่อน และแรงเบรคลงสู่ผิวถนนได้นั้น ต้องอาศัยแรงเสียดทานจากการกดสัมผัสกันระหว่าง 2 ตัวแปรนี้ ฉะนั้นเมื่อใดที่มีน้ำมาคั่นกลางระหว่างพื้นผิวทั้ง 2 รถของเราก็จะไถลไปบนผิวน้ำ เรียกว่า การ "เหินน้ำ" หรือ ไฮดรอพแลนิง (HYDROPLANING) ส่วนร่องยางเดี๋ยวนี้ลึกอย่างน้อย แค่ 1-2 มม. ไม่พอแล้ว ทางที่ดีควรมีร่องยางลึกอย่างน้อย 3-4 มม. จึงจะเหมาะสม และรีดน้ำได้ทันท่วงที
ตอนนี้มีคำแนะนำที่ระบาดไปทั่ว คือ "ไม่ควรใช้ยางเกิน 2 ปี" สรุปอย่างนั้นไม่ถูกต้อง เพราะที่จริงยางไม่มีอายุตายตัวหรอก แต่สิ่งที่จะกำหนดว่าควรหรือไม่ควรใช้ยางเส้นนั้นต่อไปมีอยู่ 3 หัวข้อ คือ ความลึกของดอกยาง การชำรุดที่ส่งผลถึงโครงสร้างยาง และอายุที่ไม่ควรเกิน 6 ปีตั้งแต่ผลิตมา เพราะเนื้อยางจะแข็ง เกาะถนนเปียกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้ายางของคุณไม่เข้าข่าย 3 หัวข้อนี้ ก็ไม่ต้องรีบเปลี่ยนใหม่ให้เสียเงินโดยใช่เหตุ
การตรวจสอบลมยาง คือ สิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แม้ไม่ใช่ฤดูฝน การวัดระดับและเติมลมยางตามที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์กำหนด ก็ควรทำอย่างสม่ำเสมอ และทำขณะที่ยางเย็น หรือจอดรถไว้นานแล้ว เนื่องจากจะวัดค่าได้ถูกต้องแม่นยำ แต่ถ้าจำเป็นต้องเติมขณะยางร้อนเนื่องจากเพิ่งขับรถมาจอด (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น) ให้เติมเผื่อราว 2 ปอนด์/ตรน.จากค่าที่กำหนด หรือจะใช้วิธีเติมมากกว่านั้นเล็กน้อย แล้วค่อยมาวัดและปล่อยลมออกให้พอดีตอนที่ยางเย็นแล้ว และหากเลี่ยงการขับรถเร็วตอนฝนตกไม่ได้จริงๆ อาจต้องเติมลมเพิ่มอีก 2-4 ปอนด์ เพื่อให้ความดันลมยางช่วยเพิ่มแรงกดของหน้ายาง สามารถรีดน้ำได้ดีขึ้น ดังภาพ
คุณรู้ไหมว่า ?
การเหินน้ำ
การ "เหินน้ำ" หรือ ไฮดรอพแลนิง คือ การที่มีน้ำมาคั่นกลางระหว่างพื้นผิวสัมผัสของยางกับถนน จากการรีดน้ำไม่ทันของร่องยาง ซึ่งอาจตื้นเกินไป ปริมาณน้ำมากไป หรือขับเร็วเกินไป จนไถลหรือวิ่งอยู่บนผิวน้ำ ผู้ขับที่ช่างสังเกตจะรู้สึกได้จากพวงมาลัยที่ส่งถึงมือ จนต้องระมัดระวังขึ้น สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้รถหลายคันแฉลบ เนื่องจากผู้ขับไม่ระวัง จนไม่สามารถควบคุมทิศทางของรถได้
เวลาที่ถนนลื่นที่สุด ?
ขับรถบนพื้นผิวเปียกน้ำที่ไหนๆ ก็ลื่นหมด แต่ช่วงเวลาที่ลื่นที่สุด มักจะเป็นช่วง 10-15 นาทีแรกหลังฝนตก เนื่องจากฝุ่นที่ติดอยู่บนพื้นถนนจะกลายสภาพเป็นโคลนเลนบางๆ เคลือบผิวถนน จนกว่าฝนจะตกหนักยิ่งขึ้น และชะล้างออกจนหมดนั่นแหละ ความลื่นถึงจะลดลง อีกช่วงเวลาหนึ่งก็คือตอนที่ฝนตกเป็นระยะเวลานานจนถนนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ มีความเสี่ยงต่อการเหินน้ำ ฉะนั้นจึงควรลดความเร็วลง ระมัดระวัง และตั้งใจขับ
รถคุณรีดน้ำได้เร็วแค่ไหน ?
