พิเศษ
กรรมการบริหาร บริษัท ไทยยานยนตร์ จำกัด
การประชุมเอเปค 2003 ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ
ที่มีกลุ่มผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เข้าร่วมประชุม
โดยการจัดประชุมดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งภาครัฐและเอกชน
ยนตรกิจ กรุพ เป็นบริษัทรถยนต์ที่ให้การสนับสนุนรถ 2 ยี่ห้อ คือ เอาดี และโฟล์คสวาเกน
เพื่อใช้เป็นพาหนะของผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค 2003
"ฟอร์มูลา" สัมภาษณ์พิเศษ รณชัย จินวัฒนาภรณ์ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยยานยนตร์ จำกัด
ตัวแทนจำหน่าย โฟล์คสวาเกน
ฟอร์มูลา : ในการประชุมเอเปค 2003 ยนตรกิจ ฯ ร่วมสนับสนุนรถรุ่นใดบ้าง ?
รณชัย : ยนตรกิจ กรุพ ได้นำรถ เอาดี และโฟล์คสวาเกน ร่วมสนับสนุน
เนื่องจากรถทั้งสองรุ่นมีทั้งความหรูหรา สมรรถนะ และภาพลักษณ์ที่ดี
ฟอร์มูลา : โฟล์คสวาเกน ให้การสนับสนุนรถรุ่นใด ?
รณชัย : นำรถ โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ วี 6 เข้าร่วมทั้งหมด 42 คัน ใช้งาน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น
เชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพ ฯ ซึ่งรถ โฟล์ค ฯ
ถือว่าเป็นรถที่มีความพิเศษกว่ารถยี่ห้ออื่นที่ให้การสนับสนุนเนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ ดูภูมิฐาน
สมรรถนะที่ดี วางใจได้ รัฐบาลก็ต้องคัดเลือกอย่างมาก
เพราะรถซีดานถ้าต้องเดินทางเป็นหมู่คณะหรือมีการพูดคุยระหว่างเดินทางก็ไม่ค่อยสะดวก
ดังนั้นจึงต้องเลือกว่ารถที่สามารถประชุมในรถได้ เปิดวีซีดี หรือเตรียมพร้อมก่อนเข้าประชุม
และก็ไม่มีรถรุ่นไหน นอกจาก คาราเวลล์ รุ่นนี้ได้รับการตกแต่งพิเศษเป็น 8 ที่นั่ง
เพิ่มพื้นที่ใช้สอยใส่สัมภาระ พร้อมด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์
วีซีดี เครื่องเสียง ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศจึงได้พิจารณาอย่างรอบคอบที่เลือกสรรใช้ คาราเวลล์
นอกจากนี้ในเรื่องของภาพลักษณ์แล้ว โฟล์คสวาเกน
ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มของระดับผู้นำประเทศ
ฟอร์มูลา : สำหรับการสนับสนุนในครั้งนี้คิดว่าจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง ?
รณชัย : หลังจากสิ้นสุดการประชุมเอเปคครั้งนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของ โฟล์คสวาเกน ดีขึ้น
เนื่องจากโฟล์ค ฯ เน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก เห็นได้จากการทำตลาด จะเป็นตลาดนิชมาร์เกท
ตลาดผู้นำ
ระดับวีไอพี และการประชุมในครั้งนี้ เหมาะสมกับภาพลักษณ์
สิ่งที่จะได้เห็นคือภาพลักษณ์ของ โฟล์คสวาเกน ว่าปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นรถระดับหรู
มีภาพลักษณ์ที่ดีจากเดิม โฟล์คสวาเกน ถ้าแปลออกมาตรงตัวก็คือ รถพีเพิลคาร์ ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว
เป็นรถที่มีภาพลักษณ์แล้ว ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้สิ่งที่ได้รับคือภาพลักษณ์
และผู้ที่นั่งรถของเราก็เกิดความประทับใจ
การประชุมที่ผ่านมาก็มีผู้นำหลายท่านสนใจจะสั่งชุดแต่งเหล่านี้ไปใช้ในประเทศของเขา
นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ ยนตรกิจ กรุพ มีโอกาสเข้าไปร่วมในการประชุมระดับโลก
และได้รับการไว้วางใจสินค้าในเครือ 2 แบรนด์ รู้สึกภูมิใจที่มีสินค้าดี และประโยชน์ที่ตามมาคือ
ภาพลักษณ์ทั้งตัวบริษัทเองและสินค้า ที่จะนำไปใช้ในเรื่องการตลาดในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จทางการตลาด การขาย ไม่ได้อยู่ที่ภาพลักษณ์เพียงอย่างเดียว
แต่ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน จังหวะ การบริการหลังการขาย
ฟอร์มูลา : การตกแต่งเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ บริษัททำเองใช่หรือไม่ ?
