ท่องเที่ยว
"ไดโนเสาร์" เป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน สูญพันธุ์หมดไปจากโลกเมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร หรือเป็นสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์เช่นเดียวกับปลาวาฬ บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก แต่จริงๆ ไม่ใช่...!?!
"ไดโนเสาร์" เป็นสัตว์เลื้อยคลานโบราณชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดิน สูญพันธุ์หมดไปจากโลกเมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร หรือเป็นสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์เช่นเดียวกับปลาวาฬ บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก แต่จริงๆ ไม่ใช่...!?!
อันที่จริงไดโนเสาร์มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน ตั้งแต่ขนาดใหญ่มหึมา น้ำหนักกว่า 100 ตัน สูงกว่า 100 ฟุต จนถึงขนาดเล็กกว่าไก่ บางพวกเดินสี่ขา บางพวกเดินและวิ่งด้วยสองขาหลัง มีทั้งกินพืชและกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
แรกเริ่มเดิมทีไดโนเสาร์เกิดขึ้นมาในช่วงตอนปลายของยุคทไรแอสสิค หรือเมื่อกว่า 220 ล้านปีมาแล้ว เป็นเวลาที่ทวีปทั้งหลายยังเป็นผืนเดียวกัน สัตว์เลื้อยคลานจำพวกนี้มีชีวิตอยู่และมีวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 160 ล้านปี กระจัดกระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินบนโลก โดยสูญพันธุ์ช่วงปลายยุคครีเทเชียส หรือเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ในขณะที่ต้นตระกูลของมนุษย์เพิ่งจะปรากฏในโลกเมื่อ 5 ล้านปี ที่ผ่านมา หลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 60 ล้านปี และเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ยุคปัจจุบันนั้นเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่เกินหนึ่งแสนปีมานี่เอง
ที่ราบสูงโคราช ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วยชั้นหินตะกอน ซึ่งสะสมตัวอย่างรวดเร็วโดยแม่น้ำขนาดใหญ่และทะเลสาบ ในชั้นหินที่เก่าแก่ที่สุดพบสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด อาทิ ปลาปอด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รูปร่างเหมือนซาลาแมนเดอร์ขนาดยักษ์ ฟอสซิลพวกนี้พบใกล้กับเขื่อนจุฬาภรณ์ โดยคณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศส ทำให้สามารถกำหนดอายุของชั้นหินนี้ได้อย่างถูกต้องว่าอยู่ในช่วงยุคทไรแอสสิคตอนปลาย หรือประมาณ 210 ล้านปี นับจากปัจจุบัน
ฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลังที่พบจากแหล่งขุดค้นในช่วงทไรแอสสิคตอนปลาย มีบางส่วนที่คล้ายกับฟอสซิลซึ่งพบในจีน ยุโรป และอเมริกาเหนือ ในช่วงอายุเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้ที่ราบสูงโคราชได้แยกตัวออกจากทวีปตอนใต้ราวตอนต้นของยุค และเคลื่อนขึ้นไปทางเหนือเชื่อมต่อกับเอเชีย
ฟอสซิลไดโนเสาร์ของไทย พบจากแหล่งขุดค้นหลายแห่ง กระจายอยู่เกือบทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแนวเทือกเขาซึ่งเกิดจากหินตะกอนที่ทับถมกันหนาหลายพันเมตร ชั้นหินตะกอนสีแดงนี้มีชื่อเรียกว่า กลุ่มหินโคราช สะสมตัวบนแผ่นดินในช่วงยุคมีโซโซอิค อันเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่บนโลก จึงมีชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ฝังปะปนอยู่ในชั้นหินด้วย ฟอสซิลอายุเก่าแก่ที่สุดอยู่ในยุคทไรแอสสิคตอนปลาย (ประมาณ 210 ล้านปี) ส่วนที่อายุน้อยที่สุดอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง (ประมาณ 100 ล้านปี)
