รถใหม่
คงจะคุ้นเคยกันดีแล้วกับชื่อ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) แม้ว่ายักษ์ใหญ่เมืองยุ่นเพิ่งนำรถไฮบริดชื่อนี้เข้ามาผลิตจำหน่ายในบ้านเราได้ไม่กี่เดือน และยังไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นรถประหยัดเชื้อเพลิงแบบนี้วิ่งโฉบเฉี่ยวอยู่ตามท้องถนนอันคลาคล่ำไปด้วยรถสารพัดชนิดของเรา
รถไฮบริดพิชิตใจวัยโจ๋
TOYOTA PRIUS C CONCEPT
คงจะคุ้นเคยกันดีแล้วกับชื่อ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) แม้ว่ายักษ์ใหญ่เมืองยุ่นเพิ่งนำรถไฮบริดชื่อนี้เข้ามาผลิตจำหน่ายในบ้านเราได้ไม่กี่เดือน และยังไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นรถประหยัดเชื้อเพลิงแบบนี้วิ่งโฉบเฉี่ยวอยู่ตามท้องถนนอันคลาคล่ำไปด้วยรถสารพัดชนิดของเรา
ที่จริงแล้วประวัติความเป็นมาของรถไฮบริด โตโยตา ปรีอุส สามารถย้อนหลังไปได้ไกลกว่า 1 ทศวรรษ โครงการผลิตรถแบบนี้เริ่มต้นขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี 1990 และเป้าหมาย คือ การผลิตรถซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ต่ำเพียง 20 กม./ลิตร หรือเพียงครึ่งเดียวของรถขนาดเดียวกันแบบอื่นๆ ในขณะนั้น โครงการดังกล่าวใช้เวลายาวนานหลายปี เพราะต้องรอถึงเดือนธันวาคม 1997 นั่นแหละ โตโยตา ปรีอุส รุ่นแรก จึงออกจำหน่ายในเมืองปลาดิบ พร้อมคำประกาศว่าเป็นรถไฮบริดแบบแรกของโลกที่ผลิตจำหน่ายในลักษณะ "มวลผลิต" หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า MASS-PRODUCED HYBRID CAR รถรุ่นดังกล่าวใช้เครื่องยนต์ DOHC 4 สูบเรียง 1,496 ซีซี 58 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย (วัดตามมาตรฐาน 10.15 MODES ของญี่ปุ่น) ที่ต่ำเพียง 28.0 กม./ลิตร ในปีแรกที่ออกขายรถรุ่นดังกล่าวก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็น JAPAN CAR OF THE YEAR หรือ "รถแห่งปีของญี่ปุ่น" ประจำปี 1997-1998
ความสำเร็จของรถรุ่นแรกนำมาซึ่งรถรุ่นที่ 2 ในปี 2004 และรถรุ่นที่ 3 ในปี 2009 ซึ่งก็เช่นเดียวกับรถรุ่นแรก คือ ได้รับตำแหน่ง JAPAN CAR OF THE YEAR หรือ "รถแห่งปีของญี่ปุ่น" ประจำปี 2009-2010
ตามตัวเลขที่เผยแพร่ในเวบไซท์ www.toyota.com รถไฮบริด โตโยตา ปรีอุส ทำยอดขายครบ 1 ล้านคันแรก เมื่อปี 2008 และใช้เวลาเพียง 2 ปี หลังจากนั้น คือ ในปี 2010 ยอดขายก็ผ่านหลัก 2 ล้านคัน ตลาดใหญ่ที่สุดของรถแบบนี้ คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งยอดขายเมื่อสิ้นปีเสือดุผ่านหลัก 955,000 คันไปแล้ว (ปี 2009 ขายได้ 139,682 คัน ปี 2010 ขายได้ 140,928 คัน) รองลงไป คือ ญี่ปุ่น และยุโรป
บอกเล่าเก้าสิบเกี่ยวกับ โตโยตา ปรีอุส ซะยืดยาว เพราะเดือนนี้ "ระเบียงรถใหม่" มีเรื่องราวของรถไฮบริดติดป้ายชื่อ โตโยตา ปรีอุส มาเล่าสู่กันฟังอีก 3 แบบ ในจำนวนนี้ 2 แบบ เป็นรถใหม่ ซึ่งเพิ่งอวดตัวในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุด ซึ่งเพิ่งปิดฉากไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม 2011 นี่เอง
เริ่มต้นด้วย โตโยตา ปรีอุส ซี คอนเซพท์ (TOYOTA PRIUS C CONCEPT) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัด อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า SUB-COMPACT CAR ซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาดที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นบอกว่า จะนำออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งแรกของปี 2012
จนถึงขณะนี้ โตโยตา ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิคใดๆ ของรถแนวคิด และรถตลาดแบบที่ว่า เพียงแต่บอกว่าเป็นรถที่มีผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีห้องโดยสารที่กว้างขวาง แต่มีค่าตัวย่อมเยา และประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงกว่ารถไฮบริดประเภทเดียวกัน (รถไฮบริดที่ไม่ต้องเสียบสายเพื่อประจุไฟแบทเตอรี อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า NON-PLUG-IN HYBRID) ทุกรุ่น ทุกแบบ จะประหยัดเชื้อเพลิงกว่ารถ โตโยตา ปรีอุส รุ่นปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 21.8 กม./ลิตร เมื่อวิ่งในเมือง และ 20.4 กม./ลิตร วิ่งบนทางหลวง รวมทั้งบอกด้วยว่า รหัส C ในชื่อรถ ย่อมาจาก CITY หรือ นาคร
นับเป็นรถแนวคิดที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อมวลชนสายรถยนต์ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป สื่อบางรายในเมืองมะกันวิจารณ์รูปทรงองค์เอวตัวถังว่า เมื่อมองในบางมุม จะดูเหมือนกบการ์ตูน (CARTOON FROG) และเห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะการออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากรถ เรอโนลต์ เมกาน (RENAULT MEGANE) ซึ่งเป็นรถแฮทช์แบคยอดนิยมของฝรั่งเศส แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัย ก็คือ จะสามารถจำหน่ายในราคาย่อมเยาได้จริงหรือ ?