สมมติว่าฝนตกหนัก มีน้ำอยู่บนผิวถนนหนาราว 5 มม. หน้ายางรถกว้าง 14 ซม. รถวิ่งด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. ยางแต่ละเส้นจะต้องรีดน้ำในอัตรา 0.5 คูณ 14 ซม. เท่ากับ 7 ตร.ซม. เปลี่ยนหน่วยความเร็วจาก กม./ชม. เป็น ซม./วินาที จะได้ความเร็ว 2,778 ซม./วินาที คูณด้วย 7 ตร.ซม. จะเป็นน้ำที่ถูกหน้ายางรีดจากถนนราว 20,000 ซีซี/วินาที หรือ 20 ลิตรในทุกๆ วินาที คิดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกยางราวร้อยละ 75 ของหน้ายาง ก็ยังจะต้องรีดน้ำให้ได้ในอัตราสูงถึง 15 ลิตร/วินาที ถ้าทำได้น้อยกว่านี้ หมายความว่ารถของเราจะต้องเหินน้ำ
2. ที่ปัดน้ำฝน
เนื่องจากบ้านเราสภาพอากาศร้อน และแดดแรง การจอดรถตากแดดนานๆ ซึ่งหลายคนมักเลี่ยงไม่ค่อยได้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เนื้อยางของใบปัดน้ำฝนแข็งจนขาดความยืดหยุ่น ไม่สอดรับกับความโค้งของกระจก เจออย่างนี้ควรเปลี่ยนใหม่ทันที แต่การตรวจสภาพยางใบปัดน้ำฝนไม่ใช่ดูที่เนื้อยางว่ายังไม่แข็งกรอบ หรือฉีกขาดเพียงอย่างเดียว ต้องดูที่ความสามารถในการกวาดน้ำที่ผิวกระจกว่าเกลี้ยงหรือไม่ ถ้าลองเอายางใบปัดน้ำฝนมาส่องดูด้วยแว่นขยาย จะเห็นว่า "คม" ของมันมีลักษณะเป็นมุมฉาก แต่ละมุมจะทำหน้าที่กวาดน้ำทางหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้ารูปทรงนี้ผิดเพี้ยนไปจะไม่สามารถกวาดน้ำได้เกลี้ยง ก็สมควรเปลี่ยนใหม่เช่นกัน
อย่าทำอย่างนี้ !
บางคนใช้ใบปัดน้ำฝนตอนกระจกแห้ง เพื่อปัดฝุ่น หรือไล่เด็กเช็ดกระจก ทำอย่างนี้ไม่กี่ครั้ง คมของมันก็สึกหรอมหาศาลแล้ว ถ้าจะปัดฝุ่นออกจากกระจกต้องฉีดน้ำใส่กระจกก่อน โดยทั่วไปรถทุกคันจะมีปั๊มฉีดน้ำ ซึ่งเมื่อฉีดน้ำแล้ว ใบปัดน้ำฝนจะทำงานเองอย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติ
ต้องผสมสารทำความสะอาดในน้ำฉีดกระจกไหม ?