ยุคแรกของไดโนเสาร์ไทยเริ่มปรากฏในยุคทไรแอสสิคตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกอุบัติขึ้น ไดโนเสาร์ยุคนี้ส่วนมากมีขนาดเล็กและกินเนื้อ ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นพวกกินพืช โดยทั่วไปยอมรับกันว่าไดโนเสาร์กินพืชขนาดยักษ์ หรือซอโรพอด (SAUROPOD) ปรากฏขึ้นช่วงหลังยุคจูราสสิค การค้นพบฟอสซิลในชั้นหินหมวดน้ำพองทางภาคอีสาน แสดงหลักฐานให้เห็นชัดเจนว่าซอโรพอดได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้วตั้งแต่ปลายยุคทไรแอสสิค ไดโนเสาร์ชนิดนี้มีชื่อว่า อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (ISANOSAURUS ATTAVIPACHI) เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ถึงแม้ว่าขนาดจะยังไม่มหึมาเท่าซอโรพอดในช่วงยุคจูราสสิค และยุคครีเทเชียส แต่ก็มีขนาดใหญ่มากแล้ว โดยมีความยาวถีง 15 เมตร
ไดโนเสาร์เป็นองค์ประกอบหลักของกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังในยุคครีเทเชียสตอนต้น พบอยู่เป็นจำนวนมากในชั้นหินหมวดเสาขัว ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ครั้งแรกโดยนักธรณีวิทยาไทย เมื่อปี พศ. 2519 ที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น ตั้งแต่นั้นมาทีมสำรวจไทย-ฝรั่งเศสก็ได้สำรวจขุดค้น และศึกษาวิจัยแหล่งต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ในจังหวัดขอนแก่น และกาฬสินธุ์ แต่ขยายไปยังแหล่งอื่นๆ ทั่วประเทศ ไดโนเสาร์ที่พบมากโดยทั่วๆไปคือ ซอโรพอด จากชั้นหินหมวดเสาขัว การศึกษาวิจัยโครงกระดูกที่พบบางส่วนจากภูเวียง ปรากฏว่าเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ จึงตั้งชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (PHUWIANGOSAURUS SIRINDHORNAE) หลังจากนั้นโครงกระดูกที่เรียงรายเกือบจะสมบูรณ์จำนวนหลายโครงก็ถูกค้นพบเพิ่มเติม และจัดแสดงโดยสร้างอาคารคลุมแหล่งขุดไว้ที่ภูกุ้มข้าว จ. กาฬสินธุ์
ในยุคนั้นไม่ได้มีพวกซอโรพอดเพียงกลุ่มเดียว ฟอสซิลของสัตว์ผู้ล่า หรือเทอโรพอด (ไดโนเสาร์กินเนื้อ) ก็พบอยู่ในชั้นหินหมวดเสาขัวเช่นกัน ที่พบมากคือฟันเดี่ยวๆ จำได้ง่ายจากลักษณะของฟันที่แบน ขอบคมและมีรอยหยัก แต่ก็มีที่ต่างออกไปอีกพวกหนึ่งเป็นกรวยแหลมมีสันและร่องขอบฟัน ซึ่งเป็นลักษณะของเทอโรพอดอีกกลุ่มหนึ่งคือ สไปโนซอริดส์ ซึ่งของไทยตั้งชื่อว่า สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (SIAMOSAURUS SUTEETHORNI) และค้นพบกระดูกของเทอโรพอดซึ่งหายากมาก โดยได้ค้นพบที่ภูเวียง เป็นส่วนของกระดูกสะโพกและโคนหางของพวกไทรันโนซอริด ซึ่งเป็นวงศ์ของไดโนเสาร์ที่เป็นที่รู้จักกันดีมากในอเมริกาเหนือ ตัวที่มีชื่อเสียงมากคือ ไทรันโนซอรัส เรกซ์ ที่พบในไทยตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (SIAMOTYRANNUS ISANENSIS) ที่ยังอาจเป็นไทรันโนซอริดที่เก่าแก่ที่สุดด้วย
