ทั่วไป
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเฉื่อย มีพี่น้องร่วมหม่อมมารดาด้วยกัน 10 องค์
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเฉื่อย มีพี่น้องร่วมหม่อมมารดาด้วยกัน 10 องค์
เริ่มแต่หม่อมเจ้าจุลดิศ/หม่อมเจ้าอิทธิดำรง/หม่อมเจ้าทรงวุฒิภาพ/หม่อมเจ้าหญิงแฝด 1 คู่/หม่อมเจ้ารัชฏ์ลาภจิรฐิต/หม่อมเจ้าพูนพิศมัย/หม่อมเจ้าพิไลยเลขา/หม่อมเจ้าบันดาลสวัสดี และหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ์ ซึ่งเรียกกันว่า ชายน้อย
มีบทพระนิพนธ์มากมายของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ทรงบันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจหลายเรื่องทั้งบุคคล และเหตุการณ์ร่วมสมัย ดังเช่นเรื่องของหม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล ซึ่งเป็นธิดาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมลำดวน
หม่อมเจ้าพัฒนายุ ดิศกุล เป็นอีกองค์หนึ่งที่มีชีวิตยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน เริ่มแต่รัชกาลที่ 5 เป็นฝาแฝดหญิงซึ่งแฝดผู้เป็นพี่ได้เสียชีวิตเมื่ออยู่ได้เพียง 3 เดือน หม่อมเจ้าพัฒนายุ จึงได้ชื่อเรียกกันว่า "เหลือ"
ผู้ที่ทำให้ "เหลือ" เหลืออยู่ได้เป็นนายแพทย์ชาวเบลเยียมชื่อ หมอไรท์เตอร์ หรือพระยาประเสริฐ ฯ นำมาเลี้ยงในหีบแก้ว โดยมีแม่เต๋อซึ่งเล่าเรียนวิชาพยาบาลมาจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้เลี้ยง หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ทรงถือว่าหม่อมเหลือเป็นคนไทยคนแรกที่รอดชีวิตได้เพราะวิธีทางตะวันตก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามเธอว่า "พัฒนายุ" ด้วยมีพระราชดำรัสแก่เสด็จพ่อ ฯ (กรมพระยาดำรง ฯ) ว่า
"ฉันจะให้มันอยู่และอายุยืน"
เมื่อหญิงเหลืออายุได้ 6 ขวบก็ตามหม่อมเจ้า พูนพิศมัย ไปอยู่ด้วยในพระบรมมหาราชวัง อยู่กับพระธิดาของพระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ผู้ทรงเลี้ยงหม่อมเจ้าพูนพิศมัย
หญิงเหลืออยู่กับสมเด็จหญิงพระองค์กลางคือ เจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดารา ส่วนหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย อยู่กับสมเด็จหญิงพระองค์น้อย เจ้าฟ้าหญิงนิภานพดล
"ทรงให้เราแต่งคู่กันอย่างเดียวกับพระองค์ท่าน เสด็จไหนเราก็ตามเสด็จด้วย โดยเฉพาะเสด็จขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในเวลาเสวยบ่ายทุกวัน เมื่อเสด็จออกข้างหน้าแล้ว สมเด็จหญิงก็เสด็จกลับไปตำหนัก บางวันก็ทรงเล่นเกมต่างๆ"
ในเกมต่างๆ นั้นมี โกเกเล็กบนพรม/ชิงนางบนกระดาษ/ไพ่ยายแก่ เกมเหล่านี้ผมไม่เคยรู้จักหรือเคยได้ฟังมาก่อน จะเคยได้ยินก็เพียงไพ่ยายแก่แต่ก็ไม่รู้วิธีการเล่น
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ทรงเล่าถึงหญิงเหลือ ต่อไปอีกว่า
