ทั่วไป
คำโบราณที่ว่า มีผัวผิด คิดจนตัวตาย หรือ มีเมียผิด คิดจนตัวตาย เป็นคำที่ฟังได้ทั้ง 2 ประโยค สุดแต่ว่าเจ้าของประโยคจะเป็นเจ้าของประโยคแรก หรือประโยคหลัง และกาลเวลาที่เปลี่ยนไปในสังคมย่อมมีส่วนต้องรับผิดชอบกับคำกล่าวทั้ง 2 ประโยคนั้น
คำโบราณที่ว่า มีผัวผิด คิดจนตัวตาย หรือ มีเมียผิด คิดจนตัวตาย เป็นคำที่ฟังได้ทั้ง 2 ประโยค สุดแต่ว่าเจ้าของประโยคจะเป็นเจ้าของประโยคแรก หรือประโยคหลัง และกาลเวลาที่เปลี่ยนไปในสังคมย่อมมีส่วนต้องรับผิดชอบกับคำกล่าวทั้ง 2 ประโยคนั้น
ผู้คนจากรุ่นไปสู่รุ่น จากทศวรรษนี้ไปสู่ทศวรรษใหม่ ย่อมหลากหลายวิถีชีวิตอันแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะช่วงแยกจากกันอย่างเด็ดขาดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนโบราณ ความแตกต่างในวิถีชีวิตย่อมเห็นได้ชัด
ความเชื่อของคนเราเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ครั้งหนึ่งเราเชื่อสิ่งหนึ่ง ครั้นถึงอีกสมัยหนึ่ง
ยุคหนึ่ง ความเชื่อนั้นก็แปรเปลี่ยนไป
วิถีชีวิตครอบครัวก็เป็นสิ่งเปลี่ยนแปรไปได้เช่นกัน ก่อนนี้เชื่อกันว่า หญิง 3 ผัว ชาย 3 โบสถ์ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากพานคบหาสมาคมอย่างออกหน้าออกตา สมัยนี้ ยากมากที่จะให้สังคมกล่าวประโยคนี้ออกมาดังๆ
ผู้คนแต่ละรุ่นย่อมมีความปรารถนาในชีวิตเหมือนกันทั้งหมด และนั่นก็คือ คำตอบจากสังคมว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร สังคมเป็นผู้กำหนด ถากถางเส้นทางไว้ให้สำหรับเป็นการก้าวเดินไปข้างหน้าของผู้คนแต่ละรุ่น
เส้นทางเหล่านั้น มีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดี บางอย่างที่เข้ามาในชีวิตอาจเป็นคำถามที่พวกเขาต้องการคำตอบเมื่อเกิดความสงสัย และถ้าสังคมหาคำตอบให้กับพวกเขาไม่ได้ ก็เป็นอันตราย โดยอันตรายนั้นก็จะสะท้อนกลับไปหาสังคม
และนี่ก็เป็นช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างรุ่น และเมื่อใดก็ตามที่หนุ่มสาวไม่อาจพบคำตอบแก่ชีวิตจากสังคมของเขาแล้ว เมื่อนั้นเขาก็ไม่ผิดอะไรกับคนๆ หนึ่งในสถานภาพ กบฎต่อสังคม
การก่อการกบฎของพวกเขาก็คือ การแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง แสวงหาด้วยการถากถางเส้นทางของตนเองด้วยมือของตน แม้เขาจะรู้ดีอย่างยิ่งว่าการแสวงหา คือ การเดินทางอันโดดเดี่ยว อ้างว้างไร้คำตอบว่ามันจะไปสิ้นสุดลงเมื่อใด และมันคือภาพอะไรกันแน่ที่รอพวกเขาอยู่ข้างหน้า ไม่มีใครสนใจจะตอบคำถามที่ว่า พวกเขาได้ละทิ้งไปแล้วหรือไม่ ต่อบรรดาสิ่งต่างๆ ที่คนรุ่นก่อนนั้นสร้างสะสมมา จนไร้ที่ยึดเหนี่ยวอย่างสิ้นเชิง และไม่ไยดี ไม่ห่วงใยกับความเคว้งคว้างที่ชีวิตของพวกเขากำลังดิ้นรน
นาทีแห่งการดิ้นรน คือ ชั่วโมงแห่งอันตราย เป็นธรรมดาอย่างที่สุด เมื่อพวกเขาควานหาสิ่งที่จะมาประเทืองอารมณ์ได้ในนาทีเหล่านั้น อาจเป็นดนตรีการ หรือไม่ก็ยาเสพติด หรืออีกนัยหนึ่ง เพลงก็อาจเรียกได้ว่า มันคือ ยาเสพติดประเภทหนึ่งที่พวกเขาต้องการเสพมันอย่างยิ่ง
ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนอเมริกันรุ่นทศวรรษที่ 60 น่าจะเป็นตัวอย่างที่มองเห็นค่อนข้างชัดเจน ในทศวรรษดังกล่าว ความเปลี่ยนแปรของสหรัฐ ฯ เกิดขึ้นจากหัวใหญ่ลงมาเลยทีเดียว และนั่นก็คือ การได้มาซึ่ง จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีวัย 49 ปี คนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดใหม่ป้ายแดงทุกเรื่อง สะใจคนรุ่นเดียวกันอย่างบอกไม่ถูก
แต่แล้วพวกเขาได้ความหวังแห่งอนาคตอย่างที่ต้องการกระนั้นหรือ เปล่าเลย...ความหวังนั้นพังลงยับเยิน เมื่อประธานาธิบดีของเขาถูกลอบสังหารต่อหน้าผู้คนเป็นหมื่นคน
ผมคิดว่าคนรุ่นเดียวกับผมคงได้ดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งชื่อ THE GRADUATE เข้าฉายครั้งแรกที่โรงหนังเมโทร ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ดาราแสดงนำ คือ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน และแอนน์ แบนครอฟท์ ความผันผวนระหว่างชายหนุ่มทั้งแท่งเพิ่งเรียนจบ กับหญิงสาวรุ่นแม่ปลาช่อน เป็นหนังที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมคนอเมริกันในทศวรรษที่ 60 ค่อนข้างจะชัดเจน
เบนจามิน บแรดดอค (ดัสติน ฮอฟแมน) วัย 21 ปี เกิดในครอบครัวคนชั้นกลาง และมีฐานะดี จบจากวิทยาลัยพร้อมด้วยชื่อเสียง เนื่องจากเป็นดาวนักกีฬาวิทยาลัย เป็นหนุ่มอเมริกันที่เรียกกันว่า ออลล์ อเมริกัน สดๆ ซิงๆ
เบน พบ คุณนายโรบินสัน (แอน แบนครอฟท์) ในระหว่างงานเลี้ยงฉลองจบการศึกษาของเขา คุณนายโรบินสัน เป็นภรรยาของหุ้นส่วนทางธุรกิจด้านกฎหมายกับบิดาของ เบน เขาถูก คุณนายโรบินสัน เอาบทไก่อ่อนสอนขันมาคลุมร่าง ตอบรับความต้องการส่วนหนึ่งให้กับไก่แก่แม่ปลาช่อน
มันคือความสัมพันธ์ในทางลับ และในเส้นทางที่คนหนุ่มอย่าง เบน คิดไม่ออกว่า ผู้ใหญ่ของเขาต้องการสิ่งใดกันแน่ ความรุ่งโรจน์ในเชิงธุรกิจจากการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวที่ถูกกระแสเศรษฐกิจบีบบังคับ เบน ยังอ่อนวัยเกินกว่าจะเข้าถึงปรัชญาของผู้ใหญ่ที่เสี้ยมสอนเขาว่า พลาสติคมีอนาคตที่ยิ่งใหญ่ เก็บเอาไปคิดนะ
โลกวันนี้ก็เต็มไปด้วยพลาสติค ซึ่งต้องขอบใจคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เนท มิฉะนั้นวัสดุที่ทำด้วยพลาสติคจะรุกล้ำชีวิตของผู้คนในรุ่นนี้ ไปมากกว่านี้เพียงใดก็ตอบยาก โลกแห่งพลาสติคตั้งแต่บัตรเอทีเอมจนถึงซิมใส่เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่
ความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวรุ่นใหญ่ กับหนุ่มเบน หาความจริงกันไม่ได้ ไม่มีการตรวจดีเอนเอ และเป็นความจริงที่ไม่มีใครต้องการค้นหา ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง เบน กับเอเลน (แคธรีน รอสส์) ลูกสาวคนเดียวของ คุณนายโรบินสัน ก็แทรกซ้อนขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นของจริงในสิ่งที่คนหนุ่มอย่าง เบน ค้นหา
