FERRARI 488 GTB สุดยอดม้าลำพองติดเทอร์โบ เริ่มผลิตเดือนกันยายนปีแพะ
อิตาลี/สวิทเซอร์แลนด์-เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุด ซึ่งอุบัติขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 มีนาคม 2015 คือ แฟร์รารี 488 จีทีบี (FERRARI 488 GTB) รถสปอร์ท "ม้าลำพอง" โมเดลล่าสุด ซึ่งผู้ผลิตยืนยันสรรพคุณว่า เป็นรถใช้งานทุกวันซึ่งให้สมรรถนะและรสสัมผัสเหมือนรถที่วิ่งในสนามแข่งเป็นรถที่ค่าย "ม้าลำพอง" รังสรรค์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นตัวตายตัวแทนที่เหนือกว่าของรถสปอร์ท
ติดป้ายชื่อ แฟร์รารี 458 อิตาลีอา (FERRARI 458 ITALIA) ซึ่งอยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 2009 รหัสรุ่น 488 คือ ซีซี หรือขนาดความจุเป็นลูกบาศก์เซนติเมตรของแต่ละสูบ ส่วน GTB คือ อักษรย่อของ GRAN TURISMO BERLINETTA อันเป็นชื่อรุ่นที่ค่ายนี้เคยใช้มาก่อนแล้วในอดีตกับรถติดตั้งเครื่องยนต์ วี 8 สูบ วางเครื่องกลางลำ ตัวอย่างคือ แฟร์รารี 308 จีทีบี (FERRARI 308 GTB) ที่อยู่ในสายการผลิตระหว่างปี 1975-1985)
ตัวถังคูเป ยาว 4.568 ม. กว้าง 1.952 ม. และสูง 1.213 ม. ที่ออกแบบให้นั่งเพียง 2 คน ติดตั้งอุปกรณ์อากาศพลศาสตร์แบบใหม่ๆ หลายชิ้น ที่ออกแบบเพื่อผลลัพธ์ในการเพิ่มแรงกดลงสู่พื้นและลดแรงต้านอากาศ ที่เห็นได้ถนัดชัดเจนที่สุด คือ สปอยเลอร์ท้าย ซึ่งช่วยเพิ่มแรงกดได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับรถคูเป แฟร์รารี 458 อิตาลีอา (FERRARI 458 ITALIA)
ส่วนเครื่องยนต์ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อยืนอยู่ตรงท้ายรถเพราะฝาครอบทำด้วยกระจกใส เป็นเครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 90 องศา ความจุ 3,902 ซีซี ติดเทอร์โบชาร์เจอร์ ให้กำลังสูงสุด 492 กิโลวัตต์/670 แรงม้า ที่ 8,000 รตน. และแรงบิดสูงสุด 760 นิวตัน-เมตร/77.6 กก.-ม. ที่ 3,000 รตน. ทั้งค่าแรงม้าสูงสุดและแรงบิดสูงสุดนี้ เห็นได้ชัดว่า "กินขาด" ทั้งเมื่อเทียบกับรถซึ่งเป็นที่มา คือ แฟร์รารี 458 อิตาลีอา ซึ่งมีกำลังสูงสุด 419 กิโลวัตต์/570 แรงม้า กับแรงบิดสูงสุด 540 นิวตัน-เมตร/55.1 กก.-ม. และเมื่อเทียบกับรถสปอร์ทสัญชาติอังกฤษที่น่าจะเป็นคู่กัดโดยตรงอย่างรถ แมคลาเรน 650 เอส คูเป (McLAREN 650S COUPE) ซึ่งมีกำลังสูงสุด 478 กิโลวัตต์/650 แรงม้า กับแรงบิดสูงสุด 678 นิวตัน-เมตร/69.2 กก.-ม. ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง เป็นเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 3.0 วินาที อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ทำได้ใน 8.3 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดไม่ระบุตัวเลขชัดเจน บอกแต่เพียงว่า สูงกว่า 330 กม./ชม. ที่น่าทึ่ง คือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.4 ลิตร/100 กม. หรือ 8.8 กม./ลิตร และอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 260 กรัม/กม. ยังไม่ได้ประกาศสนนราคาค่าตัวที่แน่นอน แต่บอกว่าจะยุติการผลิตรถรุ่นเดิม คือ แฟร์รารี 458 อิตาลีอา ในฤดูร้อนของปีแพะ และจะเริ่มต้นการผลิตรถรุ่นใหม่นี้ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
FERRARI FXX K รถรุ่นพิเศษผลิตเพียง 40 คัน สนองตัณหาคนรักรถเงินถัง
อิตาลี/อบูดาบี-รถสปอร์ท "ม้าลำพอง" อีกแบบหนึ่งซึ่งเพิ่งเปิดตัวต่อสายตาสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้เช่นกัน คือ แฟร์รารี เอฟเอกซ์เอกซ์ เค (FERRARI FXX K) รถรุ่นพิเศษสุดที่จะจำกัดจำนวนผลิตไว้เพียง 40 คัน และขณะนี้ทุกคันขายได้หมดแล้ว แม้ว่าตั้งค่าตัวไม่รวมภาษีไว้สูงลิบลับระดับ 2.3 ล้านยูโร หรือเท่ากับประมาณ 85 ล้านบาทไทยนั่นเทียว
ไม่ใช่รถที่ออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถสปอร์ทไฮบริด แฟร์รารี ลาแฟร์รารี (FERRARI LAFERRARI) ซึ่งเริ่มจำหน่ายในอิตาลีเมื่อปี 2013 โดยติดป้ายค่าตัว 1,200,000 ยูโร และจำกัดจำนวนผลิตไว้ที่ 499 คัน หน้าตาและรูปทรงองค์เอวเหมือนเป็นรถแข่ง แต่คนของค่าย "ม้าลำพอง" ยืนยันอย่างชัดเจนในงานเปิดตัวที่สนามแข่งรถ YAS MARINA CIRCUIT ในอบูดาบี เมื่อเดือนธันวาคมปีม้าพยศว่า ไม่ใช่รถที่ออกแบบสำหรับการแข่งขัน แต่รถทุกคันจะใช้กับกิจกรรมพิเศษซึ่งมีชื่อในภาคอังกฤษว่า FERRARI'S XX DRIVER DEVELOPMENT PROGRAMME เป็นกิจกรรมที่พอจะขยายความอย่างย่นย่อได้ว่า เป็นโครงการพัฒนาฝีมือการขับรถของ "นักขับคนพิเศษ" ซึ่งจะใช้เวลายาวนานประมาณ 2 ปี และเป็นที่เข้าใจได้ว่า "นักขับคนพิเศษ" ซึ่งอยากจะขับรถได้เหมือนนักขับรถแข่งเหล่านี้ ก็คือส่วนหนึ่งของคนรักรถเงินถุงเงินถังสตางค์แยะ ซึ่งขณะนี้ก็เป็นเจ้าของรถสปอร์ท แฟร์รารี ลาแฟร์รารี อยู่แล้วนั่นเอง
ตัวถังยาว 4.896 ม. กว้าง 2.051 ม. และสูง 1.116 ม. คือ สูงเท่ากับรถซึ่งเป็นที่มา แต่ยาวและกว้างกว่ารถซึ่งเป็นที่มา 19.4 และ 5.9 ซม. ตามลำดับนี้ มีรายละเอียดมากมายที่เห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก ตัวอย่างคือ สปอยเลอร์หน้าที่ออกแบบขึ้นใหม่และติดตั้งต่ำลงถึง 3.0 ซม. กับสปอยเลอร์ท้ายแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มแรงกดได้ถึงร้อยละ 50 คือ มีแรงกด 540 กก. เมื่อวิ่งด้วยความเร็ว 200 กม./ชม.