รณชัย : การตกแต่งครั้งนี้สิ่งที่คำนึงถึงมากที่สุด คือ ความปลอดภัย
อุปกรณ์ที่ตกแต่งใหม่ทั้งหมดนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานเดิม นั่นคือ ตัวยึดเกาะเก้าอี้จะอยู่บนฐานเดิมของ
โฟล์คสวาเกน ทั้งหมดที่มีมา ซึ่งไม่สามารถไปเจาะพื้นแล้วเจาะร้อยนอทใหม่
เหมือนกับรถตู้ที่ทำโดยทั่วไป ที่อยากจะวางเก้าอี้ตรงไหนก็วาง
แต่ของเราเป็นพื้นฐานจากโรงงานทั้งหมด และอุปกรณ์โครงสร้างทั้งหมดก็เป็นของจากโรงงาน
เพียงแต่เก้าอี้นั้นได้มีการตกแต่งให้หรูหราเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น
ปัจจุบันรถที่ตกแต่งนั้น ยนตรกิจ ได้มีการจัดจำหน่ายแล้ว แต่เดิม 8 ที่นั่งไม่เคยทำ
มีแต่ร้านตกแต่งรับไปทำ จนกระทั่งเห็นว่ารถที่บริษัทจำหน่ายไปเป็น 11 ที่นั่ง แล้วคนนำไปตกแต่ง
ซึ่งหากเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุ คนจะมองว่ารถ โฟล์คสวาเกน ไม่ปลอดภัย
จึงได้มีการศึกษาร่วมกับต่างประเทศทำ 8 ที่นั่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย เพราะคนไทยชอบรถ 8 ที่นั่ง
แต่ก็เพิ่งทำได้ 1-2 ปีเท่านั้น
หลังจากที่ได้มีการตกแต่งเป็นรถ 8 ที่นั่งแล้ว ได้รับความนิยมอย่างมากปัจจุบัน 80-90 %
ของรถที่ลูกค้าซื้อไปนั้นจะเป็นรถ 8 ที่นั่ง โดยมีราคาเพิ่มขึ้นอีก 280,000 บาท
รวมอุปกรณ์ตกแต่งและภาษีสรรพสามิต แต่รถรุ่นนี้บริษัทหยุดรับจองแล้ว
เนื่องจากมีออร์เดอร์เต็มไปถึงปลายปี
ฟอร์มูลา : ถ้าเช่นนั้นในปีหน้า โฟล์คสวาเกน เตรียมรถใหม่เข้ามาเสริมทัพอีกกี่รุ่น ?
รณชัย : ปีหน้าจะมีรหัส ที 5 เข้ามา เพราะในรุ่นเก่าใช้รหัส ที 4 ซึ่งเป็นรถรูปโฉมใหม่ เป็นโมเดลเชนจ์
แต่ในเรื่องของเครื่องยนต์นั้นกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเป็นเครื่องแบบไหน
แต่ยังเป็นรถช่วงยาวเหมือนเดิม โดยนอกจากนี้แล้วในปีหน้ายังพิจารณาอยู่
เพราะถ้ามองแล้วมีรถรุ่นใหม่ออกมาแล้ว อย่างเช่น กอล์ฟ แต่ยังติดปัญหาเรื่องของค่าเงินยูโร
ซึ่งหากนำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยจะมีราคาแพงมากจากอัตราราคาของเงินยูโร สมมติว่ารถราคา
ประมาณ 1.2 หมื่นยูโร ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญยูโรเท่ากับ 48 บาท คือ 576,000 บาท
แต่รวมภาษีนำเข้าอีก รถรุ่นนี้จะมีราคา 1.9 ล้านบาท
ซึ่งถ้านำเข้ามาจำหน่ายแล้วมีราคาที่ค่อนข้างแพงมาก ดังนั้นปัญหาสำคัญคือ อัตราแลกเปลี่ยน
นโยบายจึงต้องดูว่าค่าเงินจะแกว่งอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่นอน คือ ที 5 ต้องทำตลาดอย่างแน่นอน เพราะ
รถ โฟล์คสวาเกน คาราเวลล์ เป็นเจ้าตลาดรถตู้ระดับสูง ที่ไม่มีคู่แข่งในตลาด ส่วนรถบางยี่ห้อ
เป็น 7 ที่นั่ง เป็นรถคนละตลาดกัน ส่วนใหญ่จะถูกจัดวางเป็นรถ เอมพีวี
ฟอร์มูลา : ในปีหน้าการแข่งขันของ โฟล์คสวาเกน จะมีปัญหามากน้อยเพียงใด เพราะมีรถใหม่ ที 5
เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น ?