ไม่ต้องก็ได้ แต่เติมก็ดี การไม่เติมสารทำความสะอาดผสมเข้าไป ก็สามารถใช้งานได้ปกติ และไม่มีต้นทุน แต่ถ้าเติมสารเหล่านี้ ก็จะช่วยชะล้างคราบไขมันจากแมลง ยางมะตอย และสิ่งสกปรกต่างๆ ได้ดีกว่า แถมยังช่วยหล่อลื่น ถนอมยางของใบปัดน้ำฝนไม่ให้สึกหรออย่างรวดเร็วเกินควร แต่ทั้งนี้สารทำความสะอาดต้องมีคุณภาพดีพอ ใครจะซื้อใช้อาจติดปัญหาที่แพงไปหน่อยเท่านั้นเอง
ลองของจริงใบปัดน้ำฝน
1. ความเกลี้ยง และความราบเรียบของการปัด
อุปกรณ์ที่ใช้ทดลอง
1. ใบปัดน้ำฝนเก่า 1 ชุด
2. ใบปัดใหม่ ราคา 69 บาท ไม่ติดยี่ห้อทั้งบนกล่อง และที่ใบปัด ผลิตในประเทศไทย
3. ใบปัดใหม่ ราคา 260 บาท ยี่ห้อของสหรัฐ ฯ เคลือบสารเทฟลอนที่เนื้อยาง ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา
4. ใบปัดใหม่ ราคา 500 บาท ยี่ห้อของเยอรมนี โฆษณาที่ฉลากว่า เนื้อยางออกแบบสำหรับประเทศเขตร้อนโดยเฉพาะ ผลิตในประเทศเกาหลี
วิธีการทดลอง
ใช้น้ำเทลงไปบนผิวกระจกอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนใช้ใบปัดน้ำฝนทั้ง 4 รูปแบบ แต่ละรูปแบบปัดด้วยความเร็วระดับกลาง ขึ้นและลง 30 ครั้ง แล้วสังเกต
ข้อสังเกต: น้ำเปล่าผสมสีคราม เพื่อให้ทั้งผู้ทดลอง และผู้อ่านเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สมมติฐานการทดลอง
ใบปัดน้ำฝนเก่าจะปัดได้ไม่เกลี้ยง และไม่ราบเรียบ ส่วนใบปัดใหม่ จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นตามราคาที่เพิ่มขึ้น
ผลการทดลอง
ภาพ 1 ใบปัดเก่าใช้มาแล้ว 1 ปี ปัดไม่ค่อยเกลี้ยง มีเส้นน้ำหลงเหลืออยู่บ้าง มีอาการสั่น และเกิดเสียงดัง "ครืดๆ" ในบางจังหวะ
ภาพ 2 ใบปัดใหม่ราคาคู่ละ 69 บาท ปัดเกลี้ยง มีเส้นน้ำหลงเหลืออยู่บ้าง มีอาการสั่นเล็กน้อย
ภาพ 3 ใบปัดใหม่ราคาคู่ละ 260 บาท ปัดเกลี้ยง มีเส้นน้ำหลงเหลืออยู่พอสมควร พอกันกับใบปัดราคา 69 บาท และมีอาการสั่นเล็กน้อยเช่นกัน
ภาพ 4 ใบปัดใหม่ราคาคู่ละ 500 บาท ปัดเกลี้ยง ไม่มีอาการสั่นใดๆ
สรุปผลการทดลอง
ใบปัดเก่าปัดไม่เกลี้ยง และมีอาการสั่นมากที่สุด ใบปัดใหม่ระดับราคา 69 และ 260 บาท มีประสิทธิภาพแทบไม่ต่างกัน ส่วนใบปัดใหม่ราคา 500 บาท ปัดได้เกลี้ยง และราบเรียบที่สุด
2. ความเกลี้ยงของการปัด หลังการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง
1. ใบปัดใหม่ ราคา 69 บาท ไม่ติดยี่ห้อทั้งบนกล่อง และที่ใบปัด ผลิตในประเทศไทย
2. ใบปัดใหม่ ราคา 260 บาท ยี่ห้อของสหรัฐ ฯ เคลือบสารเทฟลอนที่เนื้อยาง ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา
3. ใบปัดใหม่ ราคา 500 บาท ยี่ห้อของเยอรมนี โฆษณาที่ฉลากว่า เนื้อยางออกแบบสำหรับประเทศเขตร้อนโดยเฉพาะ ผลิตในประเทศเกาหลี
วิธีการทดลอง
