Quattroruote ทดสอบ
McLAREN ARTURA
ชื่อชั้นที่บ่งบอกความเหนือระดับ สะท้อนถึงการหลอมรวมกันระหว่างงานศิลปะ และรูปแบบแห่งอนาคต ขุมพลังของรถสปอร์ทคันนี้มาพร้อมแนวคิดใหม่ของค่ายรถที่แตกต่างจากเดิม กับการเพิ่มพลังขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ามา
แนวทางของขุมพลังยุคหน้าแบบ พลัก-อิน ไฮบริด ถูกนำมาพัฒนาในรถสปอร์ทหลายรุ่น ท่ามกลางยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงจากในอดีต รวมถึงรถคันนี้ McLAREN ARTURA (แมคลาเรน อาร์ตูรา) โดยยังไม่ลืมถึงชื่อชั้นที่สั่งสมมานานกว่า 60 ปี กับการเสริมสมรรถนะด้วยพลังงานไฟฟ้า แบบที่เคยทำมาแล้วกับสปอร์ทตัวธงอย่าง P1 (พี 1) แต่มีค่าตัวที่น่าสนใจ และย่อมเยากว่า ภายใต้สมรรถนะที่ยังคงร้อนแรงใกล้เคียงกัน หากดูจากเส้นสายโดยรวม รถสปอร์ทคันนี้ยังคงเป็นการพัฒนาต่อยอดจากรุ่น 570S (570 เอส) แต่ความจริงมีจุดแตกต่างมากกว่านั้น เมื่อขึ้นมานั่งภายในห้องโดยสาร ผู้ขับจะรับรู้ถึงความแตกต่างนั้นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น กับพื้นที่ห้องโดยสารที่มากกว่าเดิม รวมถึงความหรูหราโดยรวม ผสมผสานในความคุ้นเคยของเอกลักษณ์จาก McLAREN การออกแบบต่างๆ สะท้อนถึงฟังค์ชันการใช้งานที่ลงตัว มีการผสมผสานการใช้งานระหว่างหนังชั้นดี และเส้นใยไมโครไฟเบอร์ เบาะนั่งปรับทิศทางด้วยไฟฟ้า นอกจากนี้ ขุมพลังยังปล่อยไอเสียน้อยลงด้วย แต่เอาเข้าจริงแล้ว การออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายยังคงมีอยู่ เช่น บริเวณพวงมาลัยไม่มีปุ่มใช้งานใดๆ ติดตั้งอยู่เลย โดยมีจอแสดงผลแบบดิจิทอลขนาด 8 นิ้ว แสดงผลตัวเลขความเร็ว สัญญาณเตือนต่างๆ และระบบไฟสูงอัตโนมัติ แสดงให้เห็นว่า ในรถสปอร์ท ARTURA ระบบช่วยเหลือการขับขี่เพื่อความสะดวกสบายถูกติดตั้งมาให้อย่างครบครัน เพิ่มเติมอีกขั้น คือ การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีความเงียบสนิท และมีการทำงานที่นุ่มนวลไร้เสียงใดๆ แต่เมื่อใดที่ผู้ขับปลุกการทำงานของเครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบขึ้นมา สมรรถนะที่ดุดัน เร้าใจ ก็จะถูกปลดปล่อยออกมาทันที
การรองรับระบบยุคใหม่ เช่น APPLE CAR PLAY หรือ ANDROID AUTO ยังคงมีมาให้ แต่ความน่าพอใจที่แท้จริงมาจากความลงตัวของการใช้งานที่อยู่รอบเบาะนั่ง พวงมาลัย และแป้นเหยียบ ตามแบบฉบับของ McLAREN รวมถึง ARTURA คันนี้ ที่มีการออกแบบภายใต้การคำนึงถึงผู้โดยสารเป็นหลัก ในอีกแง่มุมหนึ่ง บรรดาความล้ำสมัยทั้งหลายที่ผู้ขับได้เจอ (เช่น ระบบความปลอดภัยยุคหน้า หรือระบบพลัก-อิน ไฮบริด) ยังคงมีที่ว่างให้ผู้ขับได้แสดงตัวตนผ่านการขับขี่ การออกแบบหลายส่วนยังคงเอกลักษณ์ที่เร้าใจของ McLAREN ทางผู้ผลิตได้ย้ายตำแหน่งการใช้งานจากเดิมบนคอนโซลเกียร์มาอยู่บนแผงหน้าปัด เพื่อการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้นสำหรับการปรับแต่งการทำงานของเครื่องยนต์ และปรับเปลี่ยนการตอบสนองของระบบรองรับตามความต้องการของผู้ขับ ได้แก่ COMFORT SPORT และ TRACK ขณะที่ปุ่มสำหรับโหมด ACTIVE ได้หายไป ขอบอกเลยว่า ผู้ขับแทบจะลืมไปได้เลย