ชั้นหินต่อไปที่พบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์คือ หมวดหินโคกกรวด ซึ่งแยกออกจากชั้นหินหมวดหินเสาขัว โดยมีชั้นหินหมวดหินภูพานคั่น เป็นชั้นหินที่อยู่บนสุดซึ่งมีฟอสซิลจากตะกอนมหายุคมีโซโซอิคของที่ราบสูงโคราช ตัวอย่างตะกอนจากชั้นหินในหมวดนี้พบฟอสซิลขนาดเล็กจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีฟันของฉลามน้ำจืด ไฮโดบอนท์ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายชนิด ชนิดหนึ่งคือ ไทยโอดัส รุจาอิ บ่งบอกอายุได้ว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุคครีเทเชียสตอนต้น เป็นหลักฐานสำคัญใช้กำหนดอายุของหินหมวดนี้ ในชั้นหินหมวดโคกกรวดนี้ยังพบฟันของซอโรพอดและเทอโรพอด และไดโนเสาร์ที่ยังไม่รู้จักอีก 2 ชนิด ชนิดหนึ่งคือ กรามล่างของ ซิตตะโกซอรัส (PSITTACOSAURUS) หรือไดโนเสาร์ปากนกแก้ว
การสำรวจไดโนเสาร์ ในประเทศไทย
ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าบริเวณที่ราบสูงในปัจจุบันจะเคยเป็นบ้านของไดโนเสาร์ ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทยได้ค้นพบนานแล้ว
กระดูกชิ้นแรกของไดโนเสาร์พบที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น ในปี พศ. 2519โดย สุธรรม แย้มนิยม นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ขณะสำรวจแร่ยูเรเนียมในหมวดหินเสาขัวที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง กระดูกดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศส ว่าเป็นส่วนปลายล่างสุดของกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์กินพืช และทำให้ทราบว่ามีไดโนเสาร์ในประเทศไทย ดังนั้น ตั้งแต่ปี พศ. 2520 เป็นต้นมา จึงมีงานสำรวจซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยร่วมกันระหว่างนักธรณีวิทยา
จากกรมทรัพยากรธรณี และผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสอยู่เสมอ
ผลการสำรวจพบกระดูกไดโนเสาร์และรอยเท้าไดโนเสาร์ใน "กลุ่มหินทรายแดงชุดโคราช" ซึ่งเป็นหินตะกอนที่สะสมตัวตามแม่น้ำ ลำธาร หนอง บึง ในภาคอีสาน ได้แก่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น อ. สหัสขันธ์ จ. กาฬสินธุ์ จ. อุดรธานี จ. เลย จ. สกลนคร จ. ชัยภูมิ จ. มุกดาหาร จ. เพชรบูรณ์ จ. หนองบัวลำภู จ. นครราชสีมา จ. อุบลราชธานี จ. นครพนม และ จ. ปราจีนบุรี ในจำนวนแหล่งทั้งหมดพบแหล่งรอยเท้าที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น ภูแฝก กิ่ง อ. นาคู จ. กาฬสินธุ์ ภูเก้า จ. หนองบัวลำภู ภูหลวง จ. เลย อ. ท่าอุเทน จ. นครพนม และที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในเขต จ. ปราจีนบุรี
นอกจากนี้ยังพบแหล่งไดโนเสาร์ที่ภาคอื่นๆ นอกเหนือจากภาคอีสาน คือพบที่ อ. เชียงม่วน จ. พะเยา ในภาคเหนือ จ. สระแก้ว ในภาคตะวันออก และ อ. คลองท่อม จ. กระบี่ ในภาคใต้
อุทยานแห่งชาติภูเวียง
แหล่งที่พบซากฟอสซิลในอุทยานแห่งชาติภูเวียง อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น พบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ จำนวน 9 หลุม ได้แก่
หลุมขุดค้นที่ 1 ภูประตูตีหมา หลุมนี้ตั้งอยู่บนยอดยอดภูประตูตีหมา พบในปี พศ. 2525
เป็นหลุมขุดค้นที่สำคัญของประวัติศาสตร์การค้นพบไดโนเสาร์ของประเทศ เนื่องจากพบกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดเป็นจำนวนมาก เป็นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชสกุลและชนิดใหม่ของโลก มีความยาวประมาณ 15 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (PHUWIANGOSAURUS SIRINDHORNAE) นอกจากนี้ยังพบกระดูกขาของไดโนเสาร์ขนาดเล็กตัวเท่าไก่ วงศ์ซีลูโรซอร์ (COELUROSAUR) สกุลคอมพ์ซอกนาธัส (COMPSOGHATHUS) และยังพบฟันของไดโนเสาร์ที่มีลักษณะขากรรไกรคล้ายจระเข้ คือ สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (SIAMOSAURUS SUTEETHORNI) อีกด้วย
