ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าค่ายรถยนต์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางเดียวกัน ในส่วนของเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ โดยเฉพาะการลดความจุของกระบอกสูบลง ความเปลี่ยนแปลงเราเห็นได้จากรถยนต์ฝั่งยุโรปนำหน้ามาก่อนระยะหนึ่งแล้ว จากเครื่องยนต์ความจุ 2.0-3.2 ลิตร ค่อยๆ ถูกปรับลงมาเหลือ 1.6-2.5 ลิตร แทน ในเครื่องยนต์ความจุต่ำนั้นจะใช้ระบบอัดอากาศเข้ามาช่วยเพิ่มสมรรถนะให้กับเครื่องยนต์ มีการใช้ทั้งระบบอัดอากาศแบบเทอร์โบชาร์จ และซูเพอร์ชาร์จ การลดขนาดความจุของเครื่องยนต์เพราะต้องการลดมลพิษและความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพราะเทคโนโลยีด้านโลหะวิทยาวันนี้ก้าวไกลไปมาก สามารถผลิตเครื่องยนต์ที่มีความทนทานสูงมากๆ ได้ เมื่อนำระบบอัดอากาศเข้ามาใช้ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว เพราะเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร ที่มีระบบอัดอากาศนั้นสมรรถนะเทียบเท่ากับเครื่องความจุประมาณ 2.2-2.5 ลิตร เลยทีเดียว
ใช้ครั้งแรกใน ฮอนดา ซีวิค เจเนอเรชันที่ 10
ฮอนดา ในยุโรป ได้พัฒนาเครื่องยนต์เบนซินรุ่นใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี เอิร์ธ ดรีมส์ (EARTH DREAMS) ซึ่งวางแผนไว้ในช่วงปี 2017 โดยเริ่มใน ซีวิค เจเนอเรชันที่ 10 สำหรับตลาดยุโรปก่อน การลดความจุของเครื่องยนต์ลงมานั้น ได้พัฒนาเครื่องยนต์เบนซินความจุ 1.0 ลิตร เป็นเครื่องยนต์บลอคเล็กแบบ 3 สูบ พร้อมระบบวาล์ว VTEC อัดอากาศด้วยเทอร์โบชาร์จ ส่วนระบบจ่ายเชื้อเพลิงนั้นเป็นแบบไดเรคท์อินเจคชัน หรือระบบฉีดตรง ให้กำลังสูงสุดราว 127 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 20.3 กก.-ม. สมรรถนะของเครื่องยนต์นั้นเทียบเคียงกับเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าแรงม้าอาจจะน้อยกว่าเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ปัจจุบันเล็กน้อย แต่ด้านแรงบิดกลับโดดเด่นกว่ามาก นั่นเพราะเทอร์โบชาร์จสามารถช่วยเพิ่มแรงบิดได้ถึง 15 % แรงบิดกว่า 80 % มีให้ใช้ตั้งแต่รอบต่ำ และสามารถรักษารอบแรงบิดคงที่ได้ในช่วงกว้างกว่า ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงให้น้อยลงราว 20 % เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ซึ่งไม่มีระบบอัดอากาศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เครื่องยนต์ใหม่มีระดับการปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน NEDC ของยุโรป มีการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณ 99 กรัม/กม.
ลดขนาดและน้ำหนักของเครื่องยนต์ให้มากที่สุด
เครื่องยนต์อีกรุ่นหนึ่งที่มีความน่าสนใจ คือ เครื่องยนต์เบนซิน ความจุ 1.5 ลิตร แบบ 4 สูบ พร้อมระบบวาล์วแปรผัน VTEC อัดอากาศด้วยเทอร์โบชาร์จ ให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิด 26.4 กก.-ม. เครื่องยนต์ตัวนี้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงกว่าเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ตัวปัจจุบันราว 15 % ฮอนดา ทั้งพัฒนาเครื่องยนต์ขึ้นบนพื้นฐานวิศวกรรมยุคใหม่ โดยการลดขนาดและน้ำหนักของเครื่องยนต์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้วัสดุอลูมิเนียมเป็นหลัก ในชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนไหว หรือมีการเสียดสี นั้นใช้เทคโนโลยีในการเคลือบผิวและลดความฝืดของชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว ทำให้ได้ทั้งความทนทาน และการทำงานที่มีประสิทธิภาพ หัวใจหลักในการลดมลพิษและความสิ้นเปลืองนั้น ใช้ระบบควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงด้วยเทคโนโลยี IDLING STOP SYSTEM สำหรับเครื่องยนต์เทอร์โบทั้ง 2 ขนาดนี้จะเริ่มประจำการในตลาดยุโรปในปี 2017 ใน ซีวิค ก่อน และจะนำไปประจำการในรุ่นอื่นๆ ต่อไป
Model | Start Price (THB) |