พิเศษ
กรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจเกีย มอเตอร์ จำกัด
ความกล้าในการเปิดตลาดรถยนต์กลุ่มใหม่ ทำให้วันนี้ "เกีย" จากเกาหลี
ประสบความสำเร็จไม่น้อยหน้ารถยี่ห้ออื่นๆ ที่เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเลย ความสำเร็จนี้
เป็นผลมาจากการบริหาร ความพร้อมของบริษัท และคุณภาพของสินค้านั่นเอง
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ บุญฤทธิ์ ผ่องเมฆินทร์ กรรมการบริหาร บริษัท ยนตรกิจเกีย มอเตอร์ จำกัด
ฟอร์มูลา : ในปีนี้คุณวางแผนสำหรับ เกีย รุ่นต่างๆ ไว้อย่างไรบ้าง ?
บุญฤทธิ์ : จากความสำเร็จในปีที่แล้ว ในเรื่องของสินค้า คาร์นิวัล/ปเรโจ/คาเรนส์/โซเรนโต และปลายปี
เค 2700 นั้นในส่วนของ คาร์นิวัล และปเรโจ มียอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 2,000 คัน ส่วน
คาร์นิวัล ซีเคดี เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสเปค และมีราคาสูงขึ้น ยอดขายจึงไม่ค่อยดีนัก
และที่คาดการณ์ผิดคือ คาเรนส์ ซึ่งมองว่ามีคู่แข่งเพียง ซาฟีรา เพียงยี่ห้อเดียว
คาดว่าจะสามารถแข่งขันได้ แต่เมื่อนำเข้ามา เป็นช่วงที่ ฮอนดา เปิดตัว สตรีม และ โตโยตา วิช
ก็เปิดตัว ซึ่งจุดนี้ทำให้ คาเรนส์ ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
สำหรับ โซเรนโต เกิดจากผลพวงของตลาดโดยตรง คือยอดขายตก ในปีที่ผ่านมายอดขายมีเพียง 600
คัน โดยผู้นำตลาดคือ โวลโว เอกซ์ซี 90 ซึ่ง เกีย ตั้งเป้ายอดขาย โซเรนโต ไว้เดือนละ 10 คัน
แต่ขายได้เพียง 30 % คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 7 % ซึ่งจุดนี้เกิดขึ้นเพราะกลไกของตลาด
นโยบายของ เกีย ไม่แข่งขันในรถเก๋ง เนื่องจากเสียเปรียบยี่ห้ออื่นที่มีอยู่ เพราะนอกจาก โตโยตา
กับฮอนดา ที่ทำตลาดอยู่ และไม่มียี่ห้อไหนที่จะสามารถแข่งขันได้อย่างกับ 2 ยี่ห้อนี้
จึงมองว่าตลาดรถเก๋งมีการแข่งขันที่เข้มข้นเกินไปที่จะเข้าไปแข่งขัน
ในช่วงนี้ซึ่งนอกจากจะเข้าไปแซกแซงยากแล้วยังจะต้องมีการลงทุนมากอีกด้วย
นอกจากนี้การใช้รถในเมืองไทยจะแตกต่างจากต่างประเทศ และยังมีปัญหาในเรื่องของภาษีที่สูงมาก
การซื้อรถคนไทยจะคิดก่อนว่าซื้อรถจะขายต่อได้เท่าไร คนจะชื่นชมหรือไม่ ซึ่งจากผลการทำวิจัย
เมืองไทยตลาดรถพิคอัพใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา
และการใช้รถพิคอัพจะใช้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ขนส่งสินค้า ท่องเที่ยว ใช้ส่วนตัว
ทำธุรกิจ บริษัทจึงนำรถ เค 2700 เข้ามาทำตลาด เนื่องจากใช้ขนส่งสินค้า วิ่งได้ไม่ติดเวลา
ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยภายใน 2 เดือน คือ พย.-ธค. 46 มียอดจองรถถึง 600 คัน
แต่ก็เกิดปัญหาบ้างในเรื่องของการส่งสินค้า
เนื่องจากที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของโรงงานที่ต้องย้ายการผลิตจากโรงงานหนึ่งไปอีกโรงงา
นหนึ่ง ทำให้การส่งมอบรถล่าช้า แต่ในเร็วๆ นี้จะสามารถส่งได้หมดตามกำหนดเวลา
โดยในส่วนยอดจำหน่ายที่ผ่านมาของ เกีย มีทั้งสิ้น 2,000 คัน และในปี 2547 นี้ เกีย
ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 3,600 คัน โดยแบ่งเป็น ปเรโจ และคาร์นิวัล 2,000 คัน เค 2700 อีก 1,500 คัน
ที่เหลือ 100 คัน เป็น คาเรนส์ กับ โซเรนโต
ฟอร์มูลา : ตลาดในส่วนของ เค 2700 เริ่มมียี่ห้ออื่นให้ความสนใจ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร ?