ยังคงเป็นรถขับล้อหลังด้วยระบบขับไฮบริดที่ค่าย "ม้าลำพอง" ตั้งชื่อว่า HY-KERS SYSTEM เช่นเดียวกับรถซึ่งเป็นที่มา แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของเครื่องยนต์ที่ใช้ คือ เครื่อง DOHC วี 12 สูบ 65 องศา ความจุ 6,262 ซีซี ในหลายๆ จุด รวมทั้งการใช้แกนลูกเบี้ยวที่ออกแบบขึ้นใหม่ ปรับระบบวาล์ว ติดตั้งแมนิโฟลด์ไอดีที่ออกแบบใหม่หมด ฯลฯ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงนี้ ส่งผลให้กำลังสุทธิสูงสุดพุ่งพรวดจาก 708 กิโลวัตต์/963 แรงม้า เป็น 772 กิโลวัตต์/1,050 แรงม้า (จากเครื่องยนต์ 632 กิโลวัตต์/860 แรงม้า จากมอเตอร์ไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า) คือ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.0 ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังก็เป็นเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ เหมือนรถ แฟร์รารี ลาแฟร์รารี ซึ่งเป็นที่มาค่าย "ม้าลำพอง" ไม่ได้ระบุตัวเลขสมรรถนะความเร็ว แต่ก็เชื่อมั่นได้แน่นอนว่า ต้องเหนือกว่ารถต้นตอซึ่งสามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาไม่ถึง 3.0 วินาที และความเร็วสูงสุดสูงกว่า 350 กม./ชม.
RENAULT KADJAR ผลงานใหม่ของค่ายยักษ์ เปิดตัวแล้วในเมืองนาฬิกา
ฝรั่งเศส/สวิทเซอร์แลนด์-รถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งมีกำหนดปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุด ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 มีนาคม 2015 คือ รถติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ คัดจาร์ (RENAULT KADJAR) รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์แบบที่ 3 ของผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอม และเป็นผลพวงอีกชิ้นหนึ่งจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับยักษ์รองเมืองยุ่น คือ นิสสัน มอเตอร์
เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่อยู่ในตลาดเดียวกันกับรถที่กำลังขายดิบขายดีอยู่ในยุโรปอย่างรถ มาซดา ซีเอกซ์-5 (MAZDA CX-5) ของญี่ปุ่น ฮันเด ไอเอกซ์ 35 (HYUNDAI IX35) ของเกาหลีใต้ และ ฟอร์ด คูกา (FORD KUGA) ของค่าย "วงรีสีฟ้า" ที่ทราบกันดี โดยไม่จำเป็นต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการก็คือ เป็นรถที่ออกแบบ/พัฒนาโดยขอหยิบขอยืมชิ้นส่วนหลายชิ้นจากรถร่วมเครือ คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งติดป้ายชื่อ นิสสัน กัชไก (NISSAN QASHQAI) รุ่นที่ 2 ซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายในทวีปยุโรปเมื่อปลายปี 2013
"ข้อตกลงที่ทำกันไว้ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณมองเห็นต้องดูแตกต่าง และเรามีอิสระเสรีที่จะทำอย่างที่เราต้องการ" แอนโธนี โล (ANTHONY LO) นักออกแบบชาวจีน วัย 51 ปี รองประธานด้านการออกแบบของ เรอโนลต์ ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบตัวถังภายนอกของรถแบบนี้ เปิดใจกับสื่อมวลชน "สิ่งที่เราทำก็คือ พยายามนำทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณมองไม่เห็นมาใช้"
