ทั่วไป
สำหรับการ "ดริฟท์" (DRIFT) เดี๋ยวนี้ถ้าใครไม่เคยได้ยินก็เชยระเบิด แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ลึก รู้จริง นอกจากรายละเอียดคร่าวๆ ไว้สำหรับคุยอวดกับเพื่อนฝูง
สำหรับการ "ดริฟท์" (DRIFT) เดี๋ยวนี้ถ้าใครไม่เคยได้ยินก็เชยระเบิด แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ลึก รู้จริง นอกจากรายละเอียดคร่าวๆ ไว้สำหรับคุยอวดกับเพื่อนฝูง
สมัยนี้การดริฟท์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แบบที่ "เด็กแว้น" (เด็ก "ซิ่ง" รถตามถนนสาธารณะ) ทำกัน เพราะมันกลายเป็นกีฬาที่ใช้แข่งในสนาม ต้องอาศัยทักษะ และการฝึกฝนอย่างมีระเบียบแบบแผน หลายคนสนใจอยากจะรู้และเล่น แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ใช้รถแบบไหนถึงเหมาะสม ฯลฯ
ต่อไปนี้เป็น 10 เรื่องสำคัญ เพื่อให้ทันกระแส นักดริฟท์มือใหม่ห้าม "ป๊อด" เด็ดขาด หลังอ่านจบ จะบอกว่าไม่รู้เรื่องดริฟท์ ไม่ได้แล้ว !
1. ดริฟท์ คือ การควบคุมการไถล
การดริฟท์ คือ วิธีการขับรถแบบโอเวอร์สเตียร์ (ท้ายปัด) หรือการทำให้เกิดการไถลของรถ ที่ล้อหลังจะลื่นไถลมากกว่าล้อหน้า โดยท้ายรถจะกวาดออกตลอดโค้ง ผู้ขับจะใช้พวงมาลัย และคันเร่งควบคุม ใช้ประโยชน์จากแรงเสียดทานของยางหน้าและหลัง ในการบังคับให้รถไปในทิศทางที่ต้องการ
2. จาก "โทเกะ" ถึง "ดริฟท์ คิง"
การดริฟท์ คาดว่ากำเนิดมาจากการแข่งรถบนภูเขา ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โทเกะ ของนัก "ซิ่ง" แถบชนบทในญี่ปุ่น เหมือนในการ์ตูนเรื่อง "INITIAL D" หรือหนังเรื่อง "DRIFTING ซิ่งสายฟ้า" ที่ดริฟท์กันบนเขาอากินะนั่นแหละ เล่ากันว่าการดริฟท์ เริ่มได้รับความนิยม ตั้งแต่ เคอิจิ สึชิยะ นักแข่งรถทางเรียบชาวญี่ปุ่น ตัดสินใจสไลด์รถของตนเข้าโค้ง (ภายหลังสึชิยะเรียกมันว่า "ดริฟท์") หนีตำแหน่งรั้งท้ายได้สำเร็จ ในการแข่งขันครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ผู้ชมตื่นตะลึงกับเทคนิคนี้เป็นอย่างมาก เพราะทั้งสวยงาม และสามารถทำความเร็วในโค้งได้มากกว่าคู่แข่ง เขาอาจไม่ได้ดริฟท์เป็นคนแรกอย่างที่หลายคนมักเข้าใจกัน แต่ผู้ชมก็ขนานนามว่าเขาคือ "DRIFT KING"
3. "ดริฟท์" ไม่ใช่การแข่งความเร็ว
