ท่องเที่ยว
สุโขทัย ตามประวัติศาสตร์ คือ อาณาจักรแรกของไทย ตั้งแต่เมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา คำว่า สุโขทัย เป็นคำสนธิระหว่าง สุข กับ อุทัย มีความหมายเพราะพริ้งว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข ความสุขที่เกิดจากความรุ่งเรืองในอดีตนั้นหาพบได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน ซึ่งมีอยู่ทั่ว
สุโขทัย ตามประวัติศาสตร์ คือ อาณาจักรแรกของไทย ตั้งแต่เมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา คำว่า สุโขทัย เป็นคำสนธิระหว่าง สุข กับ อุทัย มีความหมายเพราะพริ้งว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข ความสุขที่เกิดจากความรุ่งเรืองในอดีตนั้นหาพบได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ และโบราณสถาน ซึ่งมีอยู่ทั่ว
ในอดีตสุโขทัยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตเครื่องถ้วยชาม "สังคโลก" ส่งขายต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบอร์เนียว ทั้งยังเป็นศูนย์การค้าสินค้าจากจีน เช่น ถ้วยชาม และผ้าไหม เพื่อขายภายในประเทศ และส่งต่อต่างประเทศด้วย หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของสุโขทัย ได้แก่ สมบัติทางวัฒนธรรมที่ได้รับการบูรณะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และมรดกโลกในปัจจุบัน
ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ต้องขอขอบคุณ พี่อุทัย เรืองศักดิ์ ประชาสัมพันธ์ใจดี จาก บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ มาซดา บีที-50 ไฮ-เรเซอร์ มาเป็นพาหนะเดินทางกว่า 500 กม. เพื่อตามร่องรอยประวัติศาสตร์ สุโขทัย
เราใช้การเดินทางจากทางหลวงสายเอเชีย ผ่านนครสววรค์ เพื่อมุ่งหน้าไปกำแพงเพชร ตัดผ่านพิษณุโลก แล้วจึงเข้าตัวเมืองจังหวัดสุโขทัย ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 ชั่วโมง
แรกเข้าสู่สุโขทัย ทำให้รู้ว่าที่นี่เป็นจังหวัดเล็กๆ ที่มีเรื่องราวของอารยธรรมในอดีตซ่อนอยู่มากมาย มีจำนวนประชากรไม่มากนัก การคมนาคมจึงสะดวก แต่หากเป็นช่วงเทศกาลงานบวชพระแห่นาคด้วยช้าง ในช่วงเดือนเมษายน และประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ในเดือนพฤศจิกายน การเดินทางโดยรถยนต์นั้นก็จะหนาแน่น สุโขทัยจึงเป็นเมืองเล็กๆ ที่แสนเหงา หลังจาก 2 ทุ่ม ผู้คนต่างก็เริ่มทยอยเข้าบ้านพักผ่อนกันแล้ว
สุโขทัยโด่งดังขึ้นมาจากโบราณสถานที่ถูกบรรจุให้เป็นมรดกโลกที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ล้วนแต่มีคุณค่าที่สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองในยุคโบราณกาล ซึ่งได้บูรณะซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร และจัดตั้งให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ในปี 2537
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย รอยความรุ่งเรืองในอดีตกาลของไทย
จุดหมายแรกของการมาเยือนสุโขทัย คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สถานที่ซึ่งมีมนต์ขลัง อีกทั้งยังเป็นเมืองเก่าแก่ และเป็นต้นกำเนิดของชนชาติไทยมาจวบจนยุคปัจจุบัน อาณาบริเวณของเมืองเก่ามีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 70 ตร. กม. ส่วนใหญ่เหลือเพียงโบราณสถานที่สำคัญ วัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ถูกสร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่างๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน นอกจากวัดแห่งนี้แล้วยังมี วัดศรีสวาย วัดตระพังเงิน วัดสระศรี ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 14 แห่งด้วยกัน ซึ่งล้วนแต่มีคุณค่าทางมรดกโลกทั้งสิ้น
เป็นที่น่าเสียดายเมื่อในสมัยอยุธยาตอนต้น ตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 โบราณสถานแห่งนี้ทรุดโทรมอย่างหนัก
เพราะถูกข้าศึกทำลายด้วยปืนใหญ่ พระพุทธรูปส่วนใหญ่ได้ถูกตัดเศียรไปแทบทั้งหมด เห็นแล้วก็ทำให้จิตใจฮึกเหิม เลือดรักชาติฉีดพล่านขึ้นมาทันที เสียดายที่ในยุคสมัยนั้น ข้าศึกได้ฉกฉวยไป ปัจจุบันจึงเหลือเพียงซากปรักหักพัง ไว้คอยเตือนใจเท่านั้น