ทางเลือกใหม่ของไฮบริดพันธุ์ยุ่น
TOYOTA PRIUS V
รถอีกแบบหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุด เป็นรถที่กำลังจะออกจำหน่ายในตลาด โดยติดป้ายชื่อ โตโยตา ปรีอุส วี (TOYOTA PRIUS V) โดยที่รหัส V ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นบอกว่า ย่อมาจาก VERSATILITY ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า การยักย้ายถ่ายเทใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ในภาษาไทย
เป็นรถที่พัฒนาจากรถไฮบริด โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) รุ่นปัจจุบัน โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในหลายๆ จุด หน้าตาและรูปทรงองค์เอวตัวถังโดยเฉพาะส่วนหน้า เหมือนหล่อจากพิมพ์เดียวกับรถ โตโยตา ปรีอุส ที่คุ้นเคยกันดี พูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนเอาตัวถังของรถ โตโยตา ปรีอุส มาเปลี่ยนเฉพาะส่วนท้าย เพื่อให้กลายสภาพจากรถแฮทช์แบคเป็นรถตรวจการณ์ แต่ผู้รังสรรค์ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อเวบไซท์ว่า ไม่ได้ทำอะไรง่ายๆ อย่างนั้น ตัวถังของรถไฮบริดตรวจการณ์ โตโยตา ปรีอุส วี เป็นตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า DESIGNED FROM THE GROUP UP โดยใช้รูปทรงองค์เอวที่ "วิวัฒน์" จากรถ โตโยตา ปรีอุส หน้าตาจึงดูคล้ายๆ กัน ไม่ใช่เหมือนกัน
ตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดดังที่ว่านั้น มีขนาดโตกว่ารถ โตโยตา ปรีอุส ในทุกมิติ กล่าวคือ ความยาวตัวถังเพิ่มจาก 4.460 เป็น 4.615 ม. คือ ยาวขึ้น 15.5 ซม. ในขณะที่ความกว้างเพิ่มจาก 1.745 เป็น 1.775 ม. คือ กว้างขึ้น 3.0 ซม. และขนาดความสูงเพิ่มจาก 1.490 เป็น 1.575 ม. คือ สูงขึ้น 8.5 ซม. ที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน คือ ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบ คือ เพิ่มจาก 0.25 เป็น 0.29 ที่เปลี่ยนแปลงในทางบวกและน่าจะเป็นจุดขายสำคัญ คือ ห้องเก็บของท้ายรถที่จุถึง 970 ลิตร คือ จุมากขึ้นถึงร้อยละ 50 และจุที่สุดเมื่อเทียบกับรถไฮบริดประเภทเดียวกัน ทุกรุ่นทุกแบบที่มีขายอยู่ในเมืองมะกันขณะนี้
ห้องโดยสารที่นั่งได้รวม 5 คน เป็นผลลัพธ์ของแนวคิดการออกแบบที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาวซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เก้าอี้ที่นั่งแถวหลัง ซึ่งแบ่งส่วนในลักษณะ 60:40 สามารถพลิกแพลงยักย้ายได้ 4 แบบ รวมทั้งสามารถปรับมุมพนักพิงได้ถึง 45 องศา และพับราบลงกับพื้นได้ เมื่อต้องการเพิ่มพื้นที่การบรรทุกสัมภาระ เก้าอี้ของผู้โดยสารในแถวหน้าก็พับราบได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งในห้องโดยสารที่ไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนในรถติดป้ายยี่ห้อ โตโยตา แบบใดๆ คือ MOONROOF หรือหน้าต่างหลังคาพร้อมม่านบังแสงที่บังคับควบคุมการเปิด/ปิดด้วยการกดปุ่ม มีน้ำหนักตัวเบากว่าหน้าต่างหลังคาที่ทำด้วยแผ่นกระจกถึงร้อยละ 40 แถมป้องกันความร้อนได้ดีเยี่ยม
ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าแบบไฮบริด ยกชุดมาจากรถ โตโยตา ปรีอุส รุ่นปัจุบันที่เพิ่งมีจำหน่ายในบ้านเรา คือ ใช้เครื่องยนต์ DOHC 4 สูบเรียง 1,797 ซีซี 98 แรงม้า (SAE-NET) ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 60 กิโลวัตต์/80 แรงม้า ซึ่งรับพลังไฟจากแบทเตอรีนิคเคิล-เมทัล ไฮดไรด์ (NICKEL-METAL HYDRIDE) ขนาด 650 โวลท์ ให้กำลังรวมสูงสุด 134 แรงม้า
เป็นระบบขับแบบไฮบริดที่สามารถเลือกลักษณะการขับขี่ได้ถึง 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพถนนและรสนิยมของผู้ขับ คือ NORMAL ซึ่งเป็นการขับในสภาพปกติ POWER เป็นการขับที่เน้นสมรรถนะความเร็ว ECO เป็นการขับที่เน้นความประหยัด และ EV เป็นการขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเครื่องยนต์ไม่ทำงาน