การแข่งดริฟท์ไม่ได้ตัดสินจากความเร็วเท่านั้น แต่ดูจากลูกเล่นในการขับ ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณควันยาง รถเลี้ยวเฉียดผนัง ดูน่าตื่นตาตื่นใจ หรือเสียว แค่ไหน มุมการเข้าโค้ง คือ ยิ่งรถแถมากเท่าไรยิ่งดูดี และการเข้าไลน์ให้ถูกต้อง ซึ่งปกติจะถูกกำหนดให้รู้ก่อนแข่ง จะแข่งทีละคัน แต่สนามบางแห่งจะแข่งกัน คราวละ 2 คัน เรียกกันว่า "สึอิโซะ" (แปลว่าการวิ่งไล่กัน) การดริฟท์ของ 2 คันติดกันจะเป็นภาพที่สวยมาก แต่ก็ไม่ได้แข่งกันว่าใครจะถึงก่อนเช่นกัน บางคันถูกทิ้งห่าง แต่ดริฟท์สวยกว่าก็คว้าถ้วยไปได้เลย
4. รายการแข่งระดับโลก
รายการแข่งที่ใหญ่ที่สุด คือ AUTOBACS D1 GRAND PRIX เริ่มต้นครั้งแรกที่สนาม อิบิสึ โดยปัจจุบัน ได้เพิ่มการดวลระหว่างญี่ปุ่น กับสหรัฐอเมริกา จัดที่แคลิฟอร์เนีย ในสนาม IRWINDALE SPEEDWAY และสนาม SILVERSTONE CIRCUIT
5. ขับเคลื่อนล้อหลัง เหมาะดริฟท์ที่สุด
รถขับเคลื่อนล้อหลังจะดริฟท์สะดวกที่สุด เนื่องจากล้อหลังที่หมุนจะทำให้เกิดแรงเสียดทานน้อยกว่า เมื่อเข้าโค้งอย่างแรง ส่งผลให้เกิดการโอเวอร์เสตียร์ หรือท้ายปัดได้ง่าย รถขับเคลื่อนล้อหลังกลุ่มที่นิยมที่สุดมี อาทิ ดอดจ์ ไวเพอร์/ฟอร์ด มัสแตง/ฮอนดา เอส 2000/มาซดา อาร์เอกซ์-7/นิสสัน เซฟีโร/ซิลวีอา หรือ 240 เอสเอกซ์/สกายไลน์/350 เซด/โตโยตา อัลเตตซา/อริสโต/โคโรลลา เป็นต้น
6. ใครว่าขับเคลื่อนล้อหน้าดริฟท์ไม่ได้
อันที่จริงสามารถดริฟท์ได้ แต่ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี เนื่องจากทั้งการเลี้ยว และการขับเคลื่อนไปรวมกันอยู่ที่ล้อหน้า การเข้าโค้งส่วนใหญ่จึงเกิดอาการอันเดอร์สเตียร์ (หน้าแถออกจากโค้ง) ตามประสารถขับเคลื่อนล้อหน้า จึงต้องใช้เบรคมือตลอด ทั้งไม่เหมาะและไม่สะดวก ทำให้วิ่งช้า และควบคุมยาก อย่างไรก็ตาม นักดริฟท์บางคนก็เคยใช้รถขับเคลื่อนล้อหน้า เช่น ฮอนดา ซีวิค อีเอฟ ในการแข่ง แถมยังชนะรถขับเคลื่อนล้อหลังเสียด้วย
7. การแข่งบางรายการ ไม่ให้รถขับเคลื่อน 4 ล้อลงแข่ง
ถ้าจะแข่งกันที่ความเร็ว รถอย่าง มิตซูบิชิ แลนเซอร์ เอโวลูชัน หรือ ซูบารุ อิมพเรซา ดับเบิลยูอาร์เอกซ์ คงชนะขาด เพราะสามารถดริฟท์ได้ด้วยมุมที่แคบกว่า ทั้งยังเข้าโค้งได้เร็วกว่า จากการไถลที่น้อย การหมุนของล้อทั้ง 4 และลิมิเทดสลิพ จึงเหมาะกับการแข่งแบบ ดแรก และ จิมคานา แต่สำหรับการดริฟท์ อย่างไรก็ทำท่าสวยสู้รถขับเคลื่อนล้อหลังไม่ได้เลย ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจของการดริฟท์ การแข่ง "AUTOBACS D1 GRAND PRIX" จึงไม่อนุญาตให้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ลงแข่งเด็ดขาด
8. งบน้อย ก็ดริฟท์ได้
