ปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา สถาบันยานยนต์ไทย จัดงานระดมความคิดของผู้บริหารระดับสูงใน
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ “โครงการแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย พศ. 2550-2554″ โดยมี ฯพณฯ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธี
การกำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ของอุตสาห
กรรมยานยนต์ในบ้านเรา โดยมุ่งหวังว่า ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเชีย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และมุ่งประเด็นไปที่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งนับว่าเป็นการกำหนดทิศทางที่ชัดเจน หลังจากที่เราเคยหวังลมๆ แล้งๆ กันว่า เราจะเป็น ดีทรอยท์ ออฟ เอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเหมาะสมนักกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเรา เพราะเราเป็นประเทศที่รับจ้างผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถยนต์ ยังไม่ใช่ประเทศที่ออกแบบและผลิตรถได้เอง ตรงนี้ผมเชื่อว่า น่าจะตรงกับใจของผู้คลุกคลีในแวดวงรถยนต์มากที่สุด เพราะเป็นการวาดฝันในสิ่งที่เราสามารถทำได้จริง
ประเด็นหลักของแผนแม่บท ฯ ฉบับใหม่ คือ กำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทางที่จะพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์แบบต่อเนื่อง การเสนอแนะกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมไปถึงการกำหนด โพรดัคท์ แชมเพียน (PRODUCT CHAMPION) ของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเน้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการเป็นฐานการผลิตของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทั้ง OEM และ REM
นอกจากนี้ยังมีการเชื้อเชิญผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ค่ายต่างๆ มาร่วม
รับฟังและเสนอแนะความคิดเห็น โดยที่แต่ละค่ายเสนอประเด็นที่มีผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ และประเทศชาติ แบบน่ารับฟังทีเดียว อาทิเช่น เรื่องความมั่นคงทางการเมือง ที่ส่งผลโดยตรงต่อการค้าขายภายในประเทศ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่ผันผวน เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แบบที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก กลับส่งผลกระทบอย่างหนักในธุรกิจการส่งออก หลายๆ ท่านเสนอให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางการค้า เพื่อฟื้นฟูตลาดภายในประเทศ ต้องการเห็นนโยบายพลังงานทางเลือกที่ชัดเจนว่า รัฐจะส่งเสริม E20 หรือไบโอดีเซล หรืออื่นๆ แบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตามกระแส หรือตามภาวะราคาน้ำมันขึ้น/ลง ตามตลาดโลก รวมถึงการกำหนดเขตการค้าแบบ FREE ZONE ที่ส่งเสริมมาตรการภาษีต่างๆ ตลอดจนปัญหาทรัพยากรบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์จริงๆ
วิสัยทัศน์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์
ไทย ในอนาคต และผมก็เชื่อว่า น่าจะเป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการมาร่วมให้ข้อคิดเห็นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ที่เหลือก็รอแค่ภาครัฐจะลงมือทำ ส่วนจะได้มากได้น้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันอีกที
Model | Start Price (THB) |