รณชัย : โฟล์ค ฯ มี พัสสาท ซีเคดี ซึ่งในต่างประเทศในปี 2548 จะโมเดลเชนจ์ และที่ผ่านมานับว่า
พัสสาท ทีดีไอ ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าอยู่ และในส่วนของเครื่องยนต์ 2.3 วี 5
บริษัทต้องเปลี่ยนแนวทางการทำตลาดโดยให้ข้อมูลสินค้ากับตลาดมากขึ้น
เนื่องจากเริ่มมองเห็นปัญหาแล้วว่า คำว่าเครื่องยนต์ วี 5 นั้น ความจริงเป็นเครื่องยนต์โครงสร้าง วี 5
สูบ แต่คนเข้าใจว่าเป็นรหัส ซึ่งความจริงแล้วรถเก๋งที่ใช้เครื่องยนต์วี มีไม่กี่คันในประเทศไทย
แต่ถ้าคันไหนใส่เครื่องวี ก็จะมีราคาแพง ซึ่งอยู่ในรถยนต์ระดับซูเพอร์คาร์เท่านั้น
ฟอร์มูลา : กลยุทธ์การตลาดที่วางไว้จะเป็นอย่างไร ?
รณชัย : การตลาดแน่นอนว่าต้องมอง 4 P โดยอันดับแรกคือ โพรดัคท์ มีอยู่แล้ว จะติดในเรื่องราคา
สินค้าจะขายราคาสูงไปได้ดีก็ต่อเมื่อภาพลักษณ์เริ่มไปได้แล้ว
ดังนั้นเมื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับลูกค้าในตัวสินค้าแล้วยังต้องเร่งเรื่องการสร้างภาพลักษณ์
ฟอร์มูลา : ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนมีการผันผวนสูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ?
รณชัย : ต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน โฟล์ค ฯ
ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพียงยางรถยนต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
และจำนวนการขายก็ยังไม่เหมาะกับการลงทุน
โดยเฉพาะในเรื่องของชิ้นส่วนจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาอย่างมาก
ซึ่งบริษัทได้ขอให้บริษัทแม่ช่วยพิจารณาถึงแม้ตลาดจะเล็ก แต่นั่นก็หมายถึงภาพลักษณ์ของ โฟล์ค ฯ
ในประเทศ ที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน การทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจจะเกิดผลดีขึ้น
ในระยะยาวการแก้ไขปัญหาอัตราค่าเงินนั้นต้องเป็นการเพิ่มชิ้นส่วนในประเทศ ตัวอย่าง
รถญี่ปุ่นปัจจุบันใช้ชิ้นส่วนในประเทศเกือบ 100 % แล้ว รถยุโรปที่ประกอบในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า
30-40 % นั่นคือข้อเสียเปรียบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วบริษัทอยากแข่งขัน และลุยให้เต็มที่
แต่ยังไม่พร้อม เหมือนขาดอาวุธ ช่วงนี้จึงต้องเก็บสะสมอาวุธ
ฝึกพนักงานให้พร้อมและเมื่อมีอาวุธนั่นหมายถึงจะสามารถแข่งขันได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ โฟล์ค ฯ กำลังพัฒนา คือ บริการหลังการขาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการลงทุนในเรื่องของเครื่องมือพิเศษ
ที่สามารถใช้ได้กับรถในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างสูง ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ของอะไหล่ เนื่องจาก โฟล์ค ฯ
ได้มีการลงทุนศูนย์คลังสินค้าขนาดใหญ่ที่สิงคโปร์ ทำให้ปัจจุบันสามารถสั่งอะไหล่โดยตรงจากสิงคโปร์
ช่วยให้เร็วขึ้นกว่าเดิมต้องสั่งที่เยอรมนี ใช้เวลานาน
รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากรในเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวไปข้างหน้า
ฟอร์มูลา : มองสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปีหน้าไว้อย่างไรบ้าง ?
รณชัย : ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวนอย่างนี้ รถยุโรปก็คงจะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพิ่มขึ้น
และรถนำเข้าสำเร็จรูปก็จะทำตลาดลำบาก
รถซีเคดีจะได้เปรียบโดยเฉพาะรถญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากตั้งฐานผลิตในไทยหมดแล้ว
และใช้ชิ้นส่วนในประเทศ 80-90 % ทำให้ได้เปรียบในเรื่องต้นทุน รถยุโรปจะลำบาก
โดยเฉพาะรถยุโรปที่ไม่มีการประกอบในประเทศจะลำบากมาก ตลาดที่จะเติบโตคือ ตลาดรถญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังจะมีเรื่องของดอกเบี้ยที่ลดลง ส่งผลให้คนเริ่มใช้เงินเก็บมากขึ้น
โดยเฉพาะคนระดับกลางและล่าง ซึ่งจุดนี้จะทำให้รถพิคอัพเติบโตขึ้นอีก และอีกเรื่องหนึ่งคือ
เป็นช่วงของจุดเปลี่ยนโมเดลของรถ ก็จะเสริมให้เกิดดีมานด์มากขึ้น
โดยรถแต่ละคันจะมีอายุการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดรวมของปีนี้จะอยู่ที่ 5 แสนกว่าคัน
หรือโตเพิ่มขึ้นจากปี 2545 ประมาณ 10 %
ABOUT THE AUTHOR
น
นุสรา เงินเจริญ
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2546
คอลัมน์ Online : พิเศษ