ขณะรายงานข่าวนี้ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันเปิดงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิค แต่ในส่วนของเครื่องยนต์กลไก คาดหมายกันว่าอย่างน้อย เครื่องยนต์ 2 ขนาด ที่น่าจะได้พบได้เห็นกันในรถที่มีตัวถังยาว 4.450 ม. กว้าง 1.840 ม. และสูง 1.600 ม. นี้คือ เครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง ความจุ 1.5 ลิตร และ 1.6 ลิตร ที่ใช้อยู่แล้วขณะนี้ในรถ นิสสัน กัชไก
ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมบอกว่า จะใช้โรงงานที่เมืองปาเลนซีอา (PALENCIA) ในสเปนเป็นที่ผลิตรถแบบนี้ กำหนดออกตลาดในทวีปยุโรป คือ ฤดูร้อนของปีแพะ จากนั้นก็จะเป็นคิวของอีกหลายประเทศในย่านเมดิเตอร์เรเนียน และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ที่น่าจับตามองมากก็คือ คำประกาศยืนยันว่า รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดแบบนี้ จะเป็นรถติดยี่ห้อ เรอโนลต์ แบบแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการผลิตบนแผ่นดินของสาธารณรัฐประชาชนจีนส่วนที่มาของชื่อ KADJAR ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมให้อรรถาธิบายว่า มาจาก QUAD ซึ่งหมายถึง รถ 4 ล้อที่ลุยไปได้ในทุกที่ทุกทาง และ AGILE กับ JAILLIR ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า ปราดเปรียวว่องไว รวมทั้งให้เหตุผลด้วยว่าที่เลือกใช้ชื่อนี้ เพราะสอดรับกันดีกับชื่อรุ่นของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กอีก 2 อนุกรมที่ผลิตขายขณะนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ กัปตือร์ (RENAULT CAPTUR) และ เรอโนลต์ โกเลโอส (RENAULT KOLEOS)
TOYOTA ALPHARD/VELLFIRE รถรุ่นใหม่เริ่มขายแล้วในญี่ปุ่น ตัวถังขนาดใกล้เคียงกับรถรุ่นเดิม
ญี่ปุ่น-ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นเฉลิมฉลองเดือนแรกของปีแพะ โดยเริ่มนำรถอเนกประสงค์ติดป้ายชื่อ โตโยตา อัลฟาร์ด (TOYOTA ALPHARD) และ โตโยตา เวลล์ไฟร์ (TOYOTA VELLFIRE) รุ่นใหม่ออกขายทั่วเกาะญี่ปุ่น โดยที่แบบแรกผ่านเครือข่ายจำหน่าย โตโยเปท (TOYOPET) ส่วนแบบหลังผ่านเครือข่าย เนทซ์ (NETZ)ทั้ง 2 แบบนับเป็นรถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่อนุกรมคู่ฝาคู่แฝด อยู่ในตัวถังแบบเดียวกัน ติดตั้งเครื่องยนต์กลไกชุดเดียวกัน และมีสนนราคาค่าตัวเท่ากันไม่มีผิดเพี้ยน น่าจะกล่าวได้ว่าความแตกต่างประการสำคัญเพียงประการเดียวของรถอเนกประสงค์ยอดนิยม 2 อนุกรมนี้ที่แลเห็นได้ชัดเจน คือ การตกแต่งตัวถังภายนอก ที่อธิบายได้ว่า โตโยตา อัลฟาร์ด ซึ่งตั้งเป้าหมายการขายในญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ 3,000 คัน/เดือน เน้นความหรูหราฟู่ฟ่า ส่วน โตโยตา เวลล์ไฟร์ ซึ่งตั้งเป้าไว้สูงกว่า คือ อยู่ที่ระดับ 4,000 คัน/เดือน เน้นความดุดันบึกบึนตัวถังยาว 4.915-4.935 ม. กว้าง 1.850 ม. และสูง 1.880-1.950 ม. คือ ใกล้เคียงกันมากในทุกมิติกับตัวถังของรถรุ่นเดิมซึ่งยาว 4.870-4.885 ม. กว้าง 1.830-1.840 ม. และสูง 1.890-1.915 ม. ห้องโดยสารก็ทำเป็น 2 แบบเหมือนรุ่นเดิม คือ แบบ 7 ที่นั่ง (2+2+3) อย่างที่เห็นในภาพ กับแบบ 8 ที่นั่ง (2+3+3) ทั้ง 2 อนุกรมมีรถให้เลือกมากกว่า 20 โมเดล มีทั้งแบบขับล้อหน้า และขับทุกล้อ แบบขับล้อหน้ามีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 2,493 ซีซี 134 กิโลวัตต์/182 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ 