ท่องเที่ยว
พื้นที่ป่าไม้ภาคตะวันตก ป่าต้นน้ำของแม่น้ำแควใหญ่ เต็มไปด้วยเขาหินปูนสลับทับซ้อนในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ด้วยความสมบูรณ์ของป่าไม้ และสัตว์ป่า กองอุทยานแห่งชาติมีมติจัดตั้ง อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อปี 2524 ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1 ล้านไร่ ทั้ง รวมเอาทะเลสาบน้ำจืด ความยาวกว่า 100 กม. ไว้ด้วย
พื้นที่ป่าไม้ภาคตะวันตก ป่าต้นน้ำของแม่น้ำแควใหญ่ เต็มไปด้วยเขาหินปูนสลับทับซ้อนในแนวเทือกเขาตะนาวศรี ด้วยความสมบูรณ์ของป่าไม้ และสัตว์ป่า กองอุทยานแห่งชาติมีมติจัดตั้ง อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อปี 2524 ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 1 ล้านไร่ ทั้ง รวมเอาทะเลสาบน้ำจืด ความยาวกว่า 100 กม. ไว้ด้วย
ชีวิตอิสระ ฉบับนี้ เปลี่ยนการเดินทางจากทางบกเป็นทางน้ำ เพื่อชมวิถีชีวิตชาวบ้านริมสายน้ำ สัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ตะวันตก ซึ่งน้อยคนนักจะได้เข้าถึง เพราะสถานที่นั้นเป็นป่าปิด ในครั้งนี้เรามีผู้นำทางกิตติมศักดิ์ ซึ่งทำมาหากินอยู่บนลำน้ำสายนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี ก่อนที่จะผันตัวเองเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ คอยแนะนำข้อมูลตลอดการเดินทาง
การเดินทางครั้งนี้เรานำ มิตซูบิชิ ทไรทัน เมกาแคบ ขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาด 2.5 ลิตร ใช้เป็นพาหนะคู่กาย เส้นทางที่ไปยังเขื่อนศรีนครินทร์นั้น ถ้าจะไปเหนือเขื่อน แนะนำให้ใช้เส้นทางที่ไปจังหวัดกาญจนบุรี แล้วเข้าทาง อ. ศรีสวัสดิ์ สภาพเส้นทางปกติสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ทุกประเภท
สำหรับผมขอมันไว้ก่อน โดยเลือกที่จะใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี เข้า อ. ดอนเจดีย์ แล้วขับต่อไปที่ อ. ด่านช้าง แวะพักที่ตลาดด่านช้าง แพคสัมภาระ อาหาร และเครื่องดื่ม ก่อนที่จะไปถึงปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ด้านจุดตรวจเขากระชาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผมคุ้นเคย เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้มา สภาพเส้นทางประมาณ 50 กม. จะเป็นดินลูกรัง และมีสภาพเส้นทางคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามไหล่เขา ช่วงนี้พาหนะคู่กายได้โชว์ศักยภาพเต็มที่ แม้ว่าเครื่องยนต์มีขนาดเพียง 2.5 ลิตร แต่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ช่วยให้ถึงจุดหมายปลายทางได้โดยไม่ต้องลุ้น
"น้ำเอ่อ" สวรรค์ของนักตกปลา
จากจุดตรวจเขากระชาย จนสุดระยะทางที่ หน่วยพิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชไกรเกรียง หรือที่รู้จักกันในนามว่า น้ำเอ่อ ตรงนี้จะสัมผัสได้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศภายในป่าได้เต็มที่ ครั้งที่แล้วผมเดินทางมา ณ ที่แห่งนี้ ในฐานะนักตกปลามือสมัครเล่น รวมถึงได้พบกับคชสารร่างกำยำ โชว์งายาว พร้อมกับกรีดเสียงร้องลั่นป่า
การมาครั้งนี้ ไม่ได้เน้นเรื่องตกปลา เพียงแต่ผมต้องการมาดูว่า ไอ้ช้างตัวที่เห็นยังกลับมาวนเวียนอยู่แถวนี้หรือไม่ แต่ก็ต้องล้มเลิกแผนการ เพราะไกด์นำทางในครั้งที่แล้ว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ได้ย้ายไปอยู่ อ. ทองผาภูมิ บรรยากาศเริ่มอึมครึมอีกครั้ง ทริพนี้อาจจะฟาวล์ทั้งทริพ งานเข้าแล้วครับ !
