พิเศษ
ม้า หรือเรียกแบบสง่าว่า อาชาไนย (ชื่อวิทยาศาสตร์ EQUUS CABALLUS หรือ EQUUS FERUS CABALLUS) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ มนุษย์ได้นำมาเลี้ยง และใช้ในกิจกรรมการเดินทางขนส่ง การทหาร กีฬา สันทนาการ และใช้เป็นอาหารของมนุษย์ในบางวัฒนธรรมมานานนับพันปี เนื่องจากความอเนกประสงค์ในการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้เป็นพาหนะ หรือต้นกำลัง เพื่อขนสินค้าผ่านภูมิประเทศที่ทุรกันดารได้ดี
ม้า หรือเรียกแบบสง่าว่า อาชาไนย (ชื่อวิทยาศาสตร์ EQUUS CABALLUS หรือ EQUUS FERUS CABALLUS) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ มนุษย์ได้นำมาเลี้ยง และใช้ในกิจกรรมการเดินทางขนส่ง การทหาร กีฬา สันทนาการ และใช้เป็นอาหารของมนุษย์ในบางวัฒนธรรมมานานนับพันปี เนื่องจากความอเนกประสงค์ในการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้เป็นพาหนะ หรือต้นกำลัง เพื่อขนสินค้าผ่านภูมิประเทศที่ทุรกันดารได้ดี
แต่ปัจจุบัน ม้าถูกแทนที่ด้วยยานพาหนะแบบใหม่ ก็คือ ยานยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ เพื่อการเดินทางได้ไกล และบรรทุกของได้มากกว่า แต่อาหารที่ต้องป้อนแทนหญ้า คือ น้ำมันอันแสนแพง ฉบับนี้เรานำท่านผู้อ่านมารู้จักกับม้า สัตว์ที่เคยเป็นทั้งเพื่อน และพาหนะของมนุษย์เมื่อครั้งอดีต ซึ่งในปัจจุบันมีบทบาทลดลงไป เหลือเพียงใช้ในการกีฬาและสันทนาการ
ม้าก็มีบรรพบุรุษ
ต้นตระกูลของม้า ถือกำเนิดเมื่อประมาณ 55 ล้านปีที่แล้ว ว่ากันว่ามีความสูงประมาณ 10 นิ้ว มีนิ้วเท้า 5 นิ้ว มีชื่อเรียกว่า "EOHIPPUS" หรือ "HYRACOTHERIUM" ซึ่งเป็นศัพท์ภาษากรีก มีความหมายว่า "หมู" อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกา แต่เนื่องจากมันต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการหากิน จากในป่าที่มีพื้นดินอ่อนมาเป็นทุ่งหญ้าที่มีพื้นแข็ง จึงต้องวิวัฒนาการให้กระดูกนิ้วเท้าจาก 5 นิ้ว กลายเป็นนิ้วเดียวหรือเรียกว่า "กีบ" รวมทั้งมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ขายาวขึ้น ทำให้มีความสามารถในการวิ่งได้เร็ว ต่อมาได้กระจายตัวตามการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกไปทั่วทั้งทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา เมื่อไปอยู่ในภูมิอากาศต่างกันออกไปก็ปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีมากมายหลายร้อยพันธุ์
ม้าแต่ละสายพันธุ์ใช้ในจุดประสงค์ต่างกันออกไป ม้าใช้งานมักจะตัวใหญ่กว่าม้าอื่น เช่น ม้าพันธุ์ไชร์ (SHIRE) ของอังกฤษ ที่ได้ชื่อว่าเป็นม้าพันธุ์ใหญ่ที่สุด มีความสูง 17-18 แฮนด์ (HAND) หรือประมาณ 1.8 เมตร หนัก 2,400 ปอนด์ หรือ 1,080 กก. ส่วนในอเมริกา นิยมพันธุ์คไลเดสเดล (CLYDESDALE) และพันธุ์เพอชรอน (PERCHRRON) ซึ่งใช้เทียมรถม้า