ยิ่งผู้ขับปรับแต่งการตอบสนองของแต่ละระบบให้ตรงใจเท่าไร ความเร้าใจจากรถสปอร์ทคันนี้ก็จะสะท้อนออกมามากเท่านั้น McLAREN มีระบบส่งกำลังที่หนักแน่น และการปลดปล่อยความเร็วที่ทำได้ในชั่วพริบตา และเครื่องยนต์สมรรถนะสูงที่แทบจะลืมไปเลยว่า นี่คือ ระบบไฮบริด ความดุดันจากเครื่องยนต์แบบ วี 6 สูบ กวาดรอบได้สูงถึงช่วง 8,500 รตน. โดยรวมแล้ว แม้ค่ายรถสปอร์ทจากประเทศอังกฤษจะพัฒนารูปแบบใหม่ๆ เข้ามา เสริมพละกำลังด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่ความเร้าใจจากเครื่องยนต์สันดาปยังทำได้ยอดเยี่ยมอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แรงม้ามหาศาลที่พร้อมใช้งานทุกเวลา เสริมกำลังกับมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้การทะยานออกจากโค้งมีความฉับไว ในกรณีที่ระบบต้องการเสริมกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า ถือเป็นรูปแบบใหม่ของการปลดปล่อยสมรรถนะ เพราะไม่ต้องรอรอบแม้แต่น้อย กับความดุดันที่ชวนให้นึกถึงขุมพลังแบบ วี 8 สูบ ในรถสปอร์ทร่วมค่าย มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 95 แรงม้าจะช่วยเสริมพละกำลังได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วินาที ถือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างนานพอสมควรในแง่ของการทำอัตราเร่ง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเป็นหน้าที่ของการปลดปล่อยสมรรถนะจากเครื่องยนต์สันดาป 585 แรงม้า นับเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับคู่แข่งรถสปอร์ทสมรรถนะสูงอีกราย นั่นคือ FERRARI 296 GTB (แฟร์รารี 296 จีทีบี) มีความสูสีกันมาก แม้จะมีกำลังสูงสุดมากกว่าที่ 150 แรงม้า (มีแรงม้าทั้งระบบที่ 830 แรงม้า) ผู้ขับสามารถรู้สึกถึงความแตกต่างนั่นได้ แม้จะไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของค่ายม้าลำพองก็ตาม
โดดเด่นที่น้ำหนักเบา
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งของระบบไฮบริด คือ การทำให้ตัวรถมีน้ำหนักโดยรวมที่เพิ่มขึ้น รถสปอร์ทคันนี้มีน้ำหนักมากกว่ารุ่น 570S ประมาณ 50 กก. ถือว่าน่าพอใจไม่น้อย เนื่องจากระบบไฮบริดทั้งหมดมีน้ำหนักที่ 140 กก. ตัวรถมีน้ำหนักโดยรวมที่ 1,498 กก. เป็นผลจากความเอาใจใส่ในรายละเอียดเพื่อการลดน้ำหนักลงให้มีความเหมาะสมที่สุด เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ค่ายรถแห่งนี้ทำได้อย่างโดดเด่นเสมอมา การหักเลี้ยวกะทันหันจึงมีความฉับไวอย่างเฉียบคม ระบบรองรับด้านหน้าแบบปีกนกคู่แบบที่ใช้งานมานาน ขณะที่ด้านหลังเป็นแบบ มัลทิลิงค์ ช่วยให้ขณะทำการเบรคอย่างหนักหน่วงตัวรถยังคงมีความมั่นคงเป็นอย่างดี การเชื่อมต่อกับระบบรองรับไม่มีความซับซ้อนใดๆ นอกเหนือจากระบบบังคับเลี้ยวแบบไฮดรอลิคที่ McLAREN ใช้งานตลอดมา เสริมด้วยระบบชอคอับแบบแปรผันการตอบสนองด้วยอีเลคทรอนิค นอกจากนี้ ระยะฐานล้อยังสั้นลงอีก 30 มม. เมื่อเทียบกับรุ่น 570S และ ARTURA ทะยานไปในโค้งอย่างพลิ้วไหวราวกับผีเสื้อด้วยน้ำหนักที่เบาอย่างลงตัว
