ธุรกิจ
บริษัท เบนซ์อมรรัชดา จำกัด จัดงานแข่งขัน "BENZ AMORNRATCHADA GOLF TOURNAMENT" ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมกอล์ฟ เบนซ์อมรรัชดา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มลูกค้าสมาชิกเบนซ์มือสองที่รักในกีฬากอล์ฟได้มีโอกาสพบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนทัศนคติ ส่วนการแข่งขันจะแบ่งเป็น 4 สนาม
เมร์เซเดส-เบนซ์
เบนซ์อมร ฯ จัดแข่งขันกอล์ฟ
บริษัท เบนซ์อมรรัชดา จำกัด จัดงานแข่งขัน "BENZ AMORNRATCHADA GOLF TOURNAMENT" ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมกอล์ฟ เบนซ์อมรรัชดา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มลูกค้าสมาชิกเบนซ์มือสองที่รักในกีฬากอล์ฟได้มีโอกาสพบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยนทัศนคติ ส่วนการแข่งขันจะแบ่งเป็น 4 สนาม
สำหรับปีนี้ การแข่งขัน "BENZ AMORNRATCHADA GOLF TOURNAMENT" ครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้น ตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่สนาม เธอะ รอยัล เจมส์ แอนด์ สปอร์ท คลับ (THE ROYAL GEMS AND SPORTS CLUB) ซึ่งการแข่งขันครั้งต่อไปจะจัดในวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2549 รับสมัครจำนวนจำกัดเพียง 60 ท่านเท่านั้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ แผนกลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 0-2939-0055 ต่อ 203, 208
โตโยตา
ส.ยานยนต์ จี้รัฐ
นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธาน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะประธานคลัสเตอร์กลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ทางกลุ่มคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไว้ประมาณ 7.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นประมาณ 5-8 % จากปีที่ผ่านมา ที่มียอดขาย 7.03 แสนคัน ส่วนการส่งออกในปีนี้คาดการณ์ไว้ที่ 5.5 แสนคัน จากปีที่ผ่านมาส่งออก 4.4 แสนคัน
โดย โตโยตา ครองอันดับ 1 ในการส่งออก ด้วยมูลค่ารถยนต์สำเร็จรูป อะไหล่ ชิ้นส่วน และเครื่องยนต์กว่า 1.1 แสนล้านบาท และในปีนี้ทาง โตโยตา คาดการณ์ส่งออกไว้ที่ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรักษาอันดับ 1 ของการส่งออกไว้อย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ภายในประเทศ คาดว่ารถพิคอัพจะยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามียอดการเติบโตกว่า 10 % ขณะที่รถยนต์นั่งมีอัตราการขยายตัวติดลบ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียว กัน ทั้งนี้เพราะบริษัทรถยนต์ได้เปิดตัวรถพิคอัพรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น ส่วนรถยนต์นั่งแม้ว่าจะมีรุ่นใหม่ แต่ด้วยราคาจำหน่ายที่สูงกว่า และอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันที่แตกต่างกัน ทำให้ได้รับความนิยมน้อยกว่า โดยอัตราบริโภคน้ำมันระหว่างเครื่องยนต์เบนซินกับดีเซลจะแตกต่างกันประมาณ 1 เท่า
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมัน คาดว่าราคาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 23-25 บาท/ลิตร ทั้งเบนซินและดีเซล ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในด้านพลังงาน โดยหันมาส่งเสริมและกำหนดนโยบายด้านพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีน้ำมันแกสโซฮอล และไบโอดีเซลในอัตรา 10 % ที่รถทุกรุ่นสามารถใช้ได้ และยังเป็นการลดการซื้อน้ำมันจากต่างชาติอีกด้วย
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้เตรียมจัดประชุม ไอทีเอส หรือ ITS (INTELLIGENT TRANSPORT SYSTEM) ขึ้นในประเทศไทย จะเป็นการประชุมว่าด้วยการจัดการจราจรในเมืองที่แออัด โดยนำระบบ ไอที เข้ามาช่วย ซึ่งทาง ไอทีเอส ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้เสนอไอเดีย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม ฯ สำนักงานและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีการประชุมไอทีเอส เอเชีย-แปซิฟิค และไอทีเอส เวิร์ค คองเกรส ขึ้นในประเทศไทย