2AR-FE) ทำงานร่วมกับระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 12.8 กม./ลิตร เมื่อวัดตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น และเครื่องเบนซิน DOHC วี 6 สูบ 3,456 ซีซี 206 กิโลวัตต์/280 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ 2GR-FE) ทำงานร่วมกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 9.5 กม./ลิตร ส่วนแบบขับทุกล้อติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟเข้าแบทเตอรี ซึ่งใช้เครื่องเบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 2,493 ซีซี 112 กิโลวัตต์/152 แรงม้า (รหัสเครื่องยนต์ 2AR-FXE) ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 105 กิโลวัตต์/143 แรงม้า (ขับล้อคู่หน้า) และมอเตอร์ไฟฟ้า 50 กิโลวัตต์/68 แรงม้า (ขับล้อคู่หลัง) ได้กำลังสุทธิสูงสุด 145 กิโลวัตต์/197 แรงม้า และส่งทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ SEQUENTIAL SHIFTMATIC
สนนราคาค่าตัวรวมภาษีการบริโภคร้อยละ 8 อยู่ระหว่าง 3.198-7.037 ล้านเยน หรือเท่ากับประมาณ 0.895-1.970 ล้านบาทไทย
5,562,888
เป็นจำนวนคันของรถใหม่ที่จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น ในรอบปี 2014 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป หรือเทียบได้ว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากตัวเลขในปี 2013 แยกได้เป็นรถยนต์นั่ง 4,699,591 คัน (ร้อยละ 84.5) รถบรรทุก 851,314 คัน (ร้อยละ 15.3) รถโดยสาร 11,983 คัน (ร้อยละ 0.2) และแยกตามบริษัทผู้ผลิตได้ดังนี้
1. โตโยตา 1,509,149 คัน (-1.8 %)
2. ฮอนดา 848,753 คัน (+11.2 %)
3. ซูซูกิ 787,361 คัน (+12.2 %)
4. ไดฮัทสุ 708,179 คัน (+6.9 %)
5. นิสสัน 670,315 คัน (-1.3 %)
6. มาซดา 224,359 คัน (-1.6 %)
7. ซูบารุ 169,552 คัน (-6.2 %)
8. มิตซูบิชิ 125,083 คัน (-10.0 %)
9. อีซูซุ 74,556 คัน (+17.8 %)
10. ฮีโน 57,422 คัน (+19.2 %)
11. เลกซัส 44,246 คัน (-5.4 %)
12. มิตซูบิชิ ฟูโซ 42,509 คัน (+15.7 %)
13. ยูดี ทรัคส์ 11,072 คัน (+19.3 %)
14. อื่นๆ 290,332 คัน (+3.5 %)
เฉพาะรถยนต์นั่งซึ่งมียอดจดทะเบียน 4,699,591 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากปี 2013 นั้น แยกจำนวนตามบริษัทผู้ผลิตได้ดังนี้
1. โตโยตา 1,343,717 คัน (-2.8 %)
2.ฮอนดา 816,166 คัน (+11.9 %)
3. ซูซูกิ 633,984 คัน (+13.5 %)
4. นิสสัน 569,243 คัน (-1.0 %)
5. ไดฮัทสุ 547,762 คัน (+5.5 %)
6. มาซดา 199,098 คัน (-1.4 %)
7. ซูบารุ 153,638 คัน (-6.3 %)
8. มิตซูบิชิ 102,778 คัน (-3.7 %)
9. เลกซัส 44,246 คัน (-5.4 %)
10. อื่นๆ 288,959 คัน (+3.6 %)
(ตัวเลขตามข้อมูลของ JAPAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION หรือ สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น)
10,285,546
