ท่องเที่ยว
กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ไทย กับ ทหารฝ่ายรัฐบาล จับอาวุธสู้รบกันในปี 2511-2525 ดินแดนของสมรภูมิรบในอดีต ปัจจุบันได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม
อากาศบริสุทธ์ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงคราม เหลือง-แดง ยุคบุกเบิก อีกด้วย
กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ไทย กับ ทหารฝ่ายรัฐบาล จับอาวุธสู้รบกันในปี 2511-2525 ดินแดนของสมรภูมิรบในอดีต ปัจจุบันได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีทัศนียภาพสวยงาม
อากาศบริสุทธ์ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์สงคราม เหลือง-แดง ยุคบุกเบิก อีกด้วย
เรากำลังพูดถึง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ. เพชรบูรณ์
การเดินทางครั้งนี้ของเรา เรียกง่ายๆ ว่า งานเข้า พายุใหญ่เคลื่อนตัวสู่เขตจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงที่เราไปถึงพอดี เมฆสีดำปกคลุมทั้งป่า ฝนโหมกระหน่ำไม่ลืมหูลืมตา ระยะเวลาที่คำนวณไว้ผิดพลาด แผนการที่เตรียมไว้ ต้องแก้ไขกันใหม่ แต่ยังโชคดีที่มีระบบนำทางผ่านดาวเทียมของ MIO MOOV S500 คอยช่วยเหลือ รวมทั้ง โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ 3.0 วี เนวิเกเตอร์ ที่ใช้เป็นพาหนะตลอดการเดินทาง ก็ทำหน้าที่ได้ไม่บกพร่อง
จัดเตรียมความพร้อม เสบียง อาหาร เสร็จสรรพ ล้อรถเริ่มหมุนอีกครั้ง จากปากทางเข้าอุทยาน ฯ บริเวณ อ. นครไทย เหลือระยะทางอีกไม่น้อย ผนวกกับพายุฝน และหมอกปกคลุมหนาแน่น ทำให้สภาพเส้นทางนั้นมีอันตรายอยู่ตลอดเวลา ผมเพิ่งเข้าใจซึ้งว่า การขับรถที่มองเห็นระยะทางข้างหน้าไม่ถึง 5 เมตรนั้น มันทรมาน และน่ากลัวขนาดไหน
เราไปถึงหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ด้วยความยากลำบาก ความหวังเล็กๆ ของวันพรุ่งนี้ คือ ขอให้ฟ้าเปิด เพื่อที่จะถ่ายรูป และเก็บเรื่องราวกลับมาฝากนักเดินทางที่ยังไม่เคยได้มาเยือน
เช้าตรู่ ลืมตาตื่นมาพร้อมกับเสียงปลุกจากพายุฝน และลมกระโชก เสมือนธรรมชาติไม่ค่อยเป็นใจนัก แต่ด้วยเลือดกายที่ฉีดพล่าน พร้อมหัวใจของนักเดินทาง เราสรุปกันว่าหลังจากดื่มกาแฟเพื่อขยายม่านตาให้กว้างขึ้น จะเป็นเวลาออกเดินทาง
ระยะทางประมาณ 2 กม. จากหน้าอุทยาน ฯ มาถึงปากทางเข้า ทางเดินแห่งโลกที่ 3 ซึ่งปกคลุมด้วยหมอกขาว โปรยฝนเริ่มห่างเม็ด อากาศหนาวเย็น เนื่องจากที่ตรงนี้อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร เตรียมสัมภาระพร้อมเรียกความฟิทของร่างกาย เพราะระยะทางต่อไปอีกกว่า 3 กม.
