ทั่วไป
ทั้งสุภาษิต ทั้งคำพังเพย ล้วนเป็นคำโบราณพูดต่อๆ กันมาช้านานแล้วทั้งสิ้น
ทั้งสุภาษิต ทั้งคำพังเพย ล้วนเป็นคำโบราณพูดต่อๆ กันมาช้านานแล้วทั้งสิ้น
โดยคำโบราณเหล่านี้ หาได้โบราณไปตามอายุไม่ แต่เป็นถ้อยคำที่นำมากล่าวได้ในทุกยุคทุกสมัย ทุกๆ เหตุการณ์ทั้งที่เป็นอดีต หรือกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คำเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ของคนโบราณ หรือบรรพบุรุษ เป็นบทเรียนแห่งชีวิตผ่านร้อนผ่านเย็นมาหลายเวลา ใช้ในการเตือนสติ และสั่งสอนผู้คนในสถานการณ์ต่างๆ
จะไปพลิกแผ่นดินหาครูบาอาจารย์สำนักใดสอนสั่งแบบนี้ ก็คงยากและไม่เท่าถ้อยคำเพียงสามคำของคนโบราณพูดว่า
"ผิดเป็นครู"
อีกไม่นานนัก คนไทยทั้งประเทศจะต้องตัดสินใจให้ตนเองตกอยู่กับสถานการณ์ใด เนื่องจากเป็นฤดูกาลของการเลือกตั้ง
จะเป็น "กบเลือกนาย" หรือทำตัวเป็นคนประเภท "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง"
กบฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในบึงอย่างมีความสุขพอประมาณ อยู่ไปก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า การอยู่อย่างอิสระไม่น่าเป็นของวิเศษสำหรับชีวิต จำเป็นต้องมีนายมาเป็นผู้บังคับ เป็นผู้จัดระเบียบสังคมกบ จึงพากันเดินขบวนไปร้องขอเทวดา
เทวดาผู้รู้แจ้ง (ต่างกว่ามนุษย์เพราะมนุษย์รู้แค่วัดแจ้ง) จึงส่งขอนไม้ใหญ่ลงมาให้ บรรดากบทั้งหลายดีอกดีใจ มีชีวิตแปลกใหม่ไปกว่าธรรมดา ได้กระโดดโลดเต้นบนขอนไม้นั้นอย่างสนุกสนาน
แต่ความบันเทิงของกบนี้มีอายุค่อนข้างสั้น ไม่นานเท่าไรก็เบื่อนายที่เป็นขอนไม้ใหญ่ กลับเห็นเป็นสิ่งรกรุงรังของสังคมกบ จึงพากันไปขอเทวดาให้เปลี่ยนนาย
คราวนี้เทวดาจึงส่งนกกระสาลงมาให้เป็นนายคนใหม่ของกบ
กบไม่รู้จักนกกระสา เพราะไม่มีกบตัวไหนสามารถไปเปิดพจนานุกรมดูได้ว่า นกกระสานั้นเป็นนกในวงศ์ CICONIIDAE ขนาดใหญ่เกือบเท่านกกระเรียน ปากหนายาวปลายแหลมตรง มีคอและขายาว เวลาที่บินคอจะยืดตรงเหมือนคอนกกระเรียน อาหารก็คือสัตว์น้ำขนาดเล็กและปลาทั้งหลาย
เมื่อลงมาในบึงที่เต็มไปด้วยกบ-สัตว์น้ำขนาดเล็ก นกกระสาก็ตั้งหน้าตั้งตากินกบสบายไป จนกระทั่งกบในบึงวายวอดสูญพันธุ์ไปในที่สุด เป็นที่มาของคำว่า "กบเลือกนาย"
นั้นคือเรื่องของนกกระสา ส่วนเรื่องของนกกระเรียน ต้องฟังคำคมของ ว. ณ เมืองลุง ผู้รจนานิยายจีนได้อร่อยอย่างวิเศษ ท่านได้พูดถึงยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ระหว่างนกกระเรียนกับงูไว้อย่างแหลมคม
"ใช้สงบสยบเคลื่อนไหว ใช้กระปรี้กระเปร่าทำลายระโหยโรยแรง"
เป็นความหมายทำนองเดียวกับบทหนึ่งของตำราพิชัยสงครามซุนจื่อที่ว่า