ส่วนม้าที่ใช้ขี่ จะเป็นม้าที่มีน้ำหนักเบา เช่น พันธุ์โธรัฟเบรด (THOROUGHBRED) ของอังกฤษ ส่วนฝั่งอเมริกา คือ พันธุ์ควอเตอร์ (QUARTER HORSE) และ พันธุ์อาราเบียน (ARABIAN) ซึ่งเป็นม้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก โดยมีผู้กล่าวว่าม้าพันธุ์นี้มีการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์มานานกว่า 3,000 ปี ในประเทศแถบตะวันออกกลาง
สายพันธุ์ม้าแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่
1. โพนีส์ (PONIES) มีความสูงไม่เกิน 14.2 แฮนด์ หรือ 1.42 ม. ความสูงของม้าวัดจากพื้นจนถึตะโหงก (WITHERS) หรือหัวไหล่ของม้า มีน้ำหนัก 500-900 ปอนด์ เป็นม้าที่มีสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุด ขาสั้น และค่อนข้างแข็งแรง ในปัจจุบันไม่ค่อยมีความต้องการที่จะใช้แรงงานม้าพวกนี้ จึงได้ถูกนำไปใช้ในการขี่ของเด็กๆ ซึ่งเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
2. เวิร์ค ฮอร์ส (WORK HORSES) มีความสูง 14.5 ถึง 17.5 แฮนด์ หรือ 1.75 ม. มีน้ำหนักมากกว่า 1,400 ปอนด์ หรือ 630 กก. ม้าประเภทนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด และแข็งแรงที่สุดในกลุ่มของม้าทั้งหมด ชื่ออีกอย่างหนึ่ง คือ "COLD-BLOODS" ซึ่งมีที่มาจากภาษาเยอรมันที่ว่า "KATBLUTIGKEIT" หมายถึง ความสงบเยือกเย็นเฉื่อยชา เนื่องจากเป็นม้าที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้การตอบสนองเชื่องช้า ม้าพวกนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ ชื้นแฉะ และภูมิอากาศที่หนาวเย็น ในอดีตถูกนำไปใช้ลากจูงของหนัก ทั้งทางเกษตร และอุตสาหกรรม ปัจจุบันในบางประเทศไม่มีเครื่องจักรกล ยังคงใช้แรงงานจากม้าพวกนี้ช่วยงานเกษตรกรรม และในฟาร์ม
3. สปอร์ท ฮอร์ส (SPORT HORSES) มีความสูง 14.5 ถึง 17 แฮนด์ หรือ 1.7 ม. มีน้ำหนัก 900-1,400 ปอนด์ หรือ 405-630 กก. เป็นม้าที่มีรูปร่างสูง ขายาว เคลื่อนที่ได้รวดเร็ว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะนิสัย เชื้อสาย และสภาพภูมิอากาศที่ม้าอยู่ ซึ่งยังแบ่งได้อีก 2 สายพันธุ์ย่อย คือ
- HOT-BLOODS เป็นพันธุ์แท้ ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์อาราเบียน และพันธุ์โธรัฟเบรด ที่ได้ชื่อว่าเป็นม้าที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก
- WARM-BLOODS เป็นพันธุ์ผสมที่พัฒนามาจาก HOT-BLOODS และ COLD-BLOODS เหมาะสำหรับการใช้ขี่เดินทาง หรือใช้งานต่างๆ เช่น ต้อนปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้ในการแข่งขันกีฬา และการแสดง
ม้าในประเทศไทย