ในด้านความปลอดภัยก็ไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง เพราะเป็นรถที่มีห้องโดยสารแข็งแรง มีพร้อมทั้งคานและชิ้นส่วนตามขวางเพื่อดูดซับแรงกระแทก รวมทั้งเก้าอี้ที่นั่งที่ออกแบบเพื่อลดอาการบาดเจ็บที่คอมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนั้นยังติดตั้งระบบถุงลมนิรภัยไว้ถึง 7 ชุด
เป็นรถที่ผู้ผลิตยืนยันว่า ประหยัดกว่ารถตรวจการณ์และรถกิจกรรมกลางแจ้งทุกรุ่นทุกแบบที่มีขายในเมืองมะกันขณะนี้ โดยระบุอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไว้ 3 ตัว คือ 17.8 กม./ลิตร เมื่อขับขี่ในเมือง 16.1 กม./ลิตร เมื่อขับขี่บนทางหลวง และ 17.0 กม./ลิตร เป็นค่าเฉลี่ย
รถไฮบริดที่ต้องติดปลั๊กไฟ
TOYOTA PRIUS PLUG-IN HYBRID
รถไฮบริดที่มีขายอยู่ในโลกปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นรถไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน คือเครื่องยนต์เบนซิน หรือเครื่องยนต์ดีเซล ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่รับพลังไฟจากแบทเตอรี ซึ่งติดตั้งอยู่ในตัวรถ
รถไฮบริดที่กล่าวข้างต้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นรถไฮบริดอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า NON-PLUG-IN HYBRID เป็นรถที่ใช้แบทเตอรีประเภทไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อเติมไฟ คือ ใช้ไปได้เรื่อยๆ จนกว่าจะหมดอายุการใช้งาน ซึ่งอาจจะยาวนานถึง 10 ปี หรือนานกว่านั้น การเติมหรือประจุไฟเข้าแบทเตอรีจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เมื่อเหยียบห้ามล้อ และมีการเปลี่ยนพลังงานจลน์เป็นพลังงานไฟฟ้า ตัวอย่างของรถไฮบริดประเภทนี้ที่ผู้ใช้รถในบ้านเรา น่าจะรู้จักกันดีก็คือ รถ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) และ โตโยตา แคมรี ไฮบริด (TOYOTA CAMRY HYBRID)
ประเภทที่ 2 เป็นรถไฮบริดอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า PLUG-IN HYBRID เป็นรถติดตั้งแบทเตอรีประเภทที่ต้องมีการเสียบปลั้กเพื่อประจุไฟอยู่บ่อยๆ เพราะวิ่งได้ไม่นาน คือ ไม่กี่สิบหรือกี่ร้อยกิโลเมตร
แบทเตอรีก็จะไฟหมด การเสียบปลั๊กเพื่อประจุไฟเข้าแบทเตอรีดังกล่าวนี้ สามารถทำได้ทั้งด้วยไฟบ้าน 110 หรือ 220 โวลท์ หรือด้วยระบบไฟแรงสูงที่จัดทำไว้เป็นพิเศษ รถไฮบริดประเภทหลังนี้ ยังไม่มีขายในเมืองไทย ถ้ามีขายเมื่อไร ? สิ่งที่ผู้ใช้ต้องจดจำไว้ให้ดี ห้ามลืมเป็นอันขนาด ก็คือ ต้องอย่าลืมจ่ายค่าไฟให้แก่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนโดน "ตัดไฟ" ตราบเท่าที่ทั้งสองการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนี้
ยังคิดหาวิธีการอื่นๆ ที่ดีกว่า และประชาชีผู้ใช้ไฟเดือดร้อนน้อยกว่าการ "ตัดไฟ" ไม่ได้ หรือยังไม่ยอมคิดโตโยตา ปรีอุส พลัก-อิน ไฮบริด (TOYOTA PRIUS PLUG-IN HYBRID) ที่เห็นอยู่นี้ คือ ตัวอย่างที่ดีของรถไฮบริดประเภทที่ 2 รถแบบนี้ ยังไม่มีจำหน่ายในตลาด แต่อยู่ระหว่างการพัฒนา และมีรถอยู่ประมาณ 150 คัน ที่กำลังทดลองวิ่งใช้งานอยู่ในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายของรถแบบนี้
พัฒนาจากรถไฮบริด โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) รุ่นที่ 3 ที่เพิ่งเข้ามาผลิตจำหน่ายในบ้านเราเมื่อปลายปีเสือ โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดของระบบขับแบบไฮบริดในบางจุด เพื่อให้เปลี่ยนสภาพจากรถไฮบริด ชนิด NON-PLUG-IN HYBRID เป็นรถไฮบริด ชนิด PLUG-IN HYBRID ตามชื่อ เครื่องยนต์ที่ใช้ยังคงเป็นเครื่อง DOHC 4 สูบเรียง 1,798 ซีซี 98 แรงม้า เครื่องเดิม มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ก็ยังเป็นมอเตอร์ 60 กิโลวัตต์/80 แรงม้า เหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไป คือ แบทเตอรี ซึ่งเปลี่ยนจากแบทเตอรี นิคเคิล-เมทัล ไฮดไรด์ (NICKEL-METAL HYDRIDE) เป็นแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ที่สามารถประจุไฟด้วยไฟบ้าน 110 โวลท์ โดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และใช้เวลาแค่ครึ่งเดียว เมื่อเป็นไฟ 220 โวลท์ ประจุไฟ
