ทดสอบ
ศึกวันดวลเดือด สงครามน้ำมันเชื้อเพลิงที่โหมกระพือใส่วงการรถยนต์ สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ค่ายรถหรูที่เคยมีเครื่องยนต์ดีเซลมาให้เป็นตัวเลือก กลับหันมาใช้การบริโภคน้ำมันโซลาเป็นจุดขาย โดยเปรียบเทียบกันจะๆ ในแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน รักใครเชียร์ใคร เลือกกันเองระหว่าง เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ทีดีวี 6 และเมร์เซเดส-เบนซ์ เอมแอล 320 ซีดีไอ
สงครามน้ำมันเชื้อเพลิงที่โหมกระพือใส่วงการรถยนต์ สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ค่ายรถหรูที่เคยมีเครื่องยนต์ดีเซลมาให้เป็นตัวเลือก กลับหันมาใช้การบริโภคน้ำมันโซลาเป็นจุดขาย โดยเปรียบเทียบกันจะๆ ในแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน รักใครเชียร์ใคร เลือกกันเองระหว่าง เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ทีดีวี 6 และเมร์เซเดส-เบนซ์ เอมแอล 320 ซีดีไอ
ภายในเปี่ยมด้วยความหรูหรา สะดวกสบาย โดยเฉพาะ เอมแอล 320 ที่เน้นความหรูหราเป็นหลัก ในขณะที่ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท มีตำแหน่งที่นั่งที่สูงกว่า เพื่อการควบคุมที่ดีกว่า
เอมแอล 320 มีแผงหน้าปัดขนาดใหญ่รับกับกระจกบังลมหน้า จอกว้าง ทัศนวิสัยด้านหน้าปลอดโปร่ง เว้นบริเวณเสาเอ ที่จะบังทัศนวิสัยในมุมด้านข้าง กระจกด้านข้างค่อนข้างเล็ก ทำให้เสียเปรียบ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ซึ่งมีมุมมองที่กว้างกว่า
เบาะนั่งของ เอมแอล 320 เพียบพร้อมด้วยซัพพอร์ท และสามารถปรับได้หลายตำแหน่ง ในขณะที่ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ก็ไม่น้อยหน้า แผงหน้าปัดเรียบง่าย ทำให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น ส่วนของ เอมแอล 320 มีการใช้งานไม่สะดวกทั้งตำแหน่ง และปุ่มควบคุมขนาดเล็ก รวมไปถึงตำแหน่งของเกียร์
ภายในของทั้งสองคัน จัดว่ากว้างขวางเพียงพอสำหรับผู้ใหญ่ 5 คน แต่เนื้อที่ห้องเก็บสัมภาระของ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท จะกว้างขวางกว่า ประตูห้องเก็บสัมภาระด้านหลังเปิดขึ้นทั้งบาน หรือจะเปิดเฉพาะบานกระจกก็ได้
ส่วนด้านหลังของ เอมแอล 320 เป็นบานประตูแบบเปิดขึ้นเช่นกัน สามารถเปิดด้วยรีโมท กุญแจ ปุ่มควบคุมจากบานประตูคนขับ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ในกรณีที่ถือของทั้งสองมือ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐานเพียบ ตั้งแต่ภายในหุ้มหนังแท้, ล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว, ระบบปรับอากาศ, ระบบช่วยเดินทาง ทริพ คอมพิวเตอร์, ระบบเครื่องเสียงพร้อมลำโพง 8 ตัว และถุงลมนิรภัย สำหรับผู้โดยสารทั้งแถวหน้า และแถวสอง
