เครื่องยนต์ “แรงตก” เป็นปัญหาดั้งเดิมที่มาพร้อมเครื่องยนต์สันดาปภายในรถยนต์ทุกรุ่น ไม่ว่าจะออกแบบมาล้ำเลิศเพียงใด เพราะอาการมันจะเกิดขึ้นกับรถทุกคันเมื่อใช้งานมานานพอสมควร แต่ถ้าเรารู้ว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในทำงานอย่างไร และจุดหลักที่ทำให้เครื่องยนต์แรงตกคืออะไร ดังนั้นก็จะสามารถป้องกันและยืดเวลาก่อนจะต้องซ่อมใหญ่ให้ยาวขึ้น หากอ่านบทความนี้แล้ว ควรสละเวลาสักนิดตรวจเชครถของท่านให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยไม่ต้องไปเสี่ยงเครื่องยนต์พังกับสารปรุงแต่งอัศจรรย์อย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
เครื่องยนต์ของรถยนต์นั้นทำงานด้วยองค์ประกอบหลัก 4 ประการ นั่นคือ อากาศ (AIR) เชื้อเพลิง (FUEL) กำลังอัด (COMPRESSION) และการจุดระเบิด (SPARK) การเสื่อมถอยขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบทั้ง 4 ส่งผลกระทบโดยตรงกับสมรรถนะของเครื่องยนต์อย่างชัดเจนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อันดับแรก “อากาศ” องค์ประกอบที่เกี่ยว ข้องกับอากาศ มี 2 ส่วน คือ “ไอดี” (INTAKE) และ “ไอเสีย” (EXHAUST) หากจุดใดจุดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนำไอดีเข้า ไอเสียออก มีการอุดตัน หรือติดขัดไม่ลื่นไหลอย่างที่ควร ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังของเครื่องยนต์อย่างชัดเจน
เริ่มจากระบบนำอากาศเข้า หรือ “ไอดี” กันก่อน ปราการด่านแรกสุดของระบบไอดีก็คือ “ไส้กรองอากาศ” (AIR FILTER) จึงไม่น่าแปลกใจในรถแข่งจะไม่นิยมติดไส้กรองอากาศ เพราะต้องการให้อากาศไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เนื่องจากรถของพวกเรานั้นมีเงื่อนไขการใช้งานที่ซับซ้อนกว่า จึงมีความจำเป็นต้องติดตั้งไส้กรองอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เครื่องยนต์เกิดความเสียหายจากฝุ่นผงที่ถูกดูดเข้าสู่ห้องเผาไหม้นั่นเอง
ไส้กรองอากาศนั้น เมื่อใช้มาได้ซักระยะหนึ่ง สมรรถนะในการให้อากาศไหลผ่านก็จะเสื่อมถอยลง เกิดจากการจับตัวเหนียวของคราบไอน้ำมันในอากาศ รวมถึงฝุ่นผงสิ่งสกปรกนานาชนิด ดังนั้นทุกๆ เดือนจึงควรนำออกมาเป่าไล่ฝุ่น แต่สุดท้ายถ้าดูแล้วเกรอะกรังเกินเยียวยาก็อย่าเสียดาย เปลี่ยนใหม่ไปเลยเพราะหากมันทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เหมือนคนถ้าจมูกตันเพราะเป็นหวัด และเราจะไปคาดหวังว่าเครื่องยนต์จะทำงานดี ได้อย่างไร
อันดับต่อมา ระบบไอดี คือ กลไกที่ใช้ควบคุมให้อากาศไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ได้แก่ “สายคันเร่ง” (THROTTLE CABLE) ในรถยนต์รุ่นใหม่ไม่มีปัญหาจุดนี้ แต่ในรถรุ่นเก่าที่ใช้สายคันเร่งควบคุมลิ้นปีกผีเสื้อ เมื่อใช้ไปนานเข้า มักจะมีการคลายตัวหย่อนยานลง ทำให้เปิดลิ้นปีกผีเสื้อได้ไม่สุด จนไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้พอเพียง ส่งผลให้กำลังเครื่องยนต์ตกลง รถยนต์ของท่านจึงควรได้รับการตรวจเชคความตึงของสายคันเร่งให้ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะสามารถปรับตั้งให้ตึงได้ไม่ยากด้วยตนเอง