THE GRADUATE เป็นหนังสร้างในปี 1967 จากนวนิยายซึ่งเขียนโดย ชาร์ล เวบบ์ พิมพ์จำหน่ายในปี 1963 ผู้เขียนได้ลงมือเขียนเรื่องนี้หลังเรียนจบจาก วิลเลียมส์ คอลเลจ ไม่นาน ว่าไปแล้วผู้เขียนคงสะสมจินตนาการไว้มากหลังการศึกษา จนสามารถจุดประกายความคิดออกมาเป็นเล่ม ภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของหนังเรื่องนี้ยังอยู่ในสายตาผมตลอดมา นั่นคือ ภาพการยียวนกวนอารมณ์ของสาวใหญ่ด้วยการถอดถุงน่องจากเรียวขาอ่อน ต่อหน้าไก่อ่อนสอนขันอย่าง เบน ที่ยืนเอามือ 2 ข้างใส่ในกระเป๋ากางเกง วัสดุประเทืองอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ คือ เพลงเอกที่ฮิทระเบิดชื่อ MRS. ROBINSON ทะลุขึ้นอันดับ 1 ในปี 1968 คว่ำ ไวท์ อัลบัม ของ เธอะ บีเทิลส์ ตกถังขยะไปเลย
ไซมอน และการ์ฟังเกิล คือ ศิลปินที่สร้างเพลงนี้ขึ้นมา โดย ไมค์ นิโคลส์ ผู้กำกับการแสดง THE GRADUATE เป็นแฟนเพลงของ ไซมอน แบบแฟนพันธุ์แท้ และขอร้องให้ ไซมอน เขียนเพลงให้เขาเป็นพิเศษ ซึ่งความจริงอยากได้ถึง 3 เพลง แต่ ไซมอน ในยามนั้น ทัวร์หนักที่สุด ตามอันดับความนิยมที่ชาวสหรัฐ ฯ มอบให้กับความเป็นศิลปินอย่างเขา เลยเขียนให้เพลงเดียว และเขาก็คิดว่าไม่เหมาะจะเป็นเพลงสำหรับประกอบภาพยนตร์ด้วยซ้ำ ไซมอน บอกกับ นิโคลส์ ว่า มันเป็นเพลงยุคสมัยในอดีต เกี่ยวกับคุณนายรูสเวลท์ และโจ ไดแมกจิโอ
นิโคลส์ ก็บอกกับ ไซมอนว่า ตอนนี้มันเป็นเพลงเกี่ยวกับคุณนายโรบินสัน ไม่เกี่ยวกับ คุณนายรูสเวลท์ บทอัจฉริยะของเพลงนี้ ไซมอน สอดแทรกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมคนอเมริกันในทศวรรษที่ 60 ไว้อย่างชาญฉลาด ในท่อนที่เกี่ยวกับ โจ ไดแมกจิโอ
คุณหายไปไหนเสียเล่า โจ ไดแมกจิโอ ? ดวงตาที่อ้างว้างเดียวดายของชาติประเทศกำลังจ้องจับไปที่
คุณ นั่นใช่หรือไม่ที่คุณกำลังถามหา...คุณนายโรบินสัน โจ ล่องหนหายวับไปซะแล้ว...
THE GRADUATE ฉากสุดท้ายที่ เบน กระโจนเข้าไปชิงตัวสาวคนรักออกมาจากพิธีแต่งงานทางศาสนาคริสต์ สะท้อนแรงความคิดของผู้กำกับที่ต้องการสื่อความหมายถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลายไปตามประสาใจที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไป
เบน แสดงให้เห็นว่า กรอบแห่งความเชื่อทางศาสนา กับความจริงที่เขามีอยู่ในร่างกายนั้น คนละเรื่อง คนเราสมควรหรือที่จะต้องมางมงายกับบานประตูกักขังความเป็นอิสระทางความคิด ซึ่งนอกจากมันจะเป็นตัวแทนบานประตูกักขังแล้ว มันยังเป็นเสมือนหนึ่งอาวุธทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างอำมหิต
กบฎทางสังคม ยังคงดำเนินต่อไป จากรุ่นนี้ไปยังรุ่นใหม่ โดยไม่มีใครจะวาดภาพเหล่านั้นล่วงหน้าได้ถูกต้อง...!
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก 4wheels@autoinfo.co.th
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2553
คอลัมน์ Online : ทั่วไป