คือ จำนวนคันของรถยนต์สารพัดชนิดสารพันขนาด ที่ยักษ์ใหญ่ โตโยตา และบริษัทรถยนต์ในเครือผลิตได้ในรอบปี 2014 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากยอดผลิตในรอบปีก่อนหน้านั้น แยกได้เป็นยอดผลิตในญี่ปุ่นรวม 4.211,492 คัน (ร้อยละ 40.9) กับยอดผลิตนอกญี่ปุ่นรวม 6,074,054 คัน (ร้อยละ 59.1) และแยกได้เป็นรถยี่ห้อ โตโยตา กับไซออน (TOYOTA/SCION) 9,004,825 คัน รถยี่ห้อ ไดฮัทสุ (DAIHATSU) รถยี่ห้อ ฮีโน (HINO) 182,450 คัน ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นยังประกาศด้วยว่าในรอบปีดังกล่าวสามารถขายรถในตลาดทั่วโลกได้รวมทั้งสิ้นประมาณ 10,231,000 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 แยกได้เป็นยอดขายในญี่ปุ่น 2,320,000 คัน (ร้อยละ 22.7) กับยอดขายนอกญี่ปุ่น 7,911,000 คัน (ร้อยละ 77.3) และแยกได้เป็นรถ โตโยตา/ไซออน (TOYOTA/SCION) 9,147,000 คัน ไดฮัทสุ (DAIHATSU) 915,000 คัน และฮีโน (HINO) 168,000 คัน
3,036,773
คือ จำนวนรถใหม่ที่จดทะเบียนในเยอรมนีในรอบปี 2014 ร้อยละ 47.8 ของรถจำนวนนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล ร้อยละ 1.7 เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทน ร้อยละ 26.4 มีคุณสมบัติด้านไอเสียตามมาตรฐาน EURO 6 มีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 132.8 กรัม/กม. โดยเฉลี่ย และเมื่อแยกตามรุ่นของรถก็พบว่า รถที่มียอดจดทะเบียนสูงสุด 25 อันดับแรก ได้แก่
1. โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ 255,044 คัน
2. โฟล์คสวาเกน พาสสัท 72,153 คัน
3. โฟล์คสวาเกน โพโล 68,103 คัน
4. เอาดี เอ 3 65,199 คัน
5. โฟล์คสวาเกน ทีกวน 61,947 คัน
6. เมร์เซเดส ซี-คลาสส์ 60,350 คัน
7. บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-3 55,681 คัน
8. โอเพล โคร์ซา 55,151 คัน
9. สโกดา อกตาวีอา 52,620 คัน
10. บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-1 50,250 คัน
11. ฟอร์ด โฟคัส 49,494 คัน
12. เอาดี เอ 4 48,278 คัน
13. โฟล์คสวาเกน ตูรัน 47,801 คัน
14. โอเพล อัสตรา 46,193 คัน
15. ฟอร์ด ฟิเอสตา 45,228 คัน
16. โฟล์คสวาเกน อัพ ! 40,902 คัน
17. เซอัท เลอน 40,251 คัน
18. เอาดี เอ 6 39,596 คัน
19. บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-5 38,733 คัน
20. สโกดา ฟาบีอา 38,470 คัน
21. เมร์เซเดส อี-คลาสส์ 37,117 คัน
22. เมร์เซเดส เอ-คลาสส์ 36,657 คัน
23. เมร์เซเดส บี-คลาสส์ 36,639 คัน
24. มีนี 33,183 คัน
25. โฟล์คสวาเกน ทรานสปอร์เตอร์ 32,290 คัน
(ตัวเลขตามข้อมูลของ KRAFTFAHRT-BUNDESSAMT หรือ FEDERAL MOTOR TRANSPORT AUTHORITY ของเยอรมนี หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับกรมการขนส่งทางบกของไทย)
284
คือ ตัวเลขความเร็วสูงสุดซึ่งมีหน่วยเป็น กิโลเมตร/ชั่วโมง ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์จอมพลัง โพร์เช กาเยนน์ เทอร์โบ เอส (PORSCHE CAYENNE TURBO S) ซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายในเยอรมนี พร้อมกับป้ายค่าตัว 166,696 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 6.335 ล้านบาทไทย รถโมเดลนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ไบเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 4,806 ซีซี 419 กิโลวัตต์/570 แรงม้า และถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ TIPTRONIC S อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 4.1 วินาที มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 11.5 ลิตร/100 กม. หรือ 8.7 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 267 กรัม/กม.