ความฉับไวอาจยังไม่เทียบกับรุ่นพี่ร่วมค่ายก็ตาม แต่ความหนึบแน่นไม่เป็นรองอย่างแน่นอน การเข้าโค้งทำได้อย่างหนักแน่น เข้าไลน์ได้เฉียบคมตามต้องการ ล้อคู่หลังมีความหนึบแน่นในแบบที่ผู้ขับขี่รถสปอร์ทต้องการ เป็นครั้งแรกกับการติดตั้งชุดเฟืองท้ายที่ควบคุมการส่งกำลังด้วยระบบอีเลคทรอนิค ผู้ขับสามารถเลือกรูปแบบการส่งกำลังว่าจะเป็นแบบเท่ากันทั้ง 2 ข้าง หรือแปรผันตามสภาวะการขับขี่ ระบบรองรับด้านหลังจะปรับแต่งการตอบสนองให้มีความเหมาะสมโดยอัตโนมัติ นั่นคือ ทางเลือกระหว่าง ความมั่นคง หรือความฉับไว เป็นสิ่งที่น่าพอใจมากสำหรับการขับขี่แบบเน้นสมรรถนะ เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ว่า ค่ายรถแห่งนี้ไม่ได้พึ่งระบบอีเลคทรอนิคมากเกินไป ในยุคปี 2022 พวงมาลัยเพาเวอร์แบบไฮดรอลิคอาจดูล้าสมัยไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ระบบบังคับเลี้ยวดังกล่าวทำให้ ARTURA มีการตอบสนองที่เที่ยงตรง แม่นยำ สะท้อนความรู้สึกจากพื้นผิวถนนมายังมือที่บังคับควบคุม และหักเลี้ยวได้ดังใจอย่างแท้จริง
ทีมวิศกรกรผู้พัฒนารถรุ่นนี้มีเป้าหมายในแง่ของสมรรถนะให้มีความร้อนแรงเทียบเท่ากับรุ่น 600LT (600 แอลที) และพวกเขาก็ทำได้ตามที่กล่าวไว้จริงๆ ส่วนหนึ่งมาจากระบบเบรคแบบคาร์บอนเซรามิคที่หยุดแรงม้าได้อยู่หมัดแม้ขณะขับขี่แบบเน้นสมรรถนะ แป้นเหยียบมีความลงตัวดีมาก ระยะเหยียบที่กระชับสั้น ตอบสนองได้ละเอียดตามการกดแป้นเหยียบ ช่วงรอยต่อของการทำงานระหว่างระบบเบรคทั่วไป และการนำพลังงานมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้งาน ทำได้อย่างต่อเนื่องไร้ที่ติใดๆ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น คือ การนำพลังงานจากการเบรคกลับมาใช้งานเป็นพลังงานไฟฟ้าเป็นจุดสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ แสดงให้เห็นว่า McLAREN มีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบไฮบริดคุณภาพสูงที่ใช้งานได้จริง สามารถเสริมพละกำลังให้กับรถสปอร์ทคันนี้อย่างได้ผล และลงตัว อรรถรสความเร้าใจไม่ถูกลดทอนลงไปแม้แต่น้อย
ข้อมูลจำเพาะ
รายละเอียดจากผู้ผลิต
เครื่องยนต์
• วางด้านหลัง ตามยาว
• เบนซิน เทอร์โบ วี 6 สูบ (ทำมุม 120 องศา)
• ความจุ 2,993 ซีซี
• กำลังสูงสุด 577 แรงม้า ที่ 7,500 รตน.
• แรงบิดสูงสุด 59.7 กก.-ม. ที่ 2,250-7,000 รตน.
ระบบไฮบริด
• ส่งกำลังแบบคู่ขนาน
• กำลังสูงสุด 95 แรงม้า
• แรงบิดสูงสุด 23.0 กก.-ม.
กำลังสูงสุดทั้งระบบ
• 680 แรงม้า
• 73.4 กก.-ม.