ใช้ใบปัดน้ำฝนใหม่ 3 รูปแบบ แต่ละรูปแบบใช้ปัดกระจกที่ละเลงด้วยน้ำโคลนจางๆ 1 ครั้ง จากนั้นปัดโดยไม่มีน้ำ 30 ครั้ง เพื่อให้เสมือนกับการจำลองการใช้ผิดวิธี เช่น ลืมปิดใบปัดน้ำฝน หรือใช้ปัดฝุ่นหรือใบไม้ หลังจากนั้นนำมาปัดด้วยน้ำโคลนจางๆ อีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบ
ข้อสังเกต: น้ำโคลนจางๆ นำมาจากดินปลูกบัวผสมกับน้ำเปล่า เพื่อจำลองจากการวิ่งบนถนนที่ฝนเพิ่งตกใหม่ๆ ซึ่งมีโคลนจากพื้นถนนกระเด็นขึ้นมาปะปน
สมมติฐานการทดลอง
ใบปัดใหม่ จะมีประสิทธิภาพดีขึ้นตามราคาที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับความทนทานหลังการใช้ผิดวิธี ใบปัดราคาแพงจะทนทานกว่าใบปัดราคาถูก
ภาพ 1 ใบปัดใหม่ราคาคู่ละ 69 บาท ครั้งแรกปัดไม่เกลี้ยง ทิ้งเส้นน้ำไว้เยอะ หลังจากปัดแห้ง 30 ครั้ง ครั้งที่ 2 ปัดไม่เกลี้ยง ทิ้งเส้นน้ำไว้เยอะกว่าเดิม แสดงว่าคมของใบปัดสึกหรอ
ภาพ 2 ใบปัดใหม่ราคาคู่ละ 260 บาท ครั้งแรกปัดไม่เกลี้ยง ทิ้งเส้นน้ำไว้พอสมควร แต่น้อยกว่าใบปัดราคา 69 บาท หลังจากปัดแห้ง 30 ครั้ง ครั้งที่ 2 ปัดไม่เกลี้ยง ทิ้งเส้นน้ำไว้เยอะกว่าเดิมมาก แสดงว่าคมของใบปัดสึกหรอมากเช่นเดียวกัน
ภาพ 3 ใบปัดใหม่ราคาคู่ละ 500 บาท ครั้งแรกปัดเกลี้ยงมาก หลังจากปัดแห้ง 30 ครั้ง ครั้งที่ 2 ปัดเกลี้ยงแทบไม่แตกต่างจากเดิม แสดงว่าคมของใบปัดแทบจะไม่สึกหรอ
สรุปผลการทดลอง
ครั้งแรกใบปัดใหม่ราคา 69 และ 260 บาท ปัดได้เกลี้ยงแทบไม่ต่างกัน ส่วนใบปัดราคา 500 บาท ปัดได้เกลี้ยงมาก แต่เมื่อนำใบปัดทั้ง 3 รูปแบบมาปัดที่กระจกแห้ง 30 ครั้ง แล้วน้ำมาปัดกับน้ำโคลนจางๆ เพื่อเปรียบเทียบ ใบปัดราคา 260 บาท ทิ้งเส้นน้ำไว้มากที่สุด ซึ่งมากกว่าใบปัดราคา 69 บาท ที่ทิ้งเส้นน้ำไว้ไม่มากกว่าเดิมเท่าใดนัก ส่วนใบปัดราคา 500 บาทปัดกระจกได้เกลี้ยงแทบไม่ต่างจากเดิมเลย นั่นหมายความว่า ใบปัดราคา 260 บาท มีความทนทานน้อยกว่าใบปัดราคา 69 บาท ส่วนใบปัดราคา 500 บาท มีความทนทานมากที่สุด
แวกซ์เคลือบกระจก ใช้ดีไหม ?
ในท้องตลาดปัจจุบัน มีผู้นำเข้าแวกซ์เคลือบกระจกรถยนต์มากกว่า 10 ราย ซึ่งจำหน่ายในระดับราคาต่างกัน ในคำบรรยายสรรพคุณข้างขวด คือ กระจกจะลื่น น้ำฝนจะเป็นเม็ด และไหลออกจากกระจกอย่างรวดเร็ว ปัดน้ำฝนได้เกลี้ยงขึ้น แถมวิ่งเร็วๆ น้ำฝนจะไหลไปเองโดยไม่ต้องใช้ไปปัดเลย เราจึงทดลองเทียบความแตกต่างให้คุณดู
จากการทดลองโดยใช้แวกซ์เคลือบกระจกราคาระดับกลาง คือ 550 บาท (ในห้างขายกันตั้งแต่ราคา 300-1,000 กว่าบาท) มาเคลือบกระจกเพียงครึ่งเดียว ฉีดน้ำไปที่กระจก น้ำจะแยกตัวเป็นเม็ดกลมเล็กๆ แล้วไหลลื่นลงมาข้างล่าง ส่วนด้านที่ไม่ได้เคลือบ น้ำจะรวมตัวกันเกาะกับกระจกอยู่อย่างนั้น ไหลลงมาเพียงเล็กน้อย
เมื่อทดลองวิ่งเร็วๆ แล้วใช้น้ำฉีดกระจก น้ำของด้านที่ใช้แวกซ์ จะไหลลื่นผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยแทบไม่ต้องใช้ที่ปัดน้ำฝน ส่วนด้านที่ไม่ได้เคลือบน้ำจะไหลออกไปช้าๆ และทิ้งคราบไว้