เต็มหม้อแต่ละครั้งและวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว รถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 20 กม. ด้วยความเร็วสูงสุด 96 กม./ชม.เนื่องจากมีรถไฮบริด โตโยตา ปรีอุส มากกว่า 1 แบบนี้เอง โตโยตา ในสหรัฐอเมริกา จึงร่วมมือกับบริษัทโฆษณา SAATCHI & SAATCHI LA จัดโครงการรณรงค์ทางการตลาด ภายใต้ชื่อ PRIUS GOES PLURAL หรือ "พหูพจน์ของปรีอุส" ขึ้นเมื่อต้นปีกระต่าย โดยให้ผู้ใช้รถเมืองมะกันร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านเฟศบุค Toyota.com/priusfamily และเวบไซท์ www.toyotapriusprojects.com ว่า พหูพจน์ของชื่อ PRIUS ควรใช้คำอะไร ? โดยเสนอให้เลือกรวม 5 คำ คือ PRIUS PRIUSES PRII PRIEN และ PRIUS และบอกว่าจะประกาศผลในวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2011
ปรากฏว่าในช่วงเวลาเพียง 6 สัปดาห์ มีผู้ร่วมลงคะแนนมากกว่า 1.8 ล้านราย และคำที่โดนใจผู้เลือกมากที่สุด คือ PRII ซึ่งมีผู้เลือกรวมร้อยละ 25 รองลงไป คือ PRIUS ร้อยละ 24 PRIUSES ร้อยละ 20 PRIEN ร้อยละ 18 และ PRIUM ร้อยละ 13 จึงสรุปได้ว่า คำพหูพจน์ของ PRIUS คือ PRII
เอมพีวีพันธุ์ยุ่นเมดอินยูเอสเอ
HONDA ODYSSEY
เดือนนี้ "ระเบียงรถใหม่" นำเสนอเรื่องราวของรถใหม่ 2 สัญชาติ คือ รถญี่ปุ่นกับรถเกาหลี ที่ผ่านตาไปแล้ว 3 แบบ 3 คัน ล้วนเป็นรถญี่ปุ่นของค่ายยักษ์ใหญ่ และทุกคันเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮบริด ส่วนคันที่ 4 ที่เห็นอยู่นี้ ก็เป็นรถสัญชาติญี่ปุ่นเช่นกัน แต่เป็นผลงานของยักษ์รอง ฮอนดา มอเตอร์ (HONDA MOTOR) เป็นรถญี่ปุ่นที่ไม่มีจำหน่ายในญี่ปุ่น และเป็นรถที่ขับด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ด้วยระบบไฮบริด ป้ายชื่อที่ติดหราอยู่ตรงบั้นท้าย คือ HONDA ODYSSEY ซึ่ง "ฟอร์มูลา" ชอบที่จะเขียนเป็นคำไทยว่า ฮอนดา ออดิสซีย์
รถอเนกประสงค์ ฮอนดา ออดิสซีย์ ที่มีขายอยู่ในบ้านเราขณะนี้ เป็นรถรุ่นที่ 3 เริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2003 ส่วนรถชื่อเดียวกันที่นำมาให้ชื่นชมในเดือนนี้ เป็นรถรุ่นที่ 4 และเป็นเวอร์ชันที่ออกแบบสำหรับตลาดอเมริกาเหนือโดยเฉพาะ มีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวแตกต่างจากรถ ฮอนดา ออดิสซีย์ รุ่นที่ 4 ที่เริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม 2008
ในข่าวสารประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อเวบไซท์ ยักษ์รองเมืองยุ่น ระบุว่า แม้ติดยี่ห้อญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้ว ฮอนดา ออดิสซีย์ รุ่นนี้ คือ รถอเมริกันพันธุ์แท้ เพราะทุกขั้นตอนของการออกแบบ การกำหนดคุณสมบัติทางวิศวกรรม และการประกอบเป็นคัน ล้วนกระทำในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นจนจบ ยิ่งกว่านั้น ยักษ์รองของเมืองยุ่น ใช้คำว่า MADE BY ODYSSEY OWNERS FOR ODYSSEY OWNERS หรือ "ผลิตโดยเจ้าของรถ ออดิสซีย์ เพื่อเจ้าของรถ ออดิสซีย์"
โดยให้อรรถาธิบายว่า วิศวกร และดีไซจ์เนอร์ ผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบรถรุ่นนี้หลายคน ล้วนเป็นผู้ที่เคยใช้รถ ฮอนดา ออดิสซีย์ มาอย่างยาวนาน ประสบการณ์ และความคาดหวังต่างๆ จึงปรากฏอยู่อย่างเพียบพร้อมในรถรุ่นใหม่นี้
ตัวถังทรง 2 กล่อง ยาว 5.154 ม. กว้าง 2.011 ม. และสูง 1.737 ม. มีประตูข้างบานหลัง เป็นประตูเลื่อนเหมือนรถตู้ทั่วๆ ไป ระบบเปิด/ปิดประตูมีให้เลือก 2 แบบ คือ เปิด/ปิดด้วยมือ หรือเปิด/ปิดด้วยระบบไฟฟ้า ภายในห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 7 หรือ 8 คน เก้าอี้แถวหน้ามีระบบไฟฟ้าซึ่งทำให้สามารถปรับเก้าอี้ได้โดยอัตโนมัติถึง 10 แบบ
เริ่มการผลิตที่โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอลาบามา เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2010 และเริ่มออกโชว์รูมในเมืองมะกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 กันยายน ปีเดียวกัน ในฐานะรถรุ่นปีโมเดล 2011 โดยมีรถให้ลูกค้าเลือกใช้รวม 7 โมเดล ได้แก่