"การจัดประชุมนี้ ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการสัมมนาในเชิงวิชาการ เกี่ยวกับการจัดการกับเมืองใหญ่ที่มีรถยนต์เยอะมาก โดยเอาระบบ ไอที เข้ามาใช้ สำหรับประเทศไทยเรามีป้ายจราจรอัจฉริยะ ซึ่งถือว่าเป็นการจัดการในส่วนนี้ และในต่างประ เทศก็มีระบบ ไอที ต่างๆ มากมาย ที่จะเข้ามาช่วยเหลือจัดการด้านจราจร โดยเฉพาะเรื่องดิจิทอลแมพที่เราต้องอัพเดทเรื่องถนนต่างๆ เพื่อช่วยให้การใช้เนวิเกเตอร์ซิสเตมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
สำหรับการตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ 2 ล้านคัน ในปี 2553 นั้น นินนาท กล่าวว่า "เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายการเป็นดีทรอยท์ออฟเอเชียตัวใหม่ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ทางกลุ่มได้มีการสัมมนากับทางสถาบันยานยนต์ เห็นว่าถ้ายังไม่มีจุดขายอะไรใหม่ๆ สำหรับเมืองไทย คิดว่าตัวเลขนี้คงเป็นไปไม่ได้ คาดว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ 1.6-1.7 ล้านคันมากกว่า ส่วนตัวเลขการผลิต 2 ล้านคัน น่าจะทำได้ในปี 2557"
ดังนั้นทางที่จะเป็นไปได้ คือ ต้องมุ่งผลักดันการส่งออกให้มากที่สุด สำหรับตลาดในประเทศ อัตราการครอบครองรถยนต์อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยในปีที่ผ่านมาคนไทย มีการครอบครองรถยนต์ 10 คน/คัน ส่วนปีนี้คาดว่าอัตราการครอบครองจะเปลี่ยนเป็น 9 คน/คัน
ส่วนการผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตต้องปรับตัวหลายอย่าง ได้แก่ 1. ลดต้นทุนการผลิต เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศ 2. หาตลาดใหม่ๆ 3.ใช้ เอฟทีเอ ที่ทำแล้วให้เกิดประโยชน์ โดยปัจจุบันไทยทำกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แล้ว ดังนั้นจึงต้องหาช่องทางการส่งออกจากข้อตกลงทางการค้านี้ให้มากที่สุด
พร้อมกันนี้นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจนและจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องศูนย์ทดสอบคุณภาพชิ้นส่วนและสนามทดสอบยานยนต์ ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะทั้ง 2 ศูนย์นี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต ของทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนในเมืองไทยและบริษัทรถยนต์
เชฟโรเลต์
ออพทรา เอสเตท ผ่านการรับรอง
จอห์น ธอมสัน รองประธานฝ่ายขาย การตลาด และการบริการหลังการขาย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "เชฟโรเลต์ ออพทรา เอสเตท ได้รับการรับรองมาตรฐาน "ฉลากเขียว" จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยได้รับการทดสอบแล้วว่า รถยนต์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงสุด ซึ่งถือเป็นรถยนต์คันแรกในประเทศไทยที่ผ่านมาตรฐานฉลากเขียว
ทั้งนี้ ข้อกำหนดของฉลากเขียว จะแตกต่างไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์ และความเสียหายของสิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยข้อกำหนดทั่วไป สำหรับรถยนต์นั่ง มีหลายประการด้วยกัน เช่น โรงงานต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ISO: 2000 กระบวนการผลิต การกำจัดของเสีย และคู่มือแนะนำการดูแลอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเฉพาะ ได้แก่ สี และสารเคมีที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ จะต้องไม่ผสมโลหะหนัก มีเอกสารแนะนำวิธีจัดการของเสียจากการใช้งาน มีระดับมลพิษทางเสียงไม่เกินที่กำหนด และมีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไม่น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งต้องผ่านมาตรฐานการปล่อยไอเสียสู่อากาศ ยูโร 3 และสารทำความเย็นที่ใช้ในระบบปรับอากาศต้องมีค่าศักย์ (OZONE DEPLETION POTENTIAL-ODP) เท่ากับศูนย์