ในประเทศไทยถือได้ว่าม้าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเช่นเดียวกับช้าง เพราะการทำศึกสงครามต้องมีทั้งทัพช้าง และทัพม้า ส่วนคนทั่วไปสมัยก่อนนิยมใช้ม้าบรรทุกสัมภาระ มากกว่าที่จะใช้ขี่ ทั้งนี้เนื่องจากม้าไทยมีขนาดเล็ก ที่เห็นได้ชัด คือ ชาวเขาทางภาคเหนือที่เลี้ยงม้าไว้เพื่อช่วยในการขนสัมภาระไปตามดอยต่างๆ ทางภาคอีสานมีการเลี้ยงม้าเพื่อขี่ และช่วยในการต้อนสัตว์ของบรรดาพ่อค้าวัว หรือที่เรียกกันว่า "นายฮ้อย" ในปัจจุบันชาวบ้านจังหวัดขอนแก่นก็ได้พัฒนาไปเลี้ยงม้าแข่ง ส่วนภาคกลางนอกจากจะเป็นแหล่งของการเพาะเลี้ยงม้าแข่งแล้ว ยังมีการเลี้ยงม้าเพื่อใช้ในงานรื่นเริง หรือในการทำพิธีทางศาสนา และบริการแก่นักท่องเที่ยว
สำหรับภาคใต้นั้นบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพร และระนอง มีการขยายพันธุ์ของม้าที่เป็นม้าศึกตั้งแต่สมัยโบราณ รวมทั้งม้านำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ หรืออินเดีย เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1-2 โดยจะพบว่ามีการใช้ม้าลูกผสมที่มีขนาดส่วนสูงกว่าม้าไทย ซึ่งตัวผู้มีความสูง 14 แฮนด์ หรือ 1.4 ม. ส่วนตัวเมียสูง 13 แฮนด์ หรือ 1.3 ม. ใช้ในการขนสินค้าเกษตรออกมาสู่ตลาดภายนอก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าเขาสูงชัน
ม้าพันธุ์พื้นเมืองของไทย แบ่งได้ 2 ประเภท
1. สายพันธุ์มองโกล (THAI-MONGOL PONY) สมัยก่อนใช้เป็นม้าบรรทุกสัมภาระ ระหว่างชายแดนประเทศไทยตอนเหนือ กับประเทศจีน พม่า และลาว ภายหลังจึงแพร่พันธุ์ไปเลี้ยงกันทั่วทุกภาคของประเทศไทย ม้าสายพันธุ์นี้จะมีความสูงไม่เกิน 13 แฮนด์ หรือ 1.3 ม. ลักษณะเด่น คือ มีหน้าแหลมเหมือนม้าสายพันธุ์อาราเบียน คอสั้น ลำตัวสั้น ขนแผงคอเป็นพุ่มดกไม่เป็นระเบียบ ขาสั้น กีบเล็ก
2. สายพันธุ์ไทยใหญ่ (THAI- BURMESE TYPE PONY) หรือเรียกง่ายๆ ว่า ม้าไทยใหญ่ แหล่งกำเนิดอยู่แถบจังหวัดชายแดนไทย- พม่า สันนิษฐานว่าน่าจะแพร่พันธุ์มาจากม้าศึกของทัพพม่า ที่สมัยก่อนยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันยังคงมีม้าประเภทนี้บางส่วนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งคาดว่าเป็นม้าลูกผสมที่เกิดระหว่างแม่พันธุ์ไทยมองโกล กับพ่อม้าเทศ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยกรุงรีอยุธยา เพื่อใช้ในการศึกสงคราม ม้าไทยใหญ่นี้จะมีโครงสร้างใหญ่กว่าม้าไทยมองโกลเล็กน้อย ลักษณะเด่น คือ รูปร่างบึกบึน หัวใหญ่ คอยาว คล้ายม้าเทศ ขาสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับลำตัว ขนแผงคอจัดเรียงเป็ระเบียบ
กีฬาขี่ม้าในประเทศไทย