HONDA ODYSSEY LX
HONDA ODYSSEY EX
HONDA ODYSSEY EX-L
HONDA ODYSSEY EX-L WITH RES
HONDA ODYSSEY EX-L WITH NAVI
HONDA ODYSSEY TOURING
HONDA ODYSSEY TOURING ELITE
ทุกโมเดลติดตั้งเครื่องยนต์ SOHC วี 6 สูบ 3,471 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 248 แรงม้า (SAE-NET) ที่ 5,700 รตน. ระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้า รถ 5 โมเดลแรก ใช้เกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ ส่วน 2 โมเดลหลัง นับเป็นรถ ฮอนดา โมเดลแรกในประวัติศาสตร์ที่ติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
รถทุกโมเดลมีสีตัวถังให้เลือกใช้รวม 8 สี คือ สีขาว (TAFFETA WHITE) สีเงิน (ALABASTER SILVER METALLIC) สีฟ้า (CELESTIAL BLUE METALLIC) สีเทา (POLISHED METAL METALLIC) สีดำ (CRYSTAL BLACK PEARL) สีน้ำตาล (SMOKY TOPAZ METALLIC) สีแดง (DARK CHERRY PEARL) และ สีครีม (MOCHA METALLIC) ส่วนสีห้องโดยสารมีให้เลือกรวม 3 สี คือ สีครีม (BEIGE) สีเทา (GRAY) และ สีน้ำตาล (TRUFFLE)
สนนราคาค่าตัวขายปลีกที่ผู้ผลิตกำหนด หรือ MSRP (MANUFACTURER'S SUGGESTED RETAIL PRICE) ซึ่งเป็นราคาไม่รวมภาษี และอาจจะสูงหรือต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริงก็ได้ เริ่มต้นที่ 27,800 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 0.86 ล้านบาทไทย ในโมเดลพื้นฐาน ไปจนถึง 43,250 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 1.34 ล้านบาทไทย ในรถโมเดลหัวกะทิ
มิติใหม่ของเอสยูวีเมืองมะกัน
NISSAN MURANO CROSSCABRIOLET
รถสายพันธุ์ญี่ปุ่นคันสุดท้ายที่นำเสนอในเดือนนี้ เป็นผลงานของยักษ์รอง นิสสัน มอเตอร์ และเป็นผลงานใหม่ที่รังสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตลาดอเมริกาเหนือ เช่นเดียวกับรถอเนกประสงค์ ฮอนดา ออดิสซีย์ (HONDA ODYSSEY) รุ่น เมดอินยูเอสเอ ที่เพิ่งผ่านตาไปสดๆ ร้อนๆ
อวดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ลอสแองเจลิสในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเสือดุ โดยติดป้ายชื่อ NISSAN MURANO CROSSCABRIOLET ซึ่งคงไม่ผิดกติกาอะไรหากเขียนเป็นภาษาไทยว่า นิสสัน มูราโน ครอสส์กาบริโอเลต์ พร้อมคำยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะเริ่มออกโชว์รูมในเมืองมะกันตอนต้นปี 2011
เป็นรถที่ยักษ์รองเมืองยุ่น นั่งยันยืนยันและนอนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็น THE WORLD'S FIRST ALL-WHEEL DRIVE CROSSOVER CONVERTIBLE หรือ "รถกิจกรรมกลางแจ้งที่มีโครงสร้างตัวถังแบบรถเก๋ง มีหลังคาเปิดประทุน และใช้ระบบขับทุกล้อ แบบแรกของโลก" อัล คาสติเญตตี (AL CASTIGNETTI) รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไปของ นิสสัน นอร์ธ อเมริกา (NISSAN NORTH AMERICA,INC.) บอกแก่สื่อมวลชนในการเปิดตัวที่กล่าวข้างต้นว่า "เมื่อผู้คนนึกถึงรถกิจกรรมกลางแจ้งประเภทที่เรียกกันว่ารถครอสส์โอเวอร์ พวกเขาจะนึกถึงการผสมผสานกัน ระหว่างความเพลิดเพลินใจของการขับขี่รถเก๋งซีดาน กับประโยชน์ใช้สอยของรถกิจกรรมกลางแจ้ง รถแบบใหม่ของเรา คือ นิสสัน มูราโน ครอสส์กาบริโอเลต์ เติมส่วนผสมส่วนที่ 3 ซึ่งไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน นั่นคือ ความสามารถที่ทำให้การขับขี่ในชีวิตประจำวันทวีความตื่นเต้น ด้วยการขับขี่แบบเปิดหลังคา"