"ใช้ความสงบรอความปั่นป่วน ใช้ความเงียบรอความวุ่นวาย"
ส่วนเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ก็คือ มีความรังเกียจตัวบุคคล แต่ยินดีรับผลประโยชน์จากเขาหรือจากเธอ ยินยอมให้มีการซื้อเสียงว่างั้นก็แล้วกัน
"นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย" ให้ความหมายที่ดีกับคนเป็นเจ้านายและคนที่เป็นลูกน้อง สอนให้คนรู้จักการระวังภัยในทุกๆ สถานการณ์ ให้รู้ถึงการใช้ความพินิจพิจารณาถึงหน้าที่ความรับผิดชอบตามฐานะและตำแหน่งของตน ตลอดกระทั่งภาระหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบ
เป็นต้นว่า สถานการณ์ในการค้างแรมของผู้เดินทาง ถ้านอนพักค้างคืนในที่สูง เช่น ขัดห้างนอนบนต้นไม้ใหญ่ก็ควรจะนอนคว่ำ เพราะภัยอันตรายนั้นมาจากเบื้องล่าง มาจากพื้นดิน (เช่น การมาของเสือเป็นต้น) หากภัยมาก็จะได้แลเห็น หรือถ้าพักแรมนอนในที่ต่ำ ก็ควรจะนอนหงายเพราะภัยอาจมาจากที่สูง เช่น งูพิษอาจเลื้อยคลานลงมาจากต้นไม้ หรืออันตรายอันเกิดจากกิ่งไม้หักทับด้วยเกิดจากพายุ
อุปมาอุปมัยความนี้ หากดำรงในตำแหน่งหน้าที่สูง ก็ต้องเอาใจใส่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกวิถีทาง ทั้งการปฏิบัติงาน สวัสดิการ การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของผู้น้อย
และผู้น้อยทั้งหลายก็ต้องเอาใจใส่ ปฏิบัติหน้าที่ของตน ตามคำสั่งของนายโดยไม่ประมาท เพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุ สำเร็จไปด้วยดี จึงจะชอบ
คำคมอันนี้ ผมไม่รู้ว่าได้ถูกบรรจุไว้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วยหรือเปล่า ไม่ว่าเป็นมาตรการของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง หรือ คุณหมอประเวศ วะสี
เรื่องของนายกับลูกน้อง มีให้ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องเลือกปฏิบัติโดยไม่ต้องเกรงใจใคร เช่น "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล" หรือไม่ก็ถึงเวลารื้อนั่งร้านเพราะเจดีย์ก่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว
หลวงวิจิตรวาทการ ท่านมีคำคมของท่านมาก อันหนึ่งที่เป็นอมตะของท่านก็คือ
"อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน"
ถ้าถ้อยคำเหล่านี้ยังไม่โดนใจนายกับลูกน้อง ก็ลองฟังโวหาร "สุนทรภู่" บ้างปะไร
"อนึ่งเป็นนายก็เอาใจให้ไพร่มันมั่ง อย่าตึงตังไปทีเดียวเฝ้าเคี่ยวเข็ญ ถึงตกทุกข์ทีลำบากได้ยากเย็น จะตายเป็นมันไม่ทิ้งจริงจริงเชียว
อนึ่งบ่าวไพร่ไม่ดีจะตีด่า อย่าโกรธาหันหุนให้ฉุนเฉียว ประหยัดหย่อนผ่อนใช้แต่ไม้เรียว อุตส่าห์เหนี่ยวหน่วงจิตคิดเมตตา
อันช่างหม้อตีหม้อไม่หวังฉาน ตีเอางานงามใช้มิให้หนา ดังอาจารย์ตีศิษย์ให้วิทยา มิใช่ว่าจะประหารให้ไปอบาย