บุญฤทธิ์ : การมีรถเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ตลาดเติบโต
แต่ก็ทำให้ต้องมองการตลาดให้มากขึ้น ทั้งนี้เห็นได้จากรถที่เพิ่งเข้ามาของจีน
ต้องดูว่าในการขยายการบริการจะเร็วมากน้อยเพียงใด เนื่องจากรถประเภทนี้เป็นรถใช้งานทั่วไป
จึงจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการบริการ ส่วนของ มิตซูบิชิ นั้นจะมีราคาแพงกว่าของ เกีย
ซึ่งจะว่าไปแล้ว สินค้าก็อยู่คนละกลุ่มกัน อาจจะน่ากลัวหรือไม่น่ากลัวก็ได้
ฟอร์มูลา : คุณมองว่าเพราะอะไร เกีย จึงประสบความสำเร็จ ?
บุญฤทธิ์ : คนไทยซื้อรถต้องมั่นใจ การบริหารงาน และคุณภาพสินค้า ตอนที่เริ่มบริหาร เกีย
เป็นช่วงที่ยนตรกิจเลิกขาย บีเอมดับเบิลยู บริษัทมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทำให้ เกีย
มีการบริหารที่ทั่วถึง โดยภายในเวลา 3 ปี สามารถมีโชว์รูม 40 แห่งทั่วประเทศ
ซึ่งจุดนี้เป็นความมั่นใจนอกเหนือจากชี่อเสียง
ฟอร์มูลา : โชว์รูมและศูนย์บริการ 40 แห่ง คิดว่าเพียงพอหรือไม่ ?
บุญฤทธิ์ : ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่จะเปิดเพิ่มในบางพื้นที่ เช่น ย่านฝั่งธน และภาคใต้ตอนบน
ฟอร์มูลา : ส่วนรถใหม่ภายในปีนี้จะมีหรือไม่?
บุญฤทธิ์ : ตอนนี้ที่ศึกษาอยู่ก็คือรถในรหัส เคเอม หรือ สปอร์เทจ ใหม่ ซึ่ง เกีย
ในไทยนั้นเกิดจากรถรุ่นนี้ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคงจะเปิดตัวได้ในงาน "มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 21"
ส่วนอีกรุ่นหนึ่งคือ ปิกันโต ซึ่งเป็นรถลักษณะเดียวกับ ฮอนดา แจซซ์ แต่จะมีขนาดเล็กกว่า เครื่องยนต์
1,100 ซีซี เกียร์อัตโนมัติ ประหยัดน้ำมัน ซึ่งตรงกับนโยบายรัฐบาล คือ อีโคคาร์ แต่ ปิกันโต
จะติดปัญหาในเรื่องของราคาเนื่องจากมีภาษีนำเข้ากว่า 200 % ทำให้มีราคาประมาณ 4.7-4.8
แสนบาท ในขั้นต้นจะนำเข้ามาศึกษาตลาดก่อน
ฟอร์มูลา : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่อง อีโคคาร์ ?
บุญฤทธิ์ : เห็นด้วยสำหรับโครงการนี้ เพราะประเทศไทยที่ผ่านมานิยมรถขนาดใหญ่เหมือนสหรัฐอเมริกา
แต่ถ้ามองที่ยุโรปนั้นจะชอบขับรถเล็กๆ แต่คิดว่าแนวโน้มในประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากน้ำมันแพง รายได้คนไทยไม่เพิ่ม เพราะโครงการนี้จะทำให้ประเทศชาติประหยัด
คนไทยจะได้ใช้รถตามสภาพความเป็นจริง ดังจะเห็นได้จากยอดขายรถในปีที่ผ่านมากว่า 5 แสนคัน
ส่วนใหญ่จะไม่ใช่สินค้าลักชัวรี แต่จะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น
นอกจากนี้ หวังว่าในอนาคตจะเห็นรถแห่งชาติ เพราะถ้าเปรียบเทียบไทยกับมาเลเซียแล้วตลาดประเทศไทยใหญ่กว่ามาก
ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นยี่ห้อไหน ใช้เทคโนโลยีของใคร แต่เป็นรถที่มีภาษีต่ำ เหมาะสม เพื่อให้คนไทยโดยทั่วไปมีรถใช้
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่าภาพลักษณ์ของ เกีย เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร ?