ตัวถังของรถกิจกรรมกลางแจ้งเปิดประทุน นิสสัน มูราโน ครอสส์กาบริโอเลต์ (NISSAN MURANO CROSSCABRIOLET) ดัดแปลงจากตัวถังหน้าตาคล้ายๆ กันของรถกิจกรรมกลางแจ้ง หลังคาแข็ง นิสสัน มูราโน (NISSAN MURANO) ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 และเริ่มจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน 2008 โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมาย ตัวอย่าง คือ การลดจำนวนประตูข้างจาก 4 เหลือ 2 และใช้ประตูที่กว้างกว่าเดิมถึง 20 ซม. เพื่อความสะดวกในการขึ้นลงรถของผู้โดยสารบนเบาะหลัง การตัดเสาค้ำยันหลังคาคู่กลาง ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า B-PILLARS ออกทั้งหมด ฯลฯ อย่างไรก็ตามจุดสำคัญที่สุดและเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของรถแบบใหม่นี้ คือ การเปลี่ยนหลังคา จากหลังคาแข็งเป็นหลังคาเปิดประทุนแบบอ่อน เปิด/ปิดด้วยการกดปุ่มจำนวน 2 ปุ่ม ปุ่มหนึ่งติดตั้งอยู่ในคอนโซลกลาง อีกจุดหนึ่งอยู่ตรงที่จับเปิดประตูด้านผู้ขับ การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้ ทำให้ขนาดความยาวตัวถังเพิ่มจาก 4.823 เป็น 4.829 ม. คือ ยาวขึ้น 0.6 ซม. ในขณะที่ความกว้างเพิ่มจาก 1.882 เป็น 1.892 ม. คือ กว้างขึ้น 1.0 ซม. และความสูงลดจาก 1.701 เป็น 1.681 ม. คือ เตี้ยลง 2.0 ม. ที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน คือ ค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางลบ คือ จาก 0.27 เป็น 0.29
ตรวจสอบในเวบไซท์ www.nissanusa.com ดูแล้วก็พบว่า ฤดูใบไม้ผลิของปีกระต่ายนี้ รถกิจกรรมกลางแจ้งเปิดประทุนแบบแรกของโลก จะออกโชว์รูมในเมืองมะกัน โดยไม่แยกโมเดล แต่จะมีรถให้เลือกใช้เพียงโมเดลเดียว และติดป้ายค่าตัว 46,390 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือเท่ากับประมาณ 1.44 ล้านบาทไทย หากในเวลานั้นเงินเหรียญสหรัฐ ฯ ยังแลกได้ด้วยเงินไทย 31 บาท เป็นราคาอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษของคนอเมริกันว่า MSRP หรือ MANUFACTURER'S SUGGESTED RETAIL PRICE ซึ่งเป็นราคาไม่รวมภาษี และใช่ว่าผู้ขายรถทุกรายในเมืองมะกันจำเป็นต้องยึดถือเป็นสรณะ
รถโมเดลที่ว่า ติดตั้งเครื่องยนต์ DOHC วี 6 สูบ 3,498 ซีซี (รหัสเครื่องยนต์ VQ35DE) ให้กำลังสูงสุด 265 แรงม้า (SAE-NET) ที่ 6,000 รตน. ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังเป็นเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง ซึ่งยักษ์รองของเมืองยุ่นตั้งชื่อว่า XTRONIC CVT เป็นรถที่มีสีตัวถังให้เลือกใช้รวม 6 สี คือ สีเขียว (CARIBBEAN) สีน้ำตาล (SUNSET BRONZE) สีแดง (MERLOT) สีขาว (GLACIER PEARL) สีดำ (SUPER BLACK) และ สีเทา (PLATINUM GRAPHITE) ส่วนสีภายในห้องโดยสารมีเพียง 3 สี คือ สีน้ำตาล (CAMEL) สีน้ำตาลอ่อน (CASHMERE) สีดำ (BLACK) และสีของประทุนหลังคามีให้เลือก 2 สี คือ สีครีม (BIEGE) กับสีดำ (BLACK)
เป็นรถที่ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสุขความสะดวกและความปลอดภัยไว้อย่างเพียบพร้อม ไม่มีความจำเป็นต้องแต้มเติมเสริมแต่งอะไรอีกแล้ว อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ONE FULLY EQUIPPED MODEL ดังนั้น ในขณะที่รถแบบอื่นๆ มักจะมีอุปกรณ์พิเศษเป็นเวอร์ชันให้เลือกใช้โดยเพิ่มเงินเขียนได้ยาวเหยียดหลายหน้ากระดาษ รถกิจกรรมกลางแจ้งเปิดประทุนแบบนี้จึงมีอุปกรณ์พิเศษให้เลือกใช้เพียง 2 รายการ แถมยังเสนอให้เลือกใช้ในตัวถังเพียงบางสีเท่านั้น รายการแรก คือ ห้องโดยสารสีน้ำตาล เบาะหุ้มหนังแท้คุณภาพพิเศษ และติดตั้งประทุนหลังคาสีดำ ส่วนรายการที่ 2 คือ ห้องโดยสารสีน้ำตาลอ่อน เบาะหุ้มหนังแท้คุณภาพพิเศษ และติดตั้งประทุนหลังคาสีน้ำตาล
สปอร์ทคูเปสุดเท่ที่ประตู
HYUNDAI VELOSTER
ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุด ซึ่งมีขึ้นในเมืองมะกันระหว่างวันที่ 10-23 มกราคม ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 ของเมืองโสม นำผลงานชิ้นใหม่ออกแสดงในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 ชิ้น ชิ้น 1 เป็นรถตลาดที่กำลังจะออกขาย อีกชิ้น 1 ยังเป็นเพียงรถแนวคิด "ระเบียงรถใหม่" เดือนนี้นำมาให้ชมทั้ง 2 ชิ้น ชิ้นแรกที่เห็นอยู่นี้ คือ ฮันเด เวโลสเตอร์ (HYUNDAI VELOSTER) เป็นรถคูเปขนาดเล็กกะทัดรัดที่จะเริ่มออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาตอนฤดูร้อนของปีกระต่าย ในฐานะรถรุ่นปีโมเดล 2012 และ 2-3 เดือนหลังจากนั้น จึงจะออกตลาดในหลายๆ ประเทศของทวีปยุโรป