กีฬาขี่ม้า ถือได้ว่าเป็นกีฬาชนิดเดียวที่ต้องใช้อุปกรณ์แข่งขันที่มีชีวิต ความรู้สึก ต้องดูแลเอาใจใส่ เหมือนคนทุกอย่าง ซึ่งคนกับม้าจะต้องหลอมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว และชัยชนะจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ ความเชื่อใจ และการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างคนกับม้า ในประเทศไทยกีฬาขี่ม้ายังเป็นที่รู้จักกันน้อย หรือรู้จักเพียงบางประเภทเท่านั้น เช่น การแข่งขันใช้ความเร็ว ซึ่งเป็นกีฬาขี่ม้าที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับ 1 ส่วนการแข่งขันในประเภทอื่น คนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักกันเลย สำหรับกีฬาขี่ม้าในบ้านเรา สามารถแบ่งประเภทได้ ดังนี้ ประเภทแข่งความเร็ว (RACING), ประเภทศิลปะการบังคับม้า (DRESSAGE), ประเภทกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง (SHOW JUMPING), ประเภทโปโล (POLO), ประเภทครอสส์คันทรี (CROSSCOUNTRY), ประเภทเอนดูรานศ์ (ENDURANCE) และประเภทขี่อ้อมถัง(BARREL RACING) ซึ่งกิจกรรม 2 ประเภทหลังนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
อยากเลี้ยงม้าต้องทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่ต้องการจะซื้อม้ามาเลี้ยงนั้น ควรที่จะศึกษาพันธุ์ม้าให้ดีก่อน เพราะม้าแต่ละพันธุ์จะมีจุดเด่น และจุดด้อย ที่ต่างกันออกไป ควรที่จะทราบว่าเราจะซื้อมาเพื่อใช้ในกิจกรรมอะไร เช่น แข่งขัน หรือ ขี่เล่น ส่วนวิธีการเลือกซื้อม้านั้นเป็นเทคนิคของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ การประเมินลักษณะบุคลิกภาพของม้าเบื้องต้น พอที่จะทำได้โดยการสังเกตลักษณะท่าทาง หรือโหงวเฮ้งของม้า ซึ่งอ่านได้ไม่ยาก ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ด้านม้าเพียงเล็กน้อยก็ตาม เช่น ลักษณะของตา ม้าที่มีตาใหญ่ แววตาดูอ่อนโยน ก็จะสามารถบอกได้ว่าม้าตัวนั้นสามารถไว้ใจได้ และมีสภาพอารมณ์ที่มั่นคง ม้าที่มีตาเล็กแบบตาหมู โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าส่วนจมูกโค้ง จะเป็นลักษณะที่ไว้ใจไม่ค่อยได้
ก่อนที่จะซื้อม้า ควรให้สัตวแพทย์ตรวจก่อนเสมอ การตรวจจะเริ่มจากการจูงวิ่ง เพื่อดูลักษณะว่าวิ่งตรงหรือไม่ ถ้าม้ามีอาการบาดเจ็บ เช่น เจ็บขา ม้าจะยกหัวขึ้น เพื่อพยุงน้ำหนักและถ่ายน้ำหนักไปยังขาข้างที่ไม่เจ็บ เสียงจังหวะการวิ่งก็จะไม่สม่ำเสมอ บางแหล่งผู้ซื้อสามารถลองขี่ม้าก่อนได้ เพื่อดูว่าม้า และผู้ขี่ เข้ากันได้หรือไม่
สำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เลี้ยงม้า การซื้อม้าตัวแรกไม่ควรซื้อม้าเด็ก ควรหาม้าที่มีประสบการณ์ และถูกฝึกมาแล้ว เพราะม้าจะรู้จักการทำงาน และให้ความร่วมมือกับผู้ขี่ได้ดีกว่าม้าที่ไม่มีประสบการณ์ และหากทั้งคนและม้าต่างไม่มีประสบการณ์ด้วยกันแล้วละก็ ม้าก็จะพยายามควบคุมผู้ขี่แทน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ขี่เป็นอย่างมาก ฉะนั้นก่อนที่จะซื้อม้ามาขี่เล่น ควรต้องมีความชำนาญในการขี่ก่อน
ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูม้า (ในกรณีที่มีคอกเอง)
ม้าไทย
รายการ ต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี
ค่าอาหารข้น (วันละ 2 กก.x11 บาท) (บาท) 22 660 7,920
ค่าหญ้าแพงโกลาแห้ง (วันละ 10 กก.) (บาท) 25 750 9,000
รวม (บาท) 47 1,410 16,920
(เฉพาะกลางคืน/กลางวันปล่อยแปลงหญ้า)
ม้าลูกผสม
ค่าอาหารข้น (วันละ 4 กก.x11 บาท) (บาท) 44 1,320 15,840
ค่าหญ้าแพงโกลาแห้ง (วันละ 10 กก.) (บาท) 50 1,500 18,000
รวม (บาท) 94 2,820 33,840
(เฉพาะกลางคืน/กลางวันปล่อยแปลงหญ้า)
ม้าเทศ
ค่าอาหารข้น (วันละ 6 กก.x11 บาท) (บาท) 66 1,980 23,760
ค่าหญ้าแพงโกลาแห้ง (วันละ 10 กก.) (บาท) 50 1,500 18,000
รวม (บาท) 116 3,480 41,760
(เฉพาะกลางคืน/กลางวันปล่อยแปลงหญ้า)
อาหารม้า เบอร์ 001 R ของ CP กระสอบละ 330 บาท/30 กก. เฉลี่ย กก. ละ 11 บาท หญ้าแพงโกลาแห้ง CP เกรด B ฟ่อนละ 25 กก. รวมค่าขนส่งฟ่อนละ 125 บาท เฉลี่ย กก. ละ 5 บาท
หมายเหตุ: ค่าใช้จ่ายนี้เฉพาะค่าอาหาร ไม่รวมค่าดูแล และค่าการจัดการอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าหมอ ค่ายาถ่ายพยาธิ ค่าวัคซีน ค่าอาหารเสริม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าฝึก ฯลฯ
ส่วนในกรณีที่ไม่มีคอกส่วนตัว เจ้าของม้าต้องนำไปฝากเลี้ยงตามคอก หรือฟาร์มต่างๆ ที่รับเลี้ยง ซึ่งจะต้องเสียค่าอาหาร ค่าคอก ค่าสถานที่ ค่าบริหารจัดการ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละคอก มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 4,000-10,000 บาท/เดือน โดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาล ค่าหมอ ค่ายาถ่ายพยาธิ ค่าวัคซีน
เครื่องม้า
เครื่องม้า เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการขี่ม้า ถ้าหากว่าการเก็บรักษา และการทำความสะอาดไม่ดีพอแล้ว อาจทำให้ชำรุด หรือเสียหายเร็วกว่ากำหนด หรือถ้าหากว่าผู้ใช้ไม่ตรวจให้ละเอียดรอบคอบแล้ว อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ขี่ม้า ถึงพิการ หรือเสียชีวิตได้ เครื่องขี่ม้า ประกอบไปด้วย
1. เครื่องบังเหียน เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบังคับม้า เป็นส่วนที่จะผูกเข้ากับหัวและปากของม้า ส่วนที่เป็นเหล็กอยู่ในปากม้า เรียกว่า "บิท" (BIT) การขยับบังเหียนนั้นเป็นการบอกให้ม้าทำตามที่เราต้องการ เช่น หยุด เลี้ยวซ้าย/ขวา ถอยหลัง และอื่นๆ แต่การที่เราขยับบังเหียนแรง หรือกระชาก จะทำให้ม้าเจ็บปากได้
2. อานม้า เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการนั่งขี่ และบังคับม้าด้วยเข่า มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ สายรัดทึบยึดติดตัวอานม้าไว้บนหลังไม่ให้เลื่อนไหลหรือพลิกกลับ และสายโกลน ซึ่งใช้ในการเหยียบและยึดเท้าของผู้ขี่ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ อานสไตล์อังกฤษ และอานสไตล์คาวบอย ซึ่งจะมีปุ่มยื่นขึ้นมาเหนือหัวอาน เพื่อใช้ร้อยเชือกซึ่งใช้ในการจับลูกวัว หรือม้า หรือดึงของ โดยคาวบอยจะใช้เชือกรัดเข้ากับสิ่งของ หรือสัตว์ที่ต้องการจะดึง/ลาก มัดเชือกเข้ากับหัวอาน แล้วสั่งให้ม้าเดินถอยหลัง ส่วนที่เราใช้เหยียบเพื่อพยุงตัวนั้น เรียกว่า "โกลน"