นอกจากนั้น ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเข้าไปอีก ทั้งระบบดิฟฟ์ลอค สำหรับล้อหลัง, ซันรูฟ, ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์ไร้สาย, โคมไฟหน้าไบซีนอน, เซนเซอร์ในการช่วยจอดรถ, ชุดปรับระดับโคมไฟหน้า ระบบนำทางด้วยดาวเทียม สั่งการด้วยเสียง และจอแสดงข้อมูลการทำงานของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ
ส่วนคู่ปรับจากค่ายดาวสามแฉก เอมแอล 320 ก็เพียบพร้อมไม่อายใคร ด้วยอุปกรณ์มาตรฐาน ล้ออัลลอยขนาด 17 นิ้ว ไฟตัดหมอกหน้า/หลัง เซนเซอร์ในการช่วยจอดรถ, ชุดปัดน้ำฝนปรับความเร็วอัตโนมัติ, ถุงลมนิรภัยหน้า/หลัง ระบบ PRE-SAFE ระบบป้องกันต้นคอ ระบบเครื่องเสียงพร้อมซีดี และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนั้นยังติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ด้วยชุดเกียร์อัตราทดต่ำ และระบบขับเคลื่อนสำหรับเส้นทางวิบาก อัพเกรดภายในห้องโดยสาร ซันรูฟ ฟีล์มใส ชุดลอคสัมภาระ เบาะหุ้มหนังแท้ ที่หุ้มล้ออะไหล่
ทั้งอุปกรณ์มาตรฐาน และออพชันที่ติดตั้งในรถทั้งสองคัน ยอมรับได้ว่าอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะระบบช่วยการขับขี่ที่เหมือนกันมากคือ ระบบควบคุมการยึดเกาะอีเลคทรอนิคส์ ประกอบด้วย ระบบปรับระดับความสูงตัวรถ, ระบบทแรคชัน คอนทโรล, ระบบควบคุมการเอียงตัว, ระบบ HILL DESCENT CONTROL และระบบดิฟเฟอเรนเชียลลอค เฟืองขับกลาง และหลัง
เอมแอล 320 คันที่นำมาทดลองขับ วางเครื่องยนต์ดีเซล เทอร์โบ วี 6 สูบ ความจุ 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 224 แรงม้า ที่ 3,800 รตน. และแรงบิดสูงสุด 52.0 กก.-ม. ที่ 1,600 รตน.
ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ที่ให้พลังขับเคลื่อนที่นุ่มนวล และต่อเนื่อง แม้ เอมแอล 320 ขณะทดสอบมีน้ำหนักถึง 2,110 กก. แต่ก็ยังน้อยกว่า เรนจ์ โรเวอร์ ทำให้ เอมแอล 320 มีความคล่องแคล่วกว่า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 8.63 วินาที
ด้วยระบบเกียร์ที่ฉลาดสุดๆ สามารถเลือกอัตราทดเกียร์ได้ตรงตามความต้องการ นอกจากนั้นยังควบคุมแบบธรรมดา โดยการควบคุมผ่านปุ่มกดด้านหลังพวงมาลัย ที่มีขนาดเล็ก และตำแหน่งที่ทำให้มีการใช้งานไม่สะดวก โดยเฉพาะในเส้นทางที่คดเคี้ยว หรือขณะขึ้นเขาที่ต้องการการควบคุมอย่างรวดเร็ว และแม่นยำ นอกจากนั้นยังได้ย้ายก้านคันเกียร์อัตโนนัติ จากบริเวณคอนโซลกลาง ขึ้นมาอยู่ด้านหลังแป้นพวงมาลัย
ส่วน เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท นั้นใช้ขุมพลังที่เล็กกว่าด้วยเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล วี 6 สูบ ความจุ 2.7 ลิตร ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดียวกับที่ใช้ในรุ่น ดิสคัฟเวอรี ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า ที่ 4,000 รตน. และมีแรงบิดสูงสุด 44.8 กก.-ม. ที่ 1,900 รตน. ให้กำลังเพียงพอสำหรับลากบอดีพิกัด 2,455 กก. ได้อย่างสบาย สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 12.7 วินาที เครื่องยนต์มีการทำงานที่นุ่มนวล และเงียบ เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ดีเซลในระดับเดียวกัน