เป็นรถที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองโสมใช้เวลาในการออกแบบและพัฒนายาวนานกว่ารถแบบอื่นๆ คือ เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2007 เป็นผลงานชิ้นที่ 6 ของโครงการ ซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า HYUNDAI'S 24/7 VERSION 2.0 PRODUCT INITIATIVE อันเป็นโครงการนำเสนอรถแบบใหม่ รวม 7 แบบ ในช่วงเวลาเพียง 24 เดือน รวมทั้งเป็นรถที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อตอบคำถามที่น่าสงสัยหลายๆ ข้อ ตัวอย่าง คือ ทำไมรถสปอร์ทคูเป จึงจะมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงระดับ 40 ไมล์/แกลลอน หรือ 17 กม./ลิตร ไม่ได้ ? ทำไมรถคูเปจึงจำเป็นต้องมีประตูด้านข้างแค่ 2 บาน ? ทำไมรถยนต์ไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้เหมือนอุปกรณ์อีเลคทรอนิคกระเป๋าหิ้ว ? ทำไมรถคูเปราคาย่อมเยาไม่สามารถเสนออุปกรณ์ระดับพรีเมียม ? ทั้งหมดนี้ไม่ได้ว่าเอง แต่ว่ากันตามข้อมูลซึ่งระบุในข่าวสารที่ยักษ์ใหญ่เมืองโสมเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ
ตัวถังยาว 4.219 ม. กว้าง 1.791 ม. สูง 1.400 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.32 ของ ฮันเด เวโลสเตอร์ มีลักษณะอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า ASYMMETRIC หรือ "อสมมาตร" คือ 2 ด้านมีลักษณะไม่เหมือนกัน เพราะด้านผู้ขับมีประตูข้างเพียงบานเดียว แต่ด้านผู้โดยสารมี 2 บานดังที่เห็นในภาพประกอบ เมื่อพูดถึงประตู ก็ต้องบอกไว้ด้วยตรงนี้ว่า
นอกจากประตูข้างซึ่งไม่เหมือนรถคูเปแบบใดๆ แล้ว ประตูบานท้ายของ ฮันเด เวโลสเตอร์ ก็แปลกไปจากรถคูเปแบบใดๆ คือ เป็นประตูบานโตที่เปิดได้จนเกือบครึ่งหนึ่งของหลังคา ดังที่เห็นได้อย่างชัดเจนในภาพประกอบเช่นกัน
รูปทรงองค์เอวของรถคูเป 4 ประตูคันนี้ ยักษ์ใหญ่เมืองโสมบอกว่า เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากจักรยานยนต์สมรรถนะสูง อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า SPORT BIKE โดยยกตัวอย่างว่า A-PILLARS หรือเสาค้ำหลังคาคู่หน้า ซึ่งเคลือบสีดำสนิทให้ความรู้สึกในกระบังหน้าของหมวกกันนอค ภายในห้องโดยสารมีช่องลมที่มีรูปลักษณ์เหมือนท่อไอเสีย และตรงกลางของแผงหน้าปัดอุปกรณ์มีรูปร่างเหมือนถังเชื้อเพลิงของรถเครื่อง
รุ่นที่กำลังจะออกจำหน่ายในเมืองมะกัน ติดตั้งเครื่องยนต์ฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,591 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 138 แรงม้า ที่ 6,300 รตน. ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้ามีให้เลือก 2 แบบ คือเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ เฉพาะระบบเกียร์แบบหลังนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีใช้ในรถติดป้ายยี่ห้อ HYUNDAI
เนื่องจากเป็นรถที่มี GENERATION Y หรือคนหนุ่มคนสาวซึ่งมีอายุ 18 ถึง 30 ปีเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ห้องโดยสารของ ฮันเด เวโลสเตอร์ จึงเพียบไปด้วยอุปกรณ์ ซึ่งเป็น "ของเล่น" ที่น่าจะถูกใจวัยโจ๋อยู่มากมาย ตัวอย่าง คือ PANDORINTERNET RADIO หรือการฟังวิทยุผ่านระบบอินเตอร์เนท และระบบ BLUETOOTH HANDS-FREE PHONE SYSTEM WITH VOICE RECOGNITION ซึ่งใช้งานได้อย่างสารพัดประโยชน์ และคนวัยดึกอาจจะคาดไม่ถึง
เป็นรถคูเปที่น่าจะเน้นสมรรถนะความเร็ว แต่ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่ใช่ สิ่งที่มาก่อนความเร็ว คือ ความประหยัด ด้วยเหตุนี้ ฮันเด เวโลสเตอร์ จึงมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่น่าทึ่งมาก คือ เมื่อติดตั้งระบบเกียร์คลัทช์คู่ 6 จังหวะ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเมื่อวิ่งบนทางหลวง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 40 ไมล์/แกลลอน หรือ 17 กม./ลิตร เท่านั้นเอง
คอนเซพท์คาร์ชาติหน้าหรือชาตินี้ ?