3. ขลุมขี่ เป็นเครื่องมือบังคับม้าให้ทำตามความประสงค์ของผู้ขี่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ขลุมเดี่ยว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชุดบังเหียนปากอ่อน ใช้สำหรับผูกบังเหียนอันเดียว ขลุมคู่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ชุดบังเหียนปากแข็ง ขลุมนี้ใช้สำหรับผูกกับบังเหียนคู่ เช่น บังเหียนปากอ่อนควบกับบังเหียนปากแข็ง ซึ่งต้องมีสายรัดกระหม่อม 2 สาย สายขลุม 2 สาย สายบังเหียน 2 สาย การใช้ขลุมคู่นี้มักจะใช้กับม้าที่มีนิสัยดื้อ เกเร ซึ่งหากใช้บังเหียนปากอ่อนจะไม่สามารถบังคับม้าได้ จึงใช้กับบังเหียนปากแข็งคู่
4. ขลุมจูง เป็นขลุมที่ใส่ไว้เพื่อล่ามม้า ใช้มัดหรือจับจูงเดินในบริเวณที่ไม่ใช่แปลงปล่อยม้า ใช้เพื่อจูงเดิน หรือล่าม เพื่อทำความสะอาดตัวม้า
5. ขลุมตีวง เป็นขลุมที่มีไว้เพื่อใช้ฝึกม้าให้รู้จักทำตามคำสั่ง ขลุมนี้จะใช้กับม้าที่นำมาฝึกใหม่ๆ
6. หมวกขี่ม้า เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุดที่ผู้ขี่ม้าควรจะมี เพราะจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดจากการตกม้าได้ดีทีเดียว ลักษณะของหมวกขี่ม้าจะมีความแข็งคล้ายหมวกกันนอค มีรูปร่างกลม และมีสายรัดลงมาถึงคาง เราไม่สามารถห้ามไม่ให้ม้าตกใจและพยศได้ แต่เราสามารถป้องกันตัวได้โดยการใส่เครื่องป้องกัน และหมวก
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว ยังมี กางเกงขี่ม้า รองเท้าบูทขี่ม้า แส้ สเปอร์ ถุงมือ แต่สิ่งเหล่านี้หากคุณไม่คิดที่จะขี่จริงจัง ก็หาเช่าได้ตามสถานที่บริการให้ขี่ม้า
ส่วนแหล่งซื้อขายอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถหาซื้อได้ในละแวกที่อยู่ใกล้ๆ กับสนามม้า หรือหากอยู่ตามต่างจังหวัด ที่มีจำหน่ายเยอะ ก็คือ จังหวัดนครราชสีมา, เชียงใหม่, ลำปาง เป็นต้น
เมื่อเริ่มต้นขี่ม้า
การเป็นนักขี่ม้าที่ดี ต้องได้รับการฝึกสอน และมีการฝึกฝนเป็นประจำ ทั้งในทางปฏิบัติ และทฤษฎี แต่การที่จะให้ทุกคนเป็นนักขี่ม้าที่ดีนั้นลำบาก เพราะสิ่งแวดล้อม เวลา และการอบรม ตลอดจนนิสัยของนักขี่ม้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลักษณะของผู้ขี่ม้าที่ดี คือ
1. ต้องมีนิสัยเป็นคนเรียบร้อย สุภาพอ่อนโยน ปฏิบัติตามคำสั่งของครูฝึกสอน และเจ้าของคอกม้า รู้จักระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ ในเรื่องการขี่ม้าของสนาม
2. มีนิสัยรักม้า เมื่อเกิดความรักก็มีใจเมตตาต่อม้านั้นๆ
3. ต้องมีความซื่อตรง โดยต้องเป็นคนไว้ใจได้ ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตน ทั้งต่อหน้า และลับหลัง