ระบบถ่ายทอดกำลังใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ โดยมีให้เลือกทั้งโหมดธรรมดา และสปอร์ท หรือจะใช้คันโยกแบบซีเควนเชียล ที่ใช้วิธีเปลี่ยนเกียร์ โดยการโยกคันเกียร์ไปด้านหน้า และดึงกลับ
ระบบรองรับของทั้งสองใช้ระบบรองรับแบบอิสระสี่ล้อ พร้อมถุงลมปรับระดับความสูงได้ เอมแอล 320 ที่มีน้ำหนักเบากว่า จึงมีการตอบสนองการควบคุมทิศทางที่ดีกว่า เปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว และมีอาการโคลงตัวที่น้อยกว่า ส่วน เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท เจ้าเนื้อกว่า มีการตอบสนองการเปลี่ยนทิศทางช้ากว่า พวงมาลัยถ่ายทอดความรู้สึกน้อยกว่า อย่างไรก็ตามในทางโค้งแคบ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ยังจัดว่าเข้าโค้งได้ดี และมีอาการโคลงตัวอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
ความสะดวกสบายจากการขับขี่นั้น เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท จัดว่าเป็นรถที่มีความนุ่มนวลสะดวกสบายมาก ด้วยการทำงานของระบบรองรับที่มีระยะยืดยุบตัวมากกว่า และมีการดูดซับแรงกระแทกได้ดีกว่า ในส่วนของ เอมแอล 320 ก็ไม่น้อยหน้าด้วยระบบรองรับที่สามารถดูดซับแรงกระแทกได้ดี แม้เดินทางบนเส้นทางขรุขระ
บนทางลูกรัง ทั้งสองคันไม่แพ้ใครด้วยระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา พร้อมระบบทแรคชัน คอนทโรล และ เทคโนโลยี SWERVE-CONTROL ทางด้าน เอมแอล 320 ใช้ยางขนาด 235/65 R17 ที่เหมาะกับการใช้งานในสภาพทุรกันดาร และยังเป็นยางออลล์ เทอร์เรน ขนาดที่สามารถหาซื้อได้ง่าย ส่วน เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ใช้ยางออลล์ เทอร์เรน ขนาด 255/55 R18 ส่วนยางอะไหล่ขนาดปกตินั้น ใช้วิธียึดติดไว้ที่ใต้ท้องด้านหลัง ขณะที่ยางอะไหล่ของ เอมแอล 320 นำมาเก็บไว้ใต้พื้นห้องเก็บสัมภาระ ซึ่งทำให้พื้นห้องเก็บสัมภาระสูงขึ้น
รัศมีการเดินทางไกลของทั้งสองคัน จัดว่าหมดห่วง โดย เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท มีถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากถึง 88 ลิตร สามารถป้อนเครื่องยนต์ที่มีอัตราเผาผลาญระดับ 11.82 ลิตร/100 กม. ได้เกินพอ ส่วน เอมแอล 320 ที่เบากว่าแต่มีอัตราสิ้นเปลืองมากกว่าที่ 12.92 ลิตร/100 กม. สามารถทดแทนได้ด้วยถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใหญ่กว่า มีความจุ 95 ลิตร ทำให้การเดินทางในพิสัย 700 กม. ไม่ใช่เรื่องต้องกังกลของทั้งสองคัน
ในเส้นทางวิบาก เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท จัดว่าเหนือกว่า เอมแอล 320 อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าทั้งสองคันได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยการขับเคลื่อนอย่างเพียบพร้อม ทั้งระบบดิฟฟ์ลอค สำหรับเซนเตอร์ และด้านหลัง ระบบทแรคชัน คอนทโรล เฟืองทดเกียร์โลว์ และทั้งสองคันมีระยะห่างใต้ท้องที่สูงเพียงพอ แต่ในการใช้งานจริงแล้ว เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นเจ้าผู้ครองอาณาจักรรถ 4x4 อย่างแท้จริง ส่วน เอมแอล 320 นั้น เป็นเพียงผู้เยี่ยมเยียนในวันสุดสัปดาห์เท่านั้น