ต้องเดินเท้า ไปตามทางเดินแห่งโลกที่ 3
ทางเดินแห่งโลกที่ 3 มีรูปแบบเส้นทางเป็นวงกลม ระยะทางประมาณ 4 กม. เข้า/ออกได้ทางเดียว ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ระหว่างปรากฏการณ์ทางภูมิศาสตร์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น และอดีตเคยเป็นอาณาบริเวณของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ใช้เป็นฐานที่ตั้งหน่วยงานสำคัญ เพื่อต่อสู้กับทหารของฝ่ายรัฐบาล กินเวลายืดเยื้อมากว่า 10 ปี
สุสานนักรบ ปลายทางชีวิตของนักสู้
เพียงไม่กี่ร้อยเมตรจากทางเข้า เรามาหยุดอยู่ที่ สุสานนักรบ เพื่อคารวะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เบื้องหน้าเป็นหลุมศพของแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด 3 หลุม สภาพใหม่เอี่ยม เสมือนได้รับการดูแลตลอดเวลา สิ่งของที่ใช้เซ่นไหว้ คือ บุหรี่ และยาเส้น บรรยากาศ ณ ตอนนี้วังเวงชอบกล ทั้งเสียวสันหลัง ทั้งขนลุก ทำพิธีเสร็จรีบไปต่อเลยดีกว่า
ลานหินปุ่ม ของขวัญจากธรรมชาติ น่าอัศจรรย์
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแรก เดินตามเส้นทางจะพบกับพันธุ์ไม้นานาชนิดที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือน พร้อมชมความงามที่สรรค์สร้างจากธรรมชาติ ระยะทางต่อจากนี้อีกไม่เกิน 800 เมตร จะถึง ลานหินปุ่ม ลักษณะเป็นลานหินตะปุ่มตะป่ำ เกิดขึ้นจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมี และฟิสิคส์ พื้นที่แห่งนี้ยังใช้ในการพักฟื้นคนไข้ เนื่องจากอากาศดี ลมพัดเย็นสบายตลอดเวลา ณ ลานหินปุ่ม เราเสียไปเวลาไปเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม เนื่องจากรอให้ฟ้าเปิด เพื่อเก็บภาพทิวทัศน์สวยๆ ริมหน้าผามาให้ได้ชม
ผาชูธง ใช้ประกาศศักดาหลังรบชนะฝ่ายรัฐบาล
สถานที่ต่อไป คือ ผาชูธง ลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน ตั้งอยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร ในอดีตหากพรรคคอมมิวนิสต์รบชนะ จะมีธง ซึ่งเป็นรูปค้อนเคียวสีแดง หรือมีนัยแฝงเพื่อใช้กระจายข่าวสารให้สมาชิกพรรคได้ทราบ ปัจจุบัน ผาชูธงยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่งดงาม และเปลี่ยนธงจากรูปค้อนเคียว เป็นธงไตรรงค์เด่นตระหง่านโบกสะบัดอยู่บนยอดผา
ลานอเนกประสงค์ ทิ้งร่องรอยสงครามไว้ให้ลูกหลานดู
ใช้เวลาชื่นชมทัศนียภาพ รวมถึงฟังเรื่องราวในอดีตจากไกด์กิตติมศักดิ์ บน ผาชูธง พอสมควร จึงเดินทางไปยัง ลานอเนกประสงค์ บริเวณทั่วลาน ฯ ยังคงพบร่องรอยของการสู้รบ ไม่ว่าจะเป็นรอยกระสุนที่มองเห็นได้ทั่ว รวมทั้งซากปืนต่อสู้อากาศยานของพรรคคอมมิวนิสต์เอาไว้ใช้ต่อสู้กับการโจมตีทางอากาศของทหารฝ่ายรัฐบาล และหลุมหลบภัยทางอากาศที่กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ใช้กำบังร่างกายจากกระสุนปืนของทหารฝ่ายรัฐบาล
ในปัจจุบัน ยังเหลือร่องรอยของความรุนแรง แต่ถูกแซมด้วยพันธุ์ไม้ดอกนานาชนิดปกคลุมทั่วพื้นที่ และตรงนี้ยังเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ที่มีหลุมฝังศพของแกนนำ ซึ่งถูกลอบสังหารจากพวกเดียวกันเอง จากการสังเกต จะมีหลุมศพที่ถูกค้นพบกระจายอยู่ทั่วบริเวณ แล้วที่ยังไม่ถูกค้นพบ คงมีไม่ใช่น้อย ซึ่งปัจจุบัน ธรรมชาติคงกลบเกลื่อนด้วยธุลีดินไปเรียบร้อย
สำนักอำนาจรัฐ ความรุ่งเรืองของพรรคคอมมิวนิสต์
ใกล้ๆ กันจะเป็น สำนักอำนาจรัฐ สถานที่ที่ใช้ดำเนินการด้านทหาร การปกครองมวลชน ลักษณะคล้ายกับศาลากลางจังหวัด มีกลุ่มบ้านไม้กระจัดกระจายทั่วพื้นที่ รวมถึง โรงประกอบอาหาร โรงทอผ้า สถานที่อบรม และเป็นคุกสำหรับผู้กระทำผิด