แบทเตอรี
• ลิเธียม-ไอออน 7.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง
ระบบส่งกำลัง
• ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง
• เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ
• ระบบควบคุมการส่งกำลังของเฟืองท้ายด้วยอีเลคทรอนิค
สมรรถนะ
• ความเร็วสูงสุด 330 กม./ชม.
• 0-100 กม./ชม. 3.0 วินาที
• อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 21.7 กม./ลิตร
• ค่าการปล่อยไอเสีย 104 กรัม/กม.
มิติ และน้ำหนัก
• ระยะฐานล้อ 2,640 มม.
• ความยาว 4,540 มม. กว้าง 1,980 มม. สูง 1,190 มม.
• น้ำหนักโดยรวม 1,498 กก.
ราคา
• 231,000 ยูโร (ประมาณ 8,231,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
ข้อมูลทางเทคนิค เครื่องยนต์แนวกว้าง ลดจุดศูนย์ถ่วง
การหันมาพัฒนาระบบไฮบริดเพื่อนำมาใช้งานกับรถสปอร์ทยุคใหม่ของ MCLAREN คือ หนึ่งในประเด็นสำคัญของการทดสอบครั้งนี้ เครื่องยนต์บลอคดังกล่าวมีรหัสว่า M630 ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญประจำค่าย (ทีมเดียวกันกับที่พัฒนาเครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ ขนาด 3.8 และ 4.0 ลิตร) รูปแบบเครื่องยนต์กระบอกสูบ วี ทำมุม 120 องศา เทอร์โบคู่ และอ่างน้ำมันเครื่องแบบแห้ง กำลังสูงสุดในส่วนเครื่องยนต์สันดาป คือ 585 แรงม้า ส่งกำลังร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 95 แรงม้า ช่วยให้การทำงานในแต่ละส่วนมีการส่งกำลังต่อเนื่อง แบทเตอรีมีความจุ 7.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ถูกติดตั้งบริเวณด้านหลังของห้องโดยสาร การชาร์จประจุไฟฟ้าจาก 20-80 % ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. 30 นาที มอเตอร์ไฟฟ้าถูกติดตั้งตรงกลางระหว่างเครื่องยนต์สันดาป และชุดเกียร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นแบบอัตโนมัติ 8 จังหวะ การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วน สามารถทำระยะได้สูงสุด 31 กม. และรองรับความเร็วสูงสุดที่ 130 กม./ชม.
วัสดุคาร์บอนที่ลงตัว
รถสปอร์ทยุคหน้าของค่ายจะใช้งานร่วมกับโครงสร้างตัวถังแบบใหม่ มีชื่อเรียกว่า MCLA (มาจากคำว่า MCLAREN LIGHTWEIGHT ARCHITECTURE) เป็นการขึ้นรูปด้วยวัสดุที่ผสมผสานกันระหว่าง คาร์บอนไฟเบอร์ และอลูมิเนียม
ส่งกำลังไหลลื่น
ชุดมอเตอร์ไฟฟ้าแบบพลังงานแม่เหล็ก ส่งกำลังแบบคู่ขนานผ่านชุดเกียร์ เสริมพละกำลังขณะขับเคลื่อนอย่างได้ผล ดีกว่าการใช้ชุดมอเตอร์ติดตั้งที่งเพลาขับโดยตรง
ทีเด็ดอยู่ตรงกลาง
ชุดเทอร์โบของรถสปอร์ทรุ่นนี้ ถูกติดตั้งในตำแหน่งตรงกลางระหว่างชุดลูกแบบ วี เป็นแนวทางที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากรุ่นก่อนหน้านี้ จุดประสงค์ คือ การลดความยาวของท่อไอดี และทำให้เครื่องยนต์มีการตอบสนองที่ฉับไวขึ้น
เทคโนโลยีล้ำสมัย
ARTURA นำวิทยาการที่ล้ำสมัยมาใช้กับยาง PIRELLI รุ่นใหม่ ได้แก่เซนเซอร์ที่ติดตั้งในตัวยาง สามารถส่งข้อมูลได้โดยตรงไปยังตัวรถ เช่น อุณหภูมิของยาง รวมถึงแรงดันลมยาง สามารถระบุค่าเริ่มต้นตามความเหมาะสม เชื่อว่าเทคดนโลยีดังกล่าวสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกมากมาย และน่าจะมีการงานเป็นวงกว้างในอนาคต