หลุมขุดค้นที่ 2 ถ้ำเจีย อยู่ห่างจากหลุมที่ 1 ประมาณ 500 เมตร พบเมื่อเดือนกันยายน พศ. 2532
เป็นกระดูกส่วนคอของไดโนเสาร์ซอโรพอดเรียงต่อกันจำนวน 6 ชิ้น แต่มีลักษณะเปราะแตกหลุดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ง่าย เพราะฝังตัวอยู่ในหินดินดานผุ การขุดแต่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ก่อนนำออกมาจากหลุมต้องทำเฝือกล้อมไว้ทั้งกระดูกและหินเพื่อให้คงรูป กรมทรัพยากรธรณีได้ทำเฝือกล้อมแล้วรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อนำไปตกแต่งให้สมบูรณ์ในห้องปฏิบัติการ แต่โชคร้ายได้มีผู้งัดเฝือกออกทำให้กระดูกแตกหลุดจากกัน จนไม่สามารถทำให้กลับคืนรูปเดิมได้ และบริเวณใกล้เคียงกันห่างไปประมาณ 50 เมตร ก็ยังมีสุสานหอยนางรม สกุล EXOGYRA ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของยุคครีเทเชียสตอนต้น หรือประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว ซากหอยดังกล่าวทับถมและประสานกันด้วยปูน หรือสารแคลเซียมคาร์บอเนท เกิดเป็นหินส่วนใหญ่ของกลุ่มหินโคราช (KHORAT GROUP) สันนิษฐานว่าชั้นปูนนึ้น่าจะเกิดในสภาพที่เป็นน้ำกร่อย
หลุมขุดค้นที่ 3 ห้วยประตูตีหมา อยู่ใกล้กับที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยาน ฯ พบเมื่อเดือนพฤษภาคม พศ. 2536 เป็นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่หลายชิ้น เป็นกระดูกซี่โครงและกระดูกสันหลัง ฝังอยู่ในชั้นหินทรายหมวดหินเสาขัว อายุประมาณ 130 ล้านปี
หลุมขุดค้นที่ 4 โนนสาวเอ้ บ้านหนองคอง อยู่ด้านทิศเหนือของภูประตูตีหมา ห่างออกไปประมาณ
4 กิโลเมตร คณะสำรวจพบฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดขนาดใหญ่ และกระดูกของซอโรพอดที่อยู่ในวัยเยาว์ ซึ่งเป็นการค้นพบที่หาได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนั้นยังมีเกล็ดปลาเลปิโดเทส และกระดองเต่า หลุมขุดค้นที่ 5 ซำหญ้าคา อยู่ทางตอนใต้ของภูประตูตีหมา พบกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กของพวกที่อยู่ในวัยเยาว์ และกระดูกของพวกเทอโรพอดปะปนกันอยู่
หลุมขุดค้นที่ 6 ดงเค็ง อยู่ทางตอนใต้ของภูโป่งใหญ่ พบกระดูกไดโนเสาร์ซอโรพอดหลายชิ้น และฟอสซิลของจระเข้ขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง
หลุมขุดค้นที่ 7 ภูน้อย ที่นี่ค้นพบฟันคาร์โนซอร์ (CARNOSAUR) จำนวนหนึ่ง ลักษณะปลายแหลมโค้งงอเล็กน้อยลักษณะคล้ายมีดโค้ง มีคมที่ขอบทั้งสองด้าน และที่ขอบมีรอยหยักเหมือนมีดหั่นเนื้อ ซึ่งเป็นลักษณะฟันของไดโนเสาร์ คาร์โนซอร์กินเนื้อขนาดใหญ่
หลุมขุดค้นที่ 8 หินลาดป่าชาด จุดนี้ยังไม่มีการสำรวจขุดค้น แต่เพื่อความสะดวกในการสำรวจในภายหน้า จึงได้มีการกำหนดชื่อหลุมไว้เช่นเดียวกับหลุมขุดค้นอื่นๆ ในบริเวณนี้ยังพบรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็ก ตระกูลออร์นิโธไมโมซอร์ มากกว่า 60 รอย และพบรอยเท้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ 1 รอย
หลุมขุดค้นที่ 9 หินลาดยาว อยู่ถัดไปทางทิศเหนือของหลุมขุดค้นที่ 2 ประมาณ 500 เมตร พบเมื่อเดือนสิงหาคม พศ. 2536 เป็นกระดูกไดโนเสาร์คาร์โนซอร์ขนาดใหญ่ เป็นกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกส่วนหาง วิจัยพบว่าเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลก จึงตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (SIAMOTYRANNUS ISANENSIS) หรือไทรันสยาม มีความยาวประมาณ 7 เมตร ลักษณะของกระดูกบ่งบอกว่าเป็นบรรพบุรุษของ ที-เรกซ์ (TYRANNOSAURUS REX) ในภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค พาร์ค ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีอายุอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย ในขณะที่ ไทรันสยาม มีอายุประมาณครีเทเชียสต้อนต้น และมีขนาดแค่ครึ่งหนึ่งของ ทีเรกซ์