บุญฤทธิ์ : ภาพลักษณ์ของ เกีย ในอดีตก่อนที่ยนตรกิจจะนำมาทำตลาด
มองไปแล้วเกาหลีจะมีชื่อเสียงในเรื่องรถที่ใช้ในการทำสงคราม เคยผลิตรถให้อีรัก
ดังนั้นจึงเติบโตมาจากความแข็งแกร่ง คนยอมรับในชื่อเสียงอันยาวนาน แต่รากฐานรถเกาหลี
ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ การทำงานของเกาหลีจึงเป็นยุคทหาร ทำงานเป็นเจ้านาย มีวินัยสูง
ไม่มีความสามารถในด้านการตลาด ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ถูกกำหนดทิศทาง
ยุคใหม่โลกภายนอกเปลี่ยนไป เกีย เริ่มทำการตลาดโดยการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาต่างๆ
มีผู้บริหารเป็นคนต่างชาติ และคนในท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วสินค้าจากเกาหลี ไม่ใช่เฉพาะ เกีย
เท่านั้นที่พัฒนา เห็นได้จากสินค้าอื่น ไม่ว่าจะเป็น แอลจี หรือ ซัมซุง
ที่พัฒนาสินค้าและการตลาดมากขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเกาหลีดีขึ้น
เนื่องจากที่ผ่านมา เกีย ทำวิจัย ลูกค้าให้การยอมรับยนตรกิจ ดำเนินธุรกิจรถยนต์เพียงอย่างเดียว
ทุ่มเททรัพยากร บุคลากร มีความมั่นคง มีการบริการ สินค้ามีคุณภาพ ราคาไม่แพง จุดนี้ทำให้ภาพลักษณ์ เกีย
ดีขึ้นมาก ถึงแม้ว่าจะไม่เท่ากับญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นรถ เกาหลี ไม่ว่าจะเป็น แดวู/ฮันเด/ซังยง และอื่นๆ เกีย
เป็นรถที่ดีที่สุด
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่า เกีย ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ?
บุญฤทธิ์ : มองโดยภาพรวมของตลาดรถยนต์ 5 แสนคัน เกีย มีอยู่ 2,000-3,000 คัน มีส่วนแบ่งเล็กมาก
เพราะส่วนแบ่ง 1 % คือ 5,000 คัน ถ้ามองในจุดนี้ทำอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปี
เพราะในภาพของสินค้าแล้วไม่ใช่ตลาดของ เกีย แต่ถ้า เกีย มีรถ พิคอัพ ก็มีความเป็นไปได้
แต่ถ้ามองในภาพของยอดขายปีที่แล้ว 2,000 คัน โดยมองตลาดรถเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ เกีย มีจำหน่าย
ตลาดรวมก็จะอยู่ประมาณ 12,000 คัน ถือว่าในส่วนนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาด 20 %
นั่นถือว่าประสบความสำเร็จ แต่นั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของ เกีย ด้วยศักยภาพของโชว์รูม สินค้า
น่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ ซึ่งต้องพึ่งนโยบายอาฟตา เนื่องจากปัจจุบัน เกีย เสียเปรียบยี่ห้ออื่น
ที่บริษัทแม่ไม่ได้เข้ามาลงทุน เป็นเพียงผู้จัดจำหน่ายในแต่ละประเทศเท่านั้น ถ้าหากจะมีการลงทุนก็จะช้ากว่ายี่ห้ออื่น
ที่ผ่านมาการลงทุนผลิตรถในแต่ละประเทศก็จะผลิตขึ้นเพื่อประเทศนั้น ไม่ว่าจะเป็น ไทย/ฟิลิปปินส์
และอินโดนีเซีย ซึ่งถ้าหากเป็นการแลกเปลี่ยนจะทำให้แข่งขันได้ มีศักยภาพที่แข่งขันกับ วิช/สตรีม
และซาฟีรา
ด้วยความแตกต่างในจุดนี้ ทำให้คิดว่า เกีย เติบโตในเร็วๆ นี้ ค่อนข้างยาก คงต้องใช้เวลานาน
อีกส่วนหนึ่ง ในต่างประเทศภาษีนำเข้ารถไม่สูงเหมือนไทย อย่าง ออสเตรเลีย ยอดขายปีละ 10,000
คัน มาเลเซีย เกีย ขายเป็นอันดับ 2 ในตลาด จุดนี้จึงทำให้เกีย ในประเทศไทยค่อนข้างที่จะเติบโตช้า
ฟอร์มูลา : คุณคิดว่า เกีย มีจุดด้อยตรงไหนบ้าง ?
บุญฤทธิ์ : เกาหลี ถูกตีกรอบไว้มากเกินไป ไม่กล้าตัดสินใจ
ต้องพยายามพัฒนาให้เกิดการยอมรับเหมือนกับสินค้าอื่น ที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาในเรื่องการตลาด
จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในส่วนนี้ ซึ่งหากมองแล้ว เกีย เป็นสินค้าที่มีบุคลิกภาพ แต่ไม่มีการตลาด
ไม่มีความก้าวหน้า และการพัฒนา ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับในตลาด แต่หลังจาก ยนตรกิจ
เข้ามาทำตลาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมามีการทำการตลาดในหลายรูปแบบจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
แต่ก็ต้องขึ้นกับต่างประเทศด้วยว่าจะยอมรับมากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมาจะติดปัญหาในเรื่องของการตัดสินใจ ความพร้อมของบุคลากร
รวมถึงความไม่เข้าใจในเรื่องของการตลาด ซึ่งจุดนี้คงจะต้องใช้เวลาเพื่อการพัฒนา
คาดว่าในอนาคตจะมีความเป็นไปได้ และก็หวังว่า เกีย จะประสบความสำเร็จมียอดขายถึง 10,000 คัน ได้ในอนาคต
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน เมษายน ปี 2547
คอลัมน์ Online : พิเศษ