ทั่วไป
หนึ่งในมรดกสำคัญแห่งชาติ คือ ดนตรีไทย ซึ่งครบถ้วนในเรื่อง ดีด สี ตี เป่า อันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่างๆ ทั้ง อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ควบคู่กันมากับนาฏศิลป์การแสดงละครแต่โบราณกาล
หนึ่งในมรดกสำคัญแห่งชาติ คือ ดนตรีไทย ซึ่งครบถ้วนในเรื่อง ดีด สี ตี เป่า อันเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่างๆ ทั้ง อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ควบคู่กันมากับนาฏศิลป์การแสดงละครแต่โบราณกาล
สยามประเทศเริ่มมี เพลงเทพทอง ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เพลงธรณีร้องไห้ และลมพัดชายเขาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา บทละครหลายเรื่องที่เป็นงานชิ้นเอกในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เช่น รามเกียรติ์, อุณรุท และกากี ฯลฯ เป็นรากฐานแห่งการฟื้นฟูบทเพลงแห่งอดีต และถ่ายทอดลงไปสู่อนุชนจากรุ่นสู่รุ่น
ดนตรีไทยมักเล่นเป็นวง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาจนถึงปัจจุบันแบ่งประเภทได้ 3 รูปทรง คือ
วงปี่พาทย์-ประกอบด้วยเครื่องตีเป็นหลัก ได้แก่ ฆ้อง กลอง และมีเครื่องเป่าเป็นประธาน ได้แก่ ปี่ นอกจากนั้นก็เป็นเครื่องดนตรีประกอบเป็นวง
ขึ้นชื่อ วงปี่พาทย์ ยังมีการจำแนกออกไปเป็น วงปี่พาทย์ไม้แข็ง ไม้นวม วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เครื่องห้า เครื่องคู่ วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์
นักดนตรีอเมริกันคนหนึ่งที่คนไทยรู้จักดีคือ บรูศ แกสตัน ผู้เข้ามาทำงานเป็นครูสอนดนตรีในเมืองไทยเมื่อ 41 ปีที่แล้ว เล่าถึงความหลังระหว่างเสวนาทางดนตรี ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ ฯ ในปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาว่า
ตนได้รับอิทธิพลดนตรีไทย เพราะติดใจเสียงดนตรี วงปี่พาทย์นางหงส์ ที่ได้ยินทุกวัน ขณะเป็นอาจารย์สอนการดนตรีที่ มหาวิทยาลัยพายัพ โดยมีหอพักอยู่ติดกับป่าช้า ทุกครั้งที่มีงานเผาศพก็จะได้ยินเพลงปี่พาทย์นางหงส์
วงเครื่องสาย-ได้แก่ เครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน มีเครื่องเป่า และเครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น ปัจจุบันวงเครื่องสายมี 4 แบบ คือ วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว, เครื่องคู่, วงเครื่องสายผสม, และวงเครื่องสายปี่ชวา
วงมโหรี-วงดนตรีไทยรูปทรงที่สามนี้ เรียกกันทั่วไปแต่โบราณกาลเมื่อมีการบรรเลงเกิดขึ้นว่า มโหรีเครื่องสาย และ มโหรีปี่พาทย์ มาถึงยุคปัจจุบันใช้เรียกวงดนตรี ที่นำเอาเครื่องดนตรี ทั้งดีด สี ตี เป่า มารวมกันไว้ในการบรรเลง
ดังนั้น วงมโหรี ก็คือ วงเครื่องสายและวงปี่พาทย์รวมกัน แบ่งเป็น วงมโหรีเครื่องสี่, วงมโหรีเครื่องหก, วงมโหรีเครื่องเดี่ยว, เครื่องเล็ก, เครื่องคู่
สมัยรัชกาลที่ 1 แม้บ้านเมืองไม่ว่างศึกสงคราม แต่ศิลปวัฒนธรรมของไทยก็ได้รับการทำนุบำรุงทั้งในด้านการละครและในด้านดนตรีไทยขนาดของวงดนตรีไทยสมัยนั้นเป็นวงเล็กๆ เช่น วงปี่พาทย์เครื่องห้า มีระนาดเอก ปี่ และฆ้องวงใหญ่ เป็นองค์ประกอบสำคัญของวง