"ในเวลาอยู่ในพระที่นั่งวิมานเมฆ และอัมพรสถานเป็นเวลาที่เราสนุกเป็นที่สุด เพราะข้าพเจ้าอายุ 12 ปีแก่กว่าหญิงเหลือ 1 ปี 9 เดือน กำลังรู้ความ แต่ไม่ต้องถูกระวังตัวว่าเป็นสาว เข้าออกได้ทั้งข้างหน้าข้างใน ได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แทบทุกวัน เวลาเสด็จประพาสทอดพระเนตรถนนหนทางที่ตัดใหม่เวลาเย็นๆ ถ้ามีสมเด็จหญิงตามเสด็จด้วย ข้าพเจ้า และหญิงเหลือก็ได้ถือพระสุพรรณศรี (กระโถน) ยืนเกาะหลังเก้าอี้คนขับไปด้วย
"สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตบหัวว่า ไปบอกพ่อเจ้าซิ ว่าได้ขึ้นรถพระที่นั่ง"
ความสนุกสนานอยู่มาจนถึงปี 2453 พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พวกเจ้านายข้างในก็ต้องกลับเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังทั้งหมด จนถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงกลับไปอยู่สวนดุสิตใหม่
ขึ้นรัชกาลที่ 6 วันหนึ่งกรมพระยาดำรง ฯ เสด็จกลับจากเฝ้าวันธรรมดาที่สวนดุสิต ได้ตรัสกับหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ว่า
"ลูกพูน วันนี้พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับพ่อว่า-เมื่อกรมพระดำรง ฯ เสด็จไม่อยู่ (เสด็จตรวจราชการภูเก็ต) หญิงพูน เจ็บมาก เขารายงานว่าต้องเรียกหมอเข้าวังกลางคืน แกก็โตแล้วจะทรงทิ้งไว้ในวังทำไม เอาออกมาหัดเองไม่ดีหรือ หม่อมฉันทูลเด็จแม่แล้ว ท่านก็ทรงเห็นด้วย"
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย จึงขอประทานหญิงเหลือจากสมเด็จหญิง ให้ออกมาอยู่ด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยแยกจากกันอีก อยู่รับใช้สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ตลอดพระชนมชีพ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็ทรงพระเมตตาหญิงเหลือไม่น้อย
หญิงเหลือได้รับพระราชทานเสมาเพชรชั้น 1 และนาฬิกาข้อมือเพชรรอบในงานฤดูหนาวปี 2456 งานเฉลิมพระชนมพรรษาก็ได้รับเชิญแต่งแฟนซีทุกปี
ครั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จเดินป่าไปดอนพระเจดีย์ มีผู้หญิงไปในกระบวนเสด็จเพียง 4 คนคือ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย/หญิงเหลือ/นมแจ๋ว และเด็กเงิน (ชื่อตามที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัยทรงเรียก) เวลามีโขนละครก็นั่งดูอยู่ข้างพระเก้าอี้แทบจะทุกครั้ง ได้มีโอกาสรับฟังพระราชดำริอยู่เสมอๆ
ทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เคยเรียกทูลกระหม่อมจนติดปาก เมื่อเสด็จสวรรคตจึงร้องไห้กันมาก
ถึงรัชกาลที่ 7 ทั้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย และหญิงเหลือต่างก็คุ้นเคยกับพระองค์ท่านมาแต่ยังมีหัวจุก สมัยอยู่ในพระที่นั่งอัมพรสถาน แต่เมื่อโตแล้วก็ไม่มีโอกาสเฝ้าใกล้ชิด
บันทึกตอนหนึ่งของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย มีดังนี้
"พศ. 2474 พระบาทสมเด็จ ฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประทานน้ำสรงสงกรานต์แก่เสด็จพ่อ แล้วเสวยพระสุธารสที่วังวรดิศ ได้ทรงทราบว่าหญิงเหลือกำลังพิมพ์บทเพลงแผ่นเสียงอยู่มีพระราชดำรัสแก่เธอว่า"
"เสร็จแล้วขอเล่มหนึ่งนะ"
"เธอก็หมอบกราบทูลรับ ครั้นพอหนังสือเสร็จมาแล้วก็เผอิญเป็นเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ"