ระบบ TERRAIN RESPONSE ของ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ทำให้การเดินทางในเส้นทางทุรกันดารเป็นเรื่องง่าย เพียงการเลือกโหมดการขับขี่ให้เหมาะกับสภาพพื้นผิว ซึ่งมีให้เลือกถึง 5 รูปแบบ จากนั้นระบบสมองกลก็จะทำหน้าที่ปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานในแต่ละสภาพพื้นผิว อย่าง SAND-DRIVING ระบบ TERRAIN RESPONSE จะปรับให้เครื่องยนต์มีการตอบสนองเร็วขึ้น เกียร์เปลี่ยนเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็น ROCK-CRAWLING ระบบดิฟฟ์ลอคจะทำงานเร็วขึ้น เครื่องยนต์จะมีการตอบสนองที่ช้า และนุ่มนวล เพื่อให้สามารถข้ามอุปสรรคได้อย่างมั่นคง
การปรับระดับความสูงใต้ท้องรถ หรืออัตราทดเกียร์โลว์ของ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท สามารถสั่งการได้จากสวิทช์ควบคุมบนคอนโซลกลาง ส่วนปุ่มควบคุมการทำงานของระบบ HILL DESCENT CONTROL (HDC) เป็นปุ่มสีเหลืองสดติดตั้งอยู่บนคอนโซลกลางเช่นกัน
สำหรับ เอมแอล 320 แม้ไม่มีระบบ TERRAIN RESPONSE แต่ยังมีระบบ HILL DESCENT CONTROL นอกจากนั้นยังมีปุ่มควบคุมการทำงานดิฟฟ์ลอค อีเลคทรอนิคส์ และเลือกอัตราทดโลว์ ซึ่งมีปุ่มควบคุมติดตั้งอยู่บริเวณส่วนล่างของแผงหน้าปัดที่ใช้งานไม่สะดวก ด้วยตำแหน่ง และขนาดปุ่มที่เล็กเกินไป
เอมแอล 320 สามารถปรับระดับความสูงได้ 3 ระดับ ซึ่งพบว่าในระดับสูงสุด จะให้การตอบสนองการขับขี่ที่ค่อนข้างหวาดเสียว ทั้งยังมีช่วงยุบตัวน้อยเกินไปในการลงเนิน แม้เปิดการทำงานระบบ HDC แล้วก็ตาม ยังพบว่ามีการหมุนฟรีในบางจังหวะ แต่เมื่อปรับมาใช้ความสูงระดับกลาง คุณภาพการขับขี่ดีขึ้น และประสิทธิภาพการควบคุมดีขึ้น
ทั้งสองคันจัดว่าเป็นรถเอสยูวีระดับหรูด้วยกันทั้งคู่ แต่สำหรับ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท แล้วให้ความสะดวกสบายในเส้นทางวิบากที่เหนือกว่า ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า เอมแอล 320 คือรถหรูที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์รถ 4x4 ส่วน เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท คือรถ 4x4 ที่เปี่ยมด้วยความหรูหรา และสะดวกสบาย
ทั้งสองจัดว่ามีจุดเด่นจุดด้อย โดย เอมแอล 320 โดดเด่นกว่าบนทางเรียบ ด้วยสมรรถนะเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพการควบคุม แต่ในเส้นทางวิบากเป็นอาณาจักรของ เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน คุณรักใคร ชอบใคร ต้องตัดสินใจเลือกเอง...
ABOUT THE AUTHOR
อ
อกนิษฐ์ ทัพภะสุต
นิตยสาร 4wheels ฉบับเดือน เมษายน ปี 2549
คอลัมน์ Online : ทดสอบ