ระบบไอเสีย เมื่อเครื่องยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงและอากาศเสร็จแล้ว ไอเสียที่เกิดขึ้นจะถูกผลักดันให้เข้าสู่ระบบไอเสีย ถ้าในระบบไอเสียมีการอุดตัน เสื่อมสภาพ ก็จะนำมาซึ่งการเสื่อมถอยสมรรถนะของเครื่องยนต์อย่างชัดเจน มีอยู่ 2 จุดในระบบไอเสียที่มักจะก่อปัญหา คือ “ตัวกรองมลพิษ” (CATALYTIC CONVERTER) และหม้อพักไอเสีย (MUFFLER)
ปัญหาของตัวกรองมลพิษที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบท่อไอเสียในรถยนต์ยุคปัจจุบัน คือ การอุดตันอันเกิดจากองค์ประกอบภายในของตัวกรองมลพิษแตกตัวหลุดร่วงออกมา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เมื่อใช้งานไปหลายปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ออกซิเจนเซนเซอร์ ที่มีอยู่ 2 ตัวในระบบ ไอเสีย (ตัวหนึ่งอยู่ก่อนเข้า และอีกตัวหนึ่งอยู่หลังตัวกรองมลพิษ) เสื่อมและส่งสัญญาณผิด ทำให้อัตราส่วนเชื้อเพลิงหนา และผลของอัตราส่วนเชื้อเพลิงที่ผสมกับอากาศมีมากเกินไป ทำให้มีเชื้อเพลิงหลงเหลือจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เข้าไปสร้างความเสียหายให้กับตัวกรองมลพิษได้ หากตรวจพบว่าตัวกรองมลพิษเสื่อมแล้ว เปลี่ยนใหม่จะดีที่สุด
มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า การเอาตัวกรองมลพิษออกจะส่งผลดีต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์ จากการที่ระบบไอเสียไหลคล่องขึ้น ทำให้รู้สึกรถมีกำลังมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเสียงที่ดังขึ้น แต่ในรถรุ่นใหม่ที่มีการใช้ออกซิเจนเซนเซอร์ร่วมในระบบมากกว่า 1 ตัว การที่พบว่ามีเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ไม่หมดโดยสัญญาณจากออกซิเจนเซนเซอร์ตัวที่ 2 จากการที่ไม่มีตัวกรองมลพิษช่วยเผาไหม้เชื้อเพลิงส่วนเกิน อาจจะส่งผลให้อัตราส่วนการผสมอากาศกับเชื้อเพลิงผิดพลาด ทำให้สมรรถนะตกลงไปอีกเป็นเงาตามตัว และสุดท้ายแล้วการตัดตัวกรองมลพิษออก จะส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมที่เราต้องอยู่ร่วมกันกับคนอื่นอีกด้วย
อีกส่วนหนึ่งของระบบไอเสีย คือ หม้อพักไอเสีย ที่เมื่อใช้ไปนานเข้าก็มักจะมีเขม่าจับจนทางเดินไอเสียตีบตันไอเสียไหลได้ไม่ดี ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยากด้วยการเปลี่ยนหม้อพักใหม่ โดยเลือกหม้อพักที่ดีมีมาตรฐาน อย่าเลือกแต่เสียง เพราะถ้าออกแบบมาไม่สมดุลกับแรงดันไอเสียรถเราก็จะไม่ได้สมรรถนะตามที่ต้องการ กลายเป็นประเภท “ดังแต่ท่อ ล้อไม่หมุน” ให้คนเขาดูถูกเอาได้
จบจากระบบอากาศ อันดับต่อไป คือ เรื่องของระบบ “เชื้อเพลิง” เราไม่เอ่ยถึงรถยนต์รุ่น-เก่าที่ใช้คาร์บูเรเตอร์ เพราะแทบจะสูญพันธุ์ไปจากถนนแล้ว แต่ขอโฟคัสรถยนต์ที่ใช้ระบบหัวฉีด ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ หัวฉีดเชื้อเพลิง (FUEL INJECTORS) และปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง (FUEL PUMP)