ฟ้าฝนเริ่มคะนอง แต่ใจกลับห่อเหี่ยว หลังจากได้สนทนากับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ฯ อยู่นานพอสมควร ไกด์กิตติมศักดิ์ก็เดินทางมาถึง เลิศเสถียรชัย สามสีสุก หรือพี่ดาว เจ้าหน้าที่จุดตรวจทางน้ำของอุทยาน ฯ รับอาสาพาผมไปตะลอนตามสถานที่ต่างๆ ด้วยความชำนาญ
พี่ดาวเล่าให้ฟังว่า เขาหากินกับลำน้ำสายนี้มาตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้ จากชาวบ้านประกอบอาชีพจับปลาขาย ผันตัวเองมาเป็นทหารลงในพื้นที่ช่วยปราบปรามชนเผ่าม้งที่เข้ามาขยายอาณาเขตในประเทศไทย ในช่วงปี 2516 และล่าสุดกับตำแหน่งเจ้าหน้าที่จุดตรวจทางน้ำ คอยสกัดและปราบปรามพวกลักลอบล่าสัตว์และตัดไม้ทำลายป่า เพียงแค่นี้ก็ทำให้ผมใจชื้นขึ้นมาว่ายังไงก็ต้องได้ประสบการณ์ใหม่จากลำน้ำสายนี้แน่นอน
หลังจากเก็บสัมภาระเข้าแพพัก ประกอบอาหารมื้อเย็น และเชิญพี่ดาวมาทานข้าว รวมถึงพูดคุยในเรื่องการเดินทางของทริพนี้ จึงได้ข้อสรุปว่าเราจะเริ่มจาก ปากลำห้วยขาแข้ง หรือพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จบการเดินทางที่ต้นน้ำแควใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยจะใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ระหว่างทางจะมีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย คนทั่วไปอาจจะไม่มีสิทธิ์เข้าไปได้เนื่องจากเป็นพื้นที่หวงห้าม ผมจึงตอบตกลงทันที
เช้าตรู่หลังจากดื่มด่ำกับทะเลหมอกซึ่งลอยมาแตะบนผิวน้ำที่เรียบใสราวกระจกเงา ทัศนียภาพในขณะนี้สวยเกินบรรยาย ต่างคนต่างเก็บของจากแพยกขึ้นเรือ เหลือเพียงอาหารที่เตรียมไว้มากพอสำหรับ 3 มื้อ กว่าจะถึงปลายทางต้องใช้เวลาเดินทางทั้งวัน ธงไตรรงค์ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาบริเวณที่ทำการของหน่วย ได้เวลาเบนหัวเรือออกจากฝั่งเพื่อไปยังจุดหมายแรก คือ หน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากรึงไกร
ใช้เวลาเดินทางจากแพพักประมาณ 45 นาที ที่ตรงนี้เป็นคุ้งน้ำสุดท้ายปลายเขื่อนศรีนครินทร์ ก่อนจะตัดสู่ผืนป่าห้วยขาแข้ง แต่ด้วยความเป็นป่าปิด เจ้าหน้าที่ควบคุมหน่วยนี้จึงไม่ยอมให้ผ่านเข้าพื้นที่ เพราะการที่จะเข้าป่าปิดแต่ละครั้งจะต้องทำหนังสือขออนุญาตไปยังกรมป่าไม้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องเปลี่ยนแผนกันอีกครั้ง โดยจุดหมายต่อไปของเรา คือ สามแยกสามประสพ เป็นที่น่าเสียดายเพราะทั้งพี่ดาว และเจ้าหน้าที่คุมหน่วย ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าลงเดินเข้าไปไม่เกิน 5 กม. จะมีฝูงลิง และชะนี ที่ห้อยโหนอยู่บนต้นไม้ให้ได้เห็นตัวเป็นๆ แน่นอน
"สามประสพ"
โบสถ์สเตนเลสส์แห่งเดียวในไทย