สรุปว่า น่าใช้ แต่สำหรับราคา ก็สุดแท้แต่จะพิจารณากันเอง
3. ไฟส่องสว่าง
ไฟส่องสว่างสำคัญมาก โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตกหนักจนมองเห็นสิ่งรอบตัวไม่ชัดเจน ไฟส่องสว่างนอกจากจะเป็นจุดสังเกต ยังเป็นไฟสัญญาณบ่งบอกว่าคุณจะเปลี่ยนทิศไปทางไหนอีกด้วย หน้าฝนนี้ จึงควรตรวจสอบ ไฟหรี่ ไฟหน้าทั้งสูง และต่ำ ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟถอยหลัง และไฟส่องป้ายทะเบียน
ทิศทางลำแสงของไฟหน้าเป็นสิ่งสำคัญมาก หลายคันแม้เป็นไฟต่ำก็ยังแยงตาเหมือนไฟสูง เดือดร้อนรถที่วิ่งสวนทาง บางคนเห็นว่าฝนตกหนักมากกลัวว่าเปิดไฟต่ำ แล้วรถคันอื่นจะมองเห็นรถตนไม่ชัดเจนจึงเปิดไฟสูง ไม่ต้องหรอก เพราะเมื่อวิ่งเข้าใกล้แสงจะไปเข้าตาคนขับรถคันที่สวนมาจนพร่า ลำพังฝนตกหนักก็มองไม่ชัดอยู่แล้ว ฉะนั้นเปิดแค่ไฟต่ำก็เพียงพอ
เลิกเปิดไฟฉุกเฉินได้แล้ว !
ใครที่ยังคิดว่าฝนตกหนักต้องเปิดไฟฉุกเฉิน เลิกเสียทีถ้าไม่อยากตกยุค เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเปิดกันแล้ว เพราะส่วนใหญ่เข้าใจกันแล้วว่า มีโทษมากกว่าประโยชน์ นอกจากจะทำให้ผู้อื่นตาลายแล้วยังทำให้ผู้ที่ขับตามมาแยกไม่ออกว่า จอดเสีย หรือวิ่งอยู่ บางคันก็เปลี่ยนเลนไปมาทั้งที่เปิดสัญญาณไฟ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายมาก
ไฟตัดหมอก
อาจไม่ตรงชื่อทีเดียว เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีหมอกให้ไฟมาตัดกันสักเท่าไร แต่จะได้ประโยชน์ก็เมื่อฝนตกหนักมากจนแทบมองไม่เห็นทาง และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เดี๋ยวนี้รถยุโรป และรถยุคใหม่มักจะติดตั้งไฟตัดหมอกทั้งหน้า และหลังมาให้จากโรงงาน ถ้าเป็นอย่างกรณีที่ว่า ก็สมควรเปิดใช้เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นเราได้ชัดเจนขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีค่าความสว่าง และทิศทางที่ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากโรงงานผลิต และผู้ใช้ต้องตรวจสอบอย่างสม่ำ
เสมอเพื่อไม่ให้แสงไปเข้าตาผู้ขับรถคันอื่น
รถยุคใหม่ไฟ XENON และ LED
XENON
ซีนอน (XENON) คือ ธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 54 และสัญลักษณ์ คือ XE ซีนอนเป็นธาตุที่มีลักษณะเป็นแกสมีตระกูล (NOBLE GASES) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น น้ำหนักมาก พบเพียงเล็กน้อยในบรรยากาศโลก แกสนี้ได้นำมาใช้กับหลอดไฟหน้าของรถยุคใหม่ ทำงานคล้ายกับหลอดไฟนีออนที่ใช้ในบ้าน ต้องมีตัวแปลงและควบคุมกระแสไฟ ที่เรียกว่า บัลลาร์ด เป็นตัวคั่นระหว่างสายไฟปกติก่อนต่อเข้าตัวหลอด แสงจะออกมาเป็นสีขาวนวล เมื่อเปิดให้หลอดซีนอนสว่าง ตัวบัลลาร์ดจะสร้างกระแสไฟฟ้าระดับ 20,000 โวลท์ ส่งเข้าไปยังตัวหลอดเพื่อจุดในครั้งแรก และในอีกประมาณ 1-2 วินาที ก็จะลดกระแสไฟฟ้าลงเหลือแค่ประมาณ 12 โวลท์