ที่สี่จะสอนสอนสกนธ์ตนเสียก่อน จึงจะสอนผู้อื่นได้ดังใจหมาย ผจญจิตตนเสียก่อนให้ผ่อนคลาย จึงค่อยย้ายไปผจญคนทั้งปวง"
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาแห่งการประพันธ์ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิตไว้บทหนึ่งในหลายๆ บท
มะโน มอบพระผู้ เสวยสวรรค์
แขนมอบถวายทรงธรรม์ เทอดหล้า
ดวงใจมอบเมียขวัญ และแม่
เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว
สุภาษิตนี้สอนใจทั้งลูกผู้ชายชาติทหาร และนักการเมือง ตลอดจนบุคคลทั่วไป เป็นการรักษาเกียรติศักดิ์ของตน ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ตรงประเด็นเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับปี พศ. 2540
คำที่เป็นสำนวนอีกคำ ซึ่งคนสมัยนี้ชักจะแกล้งลืมกันมาก โดยเฉพาะผู้มีอำนาจที่เลือกปฏิบัติคือสำนวนที่ว่า "สู้รบตบมือ"
ถ้อยคำนี้เป็นการบอกให้รู้ว่า อันการต่อสู้นั้นไม่ผิดอะไรกับการตบมือ ต้องมีสองฝ่าย ถ้าเป็นความผิดก็ต้องผิดด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือถ้าเกิดความเสียหายบาดเจ็บล้มตาย ก็จะต้องเกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่ายด้วย
มาตราหนึ่งของกฎหมายพระเจ้ามังราย ซึ่งคุณประเสริฐ ณ นคร ได้เรียบเรียงเป็นภาษาปัจจุบันมีความดังนี้
"ในบริเวณบ้านๆ หนึ่งมี 16 ครัวเรือน คนคุ้นเคยรู้จักกัน คนหนึ่งไปลักวัวควายของท่าน เจ้าของทราบเข้าไม่ยินยอม ตามประเพณีโบราณให้ทั้ง 15 เรือนช่วยใช้คืน เพราะอยู่บ้านเดียวกัน ไม่สั่งสอนกัน ปล่อยให้เพื่อนไปลักของท่าน
หากเขาเถียงว่ามันไปลักของท่านเอง ตัวเขาไม่รู้ไม่เห็นด้วย เจ้าขุนแต่โบราณก็ไม่รับฟัง ตัดสินว่า เขารู้เห็นด้วยกัน"
เรื่องนี้นำไปใช้ไม่ได้กับปฏิบัติการของนาย ถ้าลูกน้องไปมีเรื่องกับน้องเมีย จัดการกับลูกน้องได้ฝ่ายเดียว ฝ่ายน้องเมียไม่มีความผิด ไม่ต้องจัดการใดๆ
นักการเมืองอย่าง พลเอกประมาณ อดิเรกสาร ท่านก็สร้างคำคมในแวดวงการเมืองตามประสบการณ์แห่งชีวิตของท่านไว้มาก และเป็นประโยชน์ต่อคนข้างหลัง เช่น
"การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"
(ประโยคนี้ คุณป๊อก-ปองพล อดิเรกสาร ยืนยันว่าท่านประมาณพูดเป็นคนแรก)
"นักการเมืองเมื่อมีอำนาจ อย่าคิดว่าจะอยู่ในอำนาจได้นานแค่ไหน แต่ควรคิดว่าจะลงอย่างไร"
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหนึ่งมรดกของชาติ เป็นสมบัติตกทอดควรค่าแก่ความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างยิ่ง
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน มกราคม ปี 2548
คอลัมน์ Online : ทั่วไป