จากหน่วย ฯ กรึงไกร มายัง สามประสพ ต้องใช้เวลาเดินทางทางน้ำประมาณ 2 ชม. เบื้องหน้าเป็นสายน้ำแบบ 3 แยก หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า สามประสพ ซึ่งเป็นการรวมตัวระหว่างสายน้ำทั้ง 3 สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ น้ำเอ่อ และสายน้ำที่มาจากเหนือเขื่อนศรีนครินทร์ พี่ดาวดับเครื่องยนต์แล้วพายเข้าไปเทียบท่าที่หน้าวัดปากลำห้วยขาแข้ง ในวัดมีโบสถ์สเตนเลสส์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านริมสายน้ำ รวมถึงพระพุทธรูปสเตนเลสส์ขนาดใหญ่ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ จากการเดินสำรวจ ยังมีซากเรือโบราณ ที่ขุดขึ้นมาจากความลึกหลาย 10 เมตร และ รอยพระพุทธบาท ซึ่งสำรวจพบโดยนิมิตของพระอาจารย์ อาคม อนันโท เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน
ไหนๆ ก็ยังอยู่กันบนพื้นดิน และเพื่อไม่ให้ลำบากมาก หลังจากคณะสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลเสร็จ ฆราวาสอย่างผมและคณะจึงขออนุญาตนำศาลาวัดเป็นภัตตาคารหรูกลางป่าเขา สำหรับอาหารมื้อเที่ยง จากนั้นจึงไปต่อยัง หาดปะนา สถานที่ซึ่งเล่าขานว่ามีควายป่าอาศัยอยู่ชุกชุม
"หาดปะนา"
ควายป่าชุกชุม
ประมาณ 1 ชม. จากวัดลำห้วยขาแข้ง ผมมาถึงยัง หาดปะนา คำว่า ปะนา มาจากภาษากะเหรี่ยง แปลว่า ควาย ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ มีควายป่าอาศัยอยู่มากมาย เรือที่เราใช้ลอยลำอยู่กลางลำน้ำ โดยไม่สามารถลงไปยังพื้นดิน เนื่องจากกลิ่นสาปของเมืองกรุงยังคงติดตัวอยู่ เล่ามาว่าหากสัตว์ป่าได้กลิ่น มันก็จะไม่ลงมาให้เห็น ช่วงนี้เป็นหน้าที่ของกล้องส่องทางไกลที่ได้พกติดตัว สอดส่องดูตามริมหาด ไม่นานนักพวกมันก็เดินลงมาตามที่คาดหมาย อย่างไม่เกรงกลัวต่อสายตาผู้พบเห็น
"หมู่บ้านประมงน้ำจืด"
อาชีพประมงตัวอย่าง
จุดหมายต่อไปของเรา คือ หมู่บ้านประมงน้ำจืด หมู่บ้านตัวอย่างในการทำอาชีพประมง รวมถึงเป็นร้านค้า และปั๊มน้ำมันหลอด รวมถึงเป็นแหล่งซื้อ/ขายปลาน้ำจืดแหล่งใหญ่ของลำน้ำสายนี้ ผมถือโอกาสดูปลาที่นำมาแช่ไว้ในลังขนาดใหญ่ ถึงกับผงะ ปลาแต่ละตัวน้ำหนักนั้นไม่ต่ำกว่า 10 กก. ทั้งปลาสวาย ปลาบึก ปลากดคัง แม้แต่ปลานิลขนาดใหญ่ คาดคะเนจากสายตาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 กก. เห็นแล้วก็คันไม้คันมืออยากตกขึ้นมาบ้าง
หลังจากเติมน้ำมันเรือเสร็จ เครื่องยนต์เรือก็เดินเครื่องอีกครั้ง เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางก่อนที่ฝนจะโปรยเม็ดลงมาเป็นอุปสรรค แล่นเรือออกจากท่าได้ไม่นาน กระแสลมเริ่มแรงขึ้น และหอบเอาเฆมสีดำมาปกคลุมทั่วพื้นที่ เราเริ่มมองหาซอกหลืบตามไหล่เขาหินปูนเพื่อหลบภัยจากธรรมชาติ ระหว่างนั้นก็ประกอบเบ็ดตกปลาเพื่อเป็นการฆ่าเวลาระหว่างรอ