นอกจากโบราณสถาน ภายในสถานที่แห่งนี้ยังมี อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2518 ทางทิศเหนือของวัดมหาธาตุ มีลักษณะเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ ขนาด 2 เท่าขององค์จริง สูง 3 ม. ประทับนั่งห้อยพระบาทบนแท่นมนังคศิลาบาตร พระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน แท่นด้านซ้ายมีพานวางพระขรรค์ ลักษณะพระพักตร์เหมือนพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนต้น ถ่ายทอดความรู้สึกถึงความมีน้ำพระทัย เมตตากรุณา ยุติธรรม มีความเด็ดขาดในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ที่ด้านข้างมีภาพแผ่นจำหลักจารึกเหตุการณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระองค์ ตามที่อ้างถึงในจารึกสุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีสัชนาลัยหัวเมืองชั้นนอก กระจกสะท้อนประติมากรรมสุโขทัย
ระยะทางเพียง 60 กม. จากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม. อุทยานแห่งนี้ถูกขนาบด้วยสายน้ำจากแม่น้ำยม ซึ่งใช้หล่อเลี้ยงประชากรของสุโขทัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อุทยานแห่งนี้มีความสำคัญไม่แพ้แห่งแรก เพราะเปรียบเสมือนหัวเมืองชั้นนอกก่อนที่จะเข้ามาถึงเมืองสุโขทัย ลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน คือ วัดที่มีอยู่มาก และจัดตั้งอยู่ทั่วพื้นที่ของอุทยาน วัดที่มีชื่อเสียงและมีขนาดใหญ่ รวมถึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ วัดช้างล้อม
วัดช้างล้อม เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กึ่งกลางตัวเมืองศรีสัชนาลัย โบราณสถานที่สำคัญ คือ เจดีย์ประธานทรงลังกา ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ประตูด้านหน้าและด้านหลังเป็นทางเข้า/ออก ส่วนประตูด้านข้างก่อเรียงอิฐศิลาแลงปิดไว้เป็นประตูตัน ช้างปูนปั้นที่วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย มีลักษณะเด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และมีทั้งหมดถึง 39 เชือกด้วยกัน
เตาทุเรียงเตาเผาโบราณ โรงงานถ้วยชามสังคโลก
ใกล้กับอุทยาน ฯ ศรีสัชนาลัย นักโบราณคดีแห่งกรมศิลปากร ได้ค้นพบเตาเผาที่เอาไว้ใช้ในการทำถ้วยชามสังคโลก มีชื่อเรียกว่า เตาทุเรียง ลักษณะของเตาโบราณจะมีทั้งแบบที่สร้างไว้บนดิน และสร้างไว้ใต้ดิน เพื่อให้มีระบบการระบายความร้อนได้ทั่วถึง ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) ตั้งอยู่ที่บ้านเกาะน้อย ห่างจากตัวเมืองเก่าศรีสัชนาลัย เลียบแม่น้ำยมไปทางเหนือ ภายในประกอบด้วย อาคาร 2 หลัง ตัวอาคารสร้างครอบเตา อาคารแรก คือ เตาที่ 42 เป็นเตาบนดิน อาคารที่สอง คือ เตาที่ 61 เป็นเตาใต้ดิน ภายในตัวอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุ เอกสารทางวิชาการ ตลอดจนวิวัฒนาการเครื่องถ้วยสมัยโบราณ
ณ พื้นที่บริเวณนี้ยังขุดพบเตาเผาเครื่องถ้วยชามสังคโลกกว่า 500 เตา ในระยะทางยาวประมาณ 1 กม.
ถ้วยชามสังคโลกที่ขุดพบมีทั้งสภาพสมบูรณ์ และแตกหักเป็นจำนวนมาก ต้องยอมรับว่าคนในสมัยโบราณนั้นมีภูมิปัญญาอันล้ำเลิศ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการผลิตมากขึ้น แต่เสน่ห์และความล้ำค่าของโบราณวัตถุนั้นยังสะท้อนไปถึงความรุ่งเรืองในอดีตของชนชาวไทยอีกด้วย
บ้านนาต้นจั่น หมู่บ้านพัฒนาตัวอย่าง แหล่งรวมปราชญ์พื้นบ้าน
สถานที่สุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ห่างจากอำเภอศรีสัชนาลัย ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 20 กม. สาเหตุที่ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านนาต้นจั่น นั้นเพราะว่า มีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ต้นจั่น ซึ่งมีลำต้นที่ใหญ่มากอยู่กลางนา จึงได้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้านนาต้นจั่น มาจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านนี้ได้ถูกยกให้เป็นหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่างตั้งแต่ปี 2541 โดยมีผู้นำ คือ คุณป้าเสงี่ยม แสวงลาภ นักพัฒนาตัวอย่างที่น่าชื่นชม
ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้รวมตัวและรักใคร่กันเป็นอย่างดี ความสำคัญของที่แห่งนี้ คือ ผลิตภัณฑ์โอทอพ ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปถึงเวทีประกวดนางสาวไทย ด้วย ผ้าหมกโคลน ซึ่งผนวกกับการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างการออกแบบอย่างมีสไตล์ของนักออกแบบในยุคปัจจุบัน กับการทอผ้าแบบอดีต ซึ่งผู้ที่เข้าประกวดทุกท่านจะได้สวมใส่ผ้าทอมือ คุณสมบัติของผ้านั้นจะมีความนุ่มและเข้ารูปง่าย หลังจากสร้างชื่อเสียงบนเวทีประกวด ก็ทำให้มีการสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
อีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ โฮมสเตย์ ผู้มาพักอาศัยสามารถสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่า นักท่องเที่ยวจะอยู่กับเจ้าบ้านอย่างเป็นกันเอง ทำอาหารพื้นเมือง รวมถึงอยู่กันแบบญาติพี่น้องเสมือนเป็นหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาชาวบ้านอีกหนึ่งชนิด คือ งานแกะสลักไม้ ซึ่งนำรากไม้เก่าที่ไร้ประโยชน์ มาแกะสลักให้เป็นงานฝีมือ ส่งขายเพื่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ สร้างรายได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์จากช่าง ที่นับวันนั้นจะหาได้ยาก
และอีกหนึ่งอย่างที่ลืมไม่ได้ คือ อาหารพื้นบ้าน ที่เรียกกันว่า ข้าวเปิ๊บ คำว่า เปิ๊บ ในภาษาเหนือ แปลว่า พับ ลักษณะของอาหารชนิดนี้เหมือนกับก๋วยเตี๋ยว มีเส้น ผัก และน้ำซุป แต่ทีเด็ดนั้นอยู่ตรงที่เส้นกับผักถูกห่อรวมกันในสไตล์ของข้าวเกรียบปากหม้อ โดยใช้แป้งขนมจีนเป็นเส้น ห่อด้วยผักบุ้งและถั่วงอก น้ำซุปนั้นเป็นน้ำต้มกระดูก หวานชุ่มคอ สามารถปรุงรสได้ตามใจชอบ
ปัจจุบันอาหารชนิดนี้จะหากินได้แต่ในหมู่บ้านนี้เท่านั้น ที่มาของมัน คือ สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีถนนตัดผ่าน ชาวบ้านจะหาของกินยาก ในช่วงหน้าหนาวหากต้องการหาอาหารร้อนๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นนั้น ต้องเดินทางไปยังตัวเมืองศรีสัชนาลัย สูตรของข้าวเปิ๊บจึงถูกคิดค้นขึ้นโดยบรรพบุรุษของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ และสืบต่อมายังรุ่นลูกหลาน เพื่อสืบสานอาหารโบราณที่หากินได้ยาก และมีเพียงที่นี่แห่งเดียว สำหรับผมนั้นได้ลองชิมไปสัก 2-3 ถ้วย ต้องยอมรับว่าความนุ่มของเส้น และน้ำซุปที่เวลาซดร้อนๆ นั้น ทำให้ลืมก๋วยเตี๋ยว อาหารโปรดประจำตัวไปได้เลย ถ้าหากมีโอกาสผมอยากเชื้อเชิญให้ลองไปชิมกันดู รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
ขอขอบคุณ
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อรถ มาซดา บีที-50 ไฮ-เรเซอร์ เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง
การเดินทาง
อยากมาที่นี่สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ
1. จากทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย อำเภอคีรีมาศ เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 440 กม.
2. จากทางหลวงหมายเลข 1 ไปจนถึงประมาณ กม. ที่ 50 บริเวณแยกอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านพระนครศรีอยุธยา มุ่งสู่นครสวรรค์ เข้าทางหลวงหมายเลข 117 ตรงเข้าพิษณุโลก ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ทางหลวงหมายเลข 12 เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย รวมระยะทาง 427 กม.
ที่กิน+ที่พัก
ที่พักในอำเภอเมือง และหัวเมืองใหญ่ๆ ของจังหวัดสุโขทัย นั้นหาได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ใช่การพักผ่อนที่หรูหรามากนัก โรงแรมบังกะโลโดยทั่วไปอยู่ในระดับ 2-3 ดาว ราคานั้นมีตั้งแต่ 250-1,000 บาท แต่หากต้องการสัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนี้อย่างแท้จริงนั้น ผมขอแนะนำให้พักในรูปแบบโฮมสเตย์ ซึ่งนักเดินทางจะพบกับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนในชนบท
อาหารที่ขึ้นชื่อของสุโขทัย คือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย มีส่วนผสมหลากหลายชนิด อาทิ หมูแดง หนังหมูแดง ถั่วฝักยาว และที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำตาลปี๊บ ที่ใช้ในการเพิ่มรสชาติของก๋วยเตี๋ยวให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น แต่ถ้ามีโอกาสอย่าลืมแวะไปรับประทาน ข้าวเปิ๊บ อาหารพื้นบ้านจากหมู่บ้านนาต้นจั่น ที่หากินได้ยากเต็มที
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา natthep@autoinfo.co.th
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน มกราคม ปี 2553
คอลัมน์ Online : ท่องเที่ยว