ข้อดี ก็คือ สว่างกว่า เปิดติด และดับไวกว่า แต่ไม่สามารถใช้กับไฟสูงได้ เนื่องจากกระบวนการที่ว่า กินเวลานาน การใช้ไฟสูงจึงต้องใช้ฮาโลเจนแบบเดิมเป็นตัวช่วย แถมมักโดนข้อครหาว่าแยงตาชาวบ้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วต้นเหตุของปัญหานั้นมักจะเกิดจากการติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องเสียมากกว่า ด้วยราคาที่แพง (ติดตั้งทีปาเข้าไป 2-3 หมื่นบาท) ซีนอนปลอมจึงระบาด โดยการใช้หลอดฮาโลเจนที่เปลี่ยนแสงให้ออกมาเป็นสีขาวๆ เท่านั้น ใครจะติดตั้งจึงต้องระวังไว้ด้วย
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ และวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ การใช้ขณะฝนตก เนื่องจากเป็นแสงสีขาว จึงมีปัญหาเรื่องการดูดกลืนแสงเวลาตกกระทบวัตถุ และขณะขับขี่บนถนนที่เป็นยาง แอสฟัลท์ ต่างจากแสงสีเหลืองของไฟฮาโลเจน ที่ถูกดูดกลืนแสงได้น้อยกว่า ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นอาจลดลงไปบ้าง
LED
LED (LIGHT-EMITTING DIODE) หรือในภาษาไทย ทางวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า "ไดโอดเปล่งแสง" หลอดไฟชนิดนี้ผู้ผลิตรถยนต์ได้นำมาใช้เป็นไฟเบรค และไฟท้ายกับรถรุ่นใหม่ๆ ของตน ด้วยความที่สว่างกว่า (เท่าที่สังเกตรถบางรุ่นสว่างจ้าเกินไป) ติดและดับไวกว่า เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่เดียว และมีเฟสที่ต่อเนื่องกัน จึงเกิดพลังงานงานในรูปของประจุโฟตอน ต่างกับหลอดไฟท้ายของรถรุ่นเก่าๆ อย่างชัดเจน เมื่อฝนตกหนักเราจึงสามารถเห็นรถที่ติดตั้งไฟท้ายแบบ แอลอีดี ได้ชัดเจนกว่า นอกจากนี้ ในอนาคตยังสามารถใช้เป็นตัวส่งสัญญานการหยุดรถ ให้กับเซนเซอร์ของรถคันหลังที่ติดตั้งระบบครูส คอนทโรล รุ่นใหม่เอี่ยมได้
4. ระบบห้ามล้อ
ระบบนี้ประสิทธิภาพมักลดลงทุกครั้งเมื่อเจอน้ำ ฉะนั้นจึงควรตรวจสอบโดยดูระดับน้ำมันเบรค ถ้าเก่า หรือใช้งานมาเกิน 1 ปี ก็สมควรเปลี่ยน ที่สำคัญ อย่าลืมดูสายอ่อนเบรค ที่หลายคนมักมองข้าม เพราะอาการห้ามล้อแล้วดึงซ้ายหรือขวา ไม่ได้มาจากการรั่วซึม หรือฉีกขาดเพียงอย่างเดียว ถ้าสายอ่อนบวม ก็ทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน เนื่องจากแรงดันน้ำมันเบรคในระบบลงไปสู่ลูกสูบเบรคแต่ละล้อไม่เท่ากัน โดยอาการดึงจะเกิดขึ้นจากล้อฝั่งที่เบรคจับเร็วกว่า
เมื่อถนนเปียกลื่น การห้ามล้อจะใช้ระยะทางมากกว่าบนพื้นผิวที่แห้ง รวมทั้งเสี่ยงต่อการเสียหลักลื่นไถล แม้จะมีสารพัดระบบช่วย เช่น เอบีเอส อีบีดี หรือ อีเอสพี ก็ตามเถอะ การขับรถจึงควรทิ้งระยะจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ และลดความเร็วลงเพื่อให้มีระยะในการหยุดรถได้อย่างปลอดภัย
ต้องทำอะไร หลังลุยฝน ?