ไดโนเสาร์ที่พบในภูเวียง
ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (PHUWIANGOSAURUS SIRINDHORNAE) ไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดแรกที่พบในประเทศไทย เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 15-20 เมตร เดิน 4 ขา คอยาวหางยาว พบกระดูกเป็นจำนวนมากในชั้นหินทราย หมวดหินเสาขัว ยุคครีเทเชียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปี พบครั้งแรกที่ภูเวียง จ. ขอนแก่น ผลการศึกษาวิจัยพบว่า เป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก จึงได้ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยและติดตามงานสำรวจวิจัยไดโนเสาร์มาโดยตลอด และต่อมาสำรวจพบอยู่ชั้นหินหมวดหินเสาขัวทั่วภาคอีสาน แหล่งที่พบมากที่สุดคือที่ ภูกุ้มข้าว อ. สหัสขันธ์ จ. กาฬสินธุ์
สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (SIAMOSAURUS SUTEETHORNI) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ชนิดแรกที่พบ
ในประเทศไทย พบฟันที่มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวย มีแนวร่องและสันเรียงสลับกันตลอดรอบฟัน
คล้ายฟันจระเข้ พบหลายแห่งในชั้นหินหมวดหินเสาขัวยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120-130 ล้านปี เป็นฟันของเทอโรพอดขนาดใหญ่ ผลการวิจัยพบว่าเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่จึงตั้งชื่อว่า สยามโมซอรัส สุธีธรนิ โดยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ วราวุธ สุธีธร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย ลักษณะของฟันซึ่งผิดแปลกไปจากเทอโรพอดทั่วๆไป ชี้ให้เห็นว่าสยามโมซอรัส น่าจะกินปลาเป็นอาหาร คล้ายกับพวกจระเข้
สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (SIAMOTYRANNUS ISANENSIS)
เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์ กินเนื้อเป็นอาหาร เดินด้วยสองเท้าหลังที่ทรงพลัง คอสั้น หัวกะโหลกใหญ่ มีฟันคมเหมือนใบมีด ขาหน้าเล็กสั้นพบซากกระดูกหลายชิ้น ประกอบด้วยกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกหาง เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่สมบูรณ์ ฝังตัวแน่นอยู่ในชั้นหินทรายยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 130 ล้านปี ที่ภูเวียง จ. ขอนแก่น ผลการศึกษาวิจัยพบว่าเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่และชนิดใหม่ จึงตั้งชื่อว่า สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ลักษณะของกระดูกที่พบบ่งชี้ว่าเป็นบรรพบุรุษของ ที-เรกซ์ (TYRANNOSAURUS REX) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่มากในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
คอมพ์ซอกนาธัส (COMPSOGNATHUS SP.) ไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดเล็กพวกซีลูโรซอร์
คอค่อนข้างยาว หางยาว ปากยาวแหลม เมื่อโตเต็มที่มีขนาดเท่าไก่งวง กินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร
เช่น แมลง สัตว์เลื้อยคลานพวกกิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายหนู พบกระดูกขาหน้าท่อนบน