2 ชม. เต็มๆ คือ เวลาที่ใช้รอให้พายุฝนเคลื่อนตัวผ่านไป สีของน้ำเริ่มขุ่น น้ำป่าเริ่มหลากลงมาสู่ท้องน้ำ กระแสน้ำไหลแรงขึ้น ได้เวลาออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ต่างคนต่างเก็บเบ็ดขึ้นจากน้ำ เครื่องยนต์เรือถูกสตาร์ทอีกครั้ง ปลายทางสุดท้ายของทริพนี้ คือ ต้นน้ำแควใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้กับหน่วยพิทักษ์ป่าไม้และพันธุ์สัตว์ องค์ทั่ง-ห้วยคือ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
สภาพเส้นทางนั้นไม่ธรรมดา ต้องแล่นเรือตามซอกเขาที่คดเคี้ยว และทวนกระแสน้ำป่าที่ไหลเชี่ยว ส่วนตัวนั้นใช้การเดินทางด้วยเรือมาก็บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้รู้สึกหวั่นใจชอบกล เพราะไม่เคยได้ลิ้มรสการนั่งเรือฝ่ากระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวอย่างนี้ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี แสงจากพระอาทิตย์เริ่มสาดส่องลงพื้นน้ำอีกครั้ง ลำน้ำที่เคยเรียบใส ราวกระจกเงากลับกลายเป็นน้ำสีแดงขุ่นจากน้ำป่าที่ไหลบ่าลงมา
"หน่วย องค์ทั่ง-ห้วยคือ"
ความสมบูรณ์ของป่าทุ่งใหญ่ ฯ
หน่วยพิทักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า องค์ทั่ง-ห้วยคือ อยู่ในพื้นที่ควบคุมของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อยู่ในสภาพของแพ 2 หลังผูกติดกัน แพหลังใหญ่เป็นที่ทำการ และที่พัก ส่วนแพหลังเล็กเป็นแพเปล่าซึ่งทำไว้เป็นที่ประกอบอาหารและเป็นห้องรับแขกในตัว ตอนนี้แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว ความเงียบของป่าทึบเข้าแทนที่ อาหารถูกจัดเข้าสำรับพร้อมเสิร์ฟกลางวงสนทนาขนาดใหญ่
ไกด์กิตติมศักดิ์เริ่มทำหน้าที่อีกครั้ง โดยชักชวนให้เจ้าหน้าที่ ฯ บางส่วนร่วมการเดินป่าไปยังต้นน้ำของแม่น้ำแควใหญ่ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากพายุฝนที่โหมกระหน่ำติดต่อกันหลายวัน สภาพเส้นทางนั้นเรียกว่าทั้งโหด และ ลื่น ที่สำคัญ คือ กำลังจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาลงพื้นที่ พวกเขาจึงต้องรอรับอยู่ที่หน่วย ฯ พี่ดาวเริ่มมีสีหน้าผิดหวังอย่างเห็นได้ชัด
แต่สำหรับผม เรื่องราวมากมายที่ได้จากพี่ดาว รวมถึงได้สัมผัสกับบรรยากาศกลางป่าปิด ระหว่างป่าห้วยขาแข้ง และ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งได้สูดเต็มๆ ปอด พ่วงด้วยปลาเขื่อนรสชาติอร่อยลิ้นอีกหลายเมนู ผมถือว่าสุดคุ้ม ถ้ามีโอกาสจะกลับมาที่นี่ใหม่ พร้อมหนังสือรับรองจากกรมป่าไม้ เพื่อเข้าไปในพื้นที่ให้ได้ เพราะยังมีเรื่องราวอีกหลากหลายบนสายน้ำแห่งนี้ ที่รอการค้นหา ทั้งสัตว์ป่าตัวเป็นๆ และปลาตัวใหญ่ๆ ที่เชื้อเชิญให้นักตกปลาอย่างผมหวนไปหาพวกมันอีกครั้งแน่นอน