บรูศ แกสตัน เป็นคนหนึ่งที่เรียนระนาดเอก โดยหัดระนาดเอกกับ ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ และหัด ปี่พาทย์รอบวงกับ ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ อดีตศิษย์เอกของ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
ในสมัยรัชกาลต่อมา แม้องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ก็ปรากฏพระราชประวัติว่า ทรงสีซอสามสายได้เป็นเลิศ มีซอคู่พระหัตถ์เรียกว่า ซอสายฟ้าฟาด และมีเพลงพระราชนิพนธ์ชื่อเพลง บุหลันลอยเลื่อน
และในราชสำนัก ยังมีเจ้าจอมมารดาไม่น้อยกว่า 3 ท่าน เชี่ยวชาญการดนตรีและนาฏศิลป์ รวมทั้ง เจ้าจอมมารดาศิลา ต้นราชสกุลกุญชร ซึ่งโดยเฉพาะ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ถือเป็นแบบฉบับการขับร้อง และการแสดงละครสืบทอดกันมาถึง 4 ชั่วคน จนถึง พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ เจ้าพระยาเทวเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เจ้ากรมมหรสพสมัยรัชกาลที่ 5 ณ วังของท่าน คือ วังบ้านหม้อ ซึ่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางดนตรีและนาฏศิลป์ไทยยาวนานร่วมร้อยปี
สมัยรัชกาลที่ 3 แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยมีระนาดทุ้มเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง ใช้ตีคู่กับระนาดเอก และเป็นที่เข้าใจว่า ฆ้องวงเล็ก เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ด้วย
จากนี้ วงปี่พาทย์เครื่องห้า, วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาในรัชกาลที่ 4 มีการหัดการดนตรีกันมากทั้งชายและหญิง การบรรเลงมโหรีก็ขยายตัวจากเดิมเล่นกันระหว่าง 4-6 คนกลายเป็น 9-14 คน
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นี้เอง ปรากฏมีนักดนตรีเอกหลายท่าน รวมทั้ง พระประดิษฐ์ไพเราะ (ครูมี-แขก) ซึ่งได้แต่งเพลงเอกหลายเพลง ทั้งเพลงแขกมอญ, เพลงแขกบรเทศ, เพลงพญาโศก, เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง ฯลฯ และมี ครูช้อย สุนทรวาทิน ผู้เป็นเจ้าของเพลงใบ้คลั่ง, เพลงเขมรโพธิสัตว์ ฯลฯ
ในด้านการละครสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มมี การแสดงละครชายจริง-หญิงแท้ ปรากฏเป็นครั้งแรก ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดนตรีไทยได้พัฒนารูปแบบขึ้นอีกหลายชนิด ที่สำคัญก็ได้แก่ การประชันฝีมือทางดนตรีในงานสำคัญต่างๆ นับตั้งแต่ งานโกนจุก, งานฉลองอายุ และแม้กระทั่งงานศพ
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเป็นนักประพันธ์เพลงไทย และเป็นเจ้าของเพลง เขมรไทรโยค ในปี 2431
วงมโหรีเครื่องสายเครื่องใหญ่ ใช้คนเล่น 20 คนขึ้นไป เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ พร้อมทั้งมีการรับเครื่องดนตรีฝรั่งเข้ามาผสม เช่น เครื่องสายผสมหีบเพลงชัก, ไวโอลิน, เปียโนและออร์แกน
ถึงตอนนี้หลายท่านก็คงต้องคิดถึง วงดนตรีปัจจุบันที่ชื่อ วง ฟองน้ำ อันเป็นวงดนตรีผสมผสานดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก ก่อตั้งโดยนักดนตรีเอกของกรุงรัตนโกสินทร์สองท่านคือ บุญยงค์ เกตุคง และบรูศ แกสตัน ในปี 2522
บรูศ แกสตัน เล่าว่า การก่อตั้งวงฟองน้ำ ยังมี คุณจิรพรรณ อังศวานนท์ เข้าร่วมด้วย ก่อนจะมีนักดนตรีไทยและนักดนตรีสากลมาร่วมหลากหลายแขนง
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่การดนตรีไทย ทรง
