เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม ปี ’58 กับ ’57
ตลาดโดยรวม – 12.9 %
รถยนต์นั่ง – 12.3 %
รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) – 17.4 %
รถอเนกประสงค์ (MPV) 4.3 %
กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ – 13.4 %
กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ – 26.2 %
อื่นๆ 0.6 %
จบเดือนแรกของปี มกราคม ด้วยตัวเลขที่ไม่ค่อยสวยเท่าไรนัก ยอดขายเพียง 59,577 คัน ยังลดลงจากเดือนมกราคม ปีก่อนเพียง 12.9 % แต่ก็ยังดีกว่าที่เมื่อเดือนธันวาคม ลดลงไปถึง 22.7 % แม้จะเอามาเปรียบกันไม่ได้ แต่ก็น่าสนใจที่การลดลงของยอดขาย เป็นไปในแนวทางที่ลดน้อยลง ถ้าเราจะมองโลกกันในแง่ดี
มาดูว่า เมื่อปี 2557 ภาวะเศรษฐกิจของโลกไม่อยู่ในสถานะที่มั่นคงนัก เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจของประเทศไทย โดยภาพรวม ยังสามารถขยายตัวได้ 0.7 % โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภคของครัวเรือน และสาขาเกษตรกรรม ซึ่งขยายตัว 2.8 % และ 0.3 % และ 1.1 % ตามลำดับ
แต่การลงทุนรวม และสาขาอุตสาหกรรม ลดลง 2.8 % และ 1.1 % ตามลำดับ สาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลง 2.1 % โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 24.8 ล้านคน ลดลง 6.7 % มูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 224,792 ล้านดอลลาร์สรอ. ลดลง 0.3 % เนื่องจากการลดลงของราคาส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าว และยางพารา
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพ โดยที่อัตราการว่างงานทั้งปีเท่ากับ 0.8 % อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 1.9 % และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.8 % ของ GDP
นั่นคงเป็นคำตอบต่อยอดการขายรถยนต์ ที่หดหายจนเหลือเพียง 859,830 คัน ลดลงไป 34.4 % ของปีก่อน ที่มีแต่ความวุ่นวายอยู่ครึ่งปี กว่าจะมาลงตัวกันได้ในครึ่งปีหลัง
กลับมาดูแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทย ในปีนี้ 2558 คาดว่าจะสามารถขยายตัว 3.5-4.5 % โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว (3) การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ (4) การเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ และ (5) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก
อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ภาคเกษตรยังมีข้อจำกัดจากราคาในตลาดโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน (2) ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความผันผวนในเกณฑ์สูง และ (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น
และแม้ว่าในเดือนแรกของปี ตัวเลขจะไม่ค่อยดีนัก แต่ความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ. ที่บอกว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2558 ก็หดตัวร้อยละ 1.31 % แต่มีแนวโน้มที่อุตสาหกรรมบางตัว มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการผลิตรถยนต์ ในเดือนมกราคม 166,400 คัน เพิ่มขึ้น 2.3 % ยอดจำหน่ายในประเทศ จำนวน 59,721 คัน ลดลง 12.83 % และมีปริมาณการส่งออก 92,440 คัน เพิ่มขึ้น 14.09 % โดยตลาดที่มีการเติบโต ทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และ โอเชียเนีย
แต่จากความเห็นของ สศอ. เห็นว่า รัฐบาล มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชัดเจน พโรเจคท์ใหญ่ๆ หลายพโรเจคท์ ได้เริ่มต้นแล้ว โดยในครึ่งปีหลังน่าจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้สภาวะเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ และส่งผลถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม น่าจะทำให้ปรับตัวเป็นบวกได้
ก็เท่ากับว่า แม้จะออกสตาร์ทยังไม่ค่อยสวยนัก แต่ภาครัฐก็มองว่า น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวไปได้ แต่อาจช้าหน่อย ตามกลไกการบริหารงานราชการ ที่ไม่ค่อยจะปรู๊ดปร๊าดสักเท่าใดนัก
ขอให้เข้าใจตามนี้นะจ๊ะ
โตแน่ เพียงแต่ช้าหน่อยเท่านั้นเอง
Model | Start Price (THB) |