สำหรับ สำนักอำนาจรัฐ เป็นจุดเรียนรู้แห่งสุดท้าย ก่อนถึงทางออกทางเดินโลกที่ 3 ก่อนที่จะสรุปกับทีมงานว่า จุดหมายต่อไป คือ ลานหินแตก เนื่องจากขากลับจะได้แวะไปเก็บสัมภาระ พร้อมพักรับประทานอาหาร บริเวณที่พักแรมหน้าอุทยาน ฯ เพราะเป็นเส้นทางเดียวกัน
ลานหินแตก ศิลปะที่ธรรมชาติดลบันดาล
ดื่มน้ำพักกายเสร็จ สตาร์ทรถออกเดินทางจาก ทางเดินโลกที่ 3 ไปที่ ลานหินแตก ระยะทางห่างกันประมาณ 4 กม. แต่ต้องย้อนกลับไปทางด้านหน้าอุทยาน ฯ ภายในจะเป็นลานหินที่มีรอยแตกเป็นแนวร่อง บางรอยแคบจนเดินข้ามได้ แต่บางรอยกว้างจนต้องทำสะพานไม้คอยอำนวยความสะดวก ลักษณะเช่นนี้ สันนิษฐานได้ว่า เกิดจากการโก่ง และเคลื่อนตัวของผิวโลก ร่องหินแตกแต่ละร่องนั้น ลึกจนไม่สามารถคาดเดาได้ มีเรื่องเล่าว่า ศพของทหารของทั้ง 2 ฝ่าย ถูกโยนลงไปใต้เหวนับพัน และเป็นที่น่าแปลก เพราะลานหินแตกทั่วพื้นที่ จะมีพืชจำพวก มอสส์ ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ ขึ้นทั่วลาน
ได้เวลาที่ต้องเติมพลังให้ร่างกาย เพราะว่าสภาพของทีมงานแต่ละคนอิดโรยน่าดู ออกจากลานหินแตกจึงตรงไปหาอาหารมื้อแรกของวัน ซึ่งเวลาในขณะนั้นก็เที่ยงกว่าๆ อาหารมื้อแรกของวันนี้ เป็นแบบเรียบง่าย อยู่ในเมนูทั่วไปตามร้านอาหารตามสั่ง แต่ทีเด็ดอยู่ตรงส่วนของผักที่นำมาประกอบอาหารนั้นเป็นผักที่ปลูกบนยอดภูทั้งหมด รสชาติไม่ต้องพูดถึง ทั้งหวาน และกรอบ
เสร็จจากการรับประทานอาหาร ถึงเวลาเก็บสัมภาระในที่พัก เพื่อเดินทางต่อไปยัง โรงเรียนการเมืองการทหาร ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักไปเพียงประมาณ 6 กม. เศษ ท้องฟ้าเริ่มมีแสงสว่างส่องลงมากระทบกับพื้นดิน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าธรรมชาติจะมีเวลาให้มากเพียงใด
โรงเรียนการเมืองการทหาร ที่ฝึกวิทยายุทธ์ของคอมมิวนิสต์
ประมาณ 10 นาที จากที่ทำการอุทยาน ฯ ก็เดินทางมาถึงหน้าโรงเรียนการเมืองการทหาร จอดรถ ดับเครื่องยนต์ พอก้าวลงจากรถ เอาอีกแล้ว พระพิรุณทรงพิโรธ ลงโทษมาเป็นสายฝนระลอกใหญ่ ต่างเปียกปอนไปตามๆ กัน
โรงเรียนการเมืองการทหาร ในขณะนี้เป็นป่ารกทึบ มีต้นไม้ทั้งใหญ่ เล็ก ปกคลุมเต็มพื้นที่ เหมาะสำหรับอำพรางตัว ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับการศึกษาตามลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะประกอบไปด้วยบ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล ทั้งหมด 31 หลัง รูปแบบเป็นบ้านหลังเล็กๆ ภายในบ้านจะมีแคร่สำหรับนอน และโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือทำด้วยไม้กระดานหยาบๆ บางหลังเริ่มผุพัง เพราะถูกปล่อยให้ร้าง นอกจากนี้บริเวณศูนย์กลางของโรงเรียน มีรถทแรคเตอร์จอดอยู่ 1 คัน ในสภาพถูกระเบิดพังยับเยินทั้งคัน
กังหันน้ำ แหล่งข้าวแหล่งน้ำของประชากรคอมมิวนิสต์
เยื้องกับโรงเรียนการเมืองการทหาร คือ กังหันน้ำ ในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ กระแสน้ำ และความเขียวขจีของพันธุ์ไม้ ทำให้ที่แห่งนี้มีเสน่ห์ขึ้นมาทันที ในอดีต กังหันน้ำแห่งนี้ เคยหล่อเลี้ยงประชากรของพรรคคอมมิวนิสต์กว่า 1,000 คน สร้างขึ้นโดยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในนามว่า สหายธันวา ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำ หมุนแกนกระเดื่อง เพื่อไว้ตำข้าว