หัวฉีดเชื้อเพลิงเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่ง เพราะพวกมันจะต้องมีความสามารถในการฉีดเชื้อเพลิงในปริมาณที่แม่นยำ หากเสื่อมแล้วก็จะส่งผลให้เกิดการบริโภคเชื้อเพลิงมากกว่าปกติ รวมถึงการจุดระเบิดผิดพลาด ดังนั้นหากตรวจพบว่า หัวฉีดเชื้อเพลิงเสื่อมก็ควรจะเปลี่ยนให้เร็วที่สุด
ปั๊มเชื้อเพลิงหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ปั๊มติ๊ก” ส่วนใหญ่มักแช่อยู่ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง มันเป็นชิ้นส่วนเคลื่อนไหว ซึ่งจะเสื่อมประสิทธิภาพไปตามอายุการใช้งาน โดยปั๊มเชื้อเพลิงที่เสื่อมจะมีประสิทธิภาพในการปั๊มเชื้อเพลิงได้น้อยลง อันจะส่งผลในรอบเครื่องยนต์ที่สูงมากกว่ารอบเครื่องยนต์ต่ำ ทำให้การเร่งเครื่องยนต์ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะช่วงไต่ทางชันหรือเร่งแซง หากพบว่ารถมีอาการตื้อสาเหตุอาจมาจากปั๊มเชื้อเพลิงก็เป็นได้
เราไม่ควรปล่อยให้เชื้อเพลิงในถังอยู่ในระดับต่ำบ่อยๆ เพราะจะทำให้ปั๊มเชื้อเพลิงที่แช่อยู่ในน้ำมันระบายความร้อนได้ไม่ดี โดยเฉพาะในรถรุ่นเก่าก่อนยุค 90 ชิ้นส่วนยางรองรับแรงสั่นสะเทือน ดูจะไม่ถูกกับน้ำมันแกสโซฮอล หากแช่อยู่ในแกสโซฮอลนานๆ จะเปื่อยได้ แต่ปัญหานี้ในรถรุ่นใหม่ได้รับการแก้ไขแล้ว
ถัดไปเป็นเรื่อง “กำลังอัด” ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ 2 จุด ได้แก่ ความเสื่อมของ “แหวนลูกสูบ” (PISTON RINGS) และ “คราบเขม่าบนวาล์ว” (VALVE DEPOSITS) เป็นที่รู้กันว่าลูกสูบนั้นเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งสูง และสิ่งที่สัมผัสแนบไปกับผนังกระบอกสูบ คือ แหวนลูกสูบ ที่ทำหน้าที่ป้องกันมิให้มีแรงอัดจากการจุดระเบิดเล็ดลอดออกมา ดังนั้นหากแหวนลูกสูบสึกหรอมาก กำลังอัดในกระบอกสูบก็จะไม่เต็มประสิทธิภาพ เราจึงต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นประจำเพื่อช่วยลดความสึกหรอของผนังกระบอกสูบที่กระทำโดยแหวนลูกสูบที่เคลื่อนที่ขึ้น/ลงตลอดเวลานั่นเอง และหากเกิดความสึกหรอมาก ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนขนาดของแหวนให้แนบชิดกับผนังกระบอกสูบมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเพราะต้องถอดเครื่องยนต์ออกเป็นชิ้นๆ ในจุดนี้นี่เองที่มีพ่อค้าหัวใสอ้างว่าน้ำมันเครื่องวิเศษของเขาสามารถฟื้นคืนชีวิตให้เครื่องยนต์เก่าที่กำลังอัดเสื่อมได้ เพราะใช้สารที่มีความหนืดสูงช่วยสร้างฟีล์มหนาหนึบระหว่างแหวนลูกสูบกับผนังกระบอกสูบที่สึกหรอ ทำให้ในช่วงแรกผู้ที่ใช้รู้สึกว่าเครื่องยนต์มีกำลังมากขึ้น แต่สุดท้ายก็เป็นที่รู้กันว่าผลเป็นเช่นไร การดูแลยืดอายุแหวนลูกสูบที่ดีที่สุดนั้น ทำได้ด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามที่ผู้ผลิตแนะนำนั่นเอง ไม่มีอะไรมาก