และขาหลังท่อนล่างในชั้นหินทรายหมวดหินเสาขัว ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120-130 ล้านปี ที่ภูเวียงเป็นกระดูกที่มีรูกลวงตรงกลาง คล้ายกระดูกไก่ หรือนก
ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ (GALLIMIMUS SP.) ไดโนเสาร์วงศ์ ออร์นิโธไมโมซอร์ หรือไดโนเสาร์
นกกระจอกเทศ พวกนี้ปากเป็นจะงอยไร้ฟัน กินทั้งพืชและสัตว์ รูปร่างปราดเปรียว วิ่งเร็ว ตัวยาว 1-2 เมตร พบกระดูกขาของไดโนเสาร์ชนิดนี้ในหลุมขุดค้น ปะปนอยู่กับซากกระดูกของซอโรพอดวัยเยาว์จำนวนมาก กระดูกที่พบมีลักษณะยาวเรียว อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย แต่จากลักษณะพิเศษหลายอย่างบ่งบอกว่าเป็นสกุลใหม่ แต่ข้อมูลยังไม่พอที่จะกำหนดเป็นสกุลหรือชนิดใหม่ได้
อีสานยุคไดโนเสาร์
ยุคครีเทเชียสตอนต้น (EARLY CRETACEOUS) เมื่อ 130 ล้านปีก่อน ผืนแผ่นดินอีสานมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำใหญ่ เป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์ และสัตว์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเมื่อตายลงไปก็ถูกตะกอนจากแม่น้ำกลบฝังเก็บรักษาเอาไว้กลายเป็นซากดึกดำบรรพ์
สาเหตุที่ไดโนเสาร์มาตายรวมกันอยู่ที่นี่มีหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุหนึ่งสันนิษฐานว่าสภาพแวดล้อมโบราณในยุคครีเทเชียสตอนต้น บริเวณนี้เป็นที่ราบลุ่มน้ำใหญ่ มีแม่น้ำไหลคดเคี้ยวไปมา (MEANDERING RIVERS) สภาพภูมิอากาศเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง (SEMI-ARID ENVIRONMENT) ในฤดูแล้งกระแสน้ำจะไหลเอื่อยๆ แต่ในฤดูฝนมีน้ำป่าไหลหลากมาอย่างแรง ทำให้แม่น้ำมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวและมีน้ำเอ่อล้นท่วมตลิ่งเป็นบริเวณกว้าง ฝูงไดโนเสาร์ที่อาศัยหากินบริเวณริมน้ำและใช้เส้นทางเดินข้ามแม่น้ำเป็นประจำได้พยายามเดินข้ามแม่น้ำตามปกติ แต่กระแสน้ำไหลแรงมาก ไดโนเสาร์ฝูงใหญ่มีจำนวนมากจึงเกิดการเบียดชนและเหยียบกัน พวกที่อ่อนแอก็จมน้ำตาย ซากถูกน้ำพัดพามาเกยตื้นอยู่ที่บริเวณสันดอน หรือริมตลิ่ง ต่อมาถูกฝังกลบด้วยตะกอนดินทรายเป็นระยะเวลานานนับหลายล้านปี จนกลายเป็นฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์เก็บรักษาไว้ในชั้นหิน ให้นักโบราณชีววิทยาทำการขุดค้น อนุรักษ์และศึกษาวิจัย แล้วจินตนาการถึงสภาพแวดล้อมโบราณและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในอดีตให้เราได้รับรู้ในปัจจุบัน
อุทยานแห่งชาติภูเวียง มีลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาล้อมเป็นวงอยู่ 2 ชั้น ตรงกลางเป็นแอ่งขนาดใหญ่คล้ายแอ่งกระทะ ซึ่งเป็นที่ราบและลอนลาด ส่วนพื้นที่โดยรอบแอ่งมีลักษณะเป็นเทือกเขาซึ่งมีมุมเทเข้าหาใจกลางแอ่ง ประกอบด้วยเทือกเขาที่มีความลาดชันปานกลางถึงลาดชันสูง เทือกเขาชั้นนอกสุดมียอดเขาสูงสุด 844 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ และเทือกเขาชั้นในมียอดเขาสุงสุด 470 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณทิศเหนือของพื้นที่เทือกเขาชั้นในนี่เองที่เป็นแหล่งฟอสซิลไดโนเสาร์ ส่วนระดับต่ำสุดของเชิงเขาอยู่ระดับ 210 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