HYUNDAI CURB
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่หมายเลขหนึ่งของเมืองโสม นำออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาคือ ฮันเด เคิร์บ (HYUNDAI CURB) รถแนวคิดซึ่งยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่า ปีนี้หรือปีหน้า ? ชาตินี้หรือชาติหน้า ? จึงจะกลายสภาพเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบ
เป็นผลงานรังสรรค์ของศูนย์ออกแบบ HYUNDAI CALIFORNIA DESIGN CENTER ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเออร์ไวน์ (IRVINE) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเนื่องจากเป็นผลงานรถแนวคิดชิ้นที่ 12 ของศูนย์แห่งนี้ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ฮันเด เอชซีดี-12 (HYUNDAI HCD-12)
เป็นรถที่ออกแบบสำหรับผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาว ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษสไตล์อเมริกันว่า GENERATION Y หน้าตาและรูปลักษณ์โดยรวม เห็นได้ชัดว่าเป็นรถที่วิ่งได้ทั้งแบบ "เรียบ" และแบบ "ลุย" อย่างที่เรียกกันแบบกว้างๆ ว่า SUV (SPORT UTILITY VEHICLE) แต่ผู้รังสรรค์ไม่ยอมใช้คำนี้ แต่เลี่ยงไปเรียกว่า UAV ซึ่งย่อมาจาก URBAN ACTIVITY VEHICLE
ตัวถังซึ่งยาว 4.170 ม. กว้าง 1.800 ม. และสูง 1.600 ม. มีรูปทรงองค์เอวซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่ค่ายนี้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า FLUIDIC SCULPTURE หรือ "รูปทรงที่ลื่นไหล" (เหมือนนักการเมืองในประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ ?) มีบานกระจกหน้าที่เอียงลาด มีเส้นสะเอวค่อนข้างสูงจนเหลือพื้นที่หน้าต่างกระจกแคบนิดเดียว มี C-PILLARS หรือเสาค้ำยันคู่หลังที่เอียงลาดเหมือนเป็นรถคูเป และมีประตูข้างที่เปิดแยกจากกัน โดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง อย่างที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า SUICIDE DOOR หรือ "ประตูฆ่าตัวตาย" แต่นายใหญ่ของ "ฟอร์มูลา" นิยมเรียกว่า "ประตูตู้กับข้าว" แถมประตูบานหน้ามีขนาดกว้างกว่าบานหลังอย่างเห็นได้ชัด ที่ค่อนข้างไฮเทคแม้ว่าเคยพบกันมาบ้างแล้ว คือ การเปิดประตูทุกบานรวมทั้งประตูบานท้าย ไม่ต้องออกแรงกดปุ่ม หรือใช้มือจับใดๆ แต่ใช้การสัมผัสอย่างเบาๆ ตรงบริเวณที่กำหนดไว้ ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า SWIPABLE TOUCHPAD
ภายในห้องโดยสาร ซึ่งนั่งได้รวม 4 คน ก็ตกแต่งอย่างวิลิศมาหราและเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์สื่อสารสุดไฮเทค เพราะจุดประสงค์สำคัญจุดหนึ่งในการรังสรรค์รถแนวคิดคันนี้ คือ เป็นห้องปฏิบัติการทดลองสำหรับเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ยักษ์ใหญ่เมืองโสมจดทะเบียนสิทธิบัตร และตั้งชื่อไว้แล้วว่า HYUNDAI BLUE LINK เมื่อก้าวเข้าไปนั่งในห้องโดยสาร จุดสะดุดตาจุดแรกน่าจะได้แก่ จอสัมผัสขนาดยักษ์ ที่พาดยาวจากด้านหนึ่งจรดอีกด้านหนึ่งของตัวรถ
พยายามแล้วแต่ก็ยังค้นไม่พบว่าเป็นรถขับล้อหน้า ? ขับล้อหลัง ? หรือขับทุกล้อ ? พบแต่เพียงว่า ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 1.6 ลิตร ซึ่งเป็นเครื่องที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และคาดว่าจะให้กำลังสูงสุด 175 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์ที่ใช้เป็นเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ ซึ่งก็หาข้อมูลไม่ได้เหมือนกันว่า มีจังหวะเปลี่ยนเกียร์กี่จังหวะ ? ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่พบทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากรู้สักเท่าไร คือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งผู้รังสรรค์คาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 30 ไมล์/แกลลอน หรือ 13 กม./ลิตร เมื่อวิ่งในเมือง และลดเหลือ 40 ไมล์/แกลลอน หรือ 17 กม./ลิตร เมื่อวิ่งบนทางหลวง
บอกเป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับคนรักรถที่สนใจในเรื่องราวของผู้ผลิตรถยนต์เกาหลี ในสหรัฐอเมริกากิจการผลิตและจำหน่ายรถติดยี่ห้อ HYUNDAI อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทสาขาซึ่งมีชื่อว่า HYUNDAI MOTOR AMERICA บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฟาวน์เทน แวลลีย์ (FOUNTAIN VALLEY) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศประมาณ 800 ราย รถติดยี่ห้อ HYUNDAI ที่จำหน่ายในประเทศนี้ จะมีการรับประกันเปลี่ยนชิ้นส่วนตั้งแต่กันชนหน้าจรดกันชนหลังเป็นเวลา 5 ปี หรือ 60,000 ไมล์ (ประมาณ 96,500 กม.) ประกันการใช้งานเครื่องยนต์เป็นเวลา 10 ปี หรือ 100,000 ไมล์ (ประมาณ 160,000 กม.) และให้บริการความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุขัดข้องจนต้องจอดรถริมถนนเป็นเวลา 5 ปี
ติดปีกฉีกแนวรถตู้พันธุ์โสม
KIA KV7
รถสายพันธุ์โสมขาวอีกคันหนึ่งที่อวดตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือ เกีย เควี 7 (KIA KV7) รถแนวคิดซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหัวแดงหัวดำคนใดออกมายืนยันว่า ชาตินี้หรือชาติหน้า ? จึงจะเปลี่ยนสภาพจากรถแนวคิดเป็นรถตลาด
เป็นรถที่ออกแบบและพัฒนาในสหรัฐอเมริกา โดยศูนย์ออกแบบ KIA DESIGN CENTER AMERICA ซึ่งตั้งอยู่ในตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียและเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อเดือนมิถุนายน 2008 ทีมงานรังสรรค์มี ทอม เคิร์นส์ (TOM KEARNS) ผู้ดำรงตำแหน่ง CHIEF DESIGNER ของศูนย์ออกแบบแห่งนี้เป็นผู้นำทีม
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา/บริษัทผู้ผลิต formula@autoinfo.co.th
นิตยสาร Formula ฉบับเดือน เมษายน ปี 2554
คอลัมน์ Online : รถใหม่