เห็นรถยอดนิยมในข้อ 5 ใครกระเป๋าแบน อาจเลิกคิดเล่นดริฟท์ไปเลย แต่ถ้ามือใหม่หัดดริฟท์อยากลองดูสักตั้ง รถขับเคลื่อนล้อหลัง โครงสร้างเหมาะสมรุ่นเก่าก็มีให้เลือกไม่น้อย เช่น รถยุโรปอย่าง เมร์เซเดส-เบนซ์ ดับเบิลยู 123 หรือ บีเอมดับเบิลยู อี 30 ราคาตามสภาพ ไล่ตั้งแต่ 4 หมื่นถึงแสนกว่าๆ หรือจะเป็น รถญี่ปุ่น เช่น โตโยตา เออี 86 และ เคอี ที่ถูกกว่า แต่อาจต้องปวดหัวเรื่องอะไหล่บ้าง
9. 5 เทคนิคการดริฟท์ที่นักแข่งมักใช้
- BRAKING DRIFT เหยียบเบรคต่อเนื่องก่อนเข้าโค้ง เพื่อถ่ายน้ำหนักจนสไลด์ จากการที่ให้ล้อนอกโค้งสูญเสียการยึดเกาะ จากนั้นควบคุมการดริฟท์ด้วยคันเร่ง และพวงมาลัย
- CLUTCH KICK เหยียบ และปล่อยคลัทช์ เพื่อตัดกำลังที่ส่งไปที่ล้อจนสูญเสียการยึดเกาะ เทคนิคนี้เหมาะกับการแต่งโค้งอย่างเร็ว ในโค้งเดียวอาจเบิลคลัทช์ได้หลายครั้งตามความเหมาะสม
- E (EMERGENCYBRAKE) DRIFT ดึงเบรคมือเพื่อให้ล้อหลังหยุดหมุนจนท้ายปัดออกนอกโค้ง เหมาะกับรถขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถกำลังน้อยที่ไม่สามารถทำให้รถสูญเสียการยึดเกาะด้วยวิธีอื่น
- INERTIA DRIFT โยกพวงมาลัยไปในทิศทางตรงข้ามกับโค้ง และหักกลับมาอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยแรงเฉื่อยเป็นแรงกระทำ แต่จะยากเรื่องการควบคุม เนื่องจากรถมีโอกาสหมุนได้สูง หากหักพวงมาลัยผิดจังหวะจนเกิดแรงเฉื่อยมากเกินไป
- POWER OVER DRIFT เหยียบคันเร่งเต็มที่ก่อนเข้าโค้งจนเกิดการไถล เนื่องจากแรงเฉื่อยที่มากเกินกำลังรับของการยึดเกาะ หลังจากนั้นจะเร่งส่งอีกครั้งเพื่อออกจากโค้ง แต่หากเข้าไลน์ผิด ล้ออาจฟรีทิ้งไปเปล่าๆ ทำให้เข้าโค้งช้าไปโดยใช่เหตุ
10. ที่เมืองไทย ไปดริฟท์ได้หลายที่
- ใครอยากหัดดริฟท์ไปติดต่อที่สนาม BRC (BANGKOK RACING CIRUCIT) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนาม "ซิ่ง" หลัง ซีคอน ฯ ได้เลย ราคาค่าเรียนอยู่ที่หมื่นกว่าๆ ถึง 2 หมื่นบาท แต่ถ้าอยากไปชม หรือแข่งขันสามารถไปได้อีก 2 แห่ง คือ สนามแข่งนครชัยศรี และสนามลานจอดรถร้าน YES IN DEED เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา
รู้ 10 ข้อนี้แล้ว เอาไปคุยกับเพื่อนฝูงได้สบาย แต่ถ้าอยากเล่นดริฟท์ โปรดอย่าลองเอง ต้องฝึกฝนอย่างมีหลักการ เป็นขั้นเป็นตอน ไม่แน่นะ ต่อไปคุณอาจเป็น DRIFT KING ระดับโลกเลยก็ได้
ABOUT THE AUTHOR
ศ
ศิธา เธียรถาวร
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2550
คอลัมน์ Online : ทั่วไป