สยามยีเอสเซลส์ ฯ
ตั้งเป้ายอดขายกว่า 5,000 ล้านบาท
เกริกกิจ เรืองปิตาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามยีเอสเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่าปีนี้ จีเอส แบทเตอรีวางเป้าหมายมียอดขายเพิ่มขึ้น 20 % จากปีที่แล้ว หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5,504 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น บริษัท สยามยีเอสแบตเตอรี่ จำกัด 3,428 ล้านบาท และบริษัท สยามยีเอสเซลส์ จำกัด 2,075 ล้านบาท ปี 2548 มียอดขาย รวม 4,587 ล้านบาท
สำหรับ บริษัท สยามยีเอสแบตเตอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิต จีเอส แบทเตอรี มีผลประกอบการรวมที่ 2,857 ล้านบาท เติบโต 30 % จากปี 2547 แบ่งเป็นตลาดโรงงานประกอบรถยนต์ (OEM) มูลค่า 840 ล้านบาท หรือคิดเป็น แบทเตอรีประมาณ 700,000 ลูก เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 25 %
ส่วนของตลาด OEM ซึ่งเป็นตลาดโรงงานประกอบรถยนต์ จีเอส แบทเตอรี ผลิตป้อนให้กับรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อ เช่น นิสสัน/มิตซูบิชิ/ฟอร์ด/มาซดา/ซูซูกิ และจีเอม โดยผลิตให้ 100 % โตโยตา และ อีซูซู อีก 40 % ทำให้ จีเอส แบทเตอรี มียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีส่วนแบ่งการตลาด 60 %
ส่วนตลาดทดแทน (REM) ซึ่งจัดจำหน่ายโดยบริษัท สยามยีเอสเซลส์ จำกัด มีมูลค่ารวม 1,687 ล้านบาท หรือคิดเป็นแบทเตอรี 1,250,000 ลูก เติบโตจากปี 2547 ประมาณ 25 % โดยจำหน่ายผ่านตัวแทนจำนวน 300 แห่งทั่วประเทศ
ด้านตลาดส่งออก ปี 2548 มีอัตราเติบโตสูง 60 % คิดเป็นมูลค่า 330 ล้านบาท ด้วยมาตรฐานการผลิตของประเทศญี่ปุ่น ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศ ญี่ปุ่น พม่า มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง สำหรับปีนี้บริษัทวางเป้าหมายการผลิต 2,700,000 ลูก หรือ เพิ่มขึ้น 20 % จากปีที่แล้ว รวมถึงภายใน 5 ปีนับจากนี้ บริษัทมีแผนลงทุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านลูก เป็น 4 ล้านลูก/ปี ซึ่งจะเป็นการลงทุนในส่วนของอาคาร และการจัดซื้อเครื่องจักร
เทคโนเซล ฯ
เปิดตัว เครื่องตัดฟีล์มด้วยระบบคอมพิว ฯ
จันทร์นภา สายสมร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด เปิดเผยว่า เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดฟีล์มกรองแสง และฟีล์มปกป้องสีรถยนต์ บริษัทจึงได้เปิดตัวเครื่องตัดฟีล์มด้วยระบบคอมพิวเตอร์ LLUMAR PCS (LLUMAR PRECISIONCUT SYSTEM) ครั้งแรกในเอเชีย
ระบบการตัดฟีล์มรุ่นใหม่นี้ จะนำมาใช้กับฟีล์มปกป้องสีรถยนต์ ลามินา ลูมาร์ เป็นอันดับแรก ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการร่วมมือกับ CPFILMS INC. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตฟีล์มกรองแสง ลามินา ในการสร้างแบบสำหรับรถยนต์ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงแรกสามารถให้บริการรถยี่ห้อหลักที่มีจำหน่ายในประเทศไทยได้ทันที และจะมีการพัฒนาแบบสำหรับรถรุ่นพิเศษอย่างต่อเนื่องในอนาคต
สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจนำเครื่องมือรุ่นใหม่มาใช้กับฟีล์มปกป้องสีรถยนต์ เนื่องจากการตัดแบบและสร้างแบบสำหรับฟีล์มชนิดนี้ จะทำได้ยากกว่าฟีล์มกรองแสงทั่วไป จะมีการลงทุนทั้งหมด 5 แสนบาท ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด และให้ตัวแทนจำหน่ายเฉพาะที่ผ่านการฝึกอบรมการติดตั้งฟีล์มปกป้องสีรถก็จะสั่งเข้ามาให้บริษัททำการตัดแบบให้ ซึ่งจะทำให้สะดวก และรวดเร็ว นอกจากนี้ในกลุ่มฟีล์มตกแต่งแบบกราฟิคก็สามารถใช้ได้
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : ธุรกิจ