4. ได้รับการฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี การจะเป็นนักขี่ม้าแข่งได้ ก็ต่อเมื่อได้ผ่านการทดสอบมาแล้ว แม้ผ่านการทดสอบมาแล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็นนักขี่ม้าที่ดี ต้องคอยซ้อมทบทวน หรือหาความชำนาญเสมอ
5. เป็นคนที่สนใจและชอบการขี่ม้า สนใจในการหัดม้า ไม่เกียจคร้านในการฝึกซ้อม พยายามสังเกตนิสัยของม้าเสมอ รู้จักม้า และจำม้าที่เคยซ้อมได้
6. มีความสามารถในการบังคับม้า หรือพูดได้ว่าขี่ม้าเก่ง รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบากับม้า
7. มีกำลังใจกล้าแข็งเหนือม้า ไม่กลัวม้า และไม่กลัวอันตรายที่ได้รับจากม้า ตลอดจนรู้ว่าอันตรายนั้นมีอะไรบ้าง มีความเข้มแข็งอดทน
8. ใจเย็นไม่ฉุนเฉียว ไม่ลงโทษม้าด้วยความโมโห รู้จักการลงโทษม้า ให้รางวัลม้า และรู้จักการฝึก การปลอบ การเอาใจม้า
9. ต้องมีความเมตตากรุณา รู้จักการให้อภัย เพราะม้าพูดกับเราไม่ได้ ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรจึงจะสัมพันธ์กัน และม้าไม่เคยมีความรู้เรื่องการวิ่ง การแข่งมาก่อน เราต้องเป็นผู้ฝึกหัดให้
10. รู้จักการถนอมกำลังกายของตัวเอง เพื่อให้มีความสมบูรณ์อยู่เสมอ รู้จักการรักษาเนื้อรักษาตัวให้เป็นคนที่แข็งแรง เพื่อมีกำลังกาย กำลังใจ ความคิด ในการขี่ม้า
ก่อนจะเริ่มฝึกหัดขี่ม้า ควรต้องถามตัวเองก่อน ว่ามีความชอบม้าแท้จริงหรือไม่ หรืออยากขี่เพียงเพราะตามแฟชัน หรือเพียงเพราะเคยชมภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ที่มีเรื่องเกี่ยวกับการขี่ม้า ซึ่งดูแล้วมีลักษณะสง่างาม อย่างพวกคาวบอย (COWBOYS) ที่มีความสามารถในการขี่ม้าได้อย่างเชี่ยวชาญ และทำให้ดูเหมือนว่าการขี่ม้าเป็นเรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ แต่แท้จริงแล้วการขี่ม้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ผู้ขี่ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม การขี่ม้าที่ถูกวิธีนั้น ผู้ขี่ต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และมีความอดทนสูง จึงจะสามารถบังคับม้าให้วิ่งไปตามความต้องการได้ ถ้าหากไม่มีความชอบอย่างจริงจัง และไม่มีความอดทนแล้วละก็ การขี่ม้าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกัน
ขอบคุณ
TNC RANCH จ. สิงห์บุรี
ORCHARD PARK จ. ระยอง
เอื้อเฟื้อสถานที่
หน่วยวัดความสูงของม้า เรียกว่า แฮนด์ (HAND) ใช้อักษรย่อว่า HH. 1 HH. เทียบเท่า 4 นิ้วฟุต 1 นิ้ว เทียบเท่า 2.54 เซนติเมตร แต่นิยมคิดแค่ 2.5 ซม. เพราะฉะนั้นความ
สูง 1 HH. ประมาณ 10.16 ซม. หรือเอาตัวเลขกลมๆ จำง่ายๆ เท่ากับ 10 ซม.
ABOUT THE AUTHOR
ธ
ธนกฤต นรพันธุ์พงศ์ thanagrit@autoinfo.co.th
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน เมษายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : พิเศษ