อุทยานแห่งชาติภูเวียง ตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราช มีลักษณะเป็นหินชั้น ซึ่งเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนบนแผ่นดินหนากว่า 4,000 เมตร ชั้นของหินตะกอนมักมีสีแดงเกือบทั้งหมด เรียกว่า หินชั้นตะกอนแดง หรือกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วย หน่วยหินเขาพระวิหาร หินเสาขัว หินภูพาน และหินโคกกรวด หินดังกล่าวถูกปกคลุมด้วยตะกอนร่วนและดินยุคควอเตอร์นารี และยุคปัจจุบัน ซึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง นั้นยังมีการสำรวจสายแร่ยูเรเนียมในพื้นที่อีกด้วย อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของห้วยทรายขาว ซึ่งจะไหลลงลำน้ำพอง ห้วยบั้งทิ้ง ห้วยน้ำไหล ซึ่งจะไหลลงลำน้ำเชิญ ห้วยเรือ ห้วยขุมปูน ห้วยน้ำบอง และห้วยมะนาว ซึ่งจะไหลลงห้วยบอง ทั้งลำน้ำพอง ห้วยบอง และลำน้ำเชิญ จะไหลลงอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์
การเดินทาง
รถยนต์
จาก จ. ขอนแก่น ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่าน อ. บ้านฝาง อ. หนองเรือ ถึงทางแยกไป อ. ภูเวียง ระยะทางประมาณ 48 กม. แล้วแยกตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2038 ไปประมาณ 38 กม. จึงถึงอุทยานแห่งชาติภูเวียง
จากปากช่องภูเวียงซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ภว. 1 (ปากช่อง) ตั้งอยู่ริมน้ำพอง บริเวณนี้ยังมีศาลเวียงภูเวียงตั้งอยู่เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป และมีรถรับจ้างสามล้อเครื่องจาก อ. ภูเวียง ถึงที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ภว. 1 (ปากช่อง) และเดินทางต่อไปอีกประมาณ 14 กม. ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2038 จนถึงที่ทำการอุทยาน ฯ ภูเวียง
ที่พักเด็ด ที่กินดัง
ที่พักในอุทยานแห่งชาติภูเวียง มีบ้านพักไว้ให้บริการแก่นักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง และเตรียมสถานที่กางเทนท์สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ
นัดพบ รีสอร์ท
ที่ตั้ง กิ่ง อ. เมืองเก่า ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติภูเวียง
บรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน สามารถชมทิวทัศน์ของท้องทุ่ง และป่าเขา มีห้องประชุม สัมมนาจัดเลี้ยง
ราคา 300-700 บาท
ติดต่อ 116 หมู่ที่ 1 บ. เมืองเก่า ต. เมืองเก่าพัฒนา กิ่ง อ. เมืองเก่า จ. ขอนแก่น โทร. (043) 438-128, 0-1708-3832, 0-6630-1022
ร้านอาหารผู้ใหญ่นนท์ ลาบ-ก้อย
ที่ตั้ง ติดกับตลาดสด อ. ภูเวียง ซ. หลังธนาคารกรุงศรีอยุธยา
บรรยากาศ อิ่มอร่อยกับอาหารแบบกันเองสไตล์อีสานหลากหลายเมนู อาทิ ลาบ-ก้อย ต้มเนื้อ อึ้งเป๊าะ ยำ ก้อยผ้าขี้ริ้ว ย่างเสือฮ้งไห้ อุเพี้ย อ่อมเพี้ย ทอดเส้น ย่างลิ้น ตับหวาน ฯลฯ
ราคาเป็นกันเอง
ติดต่อ ผู้ใหญ่นนท์ โทร. 0-9273-1486
พิกัดเส้นทาง จีพีเอส (GPS)
001 N16. 44009 E102.82863
002 N16. 44876 E102.76537
003 N16. 45021 E102.71566
004 N16. 48780 E102.40689
005 N16. 65405 E102.37526
006 N16. 66996 E102.29995
007 N16. 67863 E102.29694
008 N16. 67863 E102.29543
009 N16. 67734 E102.29528
010 N16. 67863 E102.28790
011 N16. 68441 E102.24422
ขอขอบคุณ
บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้
อุทยานแห่งชาติภูเวียง และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ. ขอนแก่น ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ และข้อมูล
ABOUT THE AUTHOR
ถ
ถาวร
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2549
คอลัมน์ Online : ท่องเที่ยว