การเดินทางของเราสิ้นสุดลง ณ ที่แห่งนี้ หลังจากรับทราบเรื่องราวข้อมูลประวัติศาสตร์ของการสูญเสียเลือดเนื้อของพี่น้องชาวไทย ทำให้ลองมานั่งคิดถึงเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งหากยังแบ่งสีแบ่งส่วน ไม่ยอมปรองดองกัน อีกไม่นานนัก ภาพความทรงจำที่เลวร้ายจากอดีต จะกลับมาเป็นเรื่องจริงก็เป็นได้
รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ตั้งอยู่บนรอยตะเข็บชายแดน 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย พื้นที่ทั้งหมด 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 มียอดเขาสูง 1,617 เมตร ทิวทัศน์สวยงาม ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา และป่าสนเขา รวมทั้งยังพบกล้วยไม้ และดอกไม้ป่าหลายชนิดขึ้นอยู่ตามลานหิน
อดีตเคยเป็นฐานที่มั่นการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของภาคเหนือ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ เขาค้อ ภูขัด และภูเมี่ยง จนเกิดเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง ในระหว่างปี 2511-2525 เมื่อเหตุการณ์สงบลง ปลายเดือนพฤศจิกายน 2525 ได้มีการตัดเส้นทางผ่านใจกลางภูหินร่องกล้า และจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขึ้น จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบัน
การเดินทาง
เราใช้เส้นทางที่วิ่งเป็นวงกลม เริ่มจากกรุงเทพ ฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ผ่านสายเอเชีย ถึงนครสวรรค์ แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 117 ถึงพิษณุโลก เลี้ยวขวาอีกครั้ง เข้าทางหลวงหมายเลข 12 จากนั้นเลี้ยวซ้าย ทางหลวงหมายเลข 2013 เข้าอำเภอนครไทย เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2331 มีป้ายบอกทางตลอดจนถึง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ขากลับ ย้อนมายังทางหลวงหมายเลข 21 เลี้ยวขวาตรงผ่านเพชรบูรณ์ จนถึงสระบุรี เลี้ยวขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 1 ตรงสู่กรุงเทพ ฯ
ขอขอบคุณ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เอื้อเฟื้อรถ โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ 3.0 วี เนวิเกเตอร์ เพื่อใช้ในการเดินทาง
บริษัท ซินเน็ค ประเทศไทย จำกัด ที่เอื้อเฟื้อ MIO MOOV S500 อุปกรณ์นำทางผ่านดาวเทียม ช่วยนำทางตลอดทริพ
ที่พัก+ที่กิน
บ้านพักในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ราคาตั้งแต่ 300 บาท พักได้ 3 คน จนถึง 1,800 บาท พักได้ 6 คน หรือจะไปดื่มด่ำกับธรรมชาติโดยตรง ด้วยวิธีนอนกางเทนท์ ทางอุทยาน ฯ จะคิดค่าบริการให้เช่าในราคาหลังละ 100-200 บาท/คืน หากนำเทนท์มาเอง คิดค่าธรรมเนียมเพียง 50 บาท จองที่พักได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2562-0760 หรือจองออนไลน์ที่เวบไซท์ www.dnp.go.th
สำหรับของกินนอกจากพืชผักบนยอดภู อาทิ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ฟักแม้ว รสชาติหวานกรอบ หารับประทานได้จากร้านอาหารในบริเวณอุทยาน ฯ และอีกอย่างที่โด่งดัง คงหนีไม่พ้น ไก่ย่างวิเชียรบุรี หากินได้ง่ายตลอดทาง แต่หากจะซื้อของแท้ดั้งเดิม ต้องเดินทางไปที่ อ. วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์ เมืองที่เป็นเจ้าของสูตรไก่ย่างวิเชียรบุรี นั่นเอง
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา natthep@autoinfo.co.th
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2552
คอลัมน์ Online : ท่องเที่ยว