เอาพระทัยใส่ในทุกข์สุข และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ให้นักดนตรีไทยอยู่ดีกินดี มีชื่อเสียงเกียรติยศ ได้รับพระราชทานนามสกุล บรรดาศักดิ์อันบ่งบอกถึงความสามารถทางดนตรี เป็นยุคทองของการดนตรีไทยโดยแท้
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นนักดนตรีเอกของไทย ในรัชกาลที่ 7 เป็นเจ้าของเพลงไทยที่มีชื่อ เช่น กระต่ายชมเดือนเถา, ครวญหา, ชมแสงจันทร์, พราหมณ์ดีดน้ำเต้า, อะแซหวุ่นกี้, ขะแมร์กอฮอม, โอ้ลาว เป็นต้น
นอกจากนี้คุณหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ยังเป็นผู้นำเข้า อังกะลุง เครื่องดนตรีของอินโดนีเซีย เข้ามาบรรเลงในสยามประเทศเป็นครั้งแรก
รวมทั้งยังมีนักดนตรีเอกเช่นนายมนตรี ตราโมท ชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้เชี่ยวชาญการประพันธ์บทเพลง และบทร้อง เช่น โสมส่องแสงเถา, นางครวญเถา, นกขมิ้นเถา, พระจันทร์ครึ่งซีกเถา เป็นต้น
วิวัฒนาการทางด้านเครื่องเสียงปรากฏมี ห้างผลิตแผ่นเสียงของเอกชนเกิดขึ้น รวมทั้ง ร้านแผ่นเสียง นาย ต.เง็กชวน บางลำพู และมีการประดิษฐ์โน้ตเพลงหลายรูปแบบ ทั้งโน้ตซอ โน้ตจะเข้ ของร้านดุริยบรรณ เป็นต้น
ถึงยุคสมัยรัชกาลปัจจุบัน นับแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา การดนตรีไทยขยายตัวมาก โดยเฉพาะในส่วนของการศึกษา ได้รับการส่งเสริมทั้งระดับประถม มัธยม จนถึงเตรียมอุดมศึกษา แพร่ขยายจากโรงเรียนนาฏศิลป์ไปสู่โรงเรียนและสถาบันทั่วราชอาณาจักร มีทั้งการประชุมบรรเลงเพลงประจำปี การประกวดขับร้องเพลง ประกอบกับการกำเนิดของวงการโทรทัศน์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ดนตรีไทยได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นอันมาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระนิพนธ์บทร้องเพลงไทยหลายบท เช่น เพลงปลาทอง, เพลงส้มตำ, เพลงเต่ากินผักบุ้ง และเพลงไทยดำเนินดอย เป็นต้น
ในส่วนของพระราชวงศ์จักรีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมบทเพลงบันทึกเป็นโน้ตสากล พิมพ์ออกเผยแพร่โดยกรมศิลปากร พระองค์ทรงรอบรู้เรื่องดนตรีและทรงดนตรีได้หลายชนิด เช่น แซกโซโฟน คลาริเนท เทมพเลท กีตาร์ และเพียโน ทรงโปรดดนตรีแจซซ์ และทรงพระราชนิพนธ์เพลงที่มีความหมายและไพเราะหลายเพลง
โดยทรงพระราชนิพนธ์ เพลงแสงเทียน เป็นเพลงแรก ต่อมาก็มีเพลงสายฝน ยามเย็น ใกล้รุ่ง ลมหนาว ยิ้มสู้ ค่ำแล้ว ไกลกังวล ความฝันอันสูงสุด และเราสู้ หรือจะเป็นพรปีใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวไทย
บรูศ แกสตัน เห็นว่าเพลงไทยมีโครงสร้างที่เปิด มีการอิมโพรไวส์บรรเลงกันสดๆ เป็นแก่นสำคัญ และให้เหตุผล 2 ประการต่อการประทับใจดนตรีไทย คือเป็นการท้าทายในชีวิต ด้วยความอยากรู้บรรดาเพลงโบราณที่กำลังจะสูญหาย ซึ่งโชคดีได้เจอครูบาอาจารย์หลายท่านที่มีวิชา โดยเฉพาะบทเพลงยาวๆ ของเพลงไทยนั้นถือว่า มีคุณค่ามาก แสดงออกถึงความคิดอันลึกซึ้ง และละเอียดอ่อน
การนำเพลงไทยมาเป็นศิลปะร่วมสมัย ก็เป็นการท้าทายเช่นกัน ซึ่งส่วนมากตนก็จะสร้างเพลงอยู่ภายใต้วิถีแนวคิดของคนโบราณ ด้วยต้องการที่จะปฏิวัติดนตรีไทยให้เป็นดนตรีร่วมสมัย
ABOUT THE AUTHOR
ส
สยาม เมืองยิ้ม
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : ทั่วไป