ความชื้นพิฆาตเบรค
คงเคยได้ยินคำว่า "ลูกสูบเบรคหรือแม่ปั๊มเบรคเป็นตามด" หรือเป็นสนิม สาเหตุมาจากความชื้นสะสม เพราะน้ำมันเบรคจะดูดไอน้ำตลอดเวลา หากทิ้งไว้นาน บางครั้งเสียหายถึงกับต้องเปลี่ยนลูกสูบ หรือแม่ปั๊มทั้งชุด จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรคใหม่เพื่อป้องกันสนิมในวงจร ส่วนระบบเบรคดุม ควรถอดออกมาตรวจสอบสนิม และหล่อลื่นด้วยจารบี ป้องกันเบรคติดขัด
น่าจะเชคลูกปืนล้อไปพร้อมกันเลย
รถหลายรุ่น มีการกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนจารบีลูกปืนล้อ แต่แม้ยังไม่ถึงกำหนด หากคุณต้องตรวจสอบเบรคอยู่แล้ว ก็น่าจะให้ช่างเปลี่ยนจารบีลูกปืนล้อไปเสียทีเดียว เพื่อป้องกันสนิม ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ลูกปืนเสียหาย และความรำคาญใจจากเสียงดังยามที่ล้อหมุน อ้อ...ถ้าลุยน้ำขังสูงมากๆ และบ่อยครั้ง อย่าลืมเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ และน้ำมันเฟืองท้าย เพราะหากน้ำเข้าไปปะปน ก็จะหมดคุณสมบัติในการหล่อลื่น ฟันเฟืองจะสึกอย่างรวดเร็วมาก ราคาค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน เทียบไม่ได้กับการซ่อมเกียร์ที่ไม่ต่ำกว่าหมื่นบาทแน่ๆ
5. ระบบไฟจุดระเบิด
ใครที่เคยขับรถลุยน้ำท่วมแล้วดับคงเข้าใจดี เพราะคุณจะต้องเปิดประตูออกมาจนน้ำทะลักเข้ารถ เดินลุยน้ำท่วม ทิ้งรถไว้ รอให้น้ำลดแล้วให้ช่างมาตรวจสอบ เกือบร้อยทั้งร้อยมักจะเป็นที่การลัดวงจรของระบบไฟจุดระเบิด สามารถป้องกันได้โดยการฉีดน้ำยาอเนกประสงค์ (ครอบจักรวาล) ซึ่งมีอยู่หลายยี่ห้อในท้องตลาด ฉีดทิ้งไว้ในอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น คอยล์ จานจ่าย สายหัวเทียน และกล่องควบคุมอีเลคทรอนิคส์ รวมทั้งจุดเชื่อมสายไฟต่างๆ ช่วยลดการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
แต่หากเครื่องยนต์เกิดดับขณะลุยน้ำท่วม ให้เข็นรถไปจอดในที่แห้ง และใช้สเปรย์ไล่ความชื้นที่คุณมีติดรถไว้แล้ว ถอดปลั๊กคอยล์ หรือจานจ่ายออกมา ใช้ทิสชูซับน้ำออก แล้วฉีดน้ำยาบริเวณที่เกี่ยวข้อง ทิ้งไว้สักครู่ ประกอบกลับเข้าไปตามเดิม สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
ง่ายๆ แต่ได้ผล
ไม่ว่ารถใหม่ หรือเก่าอย่างไร ก็มีสิทธิ์ดับกลางน้ำได้ ลองใช้วิธีง่ายๆ โดยน้ำถุงมือยางมาตัดปลายออก แล้วครอบจานจ่ายหรือคอยล์ไว้เพื่อป้องกันน้ำกระเด็นมาโดน อาจดูโลว์โซ แต่ถามคนรุ่นพ่อคุณดูสิ ได้ผลมานักต่อนักแล้ว
ฉบับหน้า "ฟอร์มูลา" จะขยายความเฉพาะเรื่อง "ยาง" ด้วยการทดสอบพิเศษ เปรียบเทียบยางเก่ากับยางใหม่ในการใช้งานหน้าฝน โปรดติดตาม !
ABOUT THE AUTHOR
ก
กองบรรณาธิการบทความและสารคดี
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : พิเศษ