(24 มิถุนายน พศ. 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม)
"เสด็จพ่อ (กรมพระยาดำรง ฯ) "บันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย " จึงตรัสว่า "ทูลรับไว้แล้วต้องไปถวาย ลูกพูนไปเป็นเพื่อนน้องหน่อยก็แล้วกัน"
"พอถึงพระที่นั่งจิตรลดาฯ เรา (หม่อมเจ้าพูนพิศมัย และหม่อมเจ้าพัฒนายุ-หญิงเหลือ) ก็เข้าไปนั่งคอยเสด็จลงขึ้นรถอยู่ตามทางเสด็จ ในใจนึกว่าครู่เดียวคงไม่เป็นไร ทันใดมหาดเล็กคนหนึ่งลงอัฒจันทร์มาบอกว่า"
"รับสั่งให้เชิญเสด็จขึ้นไปข้างบน"
"ใจเราก็หายวาบเพราะตั้งแต่เกิดเรื่องแล้วยังไม่ได้เฝ้าเลย ทั้งต้องขึ้นไปในที่เคยเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 อยู่เสมอๆ ด้วย พอเข้าไปในเฉลียงก็เห็นทรงยืนทอดพระเนตรรูปที่ฝาผนังอยู่พระองค์เดียว"
"พอทอดพระเนตรเห็นเรา ก็เสด็จมาประทับพระเก้าอี้ ข้าพเจ้าก็หมอบกราบทูลว่า"
"หญิงเหลือจะนำหนังสือบทเพลงแผ่นเสียงมาทูลเกล้า ฯ ถวายตามที่ได้กราบทูลไว้"
"ท่านทรงรับไปทอดพระเนตร แล้วมีพระราชดำรัสว่า "เมื่อวันที่ 24 ฉันกำลังตีกอล์ฟอยู่หลุม 8 ทีเดียวไปอยู่ข้างหลุมซึ่งไม่เคยทำ กำลังเดินก็พบหลวงประเสริฐฯ (ราชองครักษ์) เข้ามาบอกว่า-กรุงเทพ ฯ เกิดขบถ เชิญเสด็จกลับเดี๋ยวนี้- ฉันกำลังมุ่งอยู่ที่ลูกกอล์ฟ ตอบแกว่า "เดี๋ยว ขอเอาลูกลงหลุมก่อน" แกกลับเอ็ดเอาว่า-ไม่ได้ ต้องเสด็จกลับเดี๋ยวนี้-ฉันก็เลยต้องทิ้งไม้กลับ"
"เท่านั้น หญิงเหลือและข้าพเจ้าก็ปล่อยโฮออกไปพร้อมกัน และหยุดไม่ได้อยู่นาน"
และทรงบันทึกว่าครั้งหลังสุดที่ได้เฝ้าคือ ไปส่งเสด็จยุโรปที่เกาะสุมาตรา พระราชทานพระหัตถ์ให้จับทูลลาเป็นที่สุดแห่งรัชกาลที่ 7
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้ว เสด็จกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรกจาก สวิทเซอร์แลนด์ทางเรือพระที่นั่ง แวะที่เกาะปีนัง ได้มีพิธีถวายตัวที่นี่
ขึ้นรัชกาลปัจจุบัน ทรงบันทึกว่า "พวกเรา (ทั้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัยและหม่อมเจ้าพัฒนายุ) ตกอยู่ในวัยชรา ซ้ำตัวหญิงเหลือเองก็ทุพพลภาพภายหลังการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี แล้วเธอก็ไม่แข็งแรงมาแต่นั้น ทรงบันทึกเรื่องราวตอนนี้ว่า
"ตามที่เล่ามานี้ จะเห็นได้ว่าหญิงพัฒนายุ (เหลือ) เป็นผู้มีบุญ ได้เฝ้าใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินมาถึง 5 รัชกาล และได้รับพระมหากรุณาคุณพระเมตตาคุณมาทุกพระองค์ ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาในพระราชวงศ์ แม้จะเป็นชั้นผู้น้อย"
30 ธันวาคม 2516 วันอวสานชีวิตแห่งหม่อมเจ้าพัฒนายุ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ทรงบันทึกว่า
"เริ่มเจ็บอกเวลา 12.30 น. หมอบอกหมดลมเวลา 13.20 น. เป็นเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง หมอเขียนใบมรณบัตรว่า "สิ้นชีพตักษัยโดยโรคเส้นโลหิตตัน" ผู้ตายเป็นสุข สมประสงค์ของเธอ"
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : ทั่วไป