อันดับต่อไปในหัวข้อกำลังอัด คือ คราบเขม่าคาร์บอนบนวาล์วและก้านวาล์ว ประเด็นนี้จะเกิดมากในเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ (DIRECT FUEL INJECTION) ซึ่งแตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซินที่ใช้การจ่ายเชื้อเพลิงเข้าในท่อร่วมไอดี (PORT FUEL INJECTION) ที่เชื้อเพลิงผสมกับอากาศก่อนถูกดูดเข้าไปเผาไหม้ในกระบอกสูบ เพราะแม้ว่าในน้ำมันเชื้อเพลิงยุคใหม่จะมีสารขจัดคราบเขม่าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาไหม้ เมื่อมันสัมผัสเข้ากับวาล์ว ในจังหวะที่เดินทางผ่านท่อร่วมไอดีก่อนเข้าไปยังห้องเผาไหม้ แต่เมื่อเครื่องยนต์รุ่นใหม่หันมาใช้ระบบฉีดตรง ประสิทธิภาพในการชำระคราบของน้ำมันเชื้อ-เพลิงในแบบที่คุ้นเคย ก็แทบจะไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควร และเมื่อเกิดคราบเขม่าจับตามวาล์วแล้ว ก็จะส่งผลให้วาล์วปิดไม่สนิทเกิดความดันในห้องเผาไหม้ตก ทำให้สมรรถนะเสื่อมลง ตามมาด้วยการต้องถอดเครื่องยนต์ออกมาทำการล้างทำความสะอาด ไปจนถึงอาจจะต้อง “เปลี่ยนแหวน บดวาล์ว” กันในที่สุด
หัวข้อสุดท้ายที่ส่งผลกับสมรรถนะของเครื่องยนต์ นั่นคือ “การจุดระเบิด” ซึ่งอันดับแรกในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน จะมีปัญหาที่ “หัวเทียน” (SPARK PLUG) ซึ่งภายในรถดีเซลไม่มี หัวเทียนนั้นทำหน้าที่สร้างประกายไฟ จากกระแส ไฟฟ้าที่กระโดดข้ามขั้ว เมื่อเจอกับเชื้อเพลิงและอากาศในห้องเผาไหม้ในจังหวะที่ถูกต้องก็จะเกิดการจุดระเบิดเป็นพลังงานส่งให้อากาศในห้องเผาไหม้ขยายตัวผลักให้ลูกสูบเคลื่อนที่ไป
แต่หัวเทียนนั้นเมื่อใช้ไปนานเข้า ก็จะสึกหรอไปเรื่อยๆ จากคราบของเขม่าคาร์บอน บนอีเลคทโรด (ELECTRODE) ของหัวเทียน หรือขั้วที่สึก ทำให้ช่องว่างของขั้วบวกและลบห่างออกจากกันจนเกินมาตรฐาน ส่งผลให้การทำงานไม่คงเส้นคงวา โดยเฉพาะในรอบเครื่องยนต์ที่สูง และอาจเกิดการจุดระเบิดผิดจังหวะอีกด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้เกิดการจุดระเบิดไม่ สมบูรณ์ที่เกิดได้กับทั้งเครื่องยนต์เบนซิน และดีเซล คือ คราบเขม่าจำนวนมากในกระบอกสูบ ที่มีการสะสมความร้อนสูง จนบางครั้งอาจจะก่อให้เกิดการชิงจุดระเบิดนอกเวลา หรือที่เรียกว่า “นอค” (KNOCK) หรือ “เขก” ในภาษาช่างนั่นเอง ซึ่งในระบบเครื่องยนต์เบนซิน หากเกิดชิงจุดระเบิดขึ้น ระบบจุดระเบิดก็จะปรับจังหวะการจุดระเบิดเพื่อแก้อาการ โดยชะลอจังหวะลง หรือเรียกว่า รีทาร์ด (RETARD) ซึ่งจะทำให้จังหวะผิดเพี้ยนและสูญเสียกำลังในเครื่องยนต์ลงไป
ใน 4 หัวข้อใหญ่นี้ หลายข้อเป็นสิ่งที่เราดูแลได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดไส้กรองอากาศ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามเวลา และอย่าประหยัดกับการเลือกใช้เชื้อเพลิง รวมถึงการไม่อุตริดัดแปลง หรือใส่สารแปลกปลอมลงไปในเครื่องยนต์ สรุปแล้วหากเราดูแลอย่างถูกวิธี เครื่องยนต์ของเราก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีได้อย่างยาวนาน
Model | Start Price (THB) |