การเดินทาง
จากบางบัวทอง เข้าถนนเส้น 345 มุ่งหน้าไปสุพรรณ ฯ เลี้ยวซ้ายออกทางเลี่ยงเมือง (ดอนเจดีย์) เลี้ยวซ้ายอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ดอนเจดีย์ ดูป้ายบ้านสระกระโจม ถึงสี่แยก เลี้ยวขวา ไปที่ด่านช้าง จากแยกนี้วิ่งไปอีกประมาณ 30 กม. สังเกตสามแยกใหญ่ เลี้ยวซ้ายไปตามป้าย หนองปรือ และ อุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด จากแยกอีกประมาณ 30 กม. เจอสี่แยก สังเกตป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอดให้เลี้ยวขวา ขับตรงตามทางไปเรื่อยๆ ทางเริ่มแคบ ประมาณสัก 20 กม. จะเจอทางแยกร่วม (ถ้าตรงไปจะเจอวัดกับสันเขื่อนเล็กๆ) ให้เลี้ยวซ้ายอีกประมาณไม่ถึง 10 กม. จะเจอทางโค้งขวา ที่มีทางตรง (ถนนคอนกรีท) ให้ตรงไป ขับตามทางหลักไปเรื่อยๆ จะเจอทางขึ้นเนิน เป็นถนนคอนกรีท ไต่เขาไปเรื่อยๆ จะเจอหน่วยพิทักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เขากระชาย ต่อจากนั้นจะมีป้ายบอกตลอดทาง เพื่อไปยังหน่วยพิทักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ไกรเกรียง (น้ำเอ่อ) สำหรับรถขับเคลื่อน 2 ล้อ ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เพราะสภาพเส้นทางนั้นเหมาะสมกับรถขับเคลื่อน 4 ล้อมากกว่า
ขอขอบคุณ
บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เอื้อเฟื้อ รถ มิตซูบิชิ ทไรทัน เมกาแคบ 2.5 ลิตร เป็นพาหนะในการเดินทาง
ที่พัก+ที่กิน
ที่พักภายในเขื่อน จะเป็นรูปแบบของแพพักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งมีกระจัดกระจายทั่วลำน้ำ (เฉพาะในส่วนของป่าเปิดเท่านั้น) สนนราคานั้นมีตั้งแต่ 700 บาท พักได้ไม่เกิน 10 คน จนถึง 2,500 บาท
ในรูปแบบแพพัก 2 ชั้น พร้อมเครื่องอำนวยความสะดวกทุกชนิด ทั้งไฟฟ้า และมีเครื่องสูบน้ำในตัว แต่หากจะนำเทนท์เข้าพักในรูปแบบแคมพิง ก็สามารถทำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
เมนูอาหาร หนีไม่พ้นปลาหลากชนิด อาทิ ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาช่อน ปลาชะโด ปลากระสูบ ปลากราย ปลาสวาย ปลาบึก ปลากดคัง ฯลฯ หากตกเองไม่ได้ แพปลาซึ่งเป็นแหล่งรวมปลาสดจากเขื่อนโดยชาวบ้านนำมาขาย นั่นคือ คำตอบสุดท้าย ที่จะหาไว้ประกอบอาหารด้วยฝีมือตัวเองหรือจากแม่ครัวหัวป่าประจำแพ รวมถึงหน่อไม้สด ซึ่งหาได้ง่ายตลอดเส้นทาง
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา natthep@autoinfo.co.th
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2552
คอลัมน์ Online : ท่องเที่ยว