12.9 %
คือ ยอดขายของรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDES-BENZ) ที่เพิ่มขึ้นในรอบปี 2014 เมื่อเทียบกับตัวเลขในรอบปี 2013 ในรอบปีดังกล่าว ค่าย เมร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ส์ (MERCEDES-BENZ CARS) ซึ่งมีรถอยู่ในสังกัดรวม 2 ยี่ห้อ ประกาศว่าสามารถขายรถในตลาดทั่วโลกได้รวมทั้งสิ้น 1,739,854 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.4 จากยอดขายในรอบปีก่อนหน้านั้น แยกออกได้เป็นยอดขายของรถติดตรา "ดาวสามแฉก" รวม 1,650,010 คัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9) และเป็นยอดขายของรถ สมาร์ท (SMART) รวม 89,844 คัน (ลดลงร้อยละ 10.9) เมื่อแยกตามภูมิภาคก็พบว่า ตลาดใหญ่ที่สุดของรถ 2 ยี่ห้อนี้ คือ ทวีปยุโรปซึ่งมียอดขายสูงถึง 722,732 คัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4) ถัดไป คือ สหรัฐอเมริกา 330,391 คัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7) และจีน 281,588 คัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1)
2,117,965
คือ จำนวนคันของรถยนต์ทุกประเภททุกยี่ห้อทุกขนาด ที่ค่าย บีเอมดับเบิลยู กรุพ ออโทโมบิลส์ (BMW GROUP AUTOMOBILES) ขายได้ในตลาดทั่วโลกในรอบปี 2014 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากยอดขายที่เคยทำได้ในรอบปีก่อนหน้านั้น และนับเป็นยอดขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันค่ายนี้ ตัวเลขดังกล่าวแยกออกได้เป็นยอดขายของรถ บีเอมดับเบิลยู (BWW) จำนวน 1,811,719 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เป็นยอดขายของรถ มีนี (MINI) จำนวน 302,183 คัน หรือลดลงร้อยละ 0.9 และเป็นยอดขายของรถ โรลล์ส-รอยศ์ (ROLLS-ROYCE) จำนวน 4,063 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9
CHEVROLET
คือ รถขายดีที่สุดของค่าย เจเนอรัล มอเตอร์ส คัมพานี (GENERAL MOTORS COMPANY) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในรอบปี 2014 ค่ายนี้ประกาศตัวเลขว่าสามารถขาย รถในตลาดทั่วโลกได้รวมทั้งสิ้น 9,924,880 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากยอดขายที่ทำได้ในรอบปี 2013 ตัวเลขดังกล่าวแยกออกได้เป็นรถติดป้ายยี่ห้อ เชฟโรเลต์ (CHEVROLET) 4,787,340 คัน รถติดป้ายยี่ห้อ บิวอิค (BUICK) 1,170,089 คัน รถติดป้ายยี่ห้อ โอเพล/วอกซ์ฮอลล์ (OPEL/VAUXHALL) 1,095,409 คัน รถติดป้ายยี่ห้อ แคดิลแลค (CADILLAC) 263,782 คัน และรถยี่ห้ออื่นๆ 2,608,260 คัน เมื่อแยกยอดขายตามภูมิภาคก็พบว่า ตลาดใหญ่ที่สุดของรถเหล่านี้ คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งยอดขายสูงถึง 3,539,972 คัน ถัดไป คือ สหรัฐอเมริกา 2,935,008 คัน
PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN
บีเอมดับเบิลยู กรุพ (BMW GROUP) แห่งเยอรมนี ประกาศข่าวผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อเวบไซท์ ว่าเมื่อช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2015 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนโรงงานผลิตจักรยานยนต์ SPANDAU PLANT ในกรุงเบร์ลิน เพื่อทอดพระเนตรกิจการของโรงงานและระบบการฝึกอบรมอันทันสมัย โรงงานแห่งนี้เปิดดำเนินการเมื่อปี 1949 ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 2,000 คน มีกำลังผลิตประมาณ 120,000 คัน/ปี และนับถึงสิ้นปีม้าพยศผลิตรถออกสู่ตลาดไปแล้วมากกว่า 2.2 ล้านคัน
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา chusak@autoinfo.co.th
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน เมษายน ปี 2558
คอลัมน์ Online : ทั่วไป